จับตา #ม็อบ24มิถุนา คาด สภาร้อน ไม่ปิดสวิตช์ ส.ว. สมประโยชน์บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

‘ณัฐวุฒิ’ ชี้ ฝ่ายค้านเสียงแตก หากเพลี่ยงพล้ำ ไปไม่ถึงแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ‘ผศ.วันวิชิต’ มอง “พลังประชารัฐ” เล่นเกมเสี่ยง จัดวางขุนพล ลดอำนาจต่อรองพรรคร่วมรัฐบาล

การเมืองกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อสารพัดม็อบ เตรียมนัดชุมนุมเคลื่อนไหว 24 มิ.ย. นี้ ส่วนบรรยากาศในสภา ที่เตรียมพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญ เห็นเค้าลางความชุลมุน ร่องรอยความขัดแย้ง ร้าวลึก ในสภาอลวน ท้องถนนวุ่นวาย

สถานการณ์ร้อนที่กำลังจะมาถึง ต้องใช้วัคซีนการเมืองตัวไหน ถึงเอาอยู่?

Active Talk คุยกับ ‘ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ อดีต แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

เดาเกมสภา ไม่ปิดสวิตช์ ส.ว. แก้ระบบเลือกตั้ง  

ณัฐวุฒ ใสยเกื้อ อดีต แกนนำ นปช. เปิดประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ การเปลี่ยนกติกาเลือกตั้งบัตรใบเดียว เป็นบัตร 2 ใบ คือ ส.ส.แบ่งเขต กับ บัญชีรายชื่อ น่าจะผ่านความเห็นชอบวาระแรก เพราะท่าทีของพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยเห็นตรงกัน ส่วนประเด็นรอง เรื่องการขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็น่าจะผ่านไปได้ ยกเว้น ปิดสวิตช์ ส.ว.

พลังประชารัฐ-เพื่อไทย ดีลสมประโยชน์ แต่มีรอยร้าวพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ณัฐวุฒิ ยอมรับว่า ลำบากใจในฐานะอดีตนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาเล่นการเมืองนอกสภาฯ เต็มตัว เมื่อถามถึงเหตุผลการตัดสินใจระหว่างพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล เขามองว่า พัฒนาการพรรคร่วมฝ่ายค้าน เป็นสิ่งที่ยังต้องติดตามต่อเนื่อง

“เมื่อเกิดการตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมา ระหว่างพรรคก้าวไกล กับ เพื่อไทย ที่วางมวยกัน เห็นต่างเรื่องระบบเลือกตั้ง ระหว่างบัตร 2 ใบ แบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนี เพราะการเปลี่ยนกติกาการเลือกตั้ง มีผลกระทบกับทั้ง 2 พรรค”

เขาบอกว่า หากเทียบกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา กับการใช้วิธีเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ มีโอกาสสูงที่พรรคก้าวไกลจะมีคะแนนจะลดลงจากเดิมอย่างมาก ขณะที่ พรรคเพื่อไทย เข้าใกล้โอกาสที่จะกวาดคะแนนเสียงได้มาก อย่างน้อยก็มากกว่าครั้งที่ผ่านมา เมื่อวาระทางการเมืองของทั้ง 2 พรรคฝ่ายค้านไม่ตรงกันแบบนี้ ผลสะท้อน คือ การตัดสินใจต่อญัตติในสภาย่อมแตกต่างกัน

เมื่อถามถึงภาพใหญ่ ที่ว่าพรรคการเมืองอันดับ 1 ฝ่ายรัฐบาล กับ พรรคการเมืองอันดับ 1 ฝ่ายค้าน เห็นตรงกันในญัตติแก้รัฐธรรมนูญ จะต้องอธิบายต่อสังคมอย่างไรในประเด็นจุดยืนทางการเมือง เขาบอกว่า หากมองในมุมของ พรรคพลังประชารัฐ อธิบายได้ผ่านเสียงวิพากษ์วิจารณ์ กรณี “บัตรใบเดียวไม่ชอบธรรม” พรรคเพื่อไทย ก็อธิบายว่า “นี่คือ รูปแบบการเลือกตั้งที่เขาเรียกร้องมาแต่เดิม” และเป็นรูปแบบการเลือกตั้งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2540

เคารพจุดยืน เพื่อไทย? วัดใจวันหย่อนบัตร

“ผมเคารพในความเห็นพรรคเพื่อไทย และผมคิดว่าจะไปกล่าวหาว่าเพื่อไทยฝักใฝ่เผด็จการ หอบผ้าหอบผ่อนหนีไปกับพลังประชารัฐแล้ว กล่าวหากันขนาดนั้นไม่ได้ ไม่เป็นธรรมกับพรรคเพื่อไทย การโหวตเช่นนั้น ผมว่าพรรคเพื่อไทยก็ต้องแบกทั้งคำถามและความรับผิดชอบต่อประชาชน”

อดีตแกนนำ นปช. กล่าวถึงกรณีนี้ต่อว่า สถานการณ์พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งสืบทอดอำนาจมาจากรัฐประหาร เดินมาถึงจุดที่ต้องการกติกาแบบนี้ แสดงว่ามีนัยทางการเมืองว่า ต้องการเปลี่ยนกติกาการเลือกตั้ง เพื่อที่ตัวเองจะเข้าสู่อำนาจได้อย่างแข็งแรงขึ้น ในอำนาจครั้งต่อไป แล้วฝ่ายค้านเห็นด้วย ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง พรรคเพื่อไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีคำอธิบายและต้องรับผิดชอบทางการเมือง

พรรคเพื่อไทย พยายามอธิบายว่า นี่เป็นกติกาที่พรรคเพื่อไทยได้รับความไว้วางใจจากประชาชน และเป็นกติกาที่เพื่อไทยเรียกร้องมาตลอด ไม่ใช่ของใหม่ ไม่ใช่การแอบคุยกับพรรคพลังประชารัฐ แต่เป็นการเสนออย่างตรงไปตรงมาตลอด สุดท้าย การตัดสินใจอยู่ที่ประชาชน ทุกฝ่ายต้องเคารพและให้เกียรติวิจารณญาณของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นระบบบัตรกี่ใบ

“หากวันนี้คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทย ว่าแก้กติกาส่วนใหญ่แล้วบ้านเมืองจะเดินหน้าได้ เพื่อไทยอาจจะได้รับคะแนนถล่มทลาย โดยเฉพาะจากซีกประชาธิปไตยที่สนับสนุนจากฝ่ายค้าน แต่ถ้าการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนซีกนี้ ผลก็อาจจะฟ้องในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งผมว่าแฟร์”

ส่วนพรรคก้าวไกล ที่เสนอระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนี หากมองลึกลงไป ณัฐวุฒิมองว่า มีผลประโยชน์พรรคก้าวไกลปนอยู่ในนั้น เพราะพรรคก้าวไกลมีสิทธิ์ที่จะได้ที่นั่ง ส.ส. เท่าเดิม หรือมากกว่าเก่า จึงเป็นคำอธิบายว่าน้ำหนักในเป้าหมายทางการเมืองนั้น เท่ากันทั้งสองพรรค

จับตาฝ่ายค้านเสียงแตก เพลี่ยงพล้ำ ไปไม่ถึงแก้ รธน. ทั้งฉบับ

แม้จะมีข้อดีและเหตุผลของการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ของพรรคอันดับ 1 ฝ่ายค้าน และรัฐบาล แต่หากฝ่ายค้านลงมติไม่ตรงกัน จะส่งผลต่อสถานการณ์การเมืองภาพใหญ่ คือ 1) ความเป็นเอกภาพ 2) ความยากที่จะเดินไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่กำลังรณรงค์ให้ทำประชามติ

“ในฐานะที่เคยอยู่พรรคเพื่อไทย พูดในฐานะมิตร ไม่อยากให้ฝ่ายค้านขาดเอกภาพ เมื่อความเป็นจริงเพื่อไทย เขามีฐานคิด ฐานการตัดสินใจอยู่ ก็เคารพ วิจารณ์ระหว่างกันได้ ปัญหา คือ ท่าทีฝ่ายค้านไม่ควรเลยเถิด อยากให้จับมือกันได้ จับมือกับประชาชนนอกสภา เพื่อผลักดันกฎหมายประชามติให้ผ่านสภาฯ และเคลื่อนไหวทุกวิถีทาง ให้มีการทำประชามติ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ โดยมี ส.ส.ร. จากการเลือกตั้ง”

ณัฐวุฒิ มองว่า เป้าหมายใหญ่ของการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมือง จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร. แต่ประชาชนไม่สามารถทำโดยลำพังได้ ต้องอาศัยพรรคการเมือง แม้ตัวเขาจะไม่คาดหวังกับพรรคการเมืองอย่างพลังประชารัฐ แต่พรรคอื่น ๆ ที่เคยอยู่ในสนามมาก่อนการรัฐประหาร จำเป็นต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ ว่าจะยังสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจของ คสช. หรือไม่ พร้อมเตือนพรรคฝ่ายค้าน หากเห็นต่าง กรณี ระบบบัตรเลือกตั้ง ก็ควร “ชกกันด้วยหมัดนวม” ถนอมน้ำใจกันไว้ เพื่อผนึกกำลังแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้เกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะการรวมพลังกับประชาชน กดดันให้รัฐสภารับญัตตินี้ให้ได้

พปชร. เล่นเกมเสี่ยง จัดวางขุนพล ลดอำนาจต่อรองภายในพรรคร่วมฯ

ด้าน ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า หากไม่แตะประเด็น ส.ว. 250 เสียง ทุกพรรคการเมืองเห็นตรงกันว่าควรกลับมาใช้ระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ เหมือนในปี 2540 สิ่งนี้กำลังอธิบายเจตนารมณ์ของประชาชน ที่ต้องการได้นักการเมือง และพรรคการเมืองที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง โดยส่วนตัว เขามองว่า การเดินเกมเปลี่ยนระบบบัตรเลือกตั้งทุกพรรค ล้วนมีนัยทางการเมือง

หาก พรรคเพื่อไทย เลือกเดินเกมนี้ ก็ต้องตั้งคำถามต่อว่า หากได้คะแนนเสียงถล่มทลายอย่างที่คาดไว้ จะจัดตั้งรัฐบาลต่ออย่างไร เพราะติดเงื่อนไขวุฒิสมาชิก และท้าทายสังคมด้วยว่าจะทำอย่างไรถ้าพรรคอันดับ 1 ฝ่ายค้านชนะถล่มทลาย แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งนี่คือ บททดสอบวิกฤตศรัทธาของรัฐธรรมนูญ 2560 

ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ กำลังเล่นเกมเสี่ยง ซึ่งเป็นเกมที่พรรคเพื่อไทยถนัดมาตลอด โดยเชื่อว่าระบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ จะทำให้พรรคพลังประชารัฐ ได้จำนวน ส.ส. เพิ่ม ขณะเดียวกัน ก็ต้องการลดอำนาจต่อรองของพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น ๆ ซึ่งหมายถึงการลดอำนาจต่อรองตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีด้วย สิ่งนี้สะท้อนว่าการทำงานตลอด 2 ปีของรัฐบาล ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีเอกภาพ แต่เป็นการทำงานแบบ Single Command หรือใช้อำนาจเบ็ดเสร็จมากกว่า ซึ่งบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะตอบโจทย์เรื่องการลดอำนาจต่อรองภายในพรรคได้ด้วย

“การเปลี่ยนเลขาธิการพรรค 3 คน ของพลังประชารัฐ แสดงว่าต้องการสร้างระบบเอกภาพในพรรค เพื่อสร้างระบบการเมืองให้ตัวเองเข้มแข็งแบบยาว ๆ”

ผศ.วันวิชิต วิเคราะห์ต่อไปถึงการดึง ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เข้ามาเป็น เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้ช่วยคัดกรองคนที่จะไหลเข้าพรรค และต้องการปราบกลุ่มต่าง ๆ ที่อยู่ภายในพรรคไม่ให้คิดการใหญ่ ยกลำดับชั้นของตัวเอง

“พลังประชารัฐ จัดวางขุนพลอย่างเป็นระบบ ไม่ต่างจาก การวางขุนพลทหาร รวมศูนย์อำนาจ ผ่าน ร้อยเอก ธรรมนัส ก่อนถึง พลเอก ประวิตร พลังประชารัฐ กำลังสร้าง Single Command ของตัวเองอย่างแท้จริง …”

ม็อบ 24 มิ.ย. กลยุทธ์แยกและรวมเคลื่อนไหว สั่นคลอนรัฐบาลได้?

ณัฐวุฒิ ย้ำเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญในเวลานี้ ยากทุกมิติ ขณะที่การแก้ไขรายมาตราก็มีความยากถ้ากระทบกับผลประโยชน์และอำนาจของพรรคการเมือง แต่สุดท้ายแล้วหมากตานี้ใครจะเป็นฝ่ายเดินถูกหรือผิด ประชาชนจะเป็นคนตัดสิน และเห็นได้จากผลการเลือกตั้งรอบถัดไป

ส่วน ปรากฏการณ์ม็อบนอกสภา ที่กำลังจะเกิดขึ้น 24 มิ.ย. นี้ จะสั่นคลอนรัฐบาลได้แค่ไหนยังเป็นโจทย์ท้าทาย เพราะหากการขับเคลื่อนประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีพลังและกระแสจากประชาชนที่ไหลเข้ามาเพิ่มเติม หรือก่อเป็นรูปขบวนใหม่ในการเคลื่อนไหว

แต่ปรากฏการณ์เวลานี้ จะเห็นว่า แต่ละกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว มีเป้าหมาย และนัยการรวมมวลชนที่แตกต่างกัน และไม่ง่ายที่จะเห็นกลุ่มต่าง ๆ ไหลมารวมกัน เพราะต่างกลุ่มต่างก็มีเป้าหมายการรวมตัวเฉพาะหน้า ไม่ได้รวมตัวกันด้วยอุดมการณ์ร่วม ขณะที่ แกนนำหนุ่มสาวก็ออกจากเรือนจำมาพร้อมเงื่อนไขที่ติดตัว ดังนั้น การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะมีเอกภาพมหาศาล กดดันรัฐบาลได้ไหม ยังคงต้องทิ้งไว้เป็นคำถา ซึ่ง ณัฐวุฒิ ประเมินว่า ไม่ง่ายนักที่มวลชน 24 มิ.ย. จะพัฒนาไปเป็น มวลชนที่มีพลังขนาดใหญ่

2557 รัฐประหารครั้งสุดท้าย รัฐบาลประยุทธ์

ช่วงท้ายของการสนทนา ทั้งณัฐวุฒิ และ ผศ.วันวิชิต ประเมินว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่พรรคพลังประชารัฐคะแนนนิยมตกต่ำ ไม่ง่ายที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ เวลานี้ท่าทีของนานาชาติที่กดดันมายังรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 นั้น สะท้อนว่า การรัฐประหารในประเทศไทยมีผลเสียมากกว่า และไม่ควรเกิดขึ้นอีก

ดังนั้น การเตรียมการรัฐประหารในอนาคตไม่ใช่เรื่องง่าย แต่วิกฤตทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้อีกหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับความจริงใจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิก

แต่อย่างน้อย กฎหมายประชามติ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเห็นการขับเคลื่อนของภาคประชาชนอยู่บ้าง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน