นวัตกรรมทางการเมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วม Hack Thailand 2575

48 ชั่วโมง #พลิกโฉมประเทศไทย

อย่าให้เสียงของประชาชน เป็นเพียงเครื่องประดับหลังฉาก ในวันที่นักการเมืองเดินสายหาเสียง ปะทะคารมสนุกสนานบนหน้าจอทีวีและสื่อออนไลน์ แต่ทุกอย่างเงียบงันในวันที่การหย่อนบัตรสิ้นสุดลง

12 นโยบายจากงาน Hack Thailand 2575 ปฎิบัติการ 48 ชั่วโมง พลิกโฉมประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง เป็นการระดมความคิดจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ที่นักการเมืองหลายคนเอ่ยปากพูดถึง ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำนโยบายอนาคตที่พรรคการเมืองควรทำเช่นนี้นานแล้ว

แต่ความคาดหวังต่อจากนี้ คงเป็นความจริงจัง จริงใจ จากพรรคการเมือง ที่จะนำนโยบายที่ผ่านการคิดวิเคราะห์อย่างรอบด้านมาเป็นอย่างดี ไปสานต่อสู่การปฏิบัติได้จริง

The Active รวบรวมสาระสำคัญของนโยบายที่ประชาชนและพรรคการเมือง ร่วมกันระดมไอเดียตลอด 48 ชั่วโมง จนเป็น 12 นโยบายในรูปแบบ Visual Note


หยุดความรุนแรง แฝงเร้นในสังคมไทย
นโยบาย : รื้อระบบ เพื่อจบความรุนแรง

การเมือง

ทีมหยุดความรุนแรง แฝงเร้นในสังคมไทย เสนอนโยบาย “รื้อระบบ เพื่อจบความรุนแรง” โดยอ้างอิงข้อมูลที่ระบุว่า ผู้หญิงไทย 1 ใน 2 คน เคยถูกกระทำความรุนแรงและมีผู้ที่เข้าสู่ระบบการให้บริการการรักษาพยาบาลเฉลี่ย 15,000 คนต่อปี แต่สามารถเข้าสู่กระบวนการชั้นศาลมีเพียง 166 คดี (ระหว่างปี 2559-2561) ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อย ทำให้เห็นว่าหลายคนไม่สามารถที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าความรุนแรงทางเพศและครอบครัวเป็นภัยคุกคามของประเทศไทยมาโดยตลอด ทำให้เห็นว่าระบบการให้บริการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงยังไม่เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของวงจรที่ทำให้ความรุนแรงซ้ำเติมผู้ที่ถูกกระทำ โดยเห็นว่าระบบในการให้ความช่วยเหลือทำงานแบบแยกส่วนขาดการประสานงาน ส่งต่อทำให้ผู้ที่ประสบปัญหา เวลาที่เข้ารับบริการหลายครั้ง ที่พูดปัญหาต้องเล่าเหตุการณ์ เดิมซ้ำ ๆ ถึงการถูกกระทำความรุนแรง ที่ผ่านมาความรุนแรงในครอบครัวเน้นไปที่การไกลเกลี่ยยอมความผู้ประสบปัญหาจะถูกกระทำซ้ำความรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบทางใดทางจิตใจของผู้ที่ประสบปัญหา จนสุดท้ายส่งผลให้ผู้ที่ถูกกระทำไม่อยากเข้าสู่กระบวนการความช่วยเหลือทำให้เห็นว่ากลไกทางภาครัฐไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอ ที่จะช่วยแก้ปัญหา จนนำไปสู่ข้อเสนอนโยบายระบบเพื่อจบความรุนแรง ดังนี้ 

  1. ทำระบบบันทึกข้อมูลที่เป็นแบบฟอร์มกลางเพื่อการประสานส่งต่อข้ามหน่วยงาน เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ข้อมูลกลาง ทำงานประสานกันได้ โดยจัดตั้งให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานกลางที่จะประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ทางด้านสุขภาพ สวัสดิการ สังคม ความยุติธรรม ร่วมกันออกแบบฐานข้อมูลกลาง ที่จะทำให้เห็นว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่จะช่วยประสานงานและจะช่วยแก้ปัญหานี้ อาจจะมีภาคประชาสังคมหรือหน่วยงานวิชาการที่ไปร่วมออกแบบข้อมูลได้ 
  2. นโยบายเชิงรุก ที่เป็นชุดกิจกรรมเชิงรณรงค์สร้างสังคมที่ปลอดภัยและไร้ความรุนแรง เพื่อแก้กฎหมายแล้วยกประเด็นเรื่องความรุนแรงให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยคาดหวังว่าจะบรรลุเป้าหมาย ให้ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง เข้าถึงระบบการให้ความช่วยเหลือ ที่เป็นมิตรและมีประสิทธิภาพ ผ่านการร่วมมือของภาครัฐและภาคประชาชน แม้จะมีเครื่องมือ แต่การรับรู้และการเข้าถึงของประชาชนไม่มากพอ จะไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้กิจกรรมรณรงค์ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้นโยบายเข้าถึงทุกคนอย่างแท้จริง

นิกร จำนง ประธานกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา ซื้อนโยบายนี้ โดยระบุว่าพรรคให้ความสำคัญ พร้อมรับปากจะนำไปสานต่อจริง ๆ  “ผมเป็นประธานยุทธศาสตร์ รับมาก็ทำเลยไม่ต้องไปรอส่งให้ใครอีก” เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า กลไกตอนนี้มีปัญหา ไม่มีช่องทางเมื่อตกเป็นเหยื่อ ไม่มีกลไกเข้ามารองรับโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก “ถ้าทำความผิดรุนแรงกับลูก แจ้งตำรวจ มองว่าเป็นเรื่องพ่อแม่ เดี๋ยวเคลียร์กันได้ เป็นแบบนี้หมด ปัญหาใหญ่ คือไม่มีกฎหมายใดช่วย และเราต้องปรับฐานคิดสังคมให้ชัดว่าลูกมีสิทธิ เคารพในสิทธิของลูก เคารพสิทธิที่จะดำเนินชีวิต อย่าใช้สังคมแบบเดิม โลกหมุนไปแล้ว” จึงเห็นด้วยว่านโยบายที่ดูแลสังคม นโยบายแบบนี้รับไปดำเนินการ ละเอียดอ่อน ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำ

ขณะที่ ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ เป็นอีกพรรคที่ซื้อนโยบายนี้ และย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องปฏิเสธทุกรูปแบบ ทั้งที่มองเห็นและไม่เห็น ร่างกาย คำพูด จิตใจ ซึ่งพรรคเพื่อชาติต่อต้านเสมอมา เพราะเรื่องนี้เป็นสิทธิมนุษยชนที่ไม่ควรจะพรากได้ สังคมควรให้การคุ้มครองทุกเพศ “นโยบานนี้ พร้อมดัน พร้อมไปให้สุดทาง ไม่ต้องฉายภาพซ้ำ เล่าครั้งหนึ่งซ้ำเติมในหัวใจ และเห็นด้วยว่าต้องมีแอปพลิเคชันหรือดิจิทัลที่สามารถส่งให้ทุกหน่วยงานได้ ความรุนแรงต้องบรรจุอยู่ในกฎหมายว่าแบบไหนที่เรียกว่าความรุนแรง ต้องมีบทลงโทษ” ส่วนประเด็นที่คนถูกกระทำไม่สามารถเอาตัวเองออกจากสถานการณ์นี้ได้ ควรมีหน่วยงานหรือช่องทาง ศูนย์ช่วยเหลือซึ่งประเด็นนี้ยังคงต้องการการหารือจากอีกหลายฝ่ายร่วมกัน 

