อะไรเปลี่ยนไป เมื่อการเมืองไทยเปลี่ยนขั้ว

กระแสความนิยมของ พรรคก้าวไกล ทะยานพุ่งสูงขึ้นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง เห็นได้จากผลสำรวจของโพลหลายสำนัก แม้หลายพรรคการเมืองจะทิ้งไพ่ใบเด็ด ชูแคมเปญหาเสียงทิ้งทวนช่วงสัปดาห์สุดท้าย แต่คงไม่ทันการณ์ ผลการเลือกตั้งจึงออกมาหักปากกาเซียนอย่างที่เห็น

แม้ชัยชนะครั้งนี้ ยังไม่อาจเรียกได้ว่าถล่มทลาย แต่ผลการเลือกตั้งที่เอาชนะ พรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองขนาดใหญ่และชนะการเลือกตั้งแบบเด็ดขาดมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2544 (นับตั้งแต่ไทยรักไทยและพลังประชาชน) ได้ ทำให้สังคมหยิบยกประเด็นนี้มาวิเคราะห์กันอย่างร้อนแรง

หนึ่งในประเด็นที่นักวิเคราะห์การเมืองเห็นตรงกัน คือ “ความชัดเจน” ทางการเมืองและการหาเสียงบน “ความคาดหวังของประชาชน” เป็นกุญแจความสำเร็จของพรรคก้าวไกล แม้หลายเรื่องจะถูกมองเป็นเรื่องเพ้อฝันก็ตาม

นอกจากปรากฏการณ์ก้าวไกล ชัยชนะร่วมกันของนักการเมืองที่เรียกตัวเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตย ยังล้มขั้วรัฐบาลเดิมที่ถูกมองว่าเป็น ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ในรอบ 9 ปี หลัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาอย่างยาวนาน

The Active รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเพื่อทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลง และอาจใช้เป็นเครื่องมือติดตามตรวจสอบนโยบายที่พรรคการเมืองให้ไว้กับประชาชน

การเมือง

ต้องชนะเลือกตั้งแค่ไหน ถึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

สาระสำคัญของมาตรา 272 ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยอาศัยเสียงกึ่งหนึ่ง คือ 376 จาก 750 เสียง หมายความว่า แม้การเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 จะส่งผลให้พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง ได้จำนวน ส.ส. มากที่สุด 151 คน แต่ยังไม่มีอะไรการันตีว่า ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหนึ่งเดียวของพรรคก้าวไกล จะได้ก้าวขึ้นสู่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี

ตามธรรมเนียมปฏิบัติหรือมารยาททางการเมือง ‘พรรคก้าวไกล’ คือพรรคที่ได้รับสิทธิจัดตั้งรัฐบาล เป็นที่มาของการรวบรวมเสียงจากพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม คือ พรรคเพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย และเสรีรวมไทย รวมถึงอีก 3 พรรคการเมืองหน้าใหม่ คือ พรรคเพื่อไทรวมพลัง เป็นธรรม และพลังสังคมใหม่ จนได้เสียงข้างมาก คือ 312 เสียง

หากเป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในสภาวะปกติ การมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลและตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ในบทเฉพาะกาลได้ให้อำนาจ ส.ว. ชุดแรกของรัฐธรรมนูญ 2560 ออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย นั่นหมายถึงว่า แม้(ว่าที่)รัฐบาลใหม่จะมีเสียงสนับสนุนแล้ว 312 เสียง ก็อาจไม่เพียงพอ เพราะยังขาดอีก 64 เสียงในการสนับสนุน ซึ่งจะมาจากพรรคการเมืองอื่น ๆ หรือจาก ส.ว. ก็ตาม

กติกาตามบทเฉพาะกาลนี้ จะสิ้นสุดลงเมื่อ ส.ว. ชุดนี้ดำรงตำแหน่งจนครบวาระในเดือนพฤษภาคม 2567 หรืออีก 1 ปีข้างหน้า

สำหรับเส้นทางในรัฐสภาหลังจากนี้ จะเริ่มนับหนึ่งก็ต่อเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง 95% ภายใน 60 วัน หลังจากนั้นไม่เกิน 15 วัน ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อเปิดประชุมเป็นครั้งแรก และเลือกประธานรัฐสภา (ประธานสภาผู้แทนราษฎรโดยตำแหน่ง) จากนั้นเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีและตั้งรัฐบาลชุดใหม่

หากเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อ 23 พฤษภาคม วันสุดท้ายของการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง คือ 13 กรกฎาคม จากนั้นจะมี พ.ร.ฎ.เปิดประชุมรัฐสภา และจัดรัฐพิธีเปิดประชุมสภาในวันที่ 25 กรกฎาคม เพื่อเลือกประธานรัฐสภา จากนั้นจะกำหนดวันประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 3 สิงหาคม จากไทม์ไลน์นี้ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีชุดเดิมจะทำหน้าที่รักษาการถึง 11 สิงหาคม

กว่าจะได้ตั้งรัฐบาล: กรณีศึกษา MOA จัดตั้งรัฐบาลเยอรมนี

“ทุกพรรคจะร่วมกันจัดทำข้อตกลงร่วม หรือ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแสดงถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน และวาระร่วมของทุกพรรค” คือสิ่งที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกาศท่ามกลางผู้นำพรรคการเมือง 8 พรรค เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม เพื่อจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน

แต่นี่ไม่ใช่การประกาศครั้งแรกของเขา เพราะการจัดทำ MOU เพื่อร่วมรัฐบาล เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลประกาศไว้ระหว่างการหาเสียง ว่าการจัดตั้งและร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคการเมืองควรต้องเอาวาระหรือนโยบายเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่กระทรวงหรือตำแหน่งเป็นตัวตั้งเหมือนการเลือกตั้งในอดีต โดย MOU นี้จะประกอบด้วยวาระ 2 ส่วน คือ 1) วาระร่วมของทุกพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งหมายถึงวาระและนโยบายที่ทุกพรรคเห็นตรงกัน พร้อมผลักดันร่วมกันผ่านกลไกบริหารและนิติบัญญัติ และพร้อมรับผิดชอบร่วมกัน และ 2) วาระเฉพาะของทุกพรรคร่วมรัฐบาล ที่แต่ละพรรคขับเคลื่อนเอง เพิ่มเติมจากนโยบายใน MOU แต่ต้องไม่ขัดแย้งกัน ซึ่ง MOU ฉบับนี้ได้ปรากฏในการแถลงร่วมกันของทั้ง 8 พรรค เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566

นี่อาจไม่ใช่ธรรมเนียมคุ้นชินในการเมืองไทย แต่ปรากฏเป็นธรรมเนียมปกติในการจัดตั้งรัฐบาลของหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งมีการจัดทำข้อตกลงเช่นเดียวกัน หากยกตัวอย่างรัฐบาลเยอรมนีหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2564 จะเห็นเส้นทางความพยายามจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ SPD ซึ่งมี โอลาฟ โชลซ์ เป็นผู้นำพรรค

เขาแสดงเจตนารมณ์ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่คืนวันเลือกตั้ง 26 กันยายน 2564 หลังรู้ผลการลงคะแนน โดยแสดงความปรารถนาจะจัดตั้งรัฐบาลไฟจราจรร่วมกับพรรคเสรีประชาธิปไตย (FDP) ที่มีสัญลักษณ์พรรคสีเหลือง และพรรคสิ่งแวดล้อม (Greens) ที่มีสัญลักษณ์พรรคสีเขียว ส่วน SPD คือสีแดง

จากนั้นอีกราว 20 วัน พรรค Greens และ FDP ลงมติที่จะเข้าร่วมการเจรจาเข้าร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการกับ SPD ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างนั้นมีการพบและเจรจากันในเบื้องต้น และหนึ่งในวาระสำคัญของการเจรจา คือ การที่ SPD ตกลงที่จะตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำลังเพิ่มมากขึ้น

กระทั่ง 23 พฤศจิกายน จึงเกิดเอกสารข้อตกลงการร่วมรัฐบาลฉบับสมบูรณ์ ที่ระบุถึงนโยบาย แผนการที่จะทำร่วมกัน และตำแหน่งรัฐมนตรีคนสำคัญ หลังจากนั้นทั้ง 3 พรรคการเมืองมีการประชุมเพื่อลงมติกันภายในพรรคให้ความเห็นชอบในการเข้าร่วมรัฐบาลดังกล่าว ซึ่งกระบวนการทั้งหมดกินเวลา 75 วัน โอลาฟ โชลซ์ จึงได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ด้วยคะแนน 395 เสียง จากทั้งหมด 707 เสียง มีเสียงคัดค้าน 303 เสียง

ข้อตกลงดังกล่าวอาจใกล้เคียงกับ MOA (Memorandum of Agreement) มากกว่า กล่าวคือเป็น “บันทึกข้อตกลง” ที่มีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาที่มีรายละเอียดชัดเจน มีหลักเกณฑ์ ข้อบังคับ หรือวิธีการให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม แต่สำหรับ MOU (Memorandum of Understanding) เป็นเพียง “บันทึกความเข้าใจ” แสดงความต้องการที่จะทำกิจกรรมร่วมกันในภาพกว้างและไม่ถือเป็นสัญญาผูกมัดใด ๆ ซึ่งหากนำมาใช้ในทางการเมืองจึงมักเป็นความร่วมมือในการร่วมรัฐบาล

เว็บไซต์ Law Insider ให้ความหมายของ Coalition Deal หรือ Coalition Agreement ว่าคือข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจ ของพรรคการเมืองตั้งแต่ 2 พรรคขึ้นไปในการร่วมกันเป็นรัฐบาลหรือในความร่วมมือกันในด้านอื่น ๆ

เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนขั้ว ทำไมต้องมี Transition Team

หากนับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 นั่นเท่ากับว่าเป็นเวลานานถึง 9 ปีเต็ม ที่อำนาจรัฐอยู่ในมือของฝ่ายการเมืองขั้วเดิม

นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ระหว่างการประกาศจัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคก้าวไกล มีการพูดถึง “ทีมเปลี่ยนผ่านรัฐบาล” หรือ “Transition Team” ที่ทุกพรรคการเมืองจะทำงานร่วมกันในรูปแบบคณะทำงาน

ในสหราชอาณาจักร มีการศึกษาการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลหลังการเลือกตั้งทั่วไปเอาไว้ โดยเน้นการเลือกตั้งครั้งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้อำนาจ แม้การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลในช่วงศตวรรษที่ 20 ส่วนใหญ่จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ก็พบว่าจะเปลี่ยนผ่านในมิติที่กว้างและใช้เวลายาวนานกว่ามาก

เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจำเป็นต้องมีคณะทำงานแบบ Transition Team คือ การเปลี่ยนขั้วอำนาจ อาจทำให้เกิดความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วน ความมีประสิทธิผล หรือความรวดเร็วที่รัฐบาลใหม่จะเข้ามาบริหารงานและดำเนินนโยบายต่าง ๆ ได้นั้น จำเป็นต้องมีการเตรียมการที่ดี เพราะจะช่วยรับประกันว่ารัฐมนตรีคนใหม่และข้าราชการในกระทรวงนั้น ๆ จะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างใกล้ชิดและราบรื่นกว่า งานวิจัยดังกล่าว ยังบอกอีกว่าการจะอุดช่องว่างการทำงานของรัฐบาลใหม่จำเป็นต้องอาศัยที่ปรึกษาภายนอก ทีมงาน Think Tank และข้าราชการเกษียณ

ส่วนฝั่งข้าราชการ การเปลี่ยนขั้วรัฐบาลหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นต่อกลไกภาครัฐ การปฏิบัติงาน บุคลากร และนโยบาย ซึ่งพบว่าหากยังไม่มีการยุบสภา จะทำให้การเตรียมการค่อนข้างมีข้อจำกัด เพราะต้องรับใช้รัฐบาลเดิมและความไม่แน่นอนของแผนปฏิบัติงานของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ตัวอย่างหนึ่งที่จะช่วยอุดช่องว่างนี้ จากกรณีศึกษาของสหราชอาณาจักร คือ กฎของดักลาส-โฮม (Douglas-Home Rules) ที่อนุญาตให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านสามารถพบปลัดกระทรวงต่าง ๆ ได้ในช่วงไม่เกิน 6 เดือนล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป กระทั่ง ค.ศ. 1992 การติดต่อนี้ถูกขยายเป็นไม่เกิน 16 เดือนก่อนการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ยังมีลักษณะความสัมพันธ์แบบ “ไม่ถาม ไม่บอก” ที่ข้าราชการติดอยู่ในสนามความขัดแย้งระหว่างความจงรักภักดีต่อรัฐบาลเดิมกับความปรารถนาที่จะเตรียมการสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น

กรณีศึกษาของสหราชอาณาจักร ยังบอกคำแนะนำสำหรับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและขาดการวางแผนล่วงหน้าที่ดี ว่าจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนารัฐมนตรีและที่ปรึกษา เพราะความสามารถและนิสัยที่เป็นประโยชน์ในการเป็นฝ่ายค้านไม่อาจถ่ายโอนได้โดยง่ายเมื่อเป็นรัฐบาล

