ยื่นศาลแพ่งคุ้มครองสื่อ ขอศาลสั่งห้ามตำรวจใช้กระสุนยาง

ภาคีนักกฎหมาย-สื่อมวลชน ยื่นร้องศาลแพ่ง ขอไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครองชั่วคราว ขอให้ศาลสั่งไม่ให้ตำรวจใช้กระสุนยางควบคุมการชุมนุม 10 ส.ค. นี้ ด้าน ‘บช.น.’ จัดกำลัง 5 กองร้อยรับมือชุมนุมแยกราชประสงค์

9 ส.ค. 2564 – ที่ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พร้อมสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา เช่น The matter, Voice TV และ Plus Seven เดินทางยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม และให้ตำรวจปฎิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน และให้ปฎิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมให้สอดคล้องกับหลักสากล เพื่อเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพและเสรีภาพของสื่อมวลชนในการปฏิบัติหน้าที่ กรณีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 ส.ค. นี้ โดยขอให้ศาลคุ้มครองฉุกเฉิน เพราะการชุมนุมต่อจากนี้ มีแนวโน้มอันสามารถคาดหมายได้ว่าจะได้รับความเสียหายจากการใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ภาพ: ทีมข่าวไทยพีบีเอส

สัญญา เอียดจงดี ทนายความ จากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เปิดเผยรายละเอียดคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉิน ดังนี้

  1. ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้ความรุนแรง เช่น ใช้อาวุธปืนกระสุนยาง แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำผสมสารเคมี ทำร้ายร่างกาย โจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนที่สวมปลอกแขนสีขาวหรือสัญลักษณ์อื่นที่แสดงว่าเป็นสื่อมวลชน รวมทั้งประชาชนผู้มาชุมนุม หรือกระทำการใดอันเป็นการขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ จำกัดพื้นที่การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน
  2. ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน สั่งการเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน
  3. ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุมโดยขัดต่อหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และหลักการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เนื่องจากโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนย่อมได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมด้วย

ทั้งนี้ ก่อนการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ภาคีนักกฏหมายสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนได้มายื่นคำร้องต่อศาลแพ่งเพื่อขอไต่สวนฉุกเฉินและสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่ศาลยกคำร้องโดยระบุว่า กรณียังไม่ถึงขั้นการไต่สวนฉุกเฉิน และยังไม่มีเหตุเพียงพอในการสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งศาลไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะมีการใช้ความรุนแรงจากตำรวจ

และเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ปรากฏว่ามีสื่อมวลชนได้รับผลกระทบและได้รับบัตรเจ็บจากการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจในการสลายการชุมนุม ทำให้วันนี้จำเป็นต้องมายื่นคำร้องอีกครั้ง โดยอ้างอิงถึงเหตุการณ์วันที่ 7 ส.ค. เพื่อเป็นฐานในการพิจารณาว่าในการชุมนุมวันที่ 10 ส.ค. อาจจะมีการใช้ความรุนแรงอีกหรือไม่  ทั้งหลักฐานที่ชี้ว่า การใช้ความรุนแรงเริ่มจากฝั่งเจ้าหน้าที่ และไม่เป็นไปตามขั้นตอนหลักสากลในการควบคุมการชุมนุม

ภาพ: ช่างภาพข่าวไทยพีบีเอส (7 ส.ค. 64)
ภาพ: ช่างภาพข่าวไทยพีบีเอส (7 ส.ค. 64)

ก่อนหน้านี้ภาคีนักกฏหมาย ได้นำสื่อมวลชนจาก Plus seven , The Matter ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากกรณีการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในวันที่ 18 ก.ค. 2564 ที่มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากการสลายชุมนุมด้วยกันยิงกระสุนยางด้วย โดยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาไต่สวนของศาล

บช.น. จัดกำลัง 5 กองร้อยรับมือชุมนุมแยกราชประสงค์ พรุ่งนี้

ด้าน พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยถึงการจัดกิจกรรมการชุมนุม “คาร์ม็อบ” ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันที่ 10 ส.ค. 2564 บริเวณแยกราชประสงค์ว่า ตำรวจได้เตรียมกำลังในการดูแลรักษาความปลอดภัย จำนวน 5 กองร้อย

โดยขอเตือนว่า ขณะนี้พื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังเป็นพื้นที่ที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเป็นพื้นที่ควบคุมอย่างเข้มงวด เนื่องจากมีการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และการรวมตัวด้วยประการใดในการชุมนุม หรือมีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามฉบับที่ 9 ที่ห้ามรวมตัวในลักษณะมีความเสี่ยง

นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมชุมนุม หากมีการกระทำผิดอื่น ๆ เช่น ปิดจราจร ใช้เครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้รับอนุญาต จะเป็นความผิดตามกฎหมายด้วยเช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active