ช่วงท้ายมีการแลกเปลี่ยนกับผู้ร่วม Hack ถึงประเด็นช่องทางการช่วยเหลือว่า 1300 ที่เรามีอยู่เวลานี้ จะทำอย่างไรให้สามารถยกระดับการช่วยเหลือเหยื่อที่เร็ว ประสานงานการช่วยเหลือข้ามหน่วยงานได้ภายใต้การบริการช่องทางนี้ และรัฐมนตรีที่จะมานั่งกระทรวง พม. ควรเป็นคนที่มีความเข้าใจความหลากหลายทางเพศด้วย รวมถึงมีการเสนอให้นำ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว 2562 มาบังคับใช้ เชื่อว่ากฎหมายฉบับบนี้จะเปลี่ยนโครงสร้างรัฐและสถาบันครอบครัวและกลไกการทำงานด้านความรุนแรงได้สอดคล้องกับนโยบายที่ทีมเสนอมา

สมาชิกทีมหยุดความรุนแรง แฝงเร้นในสังคมไทย

นาดา ไชยจิตต์, สิทธิชน กัณหรักษ์, ปรเมษฐ์ ลัพธ์เลิศกิจ, ชนะชัย ประมวลทรัพย์, ศิริพร ทุมสิงห์, ศิระ จันทร์เจือมา, ปาจรีย์ เปี้ยวนิ่ม, ธนวดี ท่าจีน, อาอีฉ๊ะ แก้วนพรัตน์, สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง

ดูคลิปการนำเสนอ

Download เอกสารนำเสนอ

Green Space เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ เพิ่มศักยภาพเมือง
นโยบาย : พื้นที่สร้างสรรค์โอกาสของทุกคน

ทีมนี้นำเสนอข้อมูล ชี้เป้าปัญหามาจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ จำเป็นต้องเปลี่ยนอาคารร้างที่ไม่แบ่งปันของรัฐมาเป็นของประชาชน โดยข้อเสนอที่จะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างสุขภาพ สุขภาวะที่ดี เพิ่มมูลค่าทางเศรษกิจ และโอกาสที่ชุมชนร่วมออกแบบ โดยจะทำให้สำเร็จโดยมีระบบพื้นที่สีเขียวยั่งยืนด้วย 5 ฟันเฟือง 4 แรงขับเคลื่อน 3 กลไก

สำหรับ 5 ฟันเฟืองสำคัญ ตอบโจทย์ประชาชน ได้แก่ 1) หน่วยงานบริหารกลาง (สกส.) 2) กองทุนภาษีที่ดิน 3) สภาพลเมือง 4) ที่ดิน ทรัพยากร อาคารเดิม 5) แรงจูงใจ

4 แรงขับเคลื่อนสู่ประสิทธิภาพสูงสุด คือ 1) Facility รัฐเป็นเรา 2) Activity ชุมชนคือศูนย์กลาง 3) Economy เศรษฐกิจแบ่งปัน 4) Sustainability สร้างสรรค์ยั่งยืน

ขณะที่ 3 กลไก คือ 1) กลไกเพิ่มประสิทธิภาพคนทำงาน 2) กลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และ 3) กลไกการจัดกิจกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เมื่อทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง จะนำไปสู่ 3 เป้าหมายหลักคือ 1) การใช้ภาษีประชาชนให้มีคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด 2) กระจายอำนาจให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการจำกิจกรรมของตัวเอง และ 3) การเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน 

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ ซื้อนโยบายนี้ และเห็นด้วยว่าพื้นที่สีเขียวไม่ใช่พื้นที่สาธารณะเท่านั้น ตอนนี้กฎหมายบังคับให้ตัดต้นไม้ใหญ่ ไปปลูกต้นกล้วย เสียเงินมหาศาล รัฐไม่ได้อะไร ต้นไม้ก็หายไป ในอนาคตหากมีการสำรวจพื้นที่สีเขียวผ่านดาวเทียมตัวล่าสุด เชื่อว่าจะสามารถใช้ข้อมูลจากตรงนี้ได้ และสามารถนำมาพัฒนาเพื่อนโยบายนี้ได้ “ตอนนี้ต้องเร่งให้ดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจร จะระบุพื้นที่บ้านเล็ก ๆ ที่รักษาต้นไม้ได้ หรือบ้านไหนมีพื้นที่สีเขียว ก็ใช้ลดหย่อนภาษี ไม่เสี่ยงต่อคอร์รัปชันด้วย” วันนี้ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ต้องกำหนดด้วยว่าเท่าไหร่ รับปากจะนำนโยบายนี้ไปทำ 

ด้านนาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย เป็นอีกพรรคที่ร่วมซื้อนโยบายนี้ และเห็นว่าเป็นไอเดียเริ่มต้นของการเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองควรเอาไปใช้ ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมฟัง เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ดีมาก ซึ่งนโยบายพื้นที่สีเขียว “เห็นด้วยว่าต้องนำพื้นที่ของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาทำพื้นที่สีเขียวซึ่งจะมีประโยชน์กับประชาชน ทั้งในเรื่องการสร้างสุขภาวะ และควรมีหน่วยบริหารกลาง ทำงานข้ามกระทรวงทุกหน่วยคุยกัน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมทำธรรมนูญชุมชนออกมา

สมาชิกทีม Green Space

ณัฏฐ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา, ปราณนต์ เทพรักษา, อภิญญา บ่อวารี, โชคชัย หลาบหนองแสง, อายุธพร บูรณะกุล, สุลักษวดี บุญล้อม, ผศ.ประภัสรา นาคะ พันธ์ุอำไพ, ผศ.ปูรณ์ ขวัญสุวรรณ, สมเมธ ยุวะสุต, ยศพล บุญสม

ดูคลิปการนำเสนอ

Download เอกสารนำเสนอ

ปลดล็อกท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์
นโยบาย : 4 เปิด

เปิดแรก คือ การเปิดรับฟังเสียงของประชาชน ทำความเข้าใจประชาชนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ให้ประชาชนเข้าถึงการออกแบบงบประมาณที่เข้าสู่ท้องถิ่นได้ ให้โอกาส sandbox พาชุมชนไทยสู่ตลาดสากล สนุบสนุนการเขียนโครงการสินค้าและบริการชุมชน

เปิดที่สอง คือการเปิดช่องทางการค้าการลงทุน สนับสนุนสินค้าในชุมชน ลดภาษี กระตุ้นเศรษฐกิจ ระดมทุนแบบ Crowdfunding หรือ การระดมทุนจากประชาชนหมู่มาก 

เปิดที่สาม คือเปิดตลาด ชุมชนต้องมีข้อมูลทางการตลาด รู้ว่าตลาดต้องการอะไร เพื่อให้พัฒนาตรงตลาดโลกเปิดการเจรจาแบบรัฐต่อรัฐ สร้างการเรียนรู้ พัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืนด้านความรู้

และเปิดสุดท้าย คือ เปิดใจ เข้าถึงความแตกต่างของท้องถิ่นวัฒนธรรมที่ต่างกัน แก้กฎหมายปลดล็อกข้อจำกัดเพื่อส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง คนรุ่นใหม่อยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิด เพื่อดูแลท้องถิ่นดูแลพ่อแม่

พริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล  เป็นพรรคที่ซื้อนโยบายนี้ โดยระบุว่าหัวใจสำคัญของการปลดล็อกท้องถิ่น คือ การกระจายอำนายเพื่อให้ชุมชนกำหนดอนาคตของตัวเอง และสอดคล้องกับนโยบายของพรรค โดยจะเริ่มทันที “ยกเลิกการแต่งตั้งผู้ว่าฯ แล้วให้มีการเลือกตั้ง โดยใช้อำนาจ ครม. ถามประชาชน 60 ล้านคน เห็นด้วยเดินหน้าจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่า ภายใน 1 ปี แน่นอน” และให้อำนาจในการพัฒนาพื้นที่ตามที่ประชาชน อยากแก้กฎหมายที่ท้องถิ่นอยากทำได้ทุกอย่าง ยกเว้น ความมั่นคงทางทหาร ซึ่งเราเตรียมกฎหมายไว้แล้ว 40 ฉบับพร้อมยื่นทันทีที่สภาฯ เปิดวันแรก ควบคู่กับการกระจายสัดส่วนงบประมาณให้ท้องถิ่นมากขึ้นและมีกลไกสร้างความโปร่งใสโดยตรง เปิดเผยข้อมูลมีสภาพลเมือง ตั้งคำถามได้กับผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้ง

ขณะที่ นิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นอีกพรรคการเมืองที่ซื้อนโยบายนี้ และรับปากว่าจะนำไปพัฒนาสานต่อนโยบายให้เกิดขึ้นจริง และทางพรรคมีนโยบายที่เริ่มแล้ว คือ การสนับสนุนงบฯ ลงทุนท้องถิ่น 10 ล้านบาท เป็นโครงการต้นแบบ เช่น โครงการเมืองเก่าสงขลา ดึงเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นมาสร้างจุดขาย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และเชื่อว่าไทยยังมีจุดขายที่ทำได้อีกมาก

สมาชิกทีมปลดล็อกท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์

สาโรจน์ ซึ้งไพศาลกุล, คณาธิป สินธุเศรษฐ, โซเฟีย ราชประดิษฐ์, อินทัธ ประชากิจกุล, นฤมล ทักษอุดม, ยิปซี จันทร์เพ็งเพ็ญ, นราธิป ใจเด็จ, ณภัทร นาคสวัสดิ์, มณฑิณี ยงวิกุล, จิรนิตย์ เรืองศรี, สราวุธ กลิ่นสุวรรณ, ดวงฤทธิ์ บุนนาค

ดูคลิปการนำเสนอ

Download เอกสารนำเสนอ

แก้หนี้แก้จน
นโยบาย : สถาบันบริหารจัดการการเงินภาคประชาชน

พวกเขานำเสนอว่าสถานการณ์ปัญหาหนี้ในเวลานี้ ลูกหนี้ขาดความรู้การเงินส่วนบุคคล ขาดคำแนะนำจากเจ้าหนี้ ขาดผู้ช่วยเหลือยามจำเป็น ขณะที่เจ้าหนี้ภาพลักษณ์ไม่ดีมากนักในสายตาของภาคประชาชน ส่วนสังคมโดยรวมขาดหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบแท้จริง ขาดการร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ขาดผู้ที่สามารถช่วยเหลือได้แบบองค์รวม โดยหน่วยงานกำกับดูแลมีขอบเขตการทำงานที่จำกัด 

สำหรับนโยบายนี้เน้นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อแก้หนี้จนข้ามรุ่น จนดักดาน โดยนโยบายต้นน้ำแก้ด้วย การสร้างบิ๊กเครดิตดาต้า ข้อมูลบุคคล เจ้าหนี้ สถาบันการเงิน เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนปล่อยสินเชื่อ มีกฎหมายผลักดันส่งเสริมให้สินเชื่อที่รับผิดชอบให้เกิดขึ้นจริง แก้หนี้ดักดาน ทำให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ แต่ต้องเหลือเงินพอดำรงชีวิต ในส่วนของหนี้เสียต้องมีกระบวนการจัดตั้งบูรณาการแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ มีสถาบันบริหารหนี้ระดับชุมชน แก้หนี้ออนไลน์ด้วยแอป​ฯ หมอเงิน เชื่อมต่อเครือข่ายเพื่อสร้างแหล่งเงินทุนให้เข้าถึงได้  มีหมอหนี้ส่วนตัว เจรจาไกล่เกลี่ย ให้คำปรึกษา สร้างแผนฟื้นฟูหนี้ 

นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย ซื้อนโยบายนี้ เห็นว่าสิ่งที่ทีมเสนอมาครอบคลุม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เชื่อว่าทางพรรคสามารถทำได้ แอปฯ ที่พูดถึงก็ทำได้ จะต่อยอดด้วย พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่าทางพรรคมีนโยบายสอดคล้องคือ เครดิตประชาชน คนจนมีอัตราการเบี้ยวหนี้น้อยกว่าคนรวย แต่คนรวยกู้เงินได้ในอัตรดอกเบี้ยต่ำกว่า ไม่ต้องใช้เครดิต กู้ง่าย ขณะที่คนในชุมชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากมาก หากเราสามารถทำเครดิตผ่านแอปฯ หมอเงินเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยคนจนได้จริง 

ขณะที่ แสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม พรรคชาติพัฒนากล้า ซึ่งเป็นอีกพรรคการเมืองที่ซื้อนโยบายนี้เช่นกัน เห็นว่าการทำฐานข้อมูลเป็นเรื่องที่ดี เป็นฐานข้อมูลของชุมชน  สอดคล้องกับนโยบายของพรรค ซึ่งเรียกว่า Credit Score ยกเลิกแบล็คลิสต์ไม่ใช่ยกเลิกให้เท่ากับศูนย์ แต่เราใช้คะแนนเครดิตแทน  

สมาชิกทีมแก้หนี้แก้จน

สรเทพ โรจน์พจนารัช, ศมพร มีเกิดมูล, จินต์จุฑา พงศ์พันธุ์สถาพร, ฟูปัญญา ว่องไววิทย์, สุรศักดิ์ จันทศิริโชติ, อาจิน จุ้งลก, นภนาท อนุพงศ์พัฒน์, ธมลวรรณ มลอ่อน, โชติพงษ์ สุขเกษม

ดูคลิปการนำเสนอ

Download เอกสารนำเสนอ

Wellness ยิ่งใหญ่ คนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้าเท่าเทียม 
นโยบาย : แฮกกองทุนประกันสังคม ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อประชาชนทุกคน

พวกเขามองว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ การเข้าถึงการรักษาที่ไม่เท่าเทียม เกิดจากการที่ประเทศไทยมีกองทุนสิทธิสุขภาพ จำนวน 3 กองทุน คือ บัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ โดยกลุ่มผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ต้องจ่ายเงินเพื่อสิทธิในการรักษาสุขภาพ ขณะที่สิทธิบัตรทองและข้าราชการไม่ต้องจ่ายเงิน ทำให้ผู้ใช้สิทธิรักษาสุขภาพในระบบประกันสังคม เสียเปรียบเมื่อเทียบกับผู้ใช้สิทธิการรักษาอื่น โดยเฉพาะบัตรทองซึ่งพัฒนาสิทธิประโยชน์ไปมากกว่าผู้ประกันตนแล้ว และมีข้อจำกัดในการรักษาน้อยกว่าประกันสังคมซึ่งต้องไปรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ ในขณะที่บัตรทองพัฒนาไปสู่การรักษาพยาบาลทุกที่   

สำหรับแนวทางที่นำไปสู่การแฮกกองทุนประกันสังคม คือ 1) แก้กฎหมายประกันสังคม ดึงสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลมาอยู่กับบัตรทอง ส่วนงบฯ สมทบอาจลดลงหรือเท่าเดิม ที่คงสิทธิประโยชน์ชดเชยการว่างงาน และบำนาญหลังเกษียณมากขึ้น 2) เกลี่ยงบประมาณส่วนอื่น ๆ มาใช้กับการลงทุนด้านสุขภาพ เช่น งดซื้อเรือดำน้ำ อาวุธ เก็บภาษีสุขภาพ เงินจากกองทุนสลากกินแบ่ง และภาษีเหล้าบุหรี่ เป็นต้น 3) ปรับสิทธิประโยชน์และการจ่ายให้เท่าเทียม และ 4) เชื่อมระบบเวชระเบียน ข้อมูลสุขภาพออนไลน์ข้ามสังกัด คลินิก/โรงพยาบาล 

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ซื้อนโยบายนี้บอกว่า ต้นทุนของการรัษาพยาบาลปัจจุบันสูงมากเพราะไทยนำเข้าเทคโนโลยีและยาจากต่างประเทศ จึงเสนอว่าทีมควรศึกษาการลดต้นทุนด้านนี้ด้วย ส่วนเรื่องการเชื่อมต่อข้อมูลควรระวังการรักษาความปลอดภัยการเก็บความลับส่วนบุคคลของผู้ป่วย