พรรคก้าวไกล หาเสียงไว้อย่างไรบ้าง

กว่า 300 นโยบายของพรรคก้าวไกลที่ประกาศไว้ตอนหาเสียง กลายเป็นความท้าทายทันทีเมื่อผลการเลือกตั้งชี้ว่าพรรคได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากกว่า 14 ล้านเสียง ซึ่งมาพร้อมความหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง ตามสโลแกน “รัฐบาลก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม” ขณะเดียวกัน ชัยชนะแบบ “ไม่ขาดลอย” ที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. รองลงมาห่างกันเพียง 10 เสียง ก็ยิ่งทำให้การผลักดันนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ ทำได้ยากขึ้นไปอีก เพราะนั่นหมายถึงการต่อรองตำแหน่ง อำนาจ งบประมาณ และกฎหมาย ฯลฯ ที่จะใช้เพื่อผลักดันให้นโยบายสำเร็จก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

หากดูจากนโยบายที่ประกาศอย่างเป็นทางการบนเว็บไซต์ของพรรคก้าวไกล จะเห็นว่าทั้ง 300 นโยบาย ถูกจัดกลุ่มไว้เป็น 9 เสานโยบาย คือ ประชาธิปไตยเต็มใบ, สวัสดิการครบวงจร, จังหวัดจัดการตนเอง, ราชการเพื่อราษฎร, ปฏิวัติการศึกษา, เกษตรก้าวหน้า, สิ่งแวดล้อมยั่งยืน, สุขภาพดีทั้งกาย ใจ และเศรษฐกิจโตเพื่อทุกคน ซึ่งพรรคให้ความสำคัญกับนโยบายเชิงโครงสร้างทางการเมืองและการบริหารประเทศไม่น้อย ขณะเดียวกันก็มีนโยบายด้านสวัสดิการ และคุณภาพชีวิตประชาชนในมิติต่าง ๆ ด้วย

เช่น ด้านประชาธิปไตยเต็มใบ เมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดจะเห็นว่ากลุ่มนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เป็นนโยบายไฮไลท์ที่ถูกให้ความสำคัญ ขณะที่ด้านสวัสดิการครบวงจร มีนโยบายปรับขึ้นค่าแรง และเงินผู้สูงวัย เป็นนโยบายไฮไลท์ ฯลฯ

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นโยบายเหล่านี้ถูกผลักดันจนเป็นผลสำเร็จ คือ งบประมาณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI วิเคราะห์จากเอกสารที่พรรคการเมืองยื่นเสนอต่อ กกต. แล้วให้ความเห็นว่า พรรคก้าวไกลมีการจัดทำเอกสารได้ดี แต่นโยบายมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกต้าน โดยพรรคก้าวไกล ระบุว่าจะใช้เงิน 1.3 ล้านบาท นโยบายที่จะใช้เงินมากที่สุด คือ นโยบายสวัสดิการสูงอายุ ใช้เงิน 5 แสนล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้น 4.2 แสนล้านบาทจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปัจจุบัน ส่วนนโยบายที่ใช้เงินรองลงมาคือนโยบาย “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งจะใช้งบฯ 2 แสนล้านบาท โดยระบุว่าจะมาจากการเกลี่ยงบประมาณของกระทรวงต่าง ๆ มาให้จังหวัด

ส่วนแหล่งที่มาของเงินที่ต้องใช้เพิ่ม พรรคก้าวไกลระบุว่าจะจัดเก็บรายได้ภาครัฐในรูปแบบใหม่และปรับปรุงระบบภาษีซึ่งจะทำให้รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้น 6.5 แสนล้านบาทต่อปี และจะปฏิรูปกองทัพซึ่งจะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณและมีรายได้เพิ่มขึ้น 5 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นต้น โดย TDRI มองว่าความเสี่ยงจากการปฏิรูปต่าง ๆ ตามนโยบายพรรคอาจถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากกองทัพและหน่วยงานราชการส่วนกลาง

รัฐบาลผสม 8 พรรค นโยบายไหนตรงกันบ้าง

หากตั้งต้นจากนโยบายของพรรคก้าวไกล ซึ่งมี ส.ส. ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด หลายนโยบายเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ในที่นี้อาจมีข้อจำกัดสำหรับพรรคการเมืองใหม่ ๆ และขนาดเล็กอยู่บ้าง เพราะมีจำนวนนโยบายน้อยและเน้นไปที่นโยบายเฉพาะกลุ่ม แต่ข้อมูลเหล่านี้พอจะทำให้เห็นว่านโยบายโดดเด่นอย่าง ยกเลิกบังคับการเกณฑ์ทหาร ตรงกับที่พรรคการเมืองอื่น ๆ หาเสียงเอาไว้เช่นกัน เช่น เพื่อไทย ไทยสร้างไทย และเป็นธรรม ที่มีนโยบายยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารหรือยกเลิกการจับใบดำใบแดง ส่วนพรรคเสรีรวมไทย ก็เสนอปฏิรูปกองทัพให้เล็กลง แต่มีประสิทธิภาพในการรบและการป้องกันประเทศที่สูงขึ้น ขณะที่พรรคเพื่อไทรวมพลัง เสนอให้เพิ่มเงินเยียวยาครอบครัวของทหารเกณฑ์

อีกหนึ่งนโยบายที่เป็นข้อถกเถียงกันในสังคม คือ ค่าแรง ซึ่งพรรคก้าวไกลหาเสียงไว้ว่า ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท ขณะที่พรรคเพื่อไทย ให้ตัวเลขไว้ที่ 400 บาท และทยอยขึ้นจนถึง 600 บาท ภายในปี 2570 ส่วนพรรคประชาชาติ เสนอ 700 บาทต่อวัน แต่ก็มีบางพรรคที่มีนโยบายเกี่ยวกับค่าแรงแต่ไม่ระบุจำนวนเงิน คือ เสรีรวมไทย ที่เสนอให้มีการปรับปรุงอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นธรรม

หรือ นโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่แม้พรรคก้าวไกลจะใช้ชื่อว่า เปลี่ยน สปก. เป็นโฉนดอย่างเป็นธรรม ก็พบว่าพรรคอื่น ๆ ก็มีนโยบายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แตกต่างกันที่รายละเอียด เช่น พรรคเพื่อไทย คือ นโยบายจัดทำกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยจะมีการออกโฉนดให้ประชาชน 50 ล้านไร่, พรรคไทยสร้างไทย ที่ให้มีการจำหน่ายจ่ายโอน ที่ดิน สปก. ในกรณีชราภาพได้ และ พรรคประชาชาติ ที่เสนอให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์และสิทธิในที่ดินทำกิน 20 ไร่ ด้วยมาตรการที่หลากหลาย รวมถึงเพิ่มจำนวน สปก. นอกจากนี้ยังพบว่า พรรคเสรีรวมไทย เพื่อไทรวมพลัง และพลังสังคมใหม่ ก็มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ดินทำกินเช่นเดียวกัน

แต่สำหรับ นโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ปรากฏว่าเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองอื่น ๆ มีเพียง แพทองธาร ชินวัตร แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ตอบคำถามสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ว่า “ไม่ยกเลิกมาตรา 112 แต่เราต้องมาคุยกันในสภา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน”

นอกจากนโยบายของพรรคก้าวไกล ที่ปรากฏใน MOU อย่างชัดเจน เช่น ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร หรือ การแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังมีอีกหลายนโยบายที่เมื่อนำไประบุอยู่ในบันทึกข้อตกลงร่วมกับพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้ปรับลดเงื่อนไขเพื่อให้สอดรับกับนโยบายพรรคอื่น ๆ เช่น นโยบายกระจายอำนาจหรือเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ที่ปรากฏใน MOU ข้อ 6 “ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต” หรือ นโยบายหวยใบเสร็จ เพิ่มแต้มต่อให้ SME ปรากฏใน MOU ข้อ 9 “ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งการอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้”

นโยบายเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ใน MOU ข้อ 11 “ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า”

หรือ นโยบายด้านสวัสดิการ เช่น เงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท และเงินเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท ก็ปรากฏอยู่ในข้อ 14 “สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว” รวมถึง นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ใน MOU ข้อ 19 “ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

เช็กลิสต์กฎหมายค้างสภา ประชาชนมีหวังแค่ไหน

นอกจากนโยบายชุดใหม่ที่กำลังเป็นที่จับตาแล้ว บรรดานโยบายเดิมที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างถึงขึ้นออกเป็น ‘กฎหมาย’ เมื่อครั้งที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยังเป็นฝ่ายค้าน เคยเสนอและยังค้างอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภาฯ หรือบางฉบับที่ถูกตีตกไปแล้วนั้น ท่าทีล่าสุดก็ยังพยายามจะเดินหน้าผลักดันกฎหมายนั้นต่อให้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้เดิม

