มองสิทธิพลเมืองในการชุมนุม ภายใต้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”

iLaw ชี้ ข้อยกเว้นความผิด ทำให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมโดยไม่จำเป็น ‘พิภพ-พิชาย’ มอง รัฐบาลกลัวคนรุ่นใหม่เชื่อมกับคนชั้นกลาง

‘การชุมนุม’ ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และถูกยอมรับในระดับสากล ขณะที่รัฐบาลไทย ระบุ การชุมนุมเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ล่าสุด กรณีสลายการชุมนุม หมู่บ้านทะลุฟ้า หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2564 นำมาซึ่งคำถามว่า แท้จริงแล้ว การชุมนุมตามสิทธิเสรีภาพ และการปฏิบัติที่เหมาะสมควรจะเป็นเช่นไร

Active Talk ชวนคุยกับ พิภพ ธงไชย อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมด้วย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

รัฐบาลมีหน้าที่ไม่ให้ความรุนแรงเข้ามาในที่ชุมนุม

พิภพ ธงไชย ระบุ สิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง เป็นเรื่องที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ระดับรัฐธรรมนูญ และกฎกติกาสากลระหว่างประเทศ รัฐบาลต้องระวังการออกกฎหมายที่ขัดกับกติกาสากลที่ตัวเองลงนามไว้ โดยมองว่าหากเกิดกรณีที่รัฐละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม ตามกติการะหว่างประเทศ มีช่องทางให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องต่อศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (The International Court of Justice – ICJ) ได้ โดยย้ำว่าหากเป็นการชุมนุมโดยสงบ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ส่วนตัวฟันธงว่า ชนะ

“การชุมนุมเป็นเรื่องของประชาชน ที่ออกมาเรียกร้องความไม่ถูกต้อง ชอบธรรม จึงไม่แปลกใจที่การชุมนุมของม็อบทะลุฟ้า ศาลอนุญาตให้ประกันตัวทุกคน เพราะไม่มีความรุนแรง เป็นการชุมนุมอย่างสันติวิธีอย่างแท้จริง ส่วนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ก็พอเหมาะพอควร เพราะไม่มีใครบาดเจ็บ…”

เขายังยกตัวอย่างคดีความที่เกิดจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าหากคดีไหน เป็นการชุมนุมตามสิทธิ การต่อสู้คดีในชั้นศาล ประชาชนจะเป็นผู้ชนะคดี แต่ในคดีที่ถูกพิจารณาว่ามีความผิด เป็นกรณีที่บุกรุกสถานที่ของรัฐหรือสถานที่ราชการ พร้อมย้ำ เหตุผลที่รัฐสลายการชุมนุมเพราะมีบทเรียนจากอดีต หากไม่รีบสลายตั้งแต่เนิ่น ๆ จะกลายเป็นม็อบใหญ่ ไม่ว่าจะ กลุ่มพันธมิตร กปปส. หรือ นปช. ที่ใช้เวลาการก่อตัวนาน และหากรัฐใช้อำนาจมากเกินไป อาจถูกเช็กบิลในอนาคต

“รัฐบาลมีหน้าที่ไม่ให้ความรุนแรงเข้ามาในที่ชุมนุม… ขณะที่ผู้ชุมนุมก็ต้องดูแลการ์ดและความเรียบร้อยในที่ชุมนุมด้วย แต่อย่าลืมว่ารัฐชอบส่งความรุนแรงเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม”

พิภพ ยังวิเคราะห์ต่อว่า เวลานี้สิ่งที่รัฐกลัวมากที่สุด คือ รัฐกลัวคนรุ่นใหม่ เชื่อมกับ ชนชั้นกลาง เพราะปัญหาเดิมยังอยู่ ไม่ถูกแก้ไข พร้อมย้ำ หากรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความไม่เป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ก็มีโอกาสที่คน 2 กลุ่มนี้จะเชื่อมกัน

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจกับการชุมนุม

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ชี้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจกับการชุมนุม โดยมองว่าแม้จะขออนุญาตชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่การสลายการชุมนุมหลายครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุดที่หมู่บ้านทะลุฟ้า เกิดขึ้นจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศใช้เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ที่กำหนดความผิดไว้อย่างหลากหลาย แต่กลับ เว้นความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ

ยิ่งชีพ อธิบายต่อว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อคุมโรคระบาดรอบนี้ เปิดช่องให้ เจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมเฉพาะหน้าได้ จึงเห็นภาพเจ้าหน้าที่ใช้กระสุนยางยิ่งแนวศีรษะ มีการจับกุม และทำร้ายผู้ชุมนุม เพราะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เปิดช่องให้ทำได้ หากไม่มีกฎหมายฉบับนี้การสลายการชุมนุมจะไม่เกิดขึ้น เพราะตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ มีขั้นตอน และต้องรอคำสั่งศาลก่อน จึงจะสลายการชุมนุมได้ ซึ่งต้องใช้เวลานาน

ดังนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงเป็นที่มาของภาพการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ พร้อมเสนอ คลายปมความรุนแรงเฉพาะหน้า คือ รัฐต้องมีความยุติธรรม ปฏิบัติต่อทุกคน และตีความตามกฎหมายเหมือนกัน การเลือกปฏิบัติจะทำให้อยู่ร่วมกันไม่ได้ และมีรอยร้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ

ละวางอำนาจ ให้บ้านเมืองเดินหน้า

สอดคล้องกับ รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ที่มองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นตัวกระตุ้น ทำให้เจ้าหน้าที่อยากใช้ความรุนแรง และเป็นอันตรายต่อสังคม ปริมาณของผู้ชุมนุม ไม่ได้เป็นตัวกำหนดสถานภาพรัฐบาลมากนัก แต่แรงกดดันจากมวลชนที่มาก อาจมีผลต่อพรรคร่วมรัฐบาล รัฐไม่อยากให้มีการชุมนุม จึงใช้วิธีการรุนแรงและจับขังคุก เพื่อให้ประชาชนไม่กล้าออกมาชุมนุม แต่วิธีการแบบนี้ไม่ได้ผล พลังของประชาชนจึงมีส่วนช่วยกดดันในเรื่องนี้

แต่ที่ผ่านมา มีความพยายามปราบ ตั้งแต่เริ่มต้นการชุมนุม และมีความพยายามสลายการชุมนุม แม้คนไม่เยอะ สังเกตได้ว่าระยะหลัง การชุมนุมแทบทุกครั้งมักจะถูกสลาย โดยมองว่า การชุมนุมที่ผ่านมา หากตำรวจไม่ยุ่ง การชุมนุมก็สงบ แต่ที่มีความวุ่นวายบ่อยครั้ง เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไป ซึ่งแตกต่างจากในอดีต พร้อมยกตัวอย่างการชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจนในอดีต ทั้ง พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และ ชวน หลีกภัย ที่ประกาศห้ามแตะต้องกลุ่มสมัชชาคนจน ที่ชุมนุมปักหลักกันอย่างยาวนาน

“การใช้ความรุนแรง ก็จะยิ่งสั่งสมความคับแค้นไม่พึงพอใจ ทำให้ความแตกแยกเป็นปรปักษ์ขยายตัว และเติมเชื้อเพลิงของความเกลียดชัง เพราะสลายอย่างไม่จำเป็น พอเรามีอำนาจและทำโดยไม่รับผิดชอบ มีแนวโน้มจะทำตามอำเภอใจมากขึ้น ลุแก่อำนาจ ปราศจากนิติธรรม…”

รศ.พิชาย ย้ำ ประเทศไหนที่มีประชาธิปไตยต่ำ มีชนชั้นนำที่อยากจะสืบทอดอำนาจ โดยไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจะเกิดความรุนแรง แนะรัฐละวางอำนาจ และนึกถึงสังคมของคนรุ่นหลังให้มากขึ้น เพื่อเป็นทางลงของรัฐบาลที่สง่างาม

“ละวางอำนาจลงเสียบ้าง บ้านเมืองจะเดินไปได้ ถ้ายังยึดติด จะนำไปสู่ความขัดแย้ง เผด็จการ หรือ ประชาธิปไตย ลูกหลานจะอยู่แบบไหน ส่งมอบประเทศไทยให้ลูกหลานอย่างไร…”


Active Talk สิทธิพลเมืองในการ ‘ชุมนุม’ (29 มี.ค. 2564)

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน