“นักสิทธิ” แนะ จนท.รัฐ ต้องแยกแยะ-จัดการ เฉพาะผู้ก่อความรุนแรง

ที่ปรึกษา Human Right Watch ระบุ ต้องยอมรับว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นจากทั้ง 2 ฝั่ง กรณี #ม็อบ13กุมภา แต่ จนท.รัฐ ต้องไม่ปฏิบัติการแบบเหวี่ยงแห “ผบ.ตร.” ยืนยัน ยึดหลักกฎหมายกับผู้ชุมนุม ยังต้องตรวจสอบ ภาพตำรวจทำร้ายอาสาแพทย์

วันนี้ (15 ก.พ. 2564) พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงแนวทางการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมและการเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตว่า ได้กำชับตำรวจในการปฎิบัติหน้าที่จะต้องเตรียมความพร้อมตามยุทธวิธี และฝากถึงประชาชนที่มาร่วมชุมนุมไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนว่า เจ้าหน้าที่ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ส่งผลเสียตามมา จะทำอะไรให้คิดถึงผลดีผลเสีย ส่วนเจ้าหน้าที่ก็จะต้องทบทวนในส่วนที่บกพร่องในแต่ละครั้ง เพื่อปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุม ช่วงนี้ที่พยายามก่อกวน สร้างความวุ่นวายกับเจ้าหน้าที่ในการจัดกิจกรรมทางการเมืองนั้น ตำรวจจะดำเนินการไปตามสถานการณ์โดยยึดกฎหมายเป็นหลัก เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ส่วนกรณีการทำร้ายคนในม็อบที่มีการอ้างว่าตำรวจทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์นั้น ขณะนี้จะต้องหาข้อเท็จจริง แม้ว่าก่อนหน้านี้ชี้แจงสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว และเรื่องนี้จะต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

นักสิทธิ ย้ำ จนท. ต้องแยกแยะ-จัดการ เฉพาะผู้ก่อความรุนแรง ไม่ปฏิบัติการแบบเหวี่ยงแห

ด้าน สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Right Watch กล่าวถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นเมื่อคืนเสาร์ (13 ก.พ.) ว่า ต้องยอมรับว่ามีความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งทางฝั่งผู้ชุมนุมบางส่วน ซึ่งอาจจะเป็นการ์ดหรือคนที่มาชุมนุมที่เห็นได้ชัดว่าอยู่เหนือการควบคุมของแกนนำ

เพราะแม้แกนนำจะพยายามย้ำว่ายุติการชุมนุมแล้ว แต่คนเหล่านี้ไม่ยอมหยุดและเห็นได้ชัดว่าไม่สามารถควบคุมได้ อย่างที่เห็นภาพการปาทั้งก้อนหินและวัตถุที่ดูเหมือนจะเป็นวัตถุระเบิดเข้าไปในแนวตำรวจ ซึ่งในแนวนั้นก็มีทั้งแกนนำผู้ชุมนุมที่ยังยืนเจรจา รวมถึงผู้สื่อข่าว ขณะที่การชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงบ่าย เป็นปฏิบัติการที่ถือได้ว่าไม่ใช้ความรุนแรง เช่น การนำผ้าไปห่ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือการนำต้นไม้ที่อยู่รอบ ๆ อนุสาวรีย์ฯ มาจัดเป็นถ้อยคำยกเลิกมาตรา 112

“แต่ต้องแยกแยะว่าคนบางกลุ่มที่ก่อเหตุนั้น ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ และไม่ใช่เป็นคำสั่งที่เราสามารถพิสูจน์ได้ว่า แกนนำหรือคนจัดการชุมนุมเป็นคนสั่งให้ใช้ความรุนแรง เป็นเรื่องของคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ใช้ความรุนแรง”

สุณัย ยังเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีหน้าที่จะต้องดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัย ที่รวมทั้งความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เองด้วย ซึ่งตามหลักสากลนั้น การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้กำลังจากเบาไปหาหนัก เป็นขั้นเป็นตอนและสมแก่เหตุ แล้วต้องแยกแยะด้วยว่าเป็นการใช้กำลังต่อผู้ที่ก่ออันตราย และต้องดูด้วยว่า คนที่เจ้าหน้าที่เข้าไปจับกุมนั้น เขามีอาการต่อสู้ขัดขืนหรือพยายามทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือเปล่า

ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เห็นแล้วว่าเป็นคนบางกลุ่มเท่านั้น เพราะฉะนั้นเป้าหมายในปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจควรจะมีการจำเพาะเจาะจงไปยังกลุ่มที่เป็นปัญหา ไม่ใช่การเหวี่ยงแห และไม่ใช่การใช้ความรุนแรงพร่ำเพรื่อ

“เพราะก็ต้องยอมรับว่า ตำรวจเตรียมอุปกรณ์ไว้มากกว่านั้น ทั้งรถฉีดน้ำและอุปกรณ์แก๊สน้ำตา แต่แม้ไม่ได้นำออกมาใช้ แต่การตีด้วยกระบอง โล่ หรือที่เห็นว่ามีการกระทืบ อันนี้ก็เป็นความรุนแรงที่ต้องมีคำตอบ ซึ่งตำรวจไม่ได้ตอบเรื่องนี้ในการแถลงเมื่อวันที่ 14 ก.พ. พูดแต่ว่าไม่ได้ใช้แก๊สน้ำตา ไม่ได้ใช้รถฉีดน้ำ แต่ไม่ได้ตอบว่าคนที่ถูกกระทืบนั้นทำอะไรถึงถูกกระทืบ”

