มองทางออกให้ทะลุแก๊ส เมื่อม็อบปฏิเสธอำนาจรัฐ

‘ทิชา’ แนะ ผ่อนคลายความตึงเครียดทีละขั้น เปิดพื้นที่ให้เด็กมีตัวตน ‘พิชญ์’ นิยามผู้ชุมนุมเป็นอนาธิปัตย์ใหม่ ที่พร้อมปะทะ เหตุ ไม่ยอมรับต่ออำนาจรัฐที่อยู่ตรงหน้า ด้าน ‘กสม.’ เตรียมพื้นที่พูดคุย

Active talk วันที่ 26 สิงหาคม 2564

ม็อบทะลุแก๊ส, เยาวรุ่นทะลุแก๊ส, ม็อบดินแดง, ผู้ชุมนุมอิสระ หรืออีกหลายคำจำกัดความที่พวกเขาเรียกตัวเองและถูกพูดถึง เมื่อมีการรวมตัวกันบริเวณแยกดินแดง กลายเป็นภาพสัญลักษณ์แห่งการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดำเนินต่อไปท่ามกลางความขัดแย้ง และอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันหาทางออกในเรื่องนี้

รัฐต้องปรับมุมมอง เข้าใจความทุกข์ที่ผู้ชุมนุมเผชิญ

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ในฐานะที่มีโอกาสพูดคุยกับเยาวชนผู้เข้าร่วมการชุมนุมบริเวณแยกดินแดงมาแล้วหลายครั้ง กล่าวว่า เยาวชนกลุ่มนี้มาจากหลายทิศหลายทาง และไม่ได้รวมตัวจัดตั้งกันมาเหมือนกับกลุ่มอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ แต่แทบทุกคนมีเบื้องหลังร่วมกันที่สำคัญ คือ “เป็นผู้ได้รับผลกระทบ” ทั้งด้านเศรษฐกิจ ปากท้อง การศึกษา ครอบครัว ที่รุนแรงหนักขึ้นในวิกฤตโควิด-19

“การมาแยกดินแดงของเขา เขาต้องการเปลี่ยนความโกรธความสูญเสียที่มีอยู่ ให้เป็นการต่อต้าน…รัฐไม่เคยเห็นว่าเขาแบกปัญหาอะไรมาด้วย ซึ่งเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล”

ทิชา ณ นคร

ทิชา กล่าวว่า ปัญหาที่ทับถมเข้ามาในชีวิตของผู้ชุมนุมแต่ละคน กลายเป็นความอัดอั้นตันใจ และจำเป็นต้องเปลี่ยนความโกรธ แสดงออกเป็นการต่อต้าน เพราะที่ผ่านมาเสียงของพวกเขาไม่ได้รับฟัง และแทบไม่มีตัวตนในสังคม หรืออาจจะเรียกได้ว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรจะเสียไปมากกว่านี้ จึงตัดสินใจออกมาแสดงออกเช่นนี้ โดยเมื่อถามถึงเป้าหมายทางการเมือง กลับพบว่ากลุ่มที่ชุมนุมบริเวณแยกดินแดงไม่ได้มีชัดเจน เพียงเขาอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น อยากมีงานทำ แต่ก็ทำไม่ได้

ทิชา เรียกร้องให้รัฐบาล อย่ามองกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นขั้วตรงข้าม แล้วใช้วิธีการปราบปรามเพียงอย่างเดียว ต้องมองให้ลึกลงไป และให้เห็นว่าคนเหล่านี้แบกความทุกข์อะไรมาด้วย ปรับเปลี่ยนมุมมอง เพื่อนำไปสู่การออกแบบวิธีการรับมือที่ได้ผล มากกว่าการใช้ความรุนแรง เพราะเมื่อมีการปราบปราม รัฐต้องเข้าใจว่าเสมือนการยั่วยุให้เกิดการใช้กำลังกันไปมานั่นเอง

ทิชา ยังได้เล่าประสบการณ์ ที่จะผ่อนคลายความตึงเครียดและการต่อต้านลงได้ ซึ่งตนได้เคยใช้มาแล้วในขณะที่เริ่มทำงานกับกลุ่มวัยรุ่น ว่าเราสามารถผ่อนคลายกฎเกณฑ์ หรือสิ่งที่เขามองว่าไม่อยากทำให้กับเขาได้ในทีละระดับ ซึ่งในบางครั้งสิ่งที่ผู้ใหญ่กังวลว่าจะเกิดปัญหาอะไร อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ เด็กรุ่นนี้อาศัยความเชื่อใจและไว้ใจเท่านั้น

ไม่ใช่การประท้วง ไม่ใช่การเรียกร้อง แต่เป็นการปะทะแบบ “อนาธิปัตย์”

ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นและอธิบายว่า การชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ที่สังคมมองว่ามักเกิดความรุนแรงขึ้นเสมอนั้น สิ่งนี้คือ “อนาธิปัตย์” ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับ “อธิปัตย์” ซึ่งหมายถึงผู้ถืออำนาจในสังคม เพราะฉะนั้นคนกลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ปฏิเสธต่ออำนาจรัฐทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือองค์กรอื่นใดในสังคม

ซึ่งการปะทะ ที่เห็นนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น การปะทะเช่นนี้เป็นการกระทำที่ตรงไปตรงมา หรือ Direct action ไม่ใช่การจัดตั้งชุมนุม หรือประท้วงเพื่อเรียกร้องอะไร ไม่มีการยื่นหนังสือ ไม่มีตัวแทนเจรจา แต่มันคือการปฏิเสธความชอบธรรม และอำนาจที่อยู่ตรงหน้าของเขา

“สิ่งที่เห็นตรงหน้ามันคือการปะทะ แบบอนาธิปไตย ที่ปฏิเสธอำนาจของรัฐ ซึ่งไม่ได้ต้องการสร้างความวุ่นวาย หรือเผาบ้านเผาเมือง แต่เขาเผาสัญลักษณ์แห่งอำนาจนั้น”

ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ผศ.พิชญ์ กล่าวต่อว่า ในขณะที่การปะทะเช่นนี้ ไม่ได้หมายถึงการไม่เคารพกฎหมาย แต่เป็นการเผชิญหน้ากันด้วยการไม่ยอมรับ เมื่อปะทะกันบนความไม่เท่าเทียม จึงไม่สามารถพูดถึงเรื่องของกติกาได้ แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือ คนกลุ่มนี้ไม่ได้มาพร้อมด้วยอาวุธสงคราม และไม่ได้มาเพื่อการเผาบ้านเผาเมือง

ความรุนแรงที่เห็นอยู่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ ผศ.พิชญ์ มองว่าประเด็นสำคัญคือ “หลักความได้สัดส่วน” ของการปราบปรามผู้ชุมนุมที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะในบางครั้งการกระทำที่เกินกว่าเหตุนั้นเองหรือไม่ ที่ไปกระตุ้นให้เกิดการโต้ตอบที่รุนแรงจากผู้ชุมนุม การใช้กระสุนยาง หรือแก๊สน้ำตาต่อผู้ชุมนุม เป็นสิ่งที่ต้องกลับมาทบทวนว่าท่าทีแบบนี้นั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงทำให้ รัฐประสบปัญหา เมื่อรัฐใช้อำนาจที่มีในการจัดการปัญหามาโดยตลอด แต่เมื่อเจอกับกลุ่มที่ปฏิเสธอำนาจเหล่านั้น ไม่ยอมรับกระบวนการที่เกิดจากรัฐ ก็ไม่สามารถจัดการอะไรได้ นอกจากการบุกปราบปราม เพราะไม่สามารถเชิญใครมาพูดคุยหรือเจรจากันได้เลย

กสม. กังวล ม็อบไม่มีการสื่อสาร อาจบานปลาย เตรียมหาเวทีพูดคุย

วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า ในฐานะที่มีโอกาสลงพื้นที่ในการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง สังเกตเห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม ต่างออกไปจากกลุ่มอื่น ๆ ที่มีการนัดหมายกันชัดเจน และมีแกนนำ จะสังเกตได้ว่าที่ดินแดงทุกคนมีเจตจำนงของตัวเองชัดเจน จึงไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ในทุกครั้งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าจบลงด้วยการปะทะ และสถานการณ์ที่รุนแรงเสมอ

