‘เกษตรยั่งยืน’ เชื่อมโยงการพัฒนาทุกมิติ ภาพอนาคตที่คนเหนืออยากเห็น

แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าสุดท้ายแล้ว หน้าตาของรัฐบาลใหม่จะออกมาเป็นอย่างไร แต่ภาคประชาชนก็ยังคงคาดหวังว่า รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเปิดกว้างให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมออกแบบและกำหนดอนาคตของตนเอง 

โดยก่อนการเลือกตั้ง คนภาคเหนือตอนล่าง ได้ร่วมกันสะท้อนผ่านเวที Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง ซึ่งตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งเป้าอยากเห็นนโยบายที่สามารถผลักดันไปสู่ภาพอนาคตของเมืองเกษตรยั่งยืน การแก้ปัญหาในภาคการเกษตร ที่จะเชื่อมโยงต่อการพัฒนาในทุกประเด็น ทุกมิติ ทั้งการแก้ปัญหาความยากจน หนี้สินที่เป็นสาเหตุสำคัญให้สถิติการฆ่าตัวตายของคนในภูมิภาคเหนือตอนล่างสูงขึ้นกว่าทุกภาค  รวมทั้งการสร้างเศรษฐกิจรายได้ที่ดีขึ้น พัฒนาการศึกษา สุขภาพ สู่คุณภาพชีวิตที่ดี และสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต 

The Active รวบรวมข้อสรุปเสียงสะท้อนประชาชนภาคเหนือตอนล่าง ในเวที Post Election : ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง สรุปในรูปแบบ Visual note

Post Election : ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชนภาคเหนือตอนล่าง เวทีที่ 8 จัดโดยไทยพีบีเอสสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) และภาคีเครือข่าย ณ โรงแรมท็อปแลนด์ จ.พิษณุโลก  เมื่อวันที่2 เม.ย. 2566  โดยเวทีนี้เป็นการใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนภาคส่วนต่างๆ รวมทั้ง เครือข่ายคนที่ทำงานในประเด็นต่างๆ ในสังคม ไม่ต่ำกว่า 60 คน ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งเพศ วัย อาชีพ ระดับการศึกษา และรายได้ 

ผ่านรูปแบบคำถามให้ประชาชนเลือกภาพฝัน ภาพอนาคตที่อยากเห็นหลังการเลือกตั้งในอีก 10 ปี ข้างหน้า หรือ ในปี 2575 ครอบคลุมทุกมิติทั้งประเด็นเศรษฐกิจ รายได้, รัฐราชการความมั่นคง, การศึกษาทักษะ,สุขภาพสาธารณสุข, สังคม พื้นที่การใช้ชีวิต, และสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อการนำเสนอภาพที่ชัดเจนขึ้นตามบริบทของพื้นที่ ดังนี้

ด้านสุขภาพและสาธารณสุข

1. สวัสดิการสาธารณสุขส่งเสริมสุขภาพ 

สวัสดิการด้านสาธารณสุขที่ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รองรับคนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย เน้นการดูแลตนเองอย่างมีความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร ให้อาหารเป็นยา ยกระดับการแพทย์ทางเลือกให้เป็นภูมิภาค Medical Hub

2. ดูแลสุขภาพกษตรกรและอาชีพเสี่ยง 

รัฐให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของเกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง สนับสนุนและให้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ควบคุมการใช้สารเคมีอันตราย เพราะในพื้นที่ชาวนาตายเพราะโรคมะเร็งด้วยสาเหตุที่เกิดจากการทำนาด้วยสารเคมี ขณะที่งานวิจัยบางอันไม่ถูกเปิดเผย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการแบนสารเคมีต้องมีการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบจากการใช้สารเคมีตามจริง

3. รัฐให้ความสำคัญต่อปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน แก้ปัญหาอัตราการฆ่าตัวตายที่สูง ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในทุกด้าน ไม่ใช่แค่เรื่องธรรมชาติ แต่รวมถึงบ้านเรือน สังคม สิ่งรอบตัว ความเครียดปัญหาหนี้สินของประชาชนเกษตรกร ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต และสร้างสุขภาพที่ดี อาหารที่ดีจากเกษตรกรรมยั่งยืน ปลอดภัย

ด้านสิ่งแวดล้อม

1. ประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรในพื้นที่ รัฐรักษาผลประโยชน์ของคนในประเทศ

ประชาชนยังประสบปัญหาสิทธิเข้าถึงทรัพยากร  ไม่มีโอกาสใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ทั้งที่ดิน แร่ อยู่ในมือทุน ถูกเปลี่ยนมือ ต้องเช่า ไม่มีสิทธิร่วมจัดการบนสิทธิชุมชนสิทธิทางวัฒนธรรม ดังนั้นจะต้องแก้ปัญหาในการเข้าถึงทรัพยากรในพื้นที่ รัฐรักษาผลประโยชน์ของคนในประเทศ ลดอำนาจทุนด้วยโครงสร้างและกฎหมายที่เป็นธรรม

2. ยกปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ 

รัฐนำปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ มีแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนเร่งด่วน โดยเฉพาะการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 ไฟป่า และภัยแล้ง ฟังเสียงคนในพื้นที่และให้คนที่รู้จริงแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและเน้นการปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทุกภาคส่วน

3. รัฐบริหารจัดการน้ำด้วยแนวคิด “ น้ำคือชีวิต “ 

รัฐบริหารจัดการน้ำและระบบน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่เกษตรกรรม ด้วยแนวคิดน้ำคือชีวิต มีการจัดการขุดสระหรือสร้างที่กักน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และเพื่อการเกษตรกรรมยั่งยืน รวมทั้งสร้างระบบน้ำนำไปใช้ส่วนอื่นทุกด้านอย่างเพียงพอ 

ด้านเศรษฐกิจ 

1. ลดความเหลื่อมล้ำ ลดหนี้ รายได้เหมาะสม 

เศรษฐกิจถูกพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รายได้และค่าแรงเหมาะสมกับค่าครองชีพ แก้ปัญหารายได้ไม่สมดุลกับหนี้ หนี้ประชาชนลดลง ชาวบ้านมีอำนาจในการต่อรองนายทุน มีกฎหมายที่ประสานให้ห่วงโซ่อุปทานทุกระดับร่วมมือกันโดยไม่ให้เกิดการผูกขาด เศรษฐกิจพัฒนาอย่างไม่เหลื่อมล้ำ ไม่ถูกผูกขาดไปอยู่ในมือคนไม่กี่คน

2. เศรษฐกิจถูกพัฒนาทั้งภูมิภาค ชุมชนเข้มแข็ง ยกระดับด้วยนวัตกรรม

เศรษฐกิจถูกพัฒนาทั้งภูมิภาคให้สอดคล้องกับจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ เศรษฐกิจระดับชุมชนเข้มแข็งและขยายสู่ระดับประเทศ เพราะเศรษฐกิจของภาคเหนือยังพัฒนาอยู่แค่ในจังหวัดหลัก ๆ อย่าง เชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ ส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีความรู้ด้านนวัตกรรมการตลาด ยกระดับเป็น Nortthen Mice Region

3. พัฒนาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เลื่อมทุกภาคผ่านสาธารณูปโภคที่สะดวก 

เศรษฐกิจในภาพรวมพัฒนาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการเชื่อมโยงทุกภูมิภาคผ่านระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สะดวกต่อการเดินทาง ลดระยะเวลาในการขนส่ง และครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งหากพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทาง ต้องลดต้นทุนในส่วนต่างๆเช่น การขนส่ง การเดินทาง แก้ปัญหาถนนไม่เข้ากรุงเทพ เพิ่มเส้นทางการเชื่อมโยงภาคเหนือตอนล่างกับภูมิภาคอื่นๆ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น 

การศึกษา

1. การศึกษาสร้างการเปลี่ยนแปลง เชื่อมความรู้รอบด้าน 

คือ การศึกษาที่สร้างพลังคนรุ่นใหม่สู่การเปลี่ยนแปลงบนฐานธรรมาภิบาลไม่ยึดติดค่านิยมเดิม มีหลักสูตรที่เชื่อมโยงความรู้รอบด้านตั้งแต่สังคม สิทธิ การเมือง การเกษตร เศรษฐกิจและการตลาด ส่งเสริมผู้เรียนตามความถนัดและสายอาชีพ สร้างเด็กให้โตเป็นวัยแรงงานที่ดูแลผู้สูงอายุได้ ส่งเสริมการออม และบัญชีครัวเรือน

2. ส่งเสริมวิจัยองค์ความรู้ทันเทคโนโลยี ทันโลก 

บุคลากรในวิชาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะครูและเกษตรกร ได้รับการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เท่าทันโลก สามารถเข้าถึงและใช้องค์ความรู้เพื่อส่งเสริมงานวิจัยเพื่อพัฒนา ส่งเสริมความรู้ช่องทางอาชีพการหารายได้เพิ่มมากกว่าหนึ่งช่องทาง มีความรู้ในการทำตลาด 

3. การศึกษาอิงภูมิปัญญาท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ 

การศึกษาที่มีพื้นฐานอยู่บนบริบทของชุมชนและภูมิปัญหาท้องถิ่น แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบ ให้ข้อมูลจริงเปิดเผยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ตามบริบทพื้นที่ เช่น แต่ละชุมชนมีเอกลักษณ์และมีทรัพยากรสำคัญแตกต่างหลากหลาย จึงต้องมีการศึกษาตามบริบทชุมชน

ด้านสังคม

1. สังคมแห่งการรับฟัง พร้อมรับผู้สูงวัย 

สังคมแห่งการรับฟังและเปิดกว้างให้แก่คนรุ่นใหม่ ลดช่องว่างระหว่างวัย มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน สังคมที่เตรียมพร้อมรองรับผู้สูงวัย ให้วัยแรงงานมีกำลังเพียงพอในการดูแลวัยอื่น ๆได้ คืออัตราแรงงาน 2.6 คน ต้องดูแลผู้สูงวัย 1 คน ดังนั้นจึงต้องเตรียมพร้อมรองรับส่วนนี้ สังคมที่เอื้อให้คนรุ่นใหม่กลับคืนถิ่น

2. สังคมปลอดภัย สำหรับคนทุกกลุ่ม

สังคมที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกกลุ่มด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั่วถึงอย่างเสมอภาคผู้คนมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด ชุมชนเข้มแข็งรวมตัว และร่วมกันพัฒนาตนเองให้โดดเด่น เช่น ชุมชนปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยี เช่น มีโซลาร์เซลล์ ถนนสว่าง ชุมชนปลอดภัยสำหรับเด็ก  การแก้ปัญหาอุบัติเหตุ และป้องกันการถูกละเมิด 

3. ความคิดคนในชุมชนถูกพัฒนา กล้าที่จะไปให้ถึงสังคมอุดมคติ

กรอบความคิดและทัศนคติของคนในชุมชนได้รับการพัฒนาให้มีความกระตือรือร้น และกล้าที่จะไปให้ถึงภาพสังคมอุดมคติ ประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐในแต่ละขั้นตอนการพัฒนา ซึ่งตัวอย่างจากกลุ่มผู้ประกอบคนรุ่นใหม่ในพื้นที่รวมตัวกัน และกล้าที่จะขึ้นแรงงานขั้นต่ำในกิจการของตน เพื่อทำให้สังคมเห็นว่ามันเป็นไปได้ที่จะให้ค่าแรงอันเหมาะสมกับเงินเฟ้อ และกิจการยังได้กำไรอยู่

ด้านความมั่นคงของรัฐ (รัฐ / ราชการ / ความมั่นคง)

1. รัฐกระจายอำนาจ ประชาชนมีส่วนร่วม 

รัฐกระจายอำนาจสู่ชุมชน มีนโยบายเพื่อประชาชน ลดเกมการเมืองส่วนบุคคล ไม่เอื้อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทุกหน่วยงานมีการทำงานเชื่อมโยงกัน ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนจบ สามารถเลือกผู้นำในพื้นที่ท้องถิ่นของตัวเองได้  มีผู้บริหารสูงสุดจากการเลือกตั้ง กลไกเลือกตั้งผู้ว่าฯ ปรับทุกจังหวัดให้เหมือนกรุงเทพมหานคร

2. รัฐทำงานเขื่อมกันใช้ Big Data อย่างมีประสิทธิภาพ 

หน่วยงานรัฐทำงานเชื่อมโยงกัน สนับสนุนงบประมาณในการใช้งานวิจัยและ Big Data อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง โดยข้อมูลที่จัดเก็บไปปลอดภัยไม่รั่วไหล เพราะต้องยอมรับ รัฐขาด Big Data ของชุมชน มีแต่ข้อมูลเรื่อง ข้าว มันสำปะหลัง หรือพืชไร่เชิงเดี่ยว แต่ไม่มีเรื่องสินค้าในชุมชน 

3.รัฐมีธรรมาภิบาล ตรวจสอบได้ 

รัฐมีธรรมาภิบาล กฎหมายไม่กดทับ มีความเป็นธรรมต่อประชาชนตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ และกลางน้ำประชาชนมีช่องทางในการติดตามและตรวจสอบการทำงานของรัฐ  เพราะตอนนี้ต้องยอมรับบางหน่วยงานไม่มีช่องทางให้ประชาชนได้ติดตามเข้าถึงการตรวจสอบ องค์กรสื่อช่วยเป็นกระบอกเสียง และสื่อสารติดตามการทำงานของรัฐอย่างต่อเนื่อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

วรรวิสาข์ อินทรครรชิต

นักออกแบบ และนักการศึกษา ผู้สนุกกับประเด็นและเรื่องราวรอบโลก ชอบทำเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย ผ่านศิลปะและการสื่อสารด้วยภาพแบบ Visual note, Visual Recording และวิดีโอ เป็นนักเจื้อยแจ้วแห่ง FB: Mairay May