2 ปี 21 โครงการ นโยบายเปิดป่าต้นน้ำ รัฐบาลประยุทธ์

สำรวจ 2 ปี มติ ครม. รัฐบาลประยุทธ์ เปิดป่าต้นน้ำ อนุมัติเอกชนทำเหมืองแร่ 21 โครงการ สวนทางเหตุผลปิดทาง “กะเหรี่ยงบางกลอย” กลับใจแผ่นดิน

หนึ่งในเหตุผลที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามยืนยันผู้สื่อข่าวเรื่องบางกลอยอีกครั้งเมื่อเช้าวันที่ 17 มี.ค. 2564 คือ ใจแผ่นดิน เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ชาวบ้านบางกลอยจึงกลับขึ้นไปไม่ได้

“ก็มันเข้าได้ไหม ใจแผ่นดิน สื่อรู้ไหม มันเข้าได้ เข้าไม่ได้ เพราะอะไร ตรงนั้นเป็นพื้นที่อะไร รู้หรือยัง พื้นที่อะไร อุทยานฯ ใช่ไหม ต้นน้ำชั้นหนึ่ง ใช่ไหม เราจำเป็นจะต้อง รักษาป่าต้นน้ำ ไม่ใช่หรือ ถ้าย้ายมา ก็ต้องหาพื้นที่ทำกินให้เขาให้เพียงพอ แต่ไม่ใช่ไปอยู่ ใจกลางอุทยาน

ใจแผ่นดิน ซึ่งอยู่เข้าไปในป่าลึกของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่มีทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้อุดมสมบูรณ์และโดดเด่น จนถูกเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ที่นี่ จึงเป็นทั้งป่าต้นน้ำ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และยังเป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ตั้งแต่ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 2524

แม้ตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ (มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562) จะกำหนดห้ามผู้ใดบุกรุกแผ้วถางยึดถือครอบครองไว้เคร่งครัด และบทลงโทษต่อผู้กระทำผิดจะยิ่งหนักขึ้น หากเป็นการบุกรุกพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เพราะรัฐถือว่าเป็นการทำลายป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญต่อประชาชนทั้งประเทศ แต่ก็ยังมีข้อยกเว้น หากเป็นการเข้าใช้ประโยชน์ที่ได้รับอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี

เปิด มติ ครม. ย้อนหลัง 2 ปี รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ อนุมัติเอกชนทำเหมืองแร่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 มากถึง 21 โครงการ

เนื่องจากการขอผ่อนผันเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 มีข้อกำหนดให้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี The Active ย้อนดูมติคณะรัฐมนตรีช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 2562 และ ปี 2563 ที่เกี่ยวข้องกับการขอผ่อนผันใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 พบว่า…

ปี 2562 มีมติอนุมัติให้ผ่อนผันการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 จำนวน 11 โครงการ ส่วน ปี 2563 อนุมัติจำนวน 12 โครงการ โดยทั้งหมดนี้ เป็นการทำเหมืองแร่ของเอกชนมากถึง 21 โครงการ ที่เหลือเป็นการดำเนินงานโดยของภาครัฐ มีทั้งโครงการชลประทาน โครงการวางสายส่งไฟฟ้า รวมทั้งก่อสร้างถนนตัดผ่านเขตป่า

เมื่อดูรายละเอียดเฉพาะกรณีที่เป็นโครงการเหมืองแร่ของเอกชน พบว่า มีถึง 5 โครงการ ที่คณะรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติให้ใช้ประโยชน์ใน พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ซึ่งหมายถึงการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าที่ยังคงสภาพอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ ให้เอกชนทำเหมืองแร่ได้

โดยหนึ่งในนั้นคือ มติ ครม. เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2562 ที่เห็นชอบให้ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าทับกวาง และป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 (ท้องที่ ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก และ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี) เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จำนวน 15 แปลง ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ พื้นที่ประทานบัตร 15 แปลง รวมเนื้อที่ 3,311 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา

ทั้งนี้ พื้นที่มากกว่า 3 พันไร่ ที่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทยฯ ได้รับการผ่อนผันนั้น ได้ถูกประกาศกำหนดให้เป็น เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 พร้อมกำหนดบัญชีชนิดสัตว์ป่าท้ายประกาศกระทรวงฯ ซึ่งมีมากถึง 144 ชนิด ทั้งกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่สำคัญได้แก่ เลียงผา กระทิง เสือไฟ กลุ่มนก และกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2559 ราชกิจจานุเบกษา ยังกําหนดบริเวณที่ดินป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 และป่าดงพญาเย็น ในท้องที่ ต.คําพราน ต.แสลงพัน อ.วังม่วง ต.หนองย่างเสือ ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี และ ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พื้นที่ 26,238 ไร่ “ป่าทับกวาง ป่ามวกเหล็ก ป่าดงพญาเย็น” เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งใหม่ เป็นแหล่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า

กฎหมายห้ามเคร่งครัด แต่ มติ ครม. เปิดช่อง ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1

ก่อนหน้านี้ เคยมีข้อกำหนดห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นที่ป่าไม้เป็นรูปแบบอื่นอย่างเด็ดขาดทุกกรณี (ตามมติ ครม. 12 ต.ค. 2519) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร แม้ต่อมาในปี 2525 จะมีการจำแนกพื้นที่ลุ่มน้ำออกเป็น 5 ชั้น แต่ก็ยังหลีกเลี่ยงการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 อย่างเคร่งครัด (มติ ครม. 12 ธ.ค. 2532)

อย่างไรก็ตาม ต่อมาใน รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2546 ผ่อนผันให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1A ได้ แต่ต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาก่อน เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีทุกครั้ง

และล่าสุด ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีมติเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 ให้ทบทวนและยกเลิก มติ ครม. ก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวกับการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำ 1 โดยยังผ่อนผันให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐขอเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ได้ โดยเปลี่ยนเป็นต้องถือปฏิบัติตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดประเภทโครงการ กิจกรรม หรือการดำเนินการ ที่ต้องจัดทำรายงาน EIA (ทั้งประกาศเมื่อปี 2561 และประกาศฉบับที่ 2 เมื่อปี 2562)

มติ ครม. ดังกล่าว ยังกำหนดให้โครงการหรือกิจกรรมที่ดำเนินการมาก่อนประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีผลบังคับใช้ ยังสามารถดำเนินต่อไปได้เลย ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานอย่างเคร่งครัด ไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่

เท่ากับว่า จากที่มีข้อห้ามตามกฎหมายห้ามใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 อย่างเคร่งครัด ก็มีมติคณะรัฐมนตรีเปิดช่องให้ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน (ภายใต้การนำเสนอของหน่วยงานรัฐ) สามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ได้ แต่จะเปิดช่องให้มากหรือน้อยแค่ไหน ก็เป็นไปตามยุคสมัย และปัจจัยทางการเมืองในขณะนั้น

บทส่งท้าย

ประเทศไทยมีพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีกฎหมายรับรองอย่างเป็นทางการทั้งหมด 6 ลุ่มน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ป่าทั่วประเทศ ซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำเหล่านี้ ไม่เพียงเป็นแค่ป่าต้นน้ำสมบูรณ์ที่มีความสำคัญต่อคนไทยทั้งประเทศ หรือมีทรัพยากรสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เช่น แร่ เท่านั้น

แต่ในพื้นที่ลุ่มน้ำหลายแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ก็มี ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายชุมชนที่อยู่มาก่อนประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และมีสิทธิในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในพื้นที่เพื่อ ดำรงวิถีชีวิต ตามสิทธิขั้นมนุษยชนพื้นฐานเช่นเดียวกัน

การจัดสรรการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่กระทบต่อสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และยังสามารถรักษาประโยชน์ให้กับประชาชนไทยทั้งประเทศ โดยไม่เอื้อต่อเพียงประโยชน์ของกลุ่มใด ๆ เพียงกลุ่มเดียว จึงเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลในฐานะผู้มีหน้าที่บริหารทรัพยากรของประเทศ ต้องหาคำตอบที่ดีที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์