ปฏิรูป ≠ ล้มล้าง | 2021 WRAP UP

บทสนทนาประชาธิปไตย ม็อบการเมือง 2564

ควันหลงการยุบพรรคอนาคตใหม่ และม็อบดาวกระจายของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ในปี 2563 ยังคงถูกส่งต่อ เกิดเป็นความเคลื่อนไหวนับร้อยครั้งในปีถัดมา ผ่านการใช้สิทธิเสรีภาพที่พวกเขาชูธงว่า “เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองไทย”

จากความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้นำมาสู่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าความเคลื่อนไหวที่ผ่านมา “เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ”

คำวินิจฉัยดังกล่าว นำมาสู่ข้อถกเถียงในสังคมว่าอะไรคือการปฏิรูป อะไรคือการล้มล้าง?

The Active รวบรวมเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้อง ตลอดปี 2564

มกราคม

ความเคลื่อนไหวแรก ๆ ของแนวร่วมกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” ช่วงต้นปี 2564 คือ การเดินทางจากจังหวัดราชบุรีของกลุ่ม “ลูกบ้านโป่งไม่อินเผด็จการ” พวกเขาเดินทาง 76 กิโลเมตร มาถึงทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 24 มกราคม เพื่อ ขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมยืนยันข้อเรียกร้องหลักเป็นไปตาม 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎร

กุมภาพันธ์

ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ แนวร่วมของกลุ่มราษฎร นัดหมายชุมนุมหลายครั้ง ให้ปล่อยตัว 4 แกนนำกลุ่มราษฎร คือ “พริษฐ์ ชิวารักษ์ – อานนท์ นำภา – ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม – สมยศ พฤกษาเกษมสุข” หลังศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ จากความผิดคดีชุมนุม “19 กันยา ทวงอํานาจคืนราษฎร” รวม 11 ข้อหา และคดีม็อบเฟส ที่เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2563

การชุมนุมของกลุ่มราษฎรใน #ม็อบ13กุมภา พวกเขานัดหมายกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการเคลื่อนขบวนไปตามถนนราชดำเนิน มีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่เป็นระยะ และสิ้นสุดลงบริเวณหน้าศาลฎีกา แกนนำประกาศระดมพลเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ หาก 4 แกนนำที่ถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัว

ต่อมามีการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำกลุ่มราษฎรในวันที่ 20 และ 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งทั้งสองครั้ง มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ

มีนาคม

ประชามติเจ้าปัญหา ปิดประตูแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ตลอดเดือนมีนาคม มีการเคลื่อนไหวของม็อบหลายกลุ่ม เช่น การเกิดขึ้นของกลุ่ม REDEM หรือ กลุ่มประชาชนสร้างตัว โดย เยาวชนปลดแอก, การรวมตัวกันของกลุ่มเดือนทะลุฟ้า และ ภาคี #Saveบางกลอย ที่รวมตัวกันปักหลักเป็นหมู่บ้านทะลุฟ้าและหมู่บ้านบางกลอย บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล รวมถึงกิจกรรมของกลุ่มการ์ด “อาชีวะไม่เอาเผด็จการ” และกลุ่มแดงก้าวหน้า ที่จัดเดินขบวนแรลลี่ ขับไล่เผด็จการ ฯลฯ

11 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยรัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ทั้งก่อนและหลังจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากนั้น รัฐสภาก็มีมติโหวตคว่ำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2 ร่าง วาระ 3 มี ส.ว. เห็นชอบเพียง 2 เสียง  (การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ มีการเสนอจากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ในเรื่องการแก้ไขวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ จากกระแสเรียกร้องจากประชาชนรวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 และมีร่างที่ถูกเสนอโดย iLaw พร้อมกันแต่ตกไปในวาระ 1)

20 มีนาคม สลายการชุมนุม กลุ่ม REDEM โดยการใช้รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา และกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ในครั้งนั้น เป็นเหตุให้มีนักข่าวและช่างภาพได้รับบาดเจ็บ วันรุ่งขึ้น (21 มีนาคม) 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์ร่วมไม่เห็นด้วยกับการก่อความรุนแรงในทุกรูปแบบ พร้อมตั้งคำถาม “ปลอกแขนสื่อมวลชน” เป็นเครื่องมือป้องกันเหตุรุนแรงในการรายการข่าวสถานการณ์วิกฤตหรือไม่ ?

