ฟังเสียงผู้คน บนสมรภูมิ “ดินแดง”

การปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊สและผู้ควบคุมฝูงชน ที่แยกสามเหลี่ยมดินแดงนับวันยิ่งทวีความรุนแรง ทั้งสองฝ่ายต่างสลับกันบาดเจ็บ สร้างบาดแผลทางความรู้สึกและร่างกายให้ซึ่งกันและกัน หากทุกฝ่ายยังคงเพิกเฉยในการจัดการเรื่องนี้ ผลพวงของความรุนแรงอาจสร้างรอยร้าวลึกทิ้งไว้ให้กับสังคมและประวัติศาสตร์การเมือง

เวทีเสวนา ทะลุทางออกที่ดินแดง”  รับฟัง-(ไม่)เข้าใจ-(ไม่)โทษใครแก้ปัญหา” พยายามสร้างกระบวนการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้พูดคุยเพื่อร่วมคลี่คลายสถานการณ์ทั้งแบบเป็นทางการและการพูดคุยแบบปิด

จุดร่วมที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันจากการพูดคุยครั้งนี้ คือ การเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้พูดคุย โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง นโยบาย ควรเปิดใจรับฟังทุกเสียงเพื่อร่วมออกแบบกระบวนการคลี่คลายความรุนแรงที่สมรภูมิดินแดง

The Active รวบรวมความคิดเห็นจากเวทีสานเสวนาและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย ก่อร่างเป็นอิฐก้อนแรกส่งเสียงถึงศูนย์กลางอำนาจ

หนึ่งในตัวแทนชาวแฟลตดินแดง ที่ร่วมเสวนา “ทะลุทางออกที่ดินแดง”  รับฟัง-(ไม่)เข้าใจ-(ไม่)โทษใครแก้ปัญหา” ซึ่งเกิดและเติบโตในพื้นที่ดินแดง และในฐานะคนที่เข้าร่วมชุมนุมแทบทุกครั้งทั้งที่ดินแดงและพื้นที่อื่น ๆ  เขาบอกว่าเห็นพัฒนาการของความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ คนเริ่มเอือมระอา ยืนยันว่าไม่อยากให้เกิดความรุนแรงขึ้นไม่ว่าจะกับฝ่ายใด เพราะต่างเป็นคนที่คุ้นหน้าคุ้นตากันและไม่อยากให้ดินแดงเป็นพื้นที่กล่าวขาน

เช่นเดียวกับตัวแทนที่อาศัยในแฟลตดินแดง  พ 2 สะท้อนว่าได้รับผลกระทบจากการปิดถนน  และการสลายการชุมนุม ทั้งเสียง ทั้งแก๊สน้ำตา กลัว และรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย

“ไปตลาดไปซื้อของก็ไม่ได้ มีทั้งเผายาง ยิงแก๊สน้ำตา ในบ้านมีเด็กสี่คน หมาตะกุยตะกายโอดร้องเพราะมันแสบตา เสียงดังตูมตาม บางทีเราก็เห็นเหมือนว่าเด็กเขาเล่นกัน เขาสนุกกัน แต่เราเดือดร้อน ลูกจะเดินกลับบ้านตำรวจก็จับเขาเพราะใส่เสื้อสีดำ เขาเหมารวมไปหมด”

ประสงค์ หอมสนั่น กรรมการชุมชนแฟลตดินแดง 1-20  บอกว่าตัวแทนชาวแฟลตดินแดง กว่า 300 คน ร่วมกันยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งได้มีการยื่นหนังสือไปตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ

กรรมการชุมชนแฟลต ยังฉายให้เห็นผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันของชุมชน โดยเฉพาะการเดินทาง  ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและเสียง ซึ่งผลกระทบเกิดจากทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน

“พ่อค้าแม่ค้าก่อนมีเหตุการณ์ขายของเลิกทุ่มสองทุ่ม  แต่พอมีเหตุการณ์เลิกก่อนสี่โมงเย็นทั้งที่เขาเพิ่งเปิดร้านตอนบ่ายสาม ความเป็นอยู่ตอนกลางคืน ประชาชน ไม่เคยได้นอนหลับฝันดี ห้าทุ่มเที่ยงคืนเสียงดัง เด็กอ่อนตื่นคนแก่สะดุ้ง คนแก่ใช้เส้นทางไปโรงพยาบาลก็ไม่ได้ลำบากเดินไกล ถนนปิดกั้นหมด ความเป็นอยู่เปลี่ยนไปหมด รถเมล์ไม่ผ่านต้องอ้อมไปอีกถนนหนึ่ง”

เรื่องราวเบื้องหลังของผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊ส จุดร่วมที่ทุกคนมีร่วมกัน คือ ชีวิตและความเป็นอยู่ที่ลำบากและยากที่จะผ่านช่วงชีวิตในแต่ละวัยได้ ด้วยฐานะ โอกาส ที่พวกเขาเชื่อว่าเชื่อมโยงกับการบริหารงานของรัฐบาล คุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ คือ เสียงเรียกร้องต่อรัฐบาลผ่านถนนพื้นที่การชุมนุม แต่เสียงที่ไปไม่ถึงและถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงคือเชื้อไฟที่โหมและผลักดันให้เกิดการรวมตัวที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง  

เหตุผลหลักใหญ่ของการมาที่ถนนสายนี้มุ่งหน้าไปบ้านพักของนายกรัฐมนตรี ผู้กุมอำนาจการบริหาร   แต่ “ดินแดง” ยังป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ประกอบไปด้วยจุดยุทธศาสตร์ทางกายภาพ เป็นเสมือนที่หลบภัยจากการไล่ล่าของเจ้าหน้าที่  ไม่ว่าจะแผนที่ เส้นทาง การตั้งของตึกต่าง ๆ

“วินาทีนั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นคือผู้ชุมนุมถูกไล่ล่า เราสามารถมอบตัวตรงนั้นได้เพราะเราไม่ได้มีอาวุธ แต่ที่เราไม่ทำและหนีขึ้นไปบนตึก เพราะ คฝ. ไม่ได้ไล่จับอย่างเดียวครับ ใช้ความรุนแรง บางคนหัวล้างข้างแตก เพื่อนผมโดนยิง”

พวกเขาบอกว่า หากจะให้พวกเราไม่ขึ้นไปบนตึกก็ได้ แต่ต้องแก้ไขเป็นขั้นตอนไป อย่างแรกรัฐบาลต้องลงมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นให้เร็วที่สุดปัญหาก็จะสิ้นสุด แต่ถ้าไม่ลงมาปัญหาก็จะมาเรื่อย ๆ ขอย้ำว่า เราออกมาเราต้องการประชาธิปไตยที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน เท่าเทียมกับคนที่เห็นต่าง ไม่ว่าจะเด็กผู้ใหญ่เยาวชน เราต้องการอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ ไม่ต้องการใช้ความรุนแรง แต่เราถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง

มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากตัวแทนกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุมอีกกว่า 20 คน ซึ่งสะท้อนผ่านวงพูดคุยแบบปิด (อย่างไม่เป็นทางการ) ในแง่มุมผลกระทบมิติต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องจากความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง โอกาส และมิติทางสังคม ฐิตินบ โกมลนิมิ หนึ่งในทีมผู้จัดกระบวนการพูดคุย เป็นตัวแทนสะท้อนเสียงเหล่านั้นว่า น้อง ๆ ที่เป็นตัวแทนทะลุแก๊สมาจากหลายที่ คลองเตย ฝั่งธน เฉลิมพระเกียรติ รังสิต อุดมการณ์ทางการเมืองไม่ต่างจากการชุมนุมเมื่อปีที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องก็ไม่ต่างกันเลย การชุมนุมยืดเยื้อ เขาต้องการสื่อสารว่าไม่ต้องการให้กระแสชุมนุมทางการเมืองตกลง ยิ่งมีน้ำท่วม โควิด ยิ่งทำให้กระแสการเมืองลดลงมา พวกเขากังวลเรื่องของเขาจะหายไป 

เป็นไปได้ไหม ว่าจะเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง เช่น การเปิดคอนเสิร์ต สื่อสารทางสัญลักษณ์  ศิลปะ มีเวทีการพูดคุยระหว่างประชาชน  ข้อเรียกร้องมันมีทั้งการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ประเด็นความไม่เท่าเทียม ความเเหลื่อมล้ำ เขาต้องการวัคซีนที่มีคุณภาพ เขาต้องการสวัสดิการของรัฐ เขาต้องการการศึกษาที่ดี มีประเด็นสังคม และการเมือง

ตัวแทนหนึ่งในผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊ส เผยความรู้สึกภายหลังจากการรับฟังปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนแฟลตดินแดง ซึ่งอาจถือได้ว่านี่เป็นครั้งแรกของการเปิดเผยความรู้สึกในพื้นที่สาธารณะ ท่ามกลางผู้ใหญ่หลายฝ่ายร่วมรับฟัง เขาอธิบายว่าความรุนแรงที่แยกดินแดงเดินมาถึงจุดนี้ เพราะที่ผ่านมาผู้ชุมนุมไม่ว่าจะกลุ่มไหน รัฐบาลไม่เคยรับฟังเสียงของพวกเขา ไม่มีพื้นที่รับฟังหรือพูดคุย แต่ใช้วิธีโต้ตอบที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล เบื้องหลังของภาพความรุนแรงและความเดือดร้อนที่กระทบชุมชนแฟลตดินแดง พวกเขาพยายามอธิบายว่ามีจุดเริ่มต้นที่ประกอบด้วยหลายฝ่าย และการถูกกระทำซ้ำ ๆ จากโครงสร้าง

“ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เราต้องมององค์ประกอบ การปฏิบัติของรัฐบาล การดำเนินคดี กฎหมาย จับสลายการชุมนุม เราดูในคลิป หลักการสากลในการสลายการชุมนุม มันไม่ถูกมาใช้เลย”

ทั้งกระสุนยาง การใช้น้ำผสมสารเคมี ตรงนี้ผิดหลักสากลชัดเจน ผู้มาชุมนุมที่มาม็อบทะลุแก๊ส ผมขอนิยามว่าเป็น ม็อบรากหญ้า  เป็นชนชั้นแรงงาน ส่วนใหญ่เป็นคนทำงาน เรียน หลุดออกจากระบบการศึกษา ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของรัฐบาล ม็อบใดก็ตามทุกคนมาด้วยสันติวิธี แต่การป้องกัน การตอบโต้กับผู้ชุมนุมมันไม่ใช่หลักการสากล การใ้ช้ความรุนแรงต่อเด็ก เยาวชน ผู้ที่มาชุมนุม ทางทะลุแก๊สไม่ได้มีนโยบายใช้ความรุนแรงเสมอไป แต่เราพยายามหาทางร่วมตรงกลาง เช่น เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจะให้ผู้ชุมนุมมีเวทีกิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ รัฐบาลต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้ชุมนุม แต่เราไม่เคยเห็นเลยว่ารัฐบาลจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนเลย ไม่มีทางที่เสียงของเราจะไปถึงรัฐบาลเลย ผมตอบได้เลยว่าทำไมผู้ชุมนุมถึงออกมาชุมนุมทุกวัน ตำรวจ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ทำให้เกิดความโกรธแค้น ทั้งกับผู้ชุมนุมและชาวบ้านแฟลตดินแดงที่ได้รับผลกระทบตรงนี้ สิ่งนี้ที่เป็นตัวจุดไฟและเชื้อเพลิง

เขาเล่าต่อ ว่าเขาเกิดในสลัมคลองเตย เห็นปัญหาจากชนชั้นล่างสุดว่าคืออะไร เขาไม่เคยได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลไม่ว่าจะคลองเตย แฟลตดินแดง เขาชุมนุมออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียง แต่ไม่ได้รับการรับฟังจึงต้องออกมาสม่ำเสมอ ออกมาต่อสู้ในเชิงสันติวิธี สัญลักษณ์ แต่รัฐบาลใช้วิธีการตอบโต้ด้วยกระสุนยาง

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลเกิดจากความไม่เป็นธรรมและโครงสร้างความเหลื่อมของสังคมมาโดยตลอด เราพบว่าถ้าไม่มีเสียงปืน ระเบิด ความรุนแรงผู้ใหญ่มักจะไม่ฟังเด็ก ไม่สนใจเสียงร้องของเขาทั้งที่เด็กต้องการความช่วยเหลือทั้งนั้น  เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะตำรวจที่ได้รับหน้าที่นี้ต้องยุติเสียงร้องเหล่านี้ ที่ผ่านมาโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ระดับนโยบายอ้างว่า ควบคุมฝูงชนด้วยสันติวิธี หลายครั้งแถลงจะใช้สันติวิธี แต่สิ่งที่เราเห็นคืออาวุธครบมือ พร้อมเกราะกำบังเหมือนเขาจะไปรบ และจำเป็นต้องใช้หลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองเด็ก หน่วยงานที่มีความเข้าใจร่วมปฏิบัติด้วย

“เราตั้งข้อสังเกตุกับหน่วยควบคุมฝูงชนได้รับการฝึกอบรม การเจรจากับผู้ชุมนุมมากมากน้อยแค่ไหน พฤติการณ์ที่เห็นเขาจะทำได้ดีขึ้นมากถ้าเข้าใจเด็กเยาวชน หลักการสากลที่อ้างจากเบาหาหนักเราไม่เห็นเลยต้องให้สัดส่วนที่เหมาะสมตามกฎหมาย และความจำเป็นด้วย การเริ่มใช้อาวุธที่มีลักษณะเป็นอาวุธสงครามอย่างกระสุนยางแต่ความเจ็บปวดบาดแผลก็เกิดขึ้น สิทธิการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นสิทธิของเด็กด้วย การชุมนุมโดยสงบไม่มีการใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน ยังมีอยู่ แค่เปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกันแม้ว่าเป็นท้องถนนที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนก็ตาม อาจยืดเยื้อยาวนานแต่จะไม่โหมกระหนำมาที่ดินแดง อยากให้เปิดพื้นที่กว้างขึ้น”

นารี เจริญผลพิริยะ อดีตหัวหน้าโครงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นผู้เคยจัดอบรมควบคุมฝูงชน นักสันติวิธี ขยายความเข้าใจต่อประเด็นการปฏิบัติตามหลักสันติวิธี ว่าวิธีที่เจ้าหน้าที่ใช้ไม่เรียกว่าสันติวิธี แต่เป็นขั้นตอนการใช้กำลังจากเบาไปหาหนัก ตามขั้นตอนคือ เบาสุดผลักดันด้วยกระบอง ขยับมาที่การตี ฉีดน้ำ และกระสุน 

“ขั้นตอนทั้งหมดเบาหาหนัก คือขั้นตอนการใช้ความรุนแรง เวลาเจ้าหน้าที่พูดจะไม่ใช้คำว่าสันติวิธีแต่จะใช้คำว่าเราใช้วิธีตามกฎหมายที่อนุญาตให้ใช้ความรุนแรงจากเบาไปหาหนัก ทางตำรวจก็ใช้หลักการสากลแต่เป็นหลักการสากลใช้กำลัง ” 

นักสันติวิธีอธิบายเพิ่มเติมว่า หน่วยควบคุมฝูงชนเป็นหน่วยใช้กำลัง ถ้าเขามาแปลว่าจะมีการใช้กำลัง ถ้าอยากให้ทุกฝ่ายใช้สันติวิธี ต้องพูดกันระดับนโยบายที่สั่งการมาด้วย เพราะว่าหน่วยเหล่านี้อาชีพเขาฝึกอาวุธทุกวันเขามาก็ต้องฝึกอาวุธ ถ้าจะใช้วิธีสันติวิธีต้องระดับนโยบายตั้งแต่แรก และการเจรจาที่ทุกฝ่ายเรียกร้องจำเป็นต้องตัวแทนที่พร้อมเจรจาด้วย

ณัฐวุฒิ เนาวบุตร ตัวแทนกลุ่ม Child in mob เสริมว่าการมีตัวแทนและเวทีการพูดคุยเป็นเรื่องที่ดี เรื่องสิทธิเด็กเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามไม่ใช่แค่ในประเทศแต่ในระดับนานาชาติที่เราต้องวิเคราะห์ให้รอบด้าน ไม่ใช่แค่กฎหมายไทย แต่กฎหมายที่เรารับรอง อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก Convention on the Rights of the Child (CRC.)

“อนุสัญญาสิทธิเด็กที่พูดถึง สิทธิที่จะมีชีวิต จะต้องมีชีวิตรอด เด็กต้องได้รับความปลอดภัยจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในเรื่องของการพัฒนาเด็กได้รับการพัฒนาไหม ทั้งเรื่องการศึกษา โอกาส การมีส่วนร่วมและการรับฟัง มันสะท้อนเด็กที่ออกมาชุมนุมคือตรงที่เขาได้รับผลกระทบทั้งสี่ข้อหมดเลย เด็กได้รับผลกระทบการกีดกันของการศึกษา ค่าเทอม โอกาสในการเข้ารับการศึกษา ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงโควิดเด็กตกงาน มีภาระค่ารักษาจากการบาดเจ็บจากการชุมนุม ซึ่งได้รับการถูกยิงท่อนบนมากกว่าท่อนล่าง” 

ตัวแทนกลุ่ม Child in mob ยังระบุว่า การชุมนุมตั้งแต่เดือน ก.ค.63-ก.ย.64  มีการชุมนุม 1,350 ครั้ง มีการจับกุมดำเนิน 223 คน เป็นคดี 112 คดี อายุน้อยสุด 12 ปี มีการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ 203 คน ออกหมายจับอย่างน้อย 10 คน เฉพาะเดือน ก.ย. มีการดำเนินคดี 97 คน ทั้งหมด 38 คดี ไม่ได้ประกันตัว 1 คน และส่วนใหญ่เป็นการจับกุมในพื้นที่ดินแดง อายุส่วนมากอยู่ระหว่าง 15-18 ปี

• อ่านเพิ่ม – เชื้อไฟสมรภูมิดินแดง : เริ่มต้นพูดคุย เปิดใจรับฟัง

• เวทีสาธารณะออนไลน์ “ทะลุทางออกที่ดินแดง” (2 ต.ค. 2564)

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์