เริ่มจาก กฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ซึ่งสภาฯ รับหลักการในวาระหนึ่งไปแล้วเมื่อ 15 มิถุนายน 2565 แต่ยังค้างอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ โดยพรรคก้าวไกลยังยืนยันผลักดันประเด็นสำคัญในกฎหมายนี้ เช่น เปลี่ยนคำว่า ‘ชายและหญิง’ เป็น ‘บุคคลทั้งสอง’ สามารถหมั้นและจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับสิทธิ หน้าที่ และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิงทั่วไป และเปลี่ยนคำว่า ‘สามีภริยา’ ใน ป.พ.พ. ให้เป็น ‘คู่สมรส’ โดยทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคไทยสร้างไทย ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ ในขณะที่พรรคประชาชาติประกาศไม่สนับสนุนด้วยเหตุผลทางศาสนา

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งผลักดันเข้ามาในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนหมดวาระของสภาฯ ชุดนี้ เพื่อแก้ปัญหากฎหมายเดิมที่ถูกมองว่าฟังเสียงไม่รอบด้านจนส่งผลกระทบกับชาวประมงที่ถูกกล่าวหาว่าทำประมงผิดกฎหมายและค้ามนุษย์ โดยพรรคก้าวไกลเตรียมเดินหน้าต่อด้วยแนวคิดกระจายอำนาจการประมงให้ท้องถิ่น-ชาวประมง เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่ต้องการให้ประมงพื้นบ้านขนาดเล็กจดทะเบียนฟรี ไม่ต้องขออนุญาต ขณะที่พรรคเสรีรวมไทยกับพรรคประชาชาติก็มีท่าทีสนับสนุน ร่างพ.ร.บ.นี้

ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พรรคก้าวไกลประกาศสนับสนุนกฎหายนี้เพื่อจัดให้มีกลไกทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศในภาพรวม ห้ามเผาแปลงการเกษตร ไปจนถึงออก ‘กฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน’ (Transboundary Haze Pollution Act) และฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่สนับสนุนการออกกฎหมายโดยมีเป้าหมายการแก้ปัญหา 3 ระยะชัดเจน ขณะที่พรรคไทยสร้างไทยมีจุดยืนสนับสนุนการปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกลดการเผา พร้อมสร้าง Mobile Application เครือข่ายปราบการเผาไร่ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายอาสาป้องกันการเผาไร่

กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ค้างอยู่ในกระบวนการซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 147 กำหนดว่า ถ้าอายุของสภาฯ สิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาฯ กฎหมายใดที่รัฐสภายังไม่เห็นชอบ จะถูกปัดตกไปทันที แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีร้องขอให้นำกฎหมายที่ค้างอยู่กลับมาพิจารณา ก็สามารถทำได้ภายใน 60 วัน นับจากวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก ในขณะที่กฎหมายซึ่งถูกตีตกไปแล้วต้องยกร่างและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ อีกครั้ง

กฎหมายที่ถูกจับตาเป็นพิเศษคือ กฎหมายสุราก้าวหน้า หรือ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ที่ไปไม่สุดทางแม้จะผ่านวาระแรกในสภาฯ แต่สุดท้ายที่ประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 มีมติไม่เห็นชอบในวาระ 3 แบบฉิวเฉียด 177 ต่อ 174 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง ไม่ลงเสียง 4 เสียง ทำให้กฎหมายตกไป แต่พรรคก้าวไกล เตรียมผลักดันต่อในสมัยหน้า เพื่อปลดล็อกการผลิตสุราของผู้ผลิตรายย่อยและสุราชุมชน เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งฝ่ายค้านเดิมมีมติสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ ยกเว้นพรรคประชาชาติที่ค้านด้วยเหตุผลของหลักศาสนา

สุดท้าย ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ที่แม้จะเป็นเป็นกฎหมายของกลุ่มเฉพาะไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเขียนเป็นนโยบายชัด ๆ ของหลายพรรคการเมือง แต่เห็นสัญญาณที่ดี ทั้งพรรคก้าวไกล เพื่อไทย และประชาชาติ ประกาศสนับสนุนการผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ทุกฉบับ เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เมื่อ 9 สิงหาคม 2565 ที่อาคารสัปปายะสภาสถาน (รัฐสภา) ทำให้เห็นทิศทางว่า ร่างกฎหมายชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายปฏิรูปประเทศ และเป็นกฎหมายเร่งด่วน ถูกคาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนและผลักดันได้สำเร็จในรัฐบาลชุดใหม่นี้


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active