เมษายน

โควิด-19 กลับมาระบาดเป็นระลอก 3 การชุมนุมใหญ่ไม่เกิดขึ้น แต่มีการดำเนินคดีทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

“คนเดือนตุลา” เปิดตัวกลุ่ม “OCTDEM” บุกศาลฎีกา เรียกร้องให้ประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมือง ช่วยแกนนำ ม็อบราษฎรที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112

มิถุนายน

23 มิถุนายน รัฐสภาลงมติรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 1 จาก 13 ร่างในวาระแรก เป็นการผ่านร่างที่เสนอโดยพรรคการเมือง กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งกลับไปสู่บัตรเลือกตั้ง 2 ใบในระบบคู่ขนาน หรือ  (Mixed Member Majoritarian System – MMM) ซึ่งเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเชิงเทคนิคมากกว่าเนื้อหาที่จะเกี่ยวข้องกับภาคประชาชนโดยตรง

24 มิถุนายน ครบรอบ 89 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เกิดปรากฏการณ์ 5 ม็อบชุมนุมไล่ “พล.อ. ประยุทธ์” คือ ไทยไม่ทน-สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย นำโดย อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ และจตุพร พรหมพันธุ์ นัดชุมนุมล้อมทำเนียบรัฐบาล, กลุ่ม Re-solution นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล, ม็อบราษฎร, กลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้า และ กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี

สิงหาคม

สื่อมวลชน และประชาชน นำโดย The Reporters, Voice, The Standard, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine, echo, PLUS SEVEN และประชาชนเบียร์ พร้อมทีมทนายความ รวมตัวยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีออกข้อกำหนด ฉบับที่ 29 “ห้ามเสนอข่าว ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” 

กลุ่มราษฎร 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่ม นปช. และกลุ่มทะลุฟ้า จัดชุมนุมคาร์ม็อบ (CarMob) ประท้วงต่อต้านรัฐบาล

กลุ่มทะลุแก๊ส กลุ่มพลเมืองโต้กลับที่ทำกิจกรรม ยืน หยุด ขัง 76 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2564  แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

กันยายน

ครบรอบ 15 ปี  รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

“CAR MOB ขับรถยนต์ชนรถถัง” ขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสครบรอบ 15 ปี  รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

รัฐสภาเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 83 และ 91 เรื่อง ระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

ตุลาคม

เกิดการชุมนุมไม่ต่ำกว่า 110 ครั้ง และมีการสลายการชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊ส บริเวณแยกดินแดง อย่างน้อย 4 ครั้ง มีผู้ชุมนุมเยาวชนดินแดง ที่ถูกยิงศีรษะ ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม เสียชีวิต นับเป็นผู้ประท้วงที่เสียชีวิตรายแรกจากการประท้วง

ช่วงเดือนนี้ มีประชาชนอย่างน้อย 151 คน ที่ถูกตั้งข้อหา มาตรา 112 จากการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะมาจากการปราศรัย การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือ การแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ กลุ่ม “ราษฎร” รณรงค์ขับเคลื่อนให้มีการ “ยกเลิกมาตรา 112” จากนั้นก็มี โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ออกมาร่วมล่ารายชื่อ

พฤศจิกายน

10 พฤศจิกายน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ “เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องรวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทําการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง

12 และ 14 พฤศจิกายน หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เกิดกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ #ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง ก่อนจะกลายเป็นข้อความหลักที่ใช้เพื่อสื่อสารและนัดหมายชุมนุมในวันที่ 12 พฤศจิกายน บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดา เพื่อย้ำจุดยืน “ปฏิรูปไม่ได้แปลว่าล้มล้าง” หลังจากนั้น วันที่ 14 พฤศจิกายน นัดหมายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะเปลี่ยนเส้นทางไปยังสถานทูตเยอรมนี หลังถูกปิดกั้นเส้นทาง

ขณะที่ความเห็นจากผู้เห็นต่างในโลกออนไลน์ พยายามแสดงหลักฐานว่าการเคลื่อนไหวหลายครั้งของแนวร่วมกลุ่มราษฎรนั้น เป็นไปตามสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

17 พฤศจิกายน รัฐสภาลงมติไม่รับหลักการ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ที่เสนอโดยกลุ่ม Re-Solution ในวาระที่ 1 (เป็นครั้งที่ 2 ที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนถูกปัดตก หลังจากฉบับของ iLaw ในปี 2563 ทั้ง 2 ฉบับมีประชาชนร่วมลงชื่อมากกว่า 1 แสนรายชื่อ)

20 พฤศจิกายน ครั้งแรก ปรากฏการณ์ชวนคนเห็นต่างมาคุยกัน Thailand Talks เห็นต่างคุยกันได้ ทั้งมิติการเมือง ศาสนา สังคม ฯลฯ หาทางออกให้กับสังคมไทยในภาวะวิกฤตด้วยการเปิดใจ และหันหน้ามาคุยกัน

ธันวาคม

8 ธันวาคม มวลชนรวมตัวจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ “ส่งเสียงถึงศาล สื่อสารถึงเพื่อน” ช่วงเวลาปลายปีก็ยังมีข้อเรียกร้องเดิมซึ่งแทบจะทุกข้อยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร ทั้งประเด็น “การขับไล่นายกรัฐมนตรี – แก้ไขรัฐธรรมนูญ – ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา ม.112 – และปล่อยตัวแกนนำจากการชุมนุมทางการเมือง” ฯลฯ


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์