ชาวบ้าน “เขื่อนหัวนา” บุกทำเนียบฯ ทวงถามความคืบหน้าจ่ายเงินเยียวยารอบ 2

ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหัวนา เดินทางจากศรีสะเกษ เข้ากรุงเทพฯ หลังผ่านมา 3 เดือนชาวบ้านยังไม่ได้รับเงินเยียวยารอบที่ 2 ‘เศกสกล’ แจง เป็นช่วงรอยต่อปีงบประมาณ ต้องรอบคอบ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านเสียโอกาส

เขื่อนหัวนา

วันนี้ (29 พ.ย. 2564) ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือและติดตามความคืบหน้าการจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนหัวนา รอบที่ 2 จำนวน 350 แปลง ซึ่งผ่านมาแล้วร่วม 3 เดือน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

ตัวแทนชาวบ้านบางส่วน ระบุว่า ที่ผ่านมามีการจ่ายเงินค่าชดเชยชุดแรกไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นผลมาจาก มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 18 พ.ย. 2564 เรื่อง การจ่ายเงินค่าชดเชยประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโครงการฝายหัวนา จ.ศรีสะเกษ 

โดยในหนังสือที่ยื่นถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จ.ศรีสะเกษ ได้ประชุมเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดยการประชุมครั้งดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินค่าชดเชยผลกระทบที่เกิดจากเขื่อนหัวนา กรณี ที่ดินที่อยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน ชุดที่ 2 คือ

  1. พื้นที่อำเภอเมืองศรีสะเกษ จำนวน 51 แปลง เนื้อที่ 140 ไร่ เศษ เป็นเงิน 6 ล้านบาทเศษ
  2. พื้นที่อำเภอกันทรารมย์ จำนวน 212 แปลง เนื้อที่ 404 ไร่เศษ เป็นเงิน 18 ล้านบาทเศษ
  3. พื้นที่อำเภอราษีไศล จำนวน 87 แปลง เนื้อที่ 225 ไร่เศษ เป็นเงิน 10 ล้านบาทเศษ

โดยข้อสรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ ดังกล่าว ระบุว่าจะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบ และอนุมัติงบประมาณสำหรับใช้ในการจ่ายค่าชดเชยต่อไป แต่จนถึงขณะนี้ผ่านมา 3 เดือนแล้ว ก็ยังไม่มีความชัดเจน 

ทั้งนี้ ยังระบุว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากเขื่อนหัวนาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย จึงขอให้นายกรัฐมนตรี สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้รีบดำเนินการเสนอเรื่องการแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวนา เข้าสู่การพิจารณาใน ครม. โดยด่วน

เขื่อนหัวนา

ด้าน เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ และเป็นประธานการประชุม ซึ่งมีผู้แทนจากกรมชลประทาน เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมประชุม 

ศกสกล ชี้แจงในที่ประชุมว่าขณะนี้เรื่องอยู่ที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และเป็นประธานการประชุมในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาแล้ว หลังจากนี้ จะเป็นขั้นตอนการลงนามและส่งเรื่องไปยังสำนักงานเลขาคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป 

เสกสกล อัตถาวงศ์

“กรมชลประทานได้ตรวจสอบข้อมูลและหลักฐาน เพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ส่วนฝ่ายกฎหมายดูกระบวนการขั้นตอนให้รอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด และอยู่ในช่วงรอยต่อของปีงบประมาณ คือ 2564 กับ 2565 หากจะนำเข้าในปีงบประมาณ 2564 ก็กลัวว่าจะไม่ทัน ตกไปแล้วจะเสียโอกาสของชาวบ้าน จึงขยับมาลงที่งบฯ ปี 2565 ซึ่งท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน พิจารณาแล้วว่าจะทำให้ทันภายในปี 2564”

ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านเสนอว่า ควรเร่งรัดให้มีการจ่ายเงินค่าชดเชยภายในเดือนธันวาคม 2564 นี้ ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบให้ตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่ง เศกสกล รับปากว่าจะช่วยเร่งรัดให้อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม หากเกิดข้อติดขัด ทำให้การจ่ายเงินค่าชดเชยล่าช้าหรือยืดออกไป ตัวแทนชาวบ้านระบุว่า จะยกระดับการเรียกร้อง โดยการกลับมาปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