วสันต์ กล่าวว่า การไม่มีช่องทางเพื่อเจรจาหรือสื่อสารกัน มีโอกาสที่จะทำให้สถานการณ์ชุลมุนจนไม่สามารถควบคุมได้ และที่สำคัญคือมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ชุมนุมได้รับอันตราย รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนข้างเคียง จึงมีการเรียกร้องให้การชุมนุมทุกครั้งดำเนินไปโดยสงบ และปราศจากอาวุธอย่างแท้จริง

ในขณะเดียวกันตนยอมรับว่าท่าทีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มีต่อผู้ชุมนุม มีผลกระตุ้น และท้าทายต่อผู้ชุมนุมบางกลุ่มด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องใช้มาตรการอย่างเหมาะสมตามหลักความได้สัดส่วน ตามหลักการสากล และปรับยุทธวิธี เพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้า และสร้างจุดที่อันตรายต่อผู้ชุมนุม และชุมชน

“ผู้ชุมนุมบางกลุ่มก็คิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ต้องเข้าไปท้าทายหรือเอาชนะ เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องปรับแผนยุทธวิธี ในขณะที่ผู้ชุมนุมก็ต้องแยกกันให้ชัดเจนขึ้น เพื่อบอกให้รู้ว่ามีกลุ่มที่ไม่อยากเห็นความรุนแรง”

วสันต์ ภัยหลีกลี้

วสันต์ กล่าวว่ากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในขณะนี้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ได้เชิญนักวิชาการ นักสันติวิธี และผู้ที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนเข้ามาพูดคุยแล้ว เพื่อหาเวทีปรึกษาหารือ นำไปสู่ทางออกร่วมกัน โดยคาดหวังว่าจะสามารถพูดคุยกันได้ทั้งฝ่ายของผู้ชุมนุม และฝ่ายของรัฐบาล

มองที่เด็กแล้ว ต้องย้อนมองผู้ใหญ่ด้วย

ทิชา กล่าวว่า ถึงแม้เราจะพิจารณาในแง่มุมของความเดือดร้อน และเหตุผลที่ทำให้กลุ่มเยาวชนเหล่านี้ว่าออกมาชุมนุมนั้นเป็นเพราะอะไรกันแน่ แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือปัญหาหลายอย่างล้วนเกิดมาจากผู้ใหญ่เช่นกัน เพราะฉะนั้น ข้อเสนอควรต้องส่งถึงรัฐบาล แม้เป็นข้อเสนอที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ อย่างการให้ “นายกรัฐมนตรีลาออก” นั้น แต่จำเป็นต้องพูดคุยกัน เพื่อเป็นการเริ่มต้น และให้เป็นวาระที่ถูกขยับขึ้นทีละน้อย ผ่านองค์กรที่มีเสียงมากกว่าผู้ชุมนุม

สอดคล้องกับ ผศ.พิชญ์ ว่า เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการปะทะนั้น มาจากรัฐบาล และขนาดของการกระทำของรัฐที่ตอบโต้มายังผู้ชุมนุม เพราะฉะนั้นเราไม่ควรมองแต่เพียงว่าเยาวชนเหล่านี้ผ่านอะไรมาบ้าง ทำไมจึงไม่มองว่าผู้ถืออำนาจต้องปรับอะไรบ้าง และสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไข

ในขณะที่วสันต์ กล่าวว่า จำเป็นต้องคุยเกี่ยวกับสิทธิเด็กที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ซึ่งจะมีการพูดคุยกันเพื่อหาแนวทางคุ้มครองเด็กและเยาวชน ทั้งการดำเนินคดี และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเหมาะสม และ กสม. คงไม่ใช่กรรมการในการห้ามมวย แต่หากต้องเป็นตัวเชื่อมเพื่อทำให้มีทางออกที่สันติตามหลักสิทธิมนุษยชนได้ก็จะทำอย่างเต็มที่


Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้