โควิด-19 รุกคลองเตย ชุมชน ชี้ สถานที่ไม่เอื้อต่อการ “รอ” บางรายพบเชื้อตั้งแต่ 19 เม.ย. !
…นี่คือ “สาร” ที่ถูกสื่อออกมา หลังทยอยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนคลองเตย ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน จนถึงปัจจุบันก็ยังพบผู้ติดเชื้อรายวันอย่างต่อเนื่อง พูดได้ว่า “ยