Hack Thailand 2575 ก้าวข้ามความเป็นพรรค ร่วมสร้างนโยบายในฝันของประชาชน

นวัตกรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

Hack Thailand 2575 กิจกรรมทางการเมืองรูปแบบใหม่ที่ พรรคการเมืองสามารถก้าวข้ามความเป็นพรรค เปิดมุมมอง รับฟังภาคประชาสังคม จับมือร่วมใจกันสร้างนโยบายในฝันของประชาชน เพื่อเดินทางไปสู่เป้าหมายที่คนไทยทุกคนต้องการร่วมกัน ​

The Active สัมภาษณ์พิเศษ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หนึ่งในหน่วยงานหลักที่ร่วมมือจัดงาน Hack Thailand 2575 เพื่อร่วมกันสร้างนวัตกรรมทางสังคม และนวัตกรรมทางการเมืองรูปแบบใหม่ ที่ให้พรรคการเมืองและภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างนโยบายให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม  

“หัวใจสำคัญคือเราอยากให้พรรคการเมืองที่มีโอกาสไปเป็นทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านในอนาคต รับฟังสิ่งเสียงของประชาชน เอาไปปรับใช้และอยากให้มีการทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ คงไม่ใช่แค่ช่วงเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว เพราะการรับฟังเสียงของประชาชนถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

…ต่อจากนี้น่าจะมีเครื่องมือใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เสียงของประชาชนได้ยินไปในทุกภาคส่วน สิ่งนี้ถือเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ต้องช่วยกันส่งเสริมและทำให้เกิดขึ้นบ่อยที่สุด”

NIA มีหน้าที่สนับสนุนและโพรโมตนวัตกรรม มีความยินดีที่มีโอกาสได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการสร้างนวัตกรรมทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ถือเป็นเรื่องของทุกคนถือเป็นสิ่งใหม่มากๆในสังคมไทย โดยพันธกิจหลักของ NIA คือการสร้างการตระหนักรับรู้ด้านนวัตกรรมและการสร้าง ‘ชาติแห่งนวัตกรรม’

โดยงาน Hackathon ครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม เยาวชนคนรุ่นใหม่ พรรคการเมือง หน่วยงานราชการต่าง ๆ ในการมองถึงเรื่องประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม และนโยบาย ซึ่งหลังจากผ่านการ Hack นั้นสามารถนำมาใช้ได้จริง

Hackathon เครื่องมือจุดประกายไอเดีย

Hackathon เป็นเครื่องมือที่กลุ่ม Startup ใช้กันมาสักพักหนึ่งแล้ว เป็นการที่คนมาระดมอยู่ด้วยกันประมาณ 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมง ไม่หลับไม่นอน และมีโจทย์ร่วมกัน Hack โดยคำว่า Hack คือมีสิ่งที่เราเรียกว่า Pain Point หรือปัญหาที่ต้องไปแก้ เมื่อแก้ปัญหาก็จะได้ไอเดีย ได้ Proposal หรือข้อเสนอ แต่ส่วนใหญ่การ Hack จะจบอยู่ที่การได้ไอเดียหรือได้ผลงานออกมา

อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามองไปแล้ว กระบวนการหลังจาก Hackathon มีอยู่เยอะมากที่จะใช้ Hackathon เป็นเครื่องมือในการจุดประกายความคิด การที่ได้ฟังสิ่งที่เป็นเรื่องเดียวกัน แต่อาจจะต่างมุมมองและมารวมกันเป็น Solution หรือแนวทางการแก้ปัญหาใหม่ ๆ เป็นกิจกรรมที่ทำให้คนจากหลากหลายประสบการณ์ชีวิตในช่วงเวลาสั้น ๆ เอาไอเดียมาแข่งกัน แต่หลังจากนั้นต้องมีการนำเอาไอเดียที่ถูกคัดกรองมาแล้วนำไปสู่การนำเสนอให้กับกลุ่มบุคคลที่สามารถนำเอาไอเดียไปใช้เปลี่ยนแปลงได้ สิ่งเหล่านี้ถึงจะเกิดคำว่า นวัตกรรมทางการเมือง

Hackathon ร่วมสร้างกระบวนการประชาธิปไตย

โดยปกติแล้วเวลาที่เราพูดถึงเวทีสาธารณะ พูดถึงนโยบาย มีการเชิญชวนประชาชนมานั่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีกลุ่มคนมาเป็นวิทยากร เวลาส่วนใหญ่ก็จะหมดไปกับการฟัง แต่กระบวนการ Hackathon ที่เปลี่ยนแปลงไป คือทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามนอกเหนือจากการรับฟังคนในกลุ่มแล้ว ทุกคนจะต้องแลกเปลี่ยนและนำเสนอสิ่งที่เป็นไอเดียของตัวเอง และทำให้ทุกคนยอมรับ

​หลังจากนั้นก็ต้องมีการ Pitching หรือนำเสนอด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เรามองได้เลยว่าคือกระบวนการสร้างประชาธิปไตย ทุกคนมีส่วนร่วมตั้งแต่วินาทีแรกจนถึงวินาทีสุดท้าย ซึ่งถ้าถามว่าสิ่งเหล่านี้เป็นนวัตกรรมทางสังคม และนวัตกรรมทางการเมืองอย่างไร คือเรื่องของนโยบายที่หลาย ๆ คนมีสิทธิ์มีเสียงในการนำเสนอ ความถูกผิดไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือไอเดียที่ผ่านการกรอง และนำไปสู่การ Pitch และไปสู่การยอมรับจากคนในกลุ่ม

สิ่งนี้ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วม ส่วนกระบวนการหลังจาก Hackathon ที่ประสบความสำเร็จจริง ๆ นั้นคือการนำไอเดียที่มีศักยภาพไปทดลองใช้ โดยไม่มีใครการันตีว่าจะประสบความสำเร็จ แต่เมื่อมีการทดลองใช้แล้วได้ผลและแพร่กระจายออกไปสิ่งนี้ถึงจะเรียกว่า นวัตกรรมเชิงนโยบาย

 เชิญชวนพรรคการเมืองเปิดใจรับฟัง คนรุ่นใหม่ ร่วมสรรสร้างนโยบายเพื่อประเทศ

ในขณะนี้จะเห็นได้ว่าพรรคการเมืองเริ่มปล่อยนโยบายมานำเสนอให้กับประชาชน ในขณะเดียวกับเวทีอย่าง Hackathon มีหน้าที่เสริมกระบวนการเชิงนโยบายสาธารณะ ลองมาฟังสิ่งที่ประชาชนคิด สิ่งที่เด็กรุ่นใหม่มอง และเอามารวมกับสิ่งที่พรรคกำลังทำอยู่ว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร สิ่งนี้อาจเป็นสะพานเชื่อมเชิงนโยบายสาธารณะอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งไม่ได้จบแค่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เราต้องอยู่กับรัฐบาลใหม่ไปอีก 4 ปี เพราะฉะนั้นกระบวนการเหล่านี้ส่วนตัวไม่อยากให้จบไปแค่เรื่อง Hackathon นำเสนอไปแล้วผู้ที่มีอำนาจกลุ่มถัดไปมีกระบวนการเชิงนโยบายในรูปแบบเดิม

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ประเมินว่า ความท้าทายของนวัตกรรมในเมืองไทย มีอยู่ 3 ประเด็นคือ

  1. การใช้นวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างโอกาสการหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างไรโดยใช้ศักยภาพของกลุ่ม Startup นักวิจัย หรือนวัตกรจากทั่วโลกที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของระบบให้เติบโตในประเทศไทยได้อย่างเต็มที่
  2. การใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน แม้ว่านวัตกรรมหลายตัวมีส่วนที่สามารถทำให้เกิดคอร์รัปชันได้ แต่ในขณะเดียวกันนวัตกรรมบางตัวมีส่วนสำคัญมากในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เช่น Block chain หรือกระบวนการจัดการรัฐโปร่งใสที่ทุกคนมีส่วนร่วมกับความโปร่งใส ล้วนแล้วแต่เป็นนวัตกรรทางสังคม และการเมืองทั้งนั้น
  3. การใช้นวัตกรรมเพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อน นวัตกรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตในเมือง เมืองใหญ่ เพราะฉะนั้นคนเมืองสามารถเป็นนวัตกรเช่นในเรื่องขยะ จัดการน้ำเสีย รวมถึงการใช้ชีวิต การบริโภค เป็นต้น 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฟารีดา โยธาสมุทร