“ผมเกิดและเติบโตในยุครัฐประหาร” สะท้อนความในใจคนรุ่นใหม่

“15 ปี 19 กันยา : 15 ปี ใต้เงารัฐประหาร” EP.9

เสียงของผู้คนในอดีต ที่ผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ จะบอกกับเราว่าเกิดอะไรขึ้นในการรัฐประหาร’49 และเสียงของผู้เฝ้ามองเหตุการณ์ ก็จะเปิดเผยแง่มุมในสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

แต่ทั้งหมดนั้น คือผู้ที่มีโอกาสได้ตัดสินใจว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยต่อการกระทำนั้น แต่คนรุ่นใหม่อย่าง “พีท ภูริพัฒน์” เยาวชนวัย 17 ปี กลับไม่มีโอกาสได้ส่งเสียงใด ๆ และเมื่อเวลาผ่านมา 15 ปี เขากลับต้องมาเรียกร้องสิ่งที่สูญเสียไปจากการรัฐประหาร…

วิชาการเมือง เปิดโลกประวัติศาสตร์นอกตำรา

ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 คงไกลเกินไปนัก ที่พีทจะนึกถึงได้ด้วยตนเอง ความคาดหวังว่าวิชาประวัติศาสตร์ในห้องเรียนจะให้ข้อมูลที่ครบถ้วนกับตัวเขาก็ไม่เป็นเช่นนั้น

พีท เล่าว่าเนื้อหาเกี่ยวกับการรัฐประหารปี 2549 แทบไม่มีอะไรมากไปกว่า รัฐบาลทักษิณทุจริตคอร์รัปชัน ใครเป็นผู้ยึดอำนาจ ใครเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากนั้น นั่นคือข้อมูลแค่ด้านเดียว

พีท ได้มีโอกาสไปทัศนศึกษานอกห้องเรียน ที่พิพิธภัณฑ์ต้านโกง ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จึดคิดว่าน่าจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น แต่กลับจำกัดอยู่ในเรื่องเดิม ๆ ไม่อธิบายรายละเอียด และเหตุผลให้คนรุ่นหลังได้ทำความเข้าใจ

ความสงสัยนี้นำไปสู่การค้นคว้าด้วยตนเอง นั่นจึงเป็นประตูสู่การรับรู้ว่าข้อมูลที่ถูกบรรจุลงไปในตำราเรียน บางส่วนก็ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หากแต่เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจอยากให้คนรุ่นหลังได้รับรู้เท่านั้น

บุคคลในประวัติศาสตร์อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่อย่างมาก

รู้จักเขาดีพอหรือยัง? พีท กล่าวว่าตั้งแต่จำความได้ มักได้ยินคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ พูดถึงทักษิณอยู่ตลอดเวลา จนถึงวันนี้ก็ยังพูดถึงกันอยู่ทั้งแง่ที่ดีและไม่ดี และเท่าที่สัมผัสมา คนรุ่นใหม่หาข้อมูลเกี่ยวกับทักษิณเยอะมาก อย่างน้อยที่สุดมันชัดเจนในประสิทธิภาพการทำงาน การพัฒนา และความก้าวหน้าหลายอย่างเกิดขึ้นในยุคของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ 

และมาประกอบกับช่องทางที่ทำให้สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น  การพูดของเขามันทำให้คนรุ่นใหม่มองเห็นวิสัยทัศน์ ที่ถ้าฟังแล้วใช้เหตุผลประกอบก็เข้าใจได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริง เช่น การจัดหาวัคซีน หรือการจัดการโควิด-19

พีท กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้บูชาตัวบุคคล แต่ชื่นชมในผลที่เกิดขึ้นมากกว่า และเมื่อไปเปรียบเทียบกับผู้นำในปัจจุบัน ก็ไม่แปลกที่จะมีคนรุ่นใหม่ไปสนับสนุนทักษิณ ถึงแม้จะเกิดไม่ทันก็ตาม 

คำว่ารัฐประหารในความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ 

“รัฐประหาร” เป็นคำที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนรุ่นนี้ เพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงคำโกหก หลอกลวง และอ้างเหตุผลต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อให้ตนเองและพรรคพวกมีอำนาจ เพราะเป็นการยึดอำนาจของรัฐ ที่มาจากประชาชน แล้วบอกยกเหตุผลของการปฏิรูปให้ดีขึ้น แต่สุดท้ายกลับไม่คืนอำนาจให้ประชาชน 

เหตุผลมากมายที่ทำให้คนเชื่อ และนำไปสู่รัฐประหาร แม้จะสร้างความเสียหายอย่างไร ก็ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ พีท ยกตัวอย่างตามความเข้าใจของตนเองว่า “การที่ลูกเรือเลือกกัปตันเรือมา เพราะเขาไว้ใจ และเชื่อมั่นว่าคนนั้นจะทำหน้าที่ได้ดี แต่หากปรากฏว่ากัปตันคนนี้ทำได้ไม่ดี แล้วมีคนอื่นที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง กลับไปทิ้งสมอเรือ เพราะอ้างว่าทางข้างหน้ามีอุปสรรค แต่สมอที่คุณทิ้งลงไปกลับครูดกับหิน ประการัง สร้างความเสียหาย และสมอเรือนั้น ก็หมายถึงอำนาจทางกฎหมาย หมายถึงสิ่งที่เขากดขี่ไว้ด้วยอำนาจ แล้วปล่อยให้คนทั้งเรือต้องมาเผชิญชะตากรรม แบบนี้ไม่ถูกต้อง”

แต่ยังมีคนสนับสนุนคนที่มาขับเรือแทนคนนั้น? พีท มองว่า คนที่เห็นด้วย ก็คือคนที่ได้ผลประโยชน์ และจะมีคนที่ถูกโน้มน้าวให้เชื่อในแนวทางนั้น อาศัยพลังของประชาชน เพราะในอดีตเชื่อว่าการเข้าถึงข้อมูลอาจไม่หลากหลายเท่าปัจจุบัน จะสังเกตได้ว่าผู้ที่เคยสนับสนุนหลายคน ตอนนี้ตาสว่าง ได้รู้ความจริง ว่าแท้จริงแล้วอำนาจนั้นมันอยู่ในมือใคร จนต้องออกมายอมรับความผิดพลาด เหตุเพราะว่ามีการมอมเมาจากแกนนำคนสำคัญ ผู้ชุมนุมหลายคนเป็นแค่เป็นเครื่องมือเท่านั้น

เมื่อเวลาอยู่ข้างเรา รอวันตัดสินใจอนาคตตัวเอง

การตั้งแง่ว่าคนรุ่นใหม่เกิดไม่ทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่เข้าใจการเมืองดีพอ พีท กล่าวว่า การที่บอกว่าเด็กไม่เข้าใจการเมือง เป็นเรื่องที่ตลกมาก ตนเคยไปจัดเวทีปราศัยเล็ก ๆ เพื่อพูดคุยประเด็นทางการเมือง เด็ก ป.6 ในตอนนี้รู้และเข้าใจความเป็นไปทางการเมืองกันหมดแล้ว เพราะว่าพวกเราโตมากับการเมือง เสพข้อมูลข่าวสารทั้งทางตรงและทางอ้อม ในอดีตอาจไม่ค่อยมีข่าวให้เสพเยอะเท่ากับปัจจุบัน จนอาจทำให้คนรุ่นก่อนเปรียบเทียบกับสมัยที่พวกเขายังเป็นเด็ก แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว

ทำไมต้องด้อยค่าคนรุ่นใหม่ ? คือคำถามที่พีทสงสัย กับสายตาที่ผู้ใหญ่มองมาที่พวกเขา การเข้าถึงข้อมูลเป็นข้อได้เปรียบของเด็กในปัจจุบัน สิ่งไหนที่ไม่ถูกต้อง ไม่อยากให้ผู้คนในสังคมรับรู้มักจะถูกเซนเซอร์ ถูกปิดกั้น แต่ตอนนี้พวกเราเข้าไปตามอ่านกันได้ง่าย ๆ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าเราไม่เข้าใจการเมือง 

อยากบอกอะไรกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในยุคนั้น ? พีท กล่าวว่าในฐานะคนรุ่นใหม่ อยากบอกว่าผลกระทบจากการประทำครั้งนั้น กำลังมาสร้างความเสียหายในยุคนี้ ยุคที่เขากำลังเติบโต และได้ใช้ชีวิต อดีตที่ผ่านมาบอกเราว่าการรัฐประหารไม่ได้ช่วยให้ประเทศดีขึ้น พอเวลาผ่านไปทุกคนจะได้เห็นว่าใครได้อำนาจ ใครได้ผลประโยชน์

พีท มองว่าการรัฐประหารเกิดจากการถ่ายทอดความคิดจากคนใกล้ตัว จากรุ่นสู่รุ่น แล้วทำให้คนในสมัยนั้นรู้สึกว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ หากไม่ให้ทหารเข้ามา แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว คนได้รับการส่งเสริมความรู้มากขึ้น เข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น แล้วเขาโตมากับผลเสียจากการรัฐประหาร จึงไม่มีทางที่ความคิดซึ่งพยายามยึดถือกันมา จะส่งต่อมาถึงคนรุ่นนี้

ผมอยากบอกว่าการรัฐประหารมันจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้วในอนาคตเพราะผมเชื่อว่ามนุษย์จะก้าวหน้ามากขึ้นบทเรียนในอดีตจะเป็นบทเรียนไปสิ่งที่ถูกต้องพวกเราจะไม่ยอมและลุกขึ้นต่อต้านการรัฐประหาร

ความหนักแน่นของคำพูดของพีท ทำให้เราเข้าใจความคิดของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเชื่อว่าเวลาจะอยู่ข้างพวกเขา และควรได้รับอำนาจเพื่อตัดสินใจอนาคตของตัวเองเสียที

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้