ส่วนที่ตำรวจโต้แย้งว่า ไม่ใช่แพทย์นั้น สุณัย เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันคืนวันเสาร์ (13 ก.พ.) ไม่ใช่การชุมนุมครั้งแรก แต่เป็นการชุมนุมที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว และกลุ่มคนที่เป็นอาสาสมัครแพทย์ที่ใส่เสื้อกั๊กก็เป็นที่รับรู้กันในพื้นที่ รวมถึงตำรวจเองก็ได้รับการช่วยเหลือจากคนที่ใส่เสื้อกั๊กเขียวแบบนี้ทุกครั้ง แต่ทำไมคืนที่เกิดเหตุตำรวจถึงทำเป็นไม่รู้จักเสื้อกั๊กเขียวของอาสาแพทย์ และไปทำร้ายร่างกายเขา

“และที่บอกว่าไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นอาสาสมัครจริงหรือเปล่า เลยต้องขอคุมตัวไว้ก่อน แต่เขาไม่ได้ขัดขืนต่อสู้ จึงไม่มีเหตุจำเป็นอะไรที่จะต้องใช้กำลัง โดยเฉพาะในลักษณะที่เห็นว่าเป็นการรุมกระทืบอย่างที่เกิดขึ้น”

เสนอหาจุดสมดุล หลังสื่อมวลชนถูกเจ้าหน้าที่บล็อก ส่งผลรายงานข่าวได้จำกัด

ส่วนกรณีที่การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ถูกบล็อกไว้หลังแนวเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน จนไม่สามารถบันทึกภาพและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณแนวปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมได้นั้น สุณัย เห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องหาความสมดุลระหว่างอิสระของสื่อที่ควรจะต้องมีอิสระมากที่สุด เพราะจะเป็นผู้ที่สามารถรายงานข้อเท็จจริงได้อย่างกว้างขวาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องถ่วงดุลกับความปลอดภัยของตัวสื่อมวลชนเอง และความจำเป็นในปฏิบัติการเคลียร์พื้นที่ของเจ้าหน้าที่ด้วย

“เป็นเหตุผลที่มีการเรียกร้องว่า ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงแบบนี้ จะต้องมีการสอบสวนและทำรายงานข้อเท็จจริงให้มีคำตอบ เพราะข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคืนนั้น ก็เห็นว่าสื่อทำงานได้ไม่เต็มร้อย”

ระบุ ไทยเตรียมถูกสหประชาชาติตรวจสอบ เหตุละเมิดสิทธิทางการเมือง

ส่วนประเด็นผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไรนั้น สุณัย เห็นว่า กระทบจากทั้ง 2 ฝ่าย เริ่มจากทางฝั่งผู้ชุมนุมเอง ก็ได้รับผลกระทบในเรื่องภาพพจน์ความชอบธรรมที่อ้างมาตลอดว่า เป็นปฏิบัติการที่ไม่ใช้ความรุนแรง เป็นปฏิบัติการสันติวิธี แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีปัญหาแบบนี้มาแล้ว เพียงแต่ครั้งนี้ถือว่าหนักที่สุด

“เพราะไม่สามารถควบคุมพฤติกรรม อารมณ์ และทัศนคติของคนบางกลุ่มที่อยู่ทางฝั่งผู้ชุมนุมไม่ให้ใช้ความรุนแรงหรือก่ออันตรายต่อสาธารณะได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางฝั่งผู้ชุมนุมก็ต้องแก้ไขในเรื่องนี้ อาจจะต้องออกมาระบุตัวตนว่า กลุ่มไหนหรือคนไหนเป็นตัวปัญหามาต่อเนื่อง และจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต”

ส่วนทางฝั่งเจ้าหน้าที่และรัฐบาลเองก็มีปัญหาอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาทางตำรวจไทยอ้างมาตลอดว่าปฏิบัติการตามหลักสากล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามหลักสากล แต่เป็นการใช้กำลังอย่างไม่แยกแยะ เป็นการใช้ความรุนแรงอย่างไม่เลือกหน้า ซึ่งได้ตอกย้ำภาพปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาทั้งการสลายการชุมนุมโดยใช้รถฉีดน้ำที่มาบุญครองหรือหน้ารัฐสภา

“ปีนี้เป็นปีที่ประเทศไทยจะเข้าสู่วงรอบการตรวจสอบพันธกรณีด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจต่อผู้ชุมนุมนั้น เป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาด้วย”

ส่วนความคืบหน้ากรณีผู้ถูกจับกุมจาก #ม็อบ13กุมภา ที่ถูกนำตัวไปขังไว้ ตชด. ภาค 1 ตั้งแต่คืนเกิดเหตุนั้น วันนี้ (15 ก.พ.) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยความคืบหน้าว่า พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ระบุจะไม่นำตัวผู้ต้องหา 8 คน ไปขอฝากขังที่ศาลอาญา แต่ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จาก บก.ตชด.ภาค 1 แทน โดยได้เริ่มไต่สวนฝากขังตั้งแต่เวลาประมาณ 10.30 น. โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างที่ศาลกำลังพิจารณาคำร้องคัดค้านการฝากขังของทีมทนาย

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว