บทเรียนจัดการน้ำอีสาน : เขื่อนหัวนา 101

“ในช่วงที่ผ่านมา คุณสร้างเขื่อนที่ภาคอีสานกี่เขื่อนแล้ว เหตุผลที่รัฐชอบบอก คือ สร้างโครงการในภาคอีสาน เพื่อรองรับน้ำท่วม เพิ่มพื้นที่ทำเกษตรกรรม การแก้ปัญหาน้ำท่วม 40-50 กว่าปีที่ผ่านมา มันกำลังบอกว่ามันล้มเหลว และไม่เกิดประสิทธิภาพ”

ผศ.มาลี สิทธิเกรียงไกร ภาควิชาสังคมศาสตร์กับการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่

หากพูดถึงการจัดการน้ำ ด้วยโครงสร้างขนาดใหญ่ “การสร้างเขื่อน” คงเป็นหนึ่งในนั้น

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพื่อเก็บน้ำไว้ให้เพียงพอต่อการทำเกษตรหรืออุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมาบรรลุวัตถุประสงค์มากน้อยแค่ไหน และผลที่เกิดขึ้นเป็นไปในทิศทางใด คำตอบในใจของหลายคนคงแตกต่างกัน

ส่วนมุมมองของนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์กับการพัฒนา ชวนฉุกคิดไว้เช่นนี้…

dam

เฉพาะแค่การจัดการน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน ภูมิภาคขนาดใหญ่กินพื้นที่กว้างไกล 168,854 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศไทย มีเขื่อน 14 แห่ง

แม้ “เขื่อนหัวนา” จะไม่ถูกนับ ด้วยคำนิยามที่รัฐใช้ว่าเป็นเพียง “ฝาย” โครงการย่อยหนึ่งใน โครงการโขง ชี มูล โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

ผ่านมากว่า 30 ปี นับตั้งแต่มีการก่อสร้าง เวลานี้อยู่ระหว่างทยอยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการซึ่งเป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 18 พฤษภาคม 2564 จนถึงตอนนี้ ผ่านมากว่า 6 เดือน มีชาวบ้านได้รับการเยียวยาทั้งหมด 3 รอบ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด

อีกด้านหนึ่ง ยังมีปัญหาใหม่ที่คอยซ้ำเติมเกือบทุกปี ปีนี้ ข้าวที่กำลังทอดรวงรอให้กลายเป็นสีเหลือง ก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม มวลน้ำขนาดใหญ่ไหลลงมาจากอีสานตอนบน ลงมาตามเส้นทางน้ำสู่อีสานใต้ต่อเนื่อง แต่กว่าจะระบายให้หมดบางพื้นที่ ก็ช้าเกินจะยื้อชีวิตของต้นข้าวที่รอให้เหลืองทันเก็บเกี่ยว

“น้ำท่วมเกือบทุกปี ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อน” คือ ประโยคที่เราได้ฟังจากการลงพื้นที่เมื่อไม่กี่เดือนก่อนน้ำท่วม แม้ว่าสาเหตุของน้ำท่วมอาจมาจากหลายปัจจัยก็ตาม

dam
ภาพน้ำท่วมที่นาของชาวบ้าน บริเวณโครงการเขื่อนหัวนา 2564

“ก่อนหน้าจะมีการสร้างเขื่อน น้ำก็ท่วมนะ แต่ท่วมเพียงแค่ไม่กี่วัน มันก็ลด แต่พอมีเขื่อนมันก็ใช้เวลานานขึ้น บางปีเป็นเดือน สองเดือน กว่าจะลดจนไม่สามารถที่จะเกี่ยวข้าวหนีน้ำได้ ปีนั้นก็กลายเป็นว่าไม่ได้ผลผลิต”

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา
dam

“เขื่อนหัวนา” คืออะไร แล้วตั้งอยู่ที่ไหน? 

เขื่อนหัวนา ตั้งอยู่ที่บ้านหัวนา ตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นหนึ่งในโครงการโขง ชี มูล

เดิมถูกเรียกว่า ฝาย แต่เนื่องจากการเข้าไปต่อรองของประชาชนในนาม “สมัชชาคนจน” กรณีเขื่อนหัวนา เพราะเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำมูล มีประตูระบายน้ำถึง 14 บานประตู ซึ่งถือว่าเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโครงการโขง ชี มูล อีกทั้งระบุพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์มีมากถึง 80,000 ไร่ จึงมองว่าไม่สมควรที่จะเรียกว่าเป็นฝาย แต่ควรเรียกว่าเป็น “เขื่อน”

จากนั้นก็มีการเปลี่ยนชื่อเรียกจากฝายเป็น “เขื่อนหัวนา” มาโดยตลอด 

dam

ผ่านมากว่า 6 เดือน ที่มีมติ ครม. 18 พฤษภาคม 2564 ว่าให้มีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบของเขื่อนหัวนา ขณะที่การเยียวยากำลังเดินหน้า แต่อาจไม่ครอบคลุมกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด ยังไม่นับว่าความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ต่อวิถีชีวิตและครอบครัวที่เปลี่ยนไปตลอดกาลของผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำมูล

ปัญญา คำลาภ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา เล่าให้ฟังว่า การต่อสู้มันยาวนาน และสร้างความเจ็บปวดให้กับชาวบ้านอยู่ไม่น้อย

“พี่น้องต้องต่อสู้อย่างเจ็บปวด เพราะว่าข้าราชการก็ไม่เข้าใจ คนทั่วไปก็ไม่เข้าใจ คนเหล่านี้ถึงออกมาต่อสู้ ในช่วงแรกที่รู้ว่าเป็นเพียงผลกระทบจากฝาย เพราะว่าตอนที่สร้าง เขาใช้คำว่าฝายราษีไศล ฝายหัวนา ไม่มีเขื่อน มีแต่ฝายในโครงการ ใช้วิธีเลี่ยงบาลีให้เขื่อนมันเป็นฝาย มันก็เล็กลง แล้วก็คิดว่าผลกระทบไม่น่าจะขนาดนั้น ชาวบ้านก็ต่อสู้ว่าอันนี้มันไม่ใช่ฝาย นี่มันคือเขื่อน” 

โครงการโขง ชี มูล

เป็นโครงการผันน้ำขนาดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ในพื้นที่ 498 ล้านไร่ ในภาคอีสาน ซึ่งรับผิดชอบโดย กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน”) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัจจุบันสังกัดกระทรวงพลังงาน) โดยการสูบน้ำจากแม่น้ำโขง ลงสู่ห้วยหลวงในเขตอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย และผันลงสู่แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และลำน้ำสาขา ซึ่งเป็นการสร้างเขื่อนเพื่อควบคุมปริมาณน้ำกั้นแม่น้ำมูล 5 เขื่อน ลำน้ำชี 5 เขื่อน และลำน้ำสาขาอื่น ๆ 4  เขื่อน

ในช่วงเริ่มโครงการ ยังไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบจากการทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) แม้จะมีการประเมินภาพรวมของโครงการโขง ชี มูล แต่ไม่ได้แยกย่อยออกมาเฉพาะของแต่ละโครงการว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง อีกทั้งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ขณะนั้นยังไม่มีการบังคับใช้ และยังไม่ได้ระบุว่า หากโครงการขนาดใหญ่ส่งผลกระทบทางสังคมและมีส่วนร่วมกับประชาชนจะทำอย่างไร รัฐบาลจึงสามารถดำเนินโครงการไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะแล้วเสร็จ

dam

สิ่งที่เกิดขึ้น หลังเขื่อนก่อสร้างเสร็จ “ประโยชน์ ผลกระทบ ความสมดุล”

เหตุการณ์ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าเขื่อนหัวนาไม่ใช่แห่งเดียวและแห่งแรกที่ได้รับผลกระทบเช่นนี้ ก่อนหน้า ก็มีบทเรียนของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่คนในพื้นที่มองว่าเป็นการเข้ามาฉกฉวยเอาทรัพยากรและสร้างผลกระทบให้กับประชาชน เช่น เขื่อนปากมูล และเขื่อนราษีไศล 

buffalo

เรื่องราวเริ่มเข้มข้นขึ้น เมื่อชาวบ้านในพื้นที่ ลุกขึ้นมาตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการสร้างเขื่อน ว่าจะสร้างผลกระทบมากเพียงใด เพราะจากที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ปากมูล หรือ ราษีไศล ก็ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง 

รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศึกษาคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นหนึ่งในทีมวิจัยที่เข้าไปทำการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบเขื่อนหัวนา ในมิติของสังคมและวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งศึกษาร่วมกับนักวิชาการที่มีความเฉพาะด้าน ทั้งด้านกายภาพและชีวภาพ ด้านชลประทาน วิศวกรรม และด้านสังคม โดยความร่วมมือของ 3 มหาวิทยาลัย  คือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยสุรนารี  และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้รับงบประมาณการศึกษาจากกรมชลประทาน ให้ศึกษาผลกระทบย้อนหลังทั้งด้านกายภาพ เรื่องเกี่ยวกับน้ำ พืชพรรณ ปลา สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และด้านชีวภาพ ทั้งประเด็นมนุษย์ ความเป็นคน วิถีชีวิตของชาวบ้าน 

dam
รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์

“อาจารย์เข้าไปทำงานวิจัยในพื้นที่ ปี 2551-2552 ปีกว่า ๆ ทำร่วมกัน กับ 3 มหาวิทยาลัย ทำไมเราได้ไปทำผลกระทบของฝายหัวนาทั้ง ๆ ที่ฝายหัวนาสร้างเสร็จไปแล้ว อันนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ” 

รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์

เป็นประโยคที่ รศ.กนกวรรณ เกริ่นก่อนเข้าสู่บทสนทนาอย่างน่าสนใจ โดยการชวนตั้งคำถาม “นั่นสิ ทำไมกันนะ?”

หากมองเพียงผลกระทบ อาจดูเหมือนชวนสร้างความขัดแย้ง แต่ “ประโยชน์ของการสร้างเขื่อน” เหตุผลที่รัฐบาลใช้เพื่อจัดทำคำขอใช้งบประมาณเพื่อดำเนินโครงการขนาดใหญ่ หรือ เมกะโปรเจกต์ เช่น การสร้างรายได้ การขยายพื้นที่การเกษตร การขยายเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านการเกษตร เพื่อที่ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องอพยพไปทำงานในพื้นที่อื่น เพราะมีน้ำสมบูรณ์ เช่นเดียวกับโครงการโขง ชี มูล ที่เกิดจากสมมติฐานและข้อมูลเหล่านี้ 

“มันก็เป็นความจริงส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ เช่น บ้านบุ่ง ที่บอกว่า เขาสามารถทำนาฤดูแล้งได้ เขามีเครื่องปั๊มน้ำมากขึ้น มีผู้ใช้น้ำมากขึ้น อันนี้ก็จริง ในมิตินี้ถือว่าใช้ได้ ชาวบ้านบางส่วนได้รับประโยชน์จากน้ำมาหนุนเสริม แล้วสามารถสูบน้ำไปใช้ทำนาในฤดูแล้งได้”

แต่สิ่งที่ค้นพบและประเด็นที่สำคัญจนสามารถที่จะใช้เป็นเหตุผลในการเรียกร้องให้เกิดการเยียวยาได้ ก็คือว่า วิถีชีวิตชาวบ้านขึ้นอยู่กับทรัพยากร ที่เรียกภาษาท้องถิ่นว่า ป่าบุ่ง ป่าทาม แต่ภาษาราชการเรียกว่า พื้นที่ชุ่มน้ำ มันคือชีวิตของชาวบ้าน เพราะเป็นทั้งแหล่งอาหาร เป็นทั้งวัสดุที่ใช้ในการหุงต้ม ยาสมุนไพร เป็นไม้ฟืน เป็นอุปกรณ์ในการสร้างบ้านเรือน และเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ ตามฤดูกาล ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการที่เขื่อนระบายน้ำไม่ทัน

“งานของพวกเราเห็นภาพชัดเจนเลยว่า ป่าบุ่งป่าทาม มันมีคุณค่ามหาศาลมาก ทั้งคุณค่าทางจิตใจ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของชาวบ้าน ชาวบ้านเรียกว่าตู้กับข้าว เป็นซูเปอร์มาร์เก็ต อาจารย์ทางด้านภูมิศาสตร์ ประสิทธิ์ คุณุรัตน์ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) บอกว่าเป็นมดลูกของแผ่นดิน เพราะเป็นทรัพยากรที่สามารถจะรักษาระบบชีวภาพอื่น ๆ ได้”

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และอาชีพ 

“ปกติแต่ก่อนผมหาปลาเป็นรายได้ ส่วนหนึ่งเลย ถ้าจะบอกว่าเสริมก็ไม่เชิง เพราะว่าการหาปลารายได้ดี แต่ก่อนหาปลาในแม่น้ำมูล สามารถนำเงินมาจุนเจือครอบครัว ส่งลูกเรียน แต่ปัจจุบันนี้ มันหาไม่ได้ครับ หนึ่งคือน้ำมันเยอะ ปลาน้อย พอน้ำมันเยอะ ของที่เราเคยหา อย่างเช่น หอยกาบ หอยจูบ หาของกินตามลำน้ำมูล ตอนนี้ได้หายไปแล้ว เพราะว่าน้ำมันลึกเกิน พอมีเขื่อนเขาก็เก็บน้ำสูง หอยก็จะตายแล้วก็พวกพืชน้ำ หญ้าเฟือย ก็ไม่มีเหมือนแต่ก่อน ที่เคยหากุ้ง หาอาหารในแม่น้ำมูล ตอนนี้หากินไม่ได้”

นี่เป็นเสียงสะท้อนของ ชาวบ้านโนนสังข์ เล่าถึงสิ่งที่ตนได้รับผลกระทบจากการเกิดขึ้นของเขื่อน อาหาร อาชีพ รายได้ และทรัพยากรที่เคยมีค่อย ๆ เลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย 

dam

หากรัฐเลือกที่จะมาเรียนรู้กับชาวบ้าน มากกว่าการกำหนดทิศทางมาจากวิธีคิดของส่วนกลาง เช่น การทำให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว การสร้างเขื่อนริมตลิ่งเป็นแนวยาว ที่พบเห็นทั้งภาคเหนือมาจนถึงภาคอีสาน เพราะสุดท้ายมันจะกลายเป็นพื้นที่รองรับการท่องเที่ยว ซึ่งไม่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตชาวบ้าน นี่คือสิ่งที่ ผศ.มาลี สิทธิเกรียงไกร คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกกับเรา

“คนในท้องถิ่นได้รับผลกระทบอย่างไร วันนี้เราก็ได้เห็นจากเขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไคล ที่แม้จะได้เงินเยียวยาแล้ว ก็ยังต้องเสียภาษีอีก เราคิดว่ารัฐไม่ค่อยเข้าใจความทุกข์ยากของชาวบ้าน ชาวบ้านไม่ใช่คนที่สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา แต่มันมาจากกระบวนการพัฒนาของรัฐ ที่เข้ามาแย่งชิง ฉกฉวยเอาทรัพยากรของคนในท้องถิ่นไป”

dam
ผศ.มาลี สิทธิเกรียงไกร

หนึ่งในเครื่องมือที่ชาวบ้านใช้เพื่อต่อสู้กับการพัฒนาที่ไร้ทิศทางหรือพวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมกำหนด ผศ.มาลี บอกว่า คือ “ความรู้” ที่หมายถึงแผนที่วัฒนธรรมที่มีเรื่องเล่า แต่เราจะทำอย่างไรไม่ให้เรื่องเล่าไม่แยกออกจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ซึ่งมองว่าการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับนักวิชาการ รวมถึงนักอื่น ๆ ที่เข้าใจผลกระทบจากการพัฒนา และอยากเข้าไปช่วยเสริมสร้างก็เป็นสิ่งที่สำคัญ

ทีมวิจัยจึงร่วมกันมองการต่อสู้ของชาวบ้านในตอนนั้น ว่าชาวบ้านคัดค้านเขื่อนไปก็ลำบาก เพราะเขื่อนมันได้ถูกสร้างมาแล้ว ในส่วนของชาวบ้านที่เรียกร้อง อย่างกลุ่มสมัชชาคนจน มีเสนอให้รัฐบาลทำอยู่ 2 อย่าง คือ ให้มีการเยียวยาประชาชน โดยการตรวจสอบว่าใครได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบ้าง ใครได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายถิ่นฐานบ้าง

“งานวิจัยของพวกเราหลังจากที่เราทราบว่าพื้นที่ตรงนี้ถูกทำลายไปเยอะ ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างสูง จึงมีข้อเสนอ 3 อย่าง อย่างแรก คือ ให้มีการชดเชยผู้สูญเสียที่ดินทั้งที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ จากนั้นจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องการชดเชย ต้องจัดสรรงบประมาณให้กับชาวบ้าน สมัชชาคนจน ในการฟื้นฟูวิถีชีวิตและระบบนิเวศ ป่าบุ่งป่าทาม อย่างน้อย 6 ปี และไม่ต่ำกว่าปีละ 4 ล้านบาท อันนี้คือข้อเสนอของเรา และจะต้องมีคณะกรรมการที่ติดตามผลกระทบหลังจากที่เยียวยาและสร้างฝายไปแล้ว และหลังจากให้งบประมาณด้านการฟื้นฟู” 

dam

ผลกระทบ และบทเรียนจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐหลาย ๆ โครงการ สร้างความเจ็บปวดและบอบช้ำให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยในพื้นที่อยู่ไม่น้อย การลงพื้นที่ทำงานกว่าหลายปีของนักวิชาการ และภาคประชาสังคมที่มีตัวละครสำคัญในพื้นที่อย่างชาวบ้านเป็นตัวเคลื่อน นำมาสู่การจัดการในพื้นที่และข้อเสนอ

“กรณีแบบนี้ในภาคอีสานมีเยอะ กรณีเขื่อนปากมูล เขื่อนราษีไศล ก็ล้วนแล้วแต่เป็นกรณีแบบนี้ทั้งนั้น ฉะนั้นโครงการที่ยังจะทำต่อไปในอนาคตยังต้องเป็นแบบนี้อีกหรือ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงที่จะต้องมีการผันแม่น้ำโขง เอาน้ำมาเติมในห้วยหลวง แล้วปิดประตูน้ำ แล้วก็ทำสถานีสูบน้ำ”

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ นักวิชาการจากสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สะท้อนให้เห็นปัญหาร่วมการจัดการน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งการเยียวยาเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และรัฐเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ

“ถ้าเกิดน้ำท่วมก็ต้องมาเยียวยาแบบนี้อีก อันนี้ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และก็รัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ถ้ามีการออกแบบดีไซน์โครงการ มีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันตั้งแต่แรก และก็มีหลาย ๆ ส่วนเข้าไปออกแบบร่วมกันตั้งแต่แรก ไม่ใช่ว่ากรมชลประทานก็ออกแบบอยู่นั่น กลุ่มทรัพยากรน้ำก็อีกแบบหนึ่ง โดยไม่ได้มองเรื่องอื่น ใช้แต่ความรู้ของตัวเอง มันก็จะเป็นปัญหาแบบนี้อีก”

dam
dam

แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จากมุมมองนักพัฒนา

ปัญญา คำลาภ เล่าว่า การต่อสู้ในพื้นที่นี้ ไม่ใช่เพียงการจัดการน้ำแค่เปิดเขื่อนอย่างเดียว แต่มีข้อเสนอเรื่องชลประทานชุมชน เนื่องจากในเขตพื้นที่นั้น มีแหล่งน้ำขนาดเล็กที่อยู่ในแต่ละตำบล แต่ละอำเภอ ซึ่งใช้งบประมาณ 100 – 150 ล้านบาท เพื่อไปทำตรงนั้นให้ดี ทำระบบชลประทานที่ชุมชนในเขตนั้นเขาดูแลกันได้ ซึ่งมีตัวอย่าง เช่น กุดขาคีม ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทหนึ่ง มีพื้นที่ประมาณ 26,000 ไร่ เป็นระบบนิเวศย่อยของพื้นที่ทามแม่น้ำมูลตอนกลางในพื้นที่ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งทำเป็นตัวอย่างว่าไม่ได้ใช้น้ำจากเขื่อน แต่ใช้น้ำขุด ทำนาปรัง ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค คือ จัดการกันเองในตำบลทำได้ เพียงแต่ว่ารัฐจะต้องสนับสนุนงบประมาณด้วย ไม่ใช่นำเงินก้อนใหญ่มาทำเขื่อน แต่แยกเป็นก้อนเล็ก ๆ แล้วไปสนับสนุนระบบชลประทานชุมชน

dam
ปัญญา คำลาภ

“ซึ่งก็มีนำร่องแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่มีทางออก แต่รัฐจะทำไหม เพราะว่าระบบการจัดการน้ำขนาดเล็กและควบคุมไม่ได้มันเป็นชุมชน การควบคุมชุมชนดูแลกันเอง แล้วรัฐจะยอมไหม รัฐในที่นี้หมายถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น กรมชลประทาน เพราะหากเป็นอย่างนี้ ก็ไม่ต้องมีลูกจ้าง ไม่ต้องมี ผอ. แต่การทำชลประทานขนาดเล็ก ชาวบ้านได้ประโยชน์ แต่อาจต้องเลิกจ้างลูกน้องคุณ ให้ชุมชนเข้ามาบริหารจัดการเอง รัฐยอมได้ไหม มันอยู่ที่ตรงนี้ด้วย”

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ ปัญญา มองว่าทำให้หน่วยงานรัฐไม่ยอมกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรให้กับชุมชน

dam

บทส่งท้าย

บทเรียนในพื้นที่นี้ ทำให้เห็นมุมมองของภาคประชาชน ที่มองแนวคิดของรัฐที่มีต่อโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ และมุมมองของพวกเขาเอง ที่หวงแหนคุณค่าของทรัพยากรในพื้นที่ ที่มีทั้งจุดร่วมและมีทั้งทางออกจากประสบการณ์ของพื้นที่ที่ทำสำเร็จ นี่จึงอาจเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่สะสม ร่วมถึงเป็นแนวทางการพัฒนาที่จากเกิดความยังยืนจริง ๆ

แต่ขึ้นอยู่กับว่า การมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่

dam
dam

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