ขณะที่ ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ พรรคเพื่อไทย ที่ซื้อนโยบายนี้ เห็นด้วยว่าสิ่งที่พรรคจะเร่งดำเนินการทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล คือการรวมกองทุนสามกองทุนให้เป็นกองทุนเดียว และเชื่อมต่อข้อมูล ทลายอุปสรรคในการเลือกใช้บริการ ซึ่งทุกวันนี้บังคับใช้จ่ายและเลือกใช้ประกันชีวิตมากกว่า ยกระดับบัตรทอง กองทุนประกันสังคมเปิดเผยข้อมูลร่วมกันได้ มีการรักษาพยาบาง รับยา จองคิวผ่านระบบออนไลน์

สมาชิกทีม wellness

กฤติน อัมลึก, ชวิศา เฉิน, เมธินี รัตรสาร, ธนัชชา ชลายนนาวิน, ประณัย สายชมภู, อัจฉราภรณ์ ทองแฉล้ม, ต่อวงศ์ วงศ์สิงห์, นพ.พรเทพ โชติชัยสุวัฒน, ภก.เพียร เพลินบรรณกิจ, นพ.อัครพล คุรุศาสตรา, อัจฉราภรณ์ พวงบุตร, ศิรินภา สระทองหน

ดูคลิปการนำเสนอ

Download เอกสารนำเสนอ

Active Aging : Oldy Health Society 
นโยบาย : สูงวัยใจสะออน

พวกเขาเริ่มต้นนำเสนอด้วยการบอกว่า การก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุไทยอย่างมีคุณภาพในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยาก ทั้งเงินจากเบี้ยยังชีพคนชรา การอาศัยอย่างโดดเดี่ยว ความปลอดภัย การเดินทาง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ไทยเข้าสูงสังคมสูงวัยสมบูรณ์เท่ากับ 1 ใน 5 ของประชากรไทยกำลังจะอยู่ในความเสี่ยงแก่ จน เจ็บ ใน 4 มิติ คือ 1) เศรษฐกิจ คือ กองทุนการออมส่วนบุคคลสำหรับสูงวัย (Elderly Future Fund : EFF) มีรูปแบบการออมมาจากประชาชนใช้จ่าย 3% รัฐบาลสมทบ 3% เริ่มจ่าย 20 ใช้ 60 ปี เป็นทุนส่วนตัวไว้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวและบริการทางสังคม 2) สุขภาพ OTODS (One Tambon One Day Service) คือหนึ่งตำบล หนึ่งหน่วยบริการ โดยอาศัยระบบบริการสุขภาพที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ เพิ่มศักยภาพเป็นผู้ดูแลก่อนป่วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุโดดเดี่ยว 3) สังคม PA (Personal Assistance) ผู้ช่วยผู้สูงอายุ จัดตั้งหน่วยจัดการผู้ช่วยผู้สูงอายุ เพื่อฝึกงาน หารายได้ให้กับผู้สูงอายุ และ 4) สภาพแวดล้อมเทคโนโลยี Aging in Place คือ ส่งเสริมสุขภาพดี ปลอดภัย อยู่ได้ด้วยตัวเอง ทั้งในบ้าน นอกบ้านโดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่

แสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม พรรคชาติพัฒนากล้า ซื้อนโยบายนี้และเห็นว่าข้อมูลสอดคล้องกับที่เขาลงพื้นที่ และได้เห็นปัญหาของคนชราที่อยู่บ้านและเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูงมาก ทางพรรคจึงเสนอแนวคิดอารยสถาปัตย์ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีเพื่อรวบรวมข้อมูลสำคัญที่ผู้สูงอายุจำเป็น เช่น การจ้างงานโดยมีรัฐสนับสนุนครึ่ง ๆ ปัญหาสุขภาพ เป็นต้น 

ด้าน นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย เป็นอีกพรรคที่ซื้อนโยบายนี้ และเห็นด้วยกับกองทุนที่ทางทีมเสนอ ที่ผ่านมามีพรรคการเมืองเสนอจะทำบำนาญผู้สูงอายุ แต่ว่าทางพรรคเห็นว่าควรเป็นบำนาญประชาชน เพราะว่าการดูแลผู้สูงอายุเป็นภาระผูกพันที่เกี่ยวข้องกับวัยอื่น ๆ ทุกวันนี้คนไม่ยอมมีลูกเพราะกลัวภาระ หากเราช่วยผู้สูงอายุกลุ่มนี้ให้เขามีสุขภาพชีวิตที่ดีได้ ลูกหลานก็จะไม่มีภาระ และโจทย์ใหญ่ที่เราจะนำมาทำเรื่องนี้สิ่งที่ต้องแก้คือ ปัญหาคอร์รัปชัน หากแก้ได้จะมีเงินมาทำเรื่องอื่น ๆ รวมถึงเรื่องนี้ด้วย 

ด้านผู้เชี่ยวชาญเสนอว่า การทำฐานข้อมูลเป็นเรื่องที่ดีโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย หากมีข้อมูลเชื่อมโยงกันได้จริงจะเป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันด้านสุขภาพไม่ใช่แค่การตั้งรับแต่ต้องมีการส่งเสริมให้คนดูแลสุขภาพและรัฐใช้มาตรการจูงใจคนที่สาสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ดี ในรูปแบบของภาษี เป็นต้น 

สมาชิกทีม Active Aging : Oldy Health Society

เทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน, นภัทร ภักดีดำรงพงศ์, อธิชา สงวนพงค์, ณัฐชยา จันทชำนิ, ศิรสิทธิ์ สัจเดว์, สกล สัจเดว, อรนุช เลิศกุลดิลก, กนกวรรณ กนกวนาวงศ์, วรชาติ เฉิดชมจันทร์, กิดาการ เอกอัครายุทธ, นพ.อาสาห์ ธีรนวกรรม

ดูคลิปการนำเสนอ

Download เอกสารนำเสนอ

อากาศสะอาด หยุด PM 2.5
นโยบาย : พื้นที่ปลอดภัยเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ป้องกันปากท้อง สุขภาพ

พวกเขาระบุว่า วันนี้ลมหายใจอยู่ในเกณฑ์อันตรายมากจากฝุ่น PM 2.5 องค์การอนามัยโลกรายงานว่ามากกว่า 7 ล้านคนที่กลายเป็นผู้ป่วยจากปัญหานี้ รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข เพิ่งรายงานปีนี้ ภาคเหนือของไทยมีผู้ป่วย 1.5 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 แล้วถ้าประเมินในอนาคตเขาจะกลายเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง ในโลกอนาคต 5-10 ปี ที่เราต้องจ่ายค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลประมาณ 2 ล้านบาทต่อคน หรืองบประมาณมากถึง 3 แสนล้านบาท รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย และทำไมปัญหานี้ยังคงอยู่ รุนแรง เรื้อรังเพราะรัฐรวมศูนย์ ที่สำคัญคือรัฐไม่มีการกระจายอำนาจ แล้วไม่แตกประเด็นปัญหา ไม่เกาะติดสถานการณ์  ไม่พยายามให้มันเป็นการเกาะติดสถานการณ์ต่อเนื่อง มีแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไล่แจกหน้ากากอนามัย ประกาศปิดโรงเรียนในช่วงค่าฝุ่นสูงไม่มีการวางแผนระยะยาว ไม่ประเมินความเสียหายทางสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งเหล่านี้เราจึงอยากให้เรื่องราวการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญของคนรุ่นใหม่ด้วยเหมือนกัน 

กลยุทธ์ที่เสนอ คือ 50/50 คือทุกคนปรารถนาให้ค่าคุณภาพอากาศเฉลี่ยรายวันของประเทศทุกจังหวัดอยู่ที่ค่าเฉลี่ย 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุก ๆ วัน  แล้ว 50 ต่อไป คือ ค่าพื้นที่เผาไหม้ จะต้องลดลง 50% ในปีปัจจุบัน เพราะตอนนี้เราอยู่กับค่าคุณภาพอากาศเป็นสีแดงเกือบตลอดเวลาตลอดทั้งปี ถ้าเราพูดถึงขณะนี้ทุกภูมิภาคต่างเผชิญปัญหานี้ เพียงแต่แหล่งกำเนิดต่างกันเท่านั้น และปัญหาเหล่านี้อยู่ที่เศรษฐกิจ ถ้าหาทางออกทางเลือกแก้เศรษฐกิจได้ถูกต้อง ผลักดันปัญหานายทุน การศึกษา และกฎหมาย และให้เกิดการมีส่วนร่วมคือสิ่งสำคัญ เพราะไม่สามารถที่จะใช้แผนจากส่วนกลางหรือท็อปดาวน์ได้ แต่ต้องมาจากการแก้ไขปัญหาจากพื้นที่พื้นถิ่น และการแก้ปัญหาฝุ่นข้างพรมแดนจะทำอย่างไรในกลุ่มอาเซียน ไม่ใช่การเจรจาแต่ต้องเป็นรูปธรรมการปฏิบัติงาน จุดความร้อนมากที่สุดคือป่าเผาภาคการเกษตร เหล่านี้จะแก้อย่างไร จึงเสนอกฎหมายอากาศสะอาดอยากฝากทุกพรรคให้ผลักดัน 

ส่วน ข้อเสนอนโยบายพื้นที่ปลอดภัยเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5  แบ่งเป็นระยะสั้น กลาง ยาว ทั้งต้นทางและปลายทาง โดย “ต้นทาง” ระยะสั้น คือการจัดตั้งคณะทำงานการควบคุมตลอดทั้งปี เปลี่ยนพื้นที่เกษตรให้มีรายได้สูงขึ้น ผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด ให้ผู้ก่อมลพิษชดเชยใช้งบประมาณมาสนับสนุนเพื่อลดการเผา และลดไฟป่าในพื้นที่ต้นแบบ เพื่อเป็นแนวทางในพื้นที่อื่นต่อ ระยะยาว คือการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ลดฝุ่นข้ามพรมแดน สร้างกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ แก้ไขที่ทำกิน จัดตั้งสถาบันไฟป่า ขณะที่ “ปลายทาง” ระยะสั้น ออกมาตรการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติเร่งด่วน แก้ปัญหาสิทธิที่ดินทำกิน การอุดหนุนเงินให้ประชาชนซื้ออุปกรณ์อยู่ในห้องปลอดฝุ่น ระยะกลาง ลงทุนด้านสุขภาพ ตรวจสุขภาพ ให้ประชาชนเช็กสุขภาพปอด ระยะยาว กระตุ้นให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคบังคับ การเก็บภาษีการปล่อยมลพิษ ที่ก่อมลพิษสูง แต่สุดท้ายสำคัญที่สุดอีกอย่าง คือเรื่องต้นเหตุปัญหาจากนายทุน อยากฝากให้พรรคการเมือง ผลักดันในเรื่องปัญหานี้

นิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา ซื้อนโยบายนี้และเห็นว่าเป็นนโยบายที่ตั้งได้ดีและสอดคล้องกับสถานการณ์ แต่เป็นหลักการทั่วไป ถึงเวลาที่เราต้องแก้ไขอย่างตรงไปตรงมา แต่ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก เพราะประเทศโดยรอบเป็นประเทศที่ทำการเกษตรเช่นเดียวกับเรา โดยทางพรรคชาติพัฒนาเสนอแล้วว่าต้องการให้ไทยเป็น Hub Carbon Credit Center โดยจะมีการทำเชื่อมโยงกับดาวเทียม ลงทุนประมาณหมื่นล้านบาท ส่วนประเด็นเรื่องการใช้รถยนต์ EV ก็สามารถช่วยลดปัญหาฝุ่นควันได้เยอะ โดยรวมแล้วถือว่าเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับนโยบายของพรรคที่ทำอยู่ รวมถึงงดปัญหาฝุ่นได้ดี 

ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช พรรคเพื่อชาติ เป็นอีกพรรคที่ซื้อนโยบายนี้เช่นกันเห็นว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็น พ.ร.บ. ที่ต้องผลักดันให้ถึงที่สุด รัฐต้องให้การรับรองคุ้มครอง รวมถึงการเข้าถึงเครื่องกรองอากาศ และหน้ากากอนามัยในราคาถูก มีนโยบายกการบังคับใช้ เอาผิด และดำเนินคดีกับผู้ที่สร้างมลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทรายเล็กหรือใหญ่ ไม่รับซื้อ นำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรที่มาจากการเผา การจัดหาอุปกรณ์การเกษตรที่สามารถกำจัดลำต้นได้โดยไม่ต้องเผา  

สมาชิกทีมอากาศสะอาด หยุด PM 2.5

นพณัฐ มีรักษา, มุจลินท์ ประทุมมาศ, ชนเขต บุญญขันธ์, ธนพล ภู่อ่วม, กิตติคุณ ศักดิ์สูง, วสันชัย วงศ์สันติวนิช, ผศ.นิอร สิริมงคลเลิศกุล, โกวิทย์ บุญธรรม, อาคม สุวรรณกันธา

ดูคลิปการนำเสนอ

Download เอกสารนำเสนอ

เศรษฐกิจขยะ (Circular Economy)
นโยบาย : Thailand Zero Waste

พวกเขาให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้นต่อปีไม่ต่ำกว่า ปีละ 25 ล้านตัน สามารถนำกลับเข้าสู่การจัดการหรือรีไซเคิลอย่างถูกวิธีไม่ถึง 10 ล้านตันต่อปี และต้องใช้งบประมาณจัดการขยะถึงปีละ 2 หมื่นล้านบาท จะทำอย่างไรให้นโยบายการจัดการขยะเป็นจริงไม่ใช่เพียงแค่การขายฝัน ทีมนี้จึงเสนอนโยบายผ่านแนวคิด 3 ประการ สร้างอาชีพ จ้างงาน ช่วยกันเก็บแยก ขายขยะ เอกชนร่วมรับผิดชอบเพื่อเปลี่ยนจากกำจัดเป็นการใช้ประโยชน์ ลดการเกิดขยะตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่กระบวนการผลิต ป้องกันการสร้างขยะที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทาง เพิ่มการมีบทบาทของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่อยู่ในระบบหมุนเวียนจัดการขยะ ใครทิ้งขยะมากจ่ายมากพร้อมกับให้ความรู้ความเข้าใจผลกระทบจากขยะ และส่งเสริมการนำขยะอินทรีย์ไปผลิตก๊าซธรรมชาติ ขณะเดียวกันให้รัฐกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติม บังคับไม่ใช้วัสดุฟุ่มเฟื่อย ส่งเสริมการใช้วัสดุรีไซเคิล ควบคู่กับการออกมาตรการจูงใจทางภาษี ลดภาษีให้ผู้ที่ออกแบบ ผู้ผลิตที่ยืดอายุการใช้งาน การใช้ซ้ำก่อนรีไซเคิล 

แต่ละพรรคมีการร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลแต่ไม่มีใครซื้อนโยบายนี้ เช่น พรรคชาติพัฒนากล้า อยากให้มองขยะเป็นสินค้าที่ต่อยอดเศรษฐกิจได้ อยากให้มีคนคิดนวัตกรรมเพิ่มค่าขยะ พรรคก้าวไกล มีการเตรียม พ.ร.บ.ขยะ ขณะที่พรรคไทยสร้างไทย บอกว่า ปัจจุบันขยะมีราคาถูก เพราะรัฐบาลเปิดให้มีการนำเข้าขยะพลาสติกต่างประเทศ จึงทำให้ขยะไม่มีมูลค่า 

สมาชิกทีมเศรษฐกิจขยะ (Circular Economy)

อัจฉรา ชินนิยมพาณิชย์, ขวัญชนก จุ้ยสกุล, โดม บุญญานุรักษ์, พีระสิทธิ์ คุณเลิศอาภรณ์, สมบัติ บุญงามอนงค์, จิตติมา บ้านสร้าง, พีรดา ปฏิทัศน์, ชณัฐ วุฒิวิกัยการ, ภัทรพล ตุลารักษ์

ดูคลิปการนำเสนอ

Download เอกสารนำเสนอ

คนไทย 3 ภาษา
นโยบาย : พลิกไทย คนไทย 2+ หลายภาษา 

พวกเขานำเสนอข้อมูลที่ว่า 60% ของเด็กไทยอายุ 15 ปี มีปัญหาด้านการอ่านและความเข้าใจในภาษาไทย ขณะที่ไทยมีจำนวนภาษาชาติพันธุ์ที่ใช้อยู่ในประเทศนี้มากถึง 70 ภาษา ส่วน 17% ของเด็กไทย ไม่ได้ใช้ภาษาไทยกลางเป็นภาษาแม่และไทยอยู่ลำดับที่ 97 มีความสามารถทักษะภาษาอังกฤษเทียบกับ 111 ประเทศทั่วโลกที่ใช้เป็นภาษาหลัก จึงเสนอนโยบาย “พลิกไทย คนไทย 2+ หลายภาษา” โดยเปลี่ยนการนิยาม 3 ภาษา จากภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เป็น ภาษาแรกคือภาษาแม่ ภาษาที่สองทุกคนควรมีสิทธินิยามเองว่าเขาต้องการให้ภาษาอะไรเป็นภาษากลางสำหรับเขา และภาษาที่สามคือภาษาที่เขาสามารถนำไปทำหากินได้ โดยการส่งเสริมสนับสนุนนโยบายให้เกิดขึ้นได้ ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น จัดตั้งให้มีศูนย์การเรียนรู้ (Support Learning City), Lifelong learner ดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม, ปรับหลักสูตรให้ตรงกับอาชีพยืดหยุ่นโดยออกแบบร่วมกับท้องถิ่น อย่างหลักสูตรส่งเสริมพหุภาษา, เพิ่มจำนวนครู เพิ่มองค์ความรู้ครู Upskill ครู เพิ่มผลตอบแทน ค่าตอบแทนวิทยฐานะพิเศษ, ระบบประเมินครูตรงกับบริบท ดูแลเด็กทั่วถึง, มีคูปองภาษาเพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงภาษาของคนทุกวัย, เชื่อมต่อสถาบันการศึกษา เมืองท้องถิ่น เทียบโอนหน่วยกิต ให้เด็กมีเวลาค้นหาตนเองมากขึ้น, ศูนย์เด็กเล็ก/อนุบาล 2 ภาษา ออกแบบร่วมกับท้องถิ่นมีความยืดหยุ่น

พริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล ซึ่งซื้อนโยบายนี้ ชื่นชม 3 ประเด็น 1) มองปัญหาได้อย่างน่าสนใจ ไม่ใช่ว่าเด็กไทยเรียนน้อยไป เพราะจริง ๆ แล้วเด็กไทยเรียนเยอะมาก แต่ระบบไม่สามารถแปลงสิ่งที่เรียนไปแข่งขันกับระดับนานาชาติได้ 2) ชอบที่ไม่ระบุว่าภาษาอะไร โดยเปิดกว้างไว้ตามความต้องการของบุคคลในแต่ละกลุ่ม 3) การเรียน 2 ภาษาไม่ได้ทำให้ความสามารถในความเข้าใจภาษาไทยลดลง แต่เป็นการช่วยส่งเสริมกันและกัน ยิ่งเรียนภาษาที่ 2 ก็ยิ่งส่งเสริมภาษาที่ 1 ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้เขายังให้ความเห็นเพิ่มถึงสิ่งที่พรรคก้าวไกลจะสานต่อ 1) หลักสูตร โดยระบุว่าหากต้องการเรียนแบบ 3 ภาษา ต้องมีการออกแบบหลักสูตรใหม่ ซึ่งพรรคก้าวไกล ตั้งเป้าว่า 1 ปีแรกจะชวนทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันออกแบบหลักสูตรใหม่ให้เสร็จภายใน 1 ปี และเมื่อต้องนำหลักสูตรบางอย่างเพิ่มเข้าไป ก็จำเป็นต้องนำบางอย่างออกเพื่อไม่ให้เกิดการเรียนที่หนักจนเกินไป  2) กระจายอำนาจ มีมุมมองที่เห็นตรงกันคืออยากให้โรงเรียนในพื้นที่มีบทบาทและอำนาจในการจัดการหลักสูตรได้ด้วยตนเอง 3) ครู คือต้องมีการเพิ่มทักษะครูโดยการกระจายงบฯ ทั้งหมดให้กับครูและโรงเรียนโดยตรงเพื่อแบ่งกันตัดสินใจ และ 4) การเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยให้คูปองเรียนภาษา คูปองเปิดโลก 1,000-2,000 บาทต่อปี ที่สามารถนำไปใช้เรียนรู้นอกห้องเรียนได้ และใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการศึกษา เช่น มีการเพิ่มคำบรรยาย ภาษา (Subtitle) ในทีวี หรือ ออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้สังคมมีความคุ้นเคยกับภาษามากยิ่งขึ้น 

ขณะที่ ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ พรรคเพื่อไทย เสนอสร้างรูปแบบการ Learn to Earn ที่เปิดให้เป็นรูปแบบการศึกษาแบบเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยการใช้เทคโนโลยี และนำทักษะมาใส่ไว้ในเทคโนโลยีนี้กว่า 65,000 ทักษะ โดยเป้าหมายคือลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทักษะทางภาษาได้, แพลตฟอร์ม Coding เด็กสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ เก็บหน่วยกิตไว้ในธนาคารหน่วยกิต และทำเป็น Certificate นำไปยื่นให้กับผู้ประกอบการ, ทลายข้อจำกัดเรื่องการประเมินระบบการศึกษา และเปิดช่องทางการศึกษาให้เยอะมากยิ่งขึ้น 

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นเพิ่มเติมว่านักเรียนไทยควรมีทักษะด้านภาษา โดยไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ในโรงเรียนที่ 2 ภาษาเท่านั้น อยากให้เกิดการเชื่อมโยงการเรียนภาษาเข้ากับการท่องเที่ยว เพราะถือเป็นการฝึกฝนอย่างแท้จริง

สมาชิกทีมคนไทย 3 ภาษา

กมลวัฒน์ มนูญภัทราชัย, ธนัชพงศ์ พฤทธิ์กุลโรจน์, ภูมิปรินทร์ มะโน, แดนไท สุขกำเนิด, สรวง สิทธิสมาน, จิลล์ พรมดี, วรุตม์ นิมิตยนต์, ณิชา พิทยาพงศกร, ภัสจณา งามทิพากร, รณกร ไวยวุฒิ, วรินธร เอื้อวศินธร, ยุทธ ขวัญเมืองแก้ว

ดูคลิปการนำเสนอ

Download เอกสารนำเสนอ

ติดปีกครูไทย
นโยบาย : ตั้งสภาติดปีกครูไทย ปรับระบบ เปลี่ยนโรงเรียน เด็กที่อยู่ในระบบ 

เด็ก ๆ ที่อยู่ในระบบการศึกษามากกว่า 6.6 ล้านคน ไม่ได้รับโอกาสที่จะมีห้องเรียน ในปัจจุบันครูไทยถึง 94.6 % ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากการจัดการที่ซ้ำซ้อนไม่เป็นระบบ, 59.7 % สอนมากกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 58 % ทำงานอื่นนอกเหนือจากการสอนมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทั้งหมดนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่าระบบและกลไกไม่เอื้อต่อการทำงานของครู นอกจากนี้ครูต้องทำงานอื่นที่ซ้ำซ้อน เป็นงานที่อาจจะถูกส่งต่อมาจากกระทรวงแต่เป็นนโยบายที่ไม่เกิดผลประโยชน์ต่อผู้เรียน จึงนำไปสู่ข้อเสนอที่ให้เกิดขึ้น คือการปรับสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเพื่อให้เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงานของครูอย่างแท้จริง คาดว่าจะต้องอาศัยสามอย่างคือการ “ตั้ง ปรับ และเปลี่ยน” 

โดยตั้งสภาติดปีกครูไทย หรือการตั้งองค์กรขึ้นมา ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับทางด้านนี้หรือแม้กระทั่งหน่วยงานที่ทำเรื่องการศึกษาอยู่แล้ว และดึงภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องและให้องค์กรนี้ เป็นส่วนช่วยในการผลักดันนโยบายและผลักดันให้เกิดการกระจายไปสู่การจัดการระบบได้จริง ปรับระบบกระจายอำนาจสู่โรงเรียนจะต้องปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการออกแบบให้ตอบโจทย์ต่อสิ่งที่พื้นที่ต้องการอย่างแท้จริงเพื่อให้ครูเป็นครูอย่างแท้จริง 

  • Reduced Workload ลดภาระงานที่ซ้ำซ้อนมากเกินควร ปรับให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 
  • Proper Pay การจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการทำงานของครู
  • Counselling Service การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตของครู  
  • Data Centric การมีแหล่งรวมข้อมูลที่จะสามารถนำมาต่อยอดวิเคราะห์
  • School Tranformation เปลี่ยนให้โรงเรียนมีอิสระสามารถคิดและสร้างกระบวนการและหลักสูตรของตัวเองได้ 
  • Collective Vision นำวิสัยทัศน์ของครู นักเรียน และผู้บริหาร มารวมกันเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นกลางและเป็นประชาธิปไตย เพื่อให้เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่จะสามารถนำกระบวนการไปใช้ได้ นำวิสัยทัศน์ของครูนักเรียนและผู้บริหาร

นอกจากนี้ยังเสนอให้นำ EdTech หรือนวัตกรรมทางการศึกษา มาใช้สำหรับการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้ก้าวหน้า และกระบวนการสอนของครู ที่จะสร้างผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงกระบวนการจากนักวิจัย นักพัฒนาที่สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นกระบวนการให้ครูและโรงเรียนได้นำเอาสิ่งที่ได้จากแหล่งข้อมูลไปใช้ได้จริง 

พริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล ซึ่งซื้อนโยบายนี้ เห็นด้วยว่าเวลาภาระหน้าที่ของครูหมดเวลาไปกับสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครู โดยต้อง 1) ยกเลิกครูเวร, งานเอกสารต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น หากมีงานสำคัญให้จ้างธุรการช่วยรับผิดชอบ และยกเลิกการประเมินที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้เรียน  2) ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม 10 ปี แรก 20,000 บาทต่อเดือน  3) สุขภาพที่ดี กายใจ การตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงสุขภาพจิตด้วย 4) การมีส่วนร่วม เสนอให้มีตัวแทนครู นักเรียน ที่มาจากการเลือกตั้ง 5) การเปิดโอกาสให้ครูในโรงเรียนขึ้นตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการได้ 

ด้าน แสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม พรรคชาติพัฒนากล้า ชี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเรื่องการศึกษาคือความไม่เชื่อมั่นในตัวครูของนักเรียน และเนื้อหาการเรียนการสอนไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการจริง ๆ ปรับนักเรียนสู่วิชาชีพมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญแลกเปลี่ยนข้อมูลว่าฟินแลนด์ปฏิรูปการศึกษาด้วยการยกเลิกการสอบของเด็กประถม โดยเฉพาะข้อสอบปรนัย สร้างนิสัย วินัย และการทำงานเป็นทีม “เราต้องไม่โลกสวยเกินไป และแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะปัญหาเกิดเป็นระบบ ต้องไปทลายระบบเหล่านี้ก่อน และวิธีคิดของคนไทย เกี่ยวกับการศึกษานั้นเป็นอย่างไร เกิดมายาคติ และ mindset เกี่ยวกับเรื่องการศึกษา โดยมีกลไกในการสร้างการมีส่วนร่วม”

นอกจากนี้ยังเห็นว่าอีกปัญหาที่สำคัญ คือ ครูคือคนที่มีหนี้มากที่สุด หากไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ได้ ติดปีกอย่างไรก็บินไม่ขึ้น 

สมาชิกทีมติดปีกครูไทย

ชยพงศ์ สายฟ้า, สันติชนข์ สุคนธ์ทองเจริญ, ชาคริต ตระการกูล, พงศกร บุญรอด, ธนิต มินวงษ์, ปิยสิทธิ์ เมินแก้ว, กนกวรรณ โชศรี, ณัชชา ชูเกลี้ยง, วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์, ว่าที่เรือตรี ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

ดูคลิปการนำเสนอ 

Download เอกสารนำเสนอ

รัฐของกลุ่มคนที่หลากหลาย
นโยบาย : สภาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแห่งชาติ

ประเทศไทยมีคนพิการ 2 ล้านคน  ผู้มีความหลากหลายทางเพศ 6 ล้านคน และกลุ่มชาติพันธุ์ 7 ล้านคน รวมประชากร 25 % ของประเทศ แต่กลับถูกมองเป็นคนอื่น เป็นภาระ ทั้งที่ความจริงแล้ว ความหลากหลายเป็นศักยภาพ แต่เรากลับไม่ได้รับความเท่าเทียม สำคัญจึงต้องตั้งสภาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแห่งชาติเพื่อทุกคน ทางกลุ่มเห็นว่า ทุกอัตลักษณ์ที่หลากหลายได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และมีอำนาจในการร่วมกำหนดนโยบายและงบประมาณแผ่นดิน จะได้เป็นพลเมืองเท่ากัน ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมและเป็นธรรม

โดยข้อเสนอคือมี “สภาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแห่งชาติ” ต้องมีตัวแทนเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องมี สว. ที่มาจากคนกลุ่มหลากหลายโดยวิธีประชาธิปไตย และกำหนดให้ “สภาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแห่งชาติ” เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ (เช่นเดียวกับ กสทช.) มีบทบัญญัติว่าหากหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามมติของสภาฯ จะต้องรับผิดชอบทางการเมือง เช่น การถอดออกจากตำแหน่งทางการเมือง หรือส่งให้ ปปช. ตรวจสอบและส่งฟ้องข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยในส่วนของกิจกรรม เสนอเรื่องที่จำเป็นต้องมีดังนี้ 

  • ต้องมีการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่อง “สภาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแห่งชาติ” 
  • ส่งคนเข้ารับการสรรหาเป็น สว. 
  • ยกเลิก ทบทวน กฎหมายที่กีดกันและกดทับคนหลากหลาย 
  • ออกกฎหมายที่ส่งเสริมความหลากหลาย

ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยกลไกของเครือข่ายความหลากหลาย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เครือข่ายนักวิชาการและพรรคการเมือง โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  • เกิดการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม
  • การจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งต้องเป็นไปตามหลักการที่ได้รับการยอมรับโดยสากล 
  • เพื่อให้มีกระบวนการตรวจสอบนโยบายจากภาคประชาชน ต้องมีการทบทวน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน, พ.ร.บ.คอมฯ โดยยกเลิกเนื้อหาที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน  และพรรคเพื่อไทยที่ ระบุว่า สังคมไทยไม่ได้ออกแบบรองรับผู้คนหลากหลายแม้แต่การใช้วิถีปกติ และตนเองจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยก่อน เห็นด้วยอย่างไม่มีข้อสงสัยต่อนโยบายนี้

ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช พรรคเพื่อชาติ ซื้อนโยบายนี้ และให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมเสาหลักความเสมอภาค ความเท่าเทียม ความหลากหลาย ไม่ว่าจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ และพร้อมผลักดันกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อสิทธิมนุษยชน การศึกษา วิชาความแตกต่างหลากหลาย เพศวิถีศึกษา สภาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแห่งชาติ

ขณะที่ ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ พรรคเพื่อไทย เป็นอีกพรรคที่ซื้อเช่นกัน โดยให้ความเห็นว่าสังคมไทยไม่ได้ออกแบบรองรับผู้คนหลากหลาย แม้แต่การใช้วิถีปกติ และตนเองจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยก่อน พร้อมเห็นด้วยอย่างไม่มีข้อสงสัยต่อนโยบายนี้ สิทธิของคนไทย และกฎหมายที่ทำให้คนไทยไม่สามารถเข้าถึงสิทธินั้น พรรคเพื่อไทยเคารพสิทธิทุกสิทธิของคนไทยและยอมรับความหลากหลาย ดังนั้น กฎหมายใดที่ทำให้คนไทยไม่สามารถเข้าถึงสิทธิเราพร้อมแก้ไข นอกจากนี้ยังกล่าวเสริมอีกว่าฝ่ายค้านในขณะนี้ร่วมกันสนับสนุนการสมรสเท่าเทียม มีการพัฒนาเรื่องการใช้ชีวิตให้อยู่ร่วมกันได้บนความหลากหลายทั้งเรื่อง ชาติพันธุ์ คนพิการ หรือความหลากหลายทางเพศ สำหรับข้อกังวลในเรื่องปฏิญญาต่าง ๆ โดยพรรคเพื่อไทยจะปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เพื่อค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นและกระบวนการที่เกิดจากภายนอกประเทศในภายหลัง

สมาชิกทีมรัฐของกลุ่มคนที่หลากหลาย

ชานันท์ ยอดหงษ์, ณัฐนนท์ บุญสม, ภูมิพัฒน์ โสดาวิชิต, จิราเจต วิเศษดอนหวาย, ชรินรัฐพงศ์ เเต่งทรัพย์, พีรพัฒน์ นิราราศน์, ผศ.ณพงศ์ นพเกตุ, พลกฤต นฤพันธาวาทย์, พฤ โอ่โดเชา, สว่าง ศรีสม, วิทวัส เทพสง, รตี แต้สมบัติ, คัณธมาส เพ่งสุวรรณ, ปภาภรณ์ ชุณหชัชราชัย, รศ.ธนพร ศรียากูล

ดูคลิปการนำเสนอ

Download เอกสารนำเสนอ

รัฐทันสมัย โปร่งใส ไร้คอร์รัปชัน
นโยบาย : หยุดผลาญงบประมาณชาติ เปิดพรมเก็บกวาด ประชาชนมีส่วนร่วม

พวกเขาสะท้อนปัญหานี้ว่าเกิดจากการคอร์รัปชัน ผูกขาด การเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง งบประมาณรัฐถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการกระจายอำนาจประชาชน ขาดการทีส่วนร่วมในการเสนอ ติดตาม ตรวจสอบ การบริการประชาชนเชื่องช้า ซ้ำซ้อน จำกัดเวลา ขาดการกำกับดูแลภาพรวมในการขับเคลื่อน e-Governance ขาดเครื่องมือประเมินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐที่เหมาะสม ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าที่จะต่อรองกับอำนาจรัฐ จนมีความเคยชิน “ใคร ๆเขาก็ทำกัน” “เขาก็ทำกันแบบนี้” “ก็ทำตามกันเป็นระเบียบปฏิบัติ” กลุ่มจึงเสนอให้ใช้กลไกรัฐสภาในการอภิปรายว่าที่รัฐมนตรี ก่อนเข้ารับตำแหน่ง มีผู้บริหารการเปลี่ยนแปลงระดับรองนายกฯ ในตำแหน่ง CIO/CDO/CTO มีการนำเสนอ White Paper/Checklist/Bookmark เพิ่มทักษะ Service Mind/Digital Literacy ให้แก่ภาคประชาชนและบุคลากรรัฐ ปลูกฝังค่าสำนึก สร้างบทบาทประชาชน ส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดี สร้างเครื่องมือประเมินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐให้เหมาะสม เปลี่ยนเวลาการให้บริการ ปรับกระบวนการทำงานให้ทันสมัย โปร่งใส มีประสิทธิภาพ e-Governance ประชาชนสามารถเสนอแนะ ร้องเรียน ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลได้

สำหรับนโยบายนี้ทุกพรรคซื้อนโยบาย พรรคชาติไทยพัฒนา เสนอประเด็นที่เป็นทั้ง Hard Power และ Soft Power ใช้อำนาจตามกฎหมายและสร้างค่าสำนึก พรรคชาติพัฒนากล้า เห็นด้วยเรื่องการใช้เทคโนโลยี เพราะภาคราชการยังใช้กันน้อย ถ้าทำได้จะขยายโอกาสการทำมาหากินให้กับประชาชน

พรรคเพื่อไทย จะต้องประมวลกฎหมายใหม่หลายฉบับเพื่อทะลุเรื่องนี้ ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของหน่วยราชการ ที่ห่วงงบประมาณของตัวเอง เหตุที่มีหลายแพลตฟอร์มเพราะเป็นงบประมาณที่เขาได้รับ พรรคจะแก้ภาระงานที่ซ้ำซ้อนและจะทำให้ระบบรัฐอยู่ภายใต้แพลตฟอร์มเดียวกันทุกกระทรวง

พรรคก้าวไกล เสนอ 6 ข้อ คือ 1) ยกเลิกใบอนุญาต 50 % เพื่อลดปัญหาธุรกิจบางอย่างจ่ายสินบน 2) ไม่เอาภาษีประชาชนมาประชาสัมพันธ์ตัวเอง 3) มีกฎหมายเปิดเผยข้อมูลของรัฐทั้งหมด รัฐต้องเปิดและพิสูจน์โดยอัตโนมัติ ไม่มีงบฯ ลับ 4) ติดตั้งระบบ AI จับโกง 5) ออกกฎหมายคุ้มครองประชาชนและข้าราชการที่ออกมาเปิดเผยการทุจริต 6) ปฏิรูปที่มาขององค์กรอิสระและ ปปช.

พรรคเพื่อชาติ เห็นด้วยกับการอภิปรายว่าที่รัฐมนตรีก่อนรับตำแหน่ง อยากขยายไปที่กระบวนการยุติธรรมอื่น อย่างผู้พิพากษา ต้องเป็นคนของสาธารณะ ด้าน พรรคไทยสร้างไทย เห็นด้วยทั้งหมด นักการเมืองที่เพิ่งเข้ามาไม่สามารถจะทุจริตได้ ถ้าข้าราชการไม่สนับสนุน

สมาชิกทีมรัฐทันสมัย โปร่งใส ไร้คอรัปชั่น

พรชัย มาระเนตร์, อับดุลปาตะ ยูโซะ, ชติพจน์ ศรีเมือง, จิระวัฒน์ เอี้ยวฉาย, นิธิภัทร์ พาณิชชัยวิวัฒน์, กฤตนันท์ เพ็ญศิริสมบูรณ์ , พ.ต.ท. ธนธัส กังรวมบุตร

ดูคลิปการนำเสนอ

Download เอกสารนำเสนอ


Hack Thailand 2575 ปฏิบัติการ 48 ชม. พลิกโฉมประเทศไทย หลังเลือกตั้ง | 20 เม.ย. 66

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
AUTHOR

ฟารีดา โยธาสมุทร

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

ลลิตา วิจิตอมรวงษ์

เปลี่ยนเนื้อหาเข้าใจยาก ให้เป็นภาพเข้าใจง่าย เจ้าของเพจ Mis.lalita รักธรรมชาติ และชอบฟังเพลง