แนะ คฝ. ใช้จิตวิทยามวลชนมากขึ้น ลดเงื่อนไขความรุนแรงในพื้นที่ชุมนุม

‘ผศ.ปริญญา’ ตั้งข้อสังเกต ชุดควบคุมฝูงชน ใช้จิตวิทยามวลชนน้อย เป็นเงื่อนไขนำมาสู่การปะทะ ย้ำ ฝ่ายผู้ชุมนุม ควรเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธี ชี้ ต้นเหตุจากปัญหาทางการเมือง ควรยุติด้วยการเมือง

18 ส.ค. 2564 – ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับ The Active ตั้งข้อสังเกตเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ใช้จิตวิทยามวลชนน้อย เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การปะทะ พร้อมย้ำว่าการชุมนุมควรเป็นไปอย่างสันติวิธี แต่หากมีความรุนแรงเกิดขึ้น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต้องรับผิดชอบ โดยปรับเปลี่ยนวิธีการที่ใช้ควบคุมฝูงชน ลดเงื่อนไขความรุนแรง พร้อมย้ำ ต้นเหตุเรื่องนี้มาจากประเด็นทางการเมือง จำเป็นต้องยุติปัญหาทางการเมือง ด้วยการฟังเสียงสะท้อนความไม่พอใจของประชาชน และนำไปหาทางออก

เรื่องร้ายแรงที่สุด คือ ภาพเหตุการณ์ยิงปืน ข้อเท็จจริง คือ ยิง และได้รับบาดเจ็บจากกระสุนจริง

แฟ้มภาพ: ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ผศ.ปริญญา ระบุว่า เหตุความรุนแรงเกิดขึ้นที่ สน.ดินแดง ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงควรเร่งทำความจริงให้กระจ่างว่าใครเป็นคนยิง แทนการจับมือโพสต์ภาพ หรือคลิปเหตุการณ์ โดยย้ำว่าเรื่องนี้น่าห่วง เพราะ “ดินแดง” เกิดความรุนแรงมาระยะหนึ่งแล้ว พร้อมตั้งข้อสังเกตทำงานของ คฝ. ว่ากำลังใช้วิถีการควบคุมฝูงชนที่ผิดหลักการอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะการใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา ที่ควรใช้เป็นลำดับสุดท้าย และจิตวิทยาการควบคุมมวลชนที่จะช่วยควบคุมความโกรธ ก็ถือว่าใช้ค่อนข้างน้อยมากในสถานการณ์ปัจจุบัน

คฝ. หรือ ชุดควบคุมฝูงชน งานหลัก คือ การดูแลการชุมนุมไม่เกิดการจลาจล ทำลายสถานที่สาธารณะ สิ่งที่ต้องทำ คือ คฝ. ต้องไม่ตีกับมวลชน ผมคิดว่าขณะนี้ คฝ. ค่อนข้างเข้าใจบทบาทตัวเองคลาดเคลื่อนไปมาก ปะทะกับผู้ชุมนุมจากเดิมเป็นฝ่ายตั้งรับ… หลัง ๆ มา ผมสงสัยว่าทำไม คฝ. ใช้จิตวิทยาฝูงชนน้อยมาก การเจรจาแทบไม่เห็น

ข้อสังเกต คฝ. ใช้จิตวิทยามวลชนน้อยลง

ผศ.ปริญญา ตั้งข้อสังเกตการทำหน้าที่ของ คฝ. เพราะมีหลายกรณี ที่ไม่รอการชุมนุม เพียงแค่รวมตัวก็จัดการสลายการชุมนุม ด้านหนึ่งคาดว่าอาจจะ ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ต้องย้ำว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ เกินความจำเป็น ก็ไม่พ้นความรับผิดทางแพ่ง และทางอาญา  ในทางกฎหมาย หากจะสลายการชุมชุม จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ต้องขออำนาจศาลในการสลายการชุมนุม เว้นแต่เป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า

แม้เวลานี้จะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ก็ไม่สามารถปฏิบัติผิดแผก หรือเกินไปกว่าขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 16 การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่อยู่ในเขตอำนาจการปกครอง คือ ฟ้องศาลปกครองไม่ได้ว่า มีการใช้อำนาจเลยเถิดผิดไปจาก กฎหมาย แต่ระบุไว้ว่า หากใช้อำนาจ หรือปฏิบัติตาม พ.ร.ก. เกินกว่าเหตุ เกินจำเป็น เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทั้งในทางแพ่ง อาญา และทางวินัย โดยการที่ไปใช้กระสุนยาง สลายการชุมนุม ที่ยังไม่มีการชุมนุมเกิดขึ้น และไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มันเข้าข่ายการใช้อำนาจที่เกินกว่าเหตุจำเป็น

ประเด็นถัดมา อาจมีความเป็นไปได้ที่ นายกรัฐมนตรีสั่งให้เบี่ยงประเด็นความสนใจในประเด็นทางการเมือง ไปเป็นการปะทะกันระหว่าง คฝ. กับ ผู้ชุมนุม ดังนั้น หากไม่ต้องการให้เป็นประเด็นสงสัย จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบอย่างโปร่งใส และ รับผิดชอบด้วยการสั่งปรับแนวทางการทำงานของ คฝ. ให้หันมาใช้จิตวิทยามวลชนมากขึ้น เพราะด้วยบทบาทของ คฝ. ต้องลดเงื่อนไขความรุนแรง ไม่ใช่ทำตรงกันข้าม คฝ. ต้องใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ใช้จิตวิทยาควบคุมฝูงชน และแน่นอนว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. เป็นหน่วยงานในบังคับของ นายกรัฐมนตรี ตาม มาตรา 6 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ

นายกรัฐมนตรี เป็นผู้บังคับบัญชา สตช. นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ใช้ควบคุมฝูงชน ลดเงื่อนไขไม่ทำให้เกิดความรุนแรง และต้องใช้จิตวิทยามวลชนมากขึ้น ไม่ได้ใช้แต่กระสุนยางเกินจำเป็น ไม่งั้นจะเกิดความสงสัยว่า นายกฯ ใช้ คฝ. ให้ปะทะกับมวล เรื่องการประท้วงนายกฯ จะดูเบาลง ทำให้ภาพการชุมนุมดูรุนแรง ความชอบธรรมของผู้ชุมนุมก็ลดลง

ผศ.ปริญญา ยังระบุด้วยว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว พอจะนี้เป็นข้อสงสัยว่า คฝ. ไม่ยอมใช้ไม้นวม หรือ การเจรจา รวมถึงไม่ยอมใช้จิตวิทยาฝูงชน เพราะเหตุผลนี้หรือไม่ คือ นายกฯ หรือ รัฐบาล ใช้ คฝ. เป็นเครื่องมือ

ยุติการชุมนุม แก้ที่ปมการเมือง

ผศ.ปริญญา ทิ้งท้าย แม้การชุมนุมจะผิด หรือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก. แต่ไม่ได้หมายความว่า จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ ประชาชนทำผิดกฎหมายก็เรื่องหนึ่ง แต่ขั้นตอนการจับกุม การดำเนินการก็ต้องถูกต้องตามกฎหมายด้วยตำรวจ ต้องปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมาย ทุกฝ่ายต้องช่วยกันให้สถานการณ์เหล่านี้ลดความรุนแรง

เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ต้องแก้ไขด้วยการเมือง รัฐบาลต้องเปิดหู เปิดตา และเปิดใจรับฟัง ว่าเสียงของผู้ชุมนุมที่เขาเรียกร้องคืออะไร รับฟังและตอบสนอง อย่างน้อยคือรับฟังแล้วพิจารณา ไม่ใช่บอกแค่ว่า รัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่หนทางยุติปัญหาทางการเมืองมีทั้งหมด เพราะต้องไม่ลืมว่ารัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเพื่อปฏิรูปก่อนการเลือตั้ง และต้องเข้าใจว่านี่คือเสียงของความไม่พอใจ และการชุมนุมไม่ควรเริ่มต้นและจบลงด้วยความรุนแรง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน