#Save สิทธิจัดการทรัพยากร | 2021 WRAP UP

“นี่เป็นมิติสำคัญที่ประชาชนเห็นว่าการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมกับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ ว่าหากเชื่อมั่นในอำนาจประชาชน เชื่อว่าการพัฒนาประเทศต้องอยู่ภายใต้ความร่วมมือของประชาชน ประชาชนคือหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ”

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) 

จากผืนป่า สู่ท้องทะเล The Active ชวนเดินทางไล่เรียงตามไทม์ไลน์การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในการปกป้องสิทธิจัดการทรัพยากร ในช่วงปี 2564 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป

สิทธิจัดการทรัพยากร

มกราคม: ปิดถาวร “เหมืองเมืองเลย” ความเคลื่อนไหวกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด

2 มกราคม กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จังหวัดเลย ลงบันทึกประจำวัน ที่ สภ.วังสะพุง จากเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 2 – 5 มกราคม ที่มีชายฉกรรจ์ อ้างตัวว่ามาจากบริษัทผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ ขอเข้าพื้นที่เหมืองเพื่อตรวจสอบและฟื้นฟู ซึ่งชาวบ้านกังวลว่าอาจมีการขนแร่เถื่อน และเกิดความรุนแรงขึ้นเหมือน ปี 2557

9 มกราคม กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยืนเข้าแถวส่งรถขนสินแร่ออกจากเหมืองทองคำ ในพื้นที่บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จและความหวังตลอด 15 ปี ของการต่อสู้เพื่อทวงคืนพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งชาวบ้านมองว่าการฟื้นฟูครั้งนี้ อาจต้องใช้ระยะเวลาถึง 15 ปีเช่นกัน เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฟื้นกลับมาอีกครั้ง

มกราคม – มีนาคม: #Save บางกลอย สะท้อนปัญหา คนกับป่า และกลุ่มชาติพันธุ์

ถือเป็นต้นปีของการเคลื่อนประเด็นทรัพยากรขนาดใหญ่ และสร้างการรับรู้ให้กับผู้คนได้ไม่น้อย เมื่อ 15 มกราคม มีรายงานข่าว ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยล่าง ไม่ต่ำ 32 คน ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เดินเท้าเข้าป่าใหญ่ เพื่อกลับไปยังพื้นที่ตั้งหมู่บ้านเดิมที่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน ขณะที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ส่งเจ้าหน้าที่ติดตามขึ้นไปทันทีที่ทราบข่าว

นอกจากปัญหาความเดือดร้อนเรื่องปากท้อง ไม่มีที่ทำกิน หรือไม่สามารถทำกินได้ตามวิถีเดิม อีกเหตุผลคือ พื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ เป็นหิน แห้งแล้ง บางส่วนต้องทำเกษตรเชิงเดี่ยว ที่พึ่งพาปัจจัยภายนอก ต้องหาเงินมาซื้อปุ๋ยและใช้สารเคมีในการเพาะปลูก แต่ไม่มีเงินเหลือซื้อข้าว รวมทั้งการใช้ชีวิตไม่สอดคล้องกับวิถีเดิม ชาวบ้านมีคำอธิบายว่า ที่ต้องทำเช่นนั้น เพราะหวังหนีความอดอยาก กลับไปที่ ใจแผ่นดิน พื้นที่ที่พวกเขาเคยถูกอพยพออกมา เพราะอย่างน้อย ที่นั่นยังมีที่ดินให้ปลูกข้าวและหากินตาม วิถีกะเหรี่ยง พาให้ชีวิตอยู่รอดไปได้ ในวันที่โลกข้างนอกเผชิญวิกฤตหนักหน่วง

กุมภาพันธ์ ชาวบ้านบางกลอยตัดสินใจเดินทางไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี ขอความเป็นธรรมในการนำชาวบางกลอยกลับบ้าน

สถานการณ์ความขัดแย้งที่ตึงเครียดมากขึ้นในพื้นที่ และไม่เห็นหนทางเจรจากับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อคลี่คลายปัญหา ทำให้ชาวบ้านบางกลอยตัดสินใจเดินทางไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเป็น ครั้งแรก ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เพื่อยื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอความเป็นธรรมในการนำชาวบางกลอยกลับบ้าน และเรียกร้องคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สู่พี่น้องชาติพันธุ์ โดยยื่น 3 ข้อเรียกร้องต่อ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ในฐานะตัวแทนของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานแก้ปัญหาของพีมูฟขณะนั้น

16 กุมภาพันธ์ หลังการชุมนุมกดดันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลผ่านไป 1 วัน รัฐบาลยอมลงนามในบันทึกข้อตกลงแก้ไขปัญหากรณีบางกลอย – ใจแผ่นดิน ประกอบด้วย 3 ข้อเรียกร้องเร่งด่วน คือ ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากชุมชนบางกลอยทั้งหมด, หยุดการสกัดการขนส่งเสบียง อาหาร รวมถึงการตั้งจุดสกัดเดิม และจุดที่เพิ่มเติมขึ้นมาทั้งหมด และยุติคดีของสมาชิกภาคีทั้ง 10 คน จากเหตุการณ์ชุมนุมที่ด้านหน้ากระทรวงทรัพยากรฯ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564

17 กุมภาพันธ์ ยุติการชุมนุมที่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล และเดินทางกลับ 

มีนาคม เจ้าหน้าที่สนธิกำลังกลับขึ้นไปที่บางกลอยบนอีกครั้ง และสามารถควบคุมตัว หน่อแอะ มีมิ และชาวบ้านรวม 82 คน โดยอ้างว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 40 และพาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ชาวบ้าน 22 คน ถูกควบคุมตัวไปที่เรือนจำตามหมายขังศาลจังหวัดเพชรบุรี ทำให้ชาวบ้านบางกลอยตัดสินใจเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เป็นครั้งที่ 2 ประกาศปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 7 มีนาคม

หลังจากเริ่มชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม ในที่สุด คณะรัฐมนตรีก็มีมติรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มพีมูฟและบางกลอย ตามข้อสรุปการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับตัวแทนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง พลเอก ประยุทธ์ ยังได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย

นอกจากนี้ ผลการเจรจายังมีข้อตกลงว่า ให้หน่วยงานชะลอการส่งสำนวนคดีของชาวบ้านบางกลอย จนกว่าได้ข้อยุติทั้งหมด

พฤษภาคม: 30 ทศวรรษ จ่ายเงินชดเชยเขื่อนหัวนา

เขื่อนหัวนา ตั้งอยู่ที่บ้านหัวนา ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เป็นหนึ่งในโครงการโขง ชี มูล และเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

ผ่านมากว่า 30 ปี นับตั้งแต่มีการก่อสร้าง โครงการนี้ได้สร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านทั้งมิติของสังคม และมิติของสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านต้องสูญเสียวิถีชีวิต และความหลากหลายของระบบนิเวศ จากการขึ้นลงของน้ำที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล จนนำมาสู่การเรียกร้องการเยียวยาและความเป็นธรรมจากผลกระทบของโครงการพัฒนานี้ ซึ่งก็กินเวลา ไปถึง 3 ทศวรรษ

กระทั่ง 18 พฤษภาคม 2564 มี มติคณะรัฐมนตรีให้มีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา ยังไม่นับว่าความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ต่อวิถีชีวิตและครอบครัวที่เปลี่ยนไปตลอดกาลของผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำมูล จนถึงตอนนี้ ผ่านมากว่า 6 เดือน มีชาวบ้านได้รับการเยียวยา แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด

สิงหาคม: เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เฝ้าระวังนโยบายเหมืองแร่ทั่วประเทศ

นอกจากการเครื่อนไหวที่ใจกลางอำนาจอย่าง กรุงเทพมานคร แล้ว ต่างจังหวัดก็ยังคงมีแนวทางการขับเคลื่อนประเด็นนี้ในพื้นที่ต่างจังหวัดเช่นเดียวกัน

พฤศจิกายน: เลือกตั้งท้องถิ่น กับการกระจายอำนาจจัดการทรัพยากร

28 พฤศจิกายน เลือตั้ง อบต. ในรอบ 8 ปี ถือเป็นช่วงโอกาสที่เครือข่ายภาคประชาชนให้ความสำคัญในอีกหนึ่งกลไกการต่อสู้ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ซึ่งทำงานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง บอกกับ The Active ว่า ในช่วงแรกเป็นเรื่องยาก ที่จะขจัดความคิดทางการเมืองออกไป จากความรู้สึกของชาวบ้าน เพื่อให้มองว่าเป็นหนึ่งกระบวนการที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม แม้กระบวนการนี้ไม่สามารถเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภา อบต. ได้ แต่อย่างน้อยความรู้สึก และเสียงสะท้อนของชาวบ้าน ถูกนำไปพูดในสภาท้องถิ่น ย่อมสามารถสะท้อนปัญหาได้อย่างแท้จริง

การที่นักต่อสู้ในชุมชน ร่วมลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น นับเป็นอีกการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง เพราะถือเป็นเป็นยุทธศาสตร์การต่อสู้อีกรูปแบบหนึ่งของชาวบ้าน เพื่อกำหนดทิศทางท้องถิ่นของตัวเอง

ธันวาคม: ทวงสัญญา #Save จะนะ เดินหน้าทำ SEA

การเคลื่อนไหวนี้ สืบเนื่องจากข้อตกลงที่รัฐบาลให้ไว้กับชาวบ้าน ที่จะชะลอโครงการฯ แต่กลับพบว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ยังมีความพยายามทั้งจากหน่วยงานรัฐ และ เอกชน เดินหน้าหลายกระบวนการเพื่อเปิดทางให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 หรือ 1 ปีที่แล้ว เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้ทำบันทึกข้อตกลงกับรัฐบาลเพื่อหาทางออกโดยมีสาระสำคัญ 3 ประการ

  1. รัฐบาลตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
  2. รัฐบาลต้องจัดให้มีการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) แบบมีส่วนร่วม เพื่อประเมินความเหมาะสมของโครงการอย่างรอบด้าน
  3. ระหว่างนี้ให้ยุติการดำเนินการทุกอย่าง ในโครงการเอาไว้ก่อนจนกว่า กระบวนการในข้อ 1 และ 2 จะแล้วเสร็จ

หลังจากตัวแทนรัฐบาล ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับชาวบ้าน ให้ชะลอโครงการไปก่อนในครั้งนั้น ชาวบ้านก็เชื่อว่า จะได้เริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ผ่านมากว่า 1 ปี เรื่องราวของจะนะแทบไม่ถูกพูดถึง และดูเหมือนทุกอย่างจะคลี่คลายด้วยความพยายามหาทางออก แต่การลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทวงสัญญารัฐบาลรอบนี้ ของลูกสาวแห่งท้องทะเลคงพอจะเป็นคำตอบได้ว่า  ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำตามข้อตกลงจริงหรือไม่

3 ธันวาคม ไครียะห์ ระหมันยะ พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อขอให้ตรวจสอบกระบวนการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญากรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

6 ธันวาคม เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ประกาศปักหลักชุมนุมค้างคืนพร้อมตั้งหมู่บ้าน “ลูกเล จะนะรักษ์ถิ่น” ณ ทางเข้าประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงคืนสัญญาการศึกษาโครงการ

ในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 21.00. น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้เคลื่อนกำลังเข้าไปยังบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ฝั่งประตู 1 เพื่อขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม หมู่บ้านลูกทะเล จะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมจาก จ.สงขลา โดยหลังขอคืนพื้นที่สำเร็จ ได้เชิญตัวผู้ชุมนุมในพื้นที่ 36 คน แยกเป็นหญิง 30 คน ชาย 6 คน ไปที่สโมสรตำรวจ

ธันวาคม: #Save นาบอน บุกกรุง

การเคลื่อนไหวของกลุ่ม #Saveนาบอน ในปี 2564 เกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ในเวลาคาบเกี่ยวกันกับกลุ่ม #Saveจะนะ ใช้เวลาในการปักหลักอยู่ที่กรุงเทพ นับ 10 วัน เพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล

ทำไมต้องมีการเคลื่อนไหวของ #Saveนาบอน ในพื้นที่ อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช มีโครงการจะตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ด้วยกัน 2 โรง (รวม 50 เมกะวัตต์) ซึ่งพื้นที่ที่จะมีการสร้างค่อนข้างน่ากังวลเพราะใกล้กับ วัด โรงพยาบาล และสวนผลไม้ต่าง ๆ ชาวบ้านเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาผลพิษที่จะมาพร้อมกับโรงไฟฟ้า อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสุขภาพของคนในพื้นที่ ทั้งเรื่องมลพิษทางอากาศ ทางเสียง รวมถึงระบบนิเวศ

พื้นที่ของโครงการมีทั้งหมด 3 อำเภอ คือ อ.นาบอน อ.ทุ่งใหญ่และ อ.ช้างกลาง ซึ่งคาดว่าจะมีประชากรที่ได้รับผลกระทบประมาณ 25,927 คนและมี 13 ครัวเรือนที่อยู่ในใจกลางหลักของโรงงาน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการทำ EIA ที่ชาวบ้านมองว่าไม่โปร่งใส ขัดกับหลักความเป็นจริง ชาวบ้านในพื้นที่เองไม่ได้มีส่วนร่วมเท่าที่ควรและเคยมีการยื่นเรื่อง ส.ส.นครศรีธรรมราชที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้นรับเรื่องไป แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้มีความคืบหน้าใด ๆ

กระทั่ง 24 ธันวาคม สุดท้ายได้ข้อสรุปว่า นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการกลาง เพื่อเดินหน้ากระบวนการจัดทำ SEA พิจารณา ว่า สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล 2 แห่ง กลางชุมชน ต.ทุ่งสง อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช มีความเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากชาวบ้าน สะท้อนว่า การมีโรงไฟฟ้าอยู่ใจกลางชุมนุม ที่ล้อมรอบด้วยบ้านเรือนประชาชน, วัด, โรงเรียน, สถานพยาบาล และแหล่งน้ำธรรมชาติ จะกระทบต่อชุมชนในระยะยาว

โดยสาระสำคัญ ของคำสั่งดังกล่าว มี 4 ประเด็น ได้แก่

  • ให้มีคณะกรรมการกลาง  1 ชุด มี 3 หน่วยงานหลักรับผิดชอบ คือ  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นเลขานุการ และ ตัวแทนชาวบ้านนาบอน เป็นเลขานุการร่วม
  • วางกรอบการศึกษา ว่า นาบอน มีความพร้อมหรือไม่ ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้ากลางชุมชน
  • การออกใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าต้องยุติไว้ก่อน จนกว่า ผล SEA จะได้ข้อสรุป หากเหมาะสมให้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อ
  • มอบหมายให้ คณะกรรมการจังหวัดนครศรีธรรมราช เยียวยา 13 ครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบขณะนี้  

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทย ที่มีแผนการก่อสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ชุมชน เช่น โครงการผันน้ำยวม โครงการเขื่อนผันน้ำสานะคาม และเหมืองถ่านหินอมก๋อย ที่กำลังถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งอาจทำให้ความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม เพื่อเรียกร้อง “สิทธิจัดการทรัพยากร” เกิดขึ้นอย่างไม่จบสิ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์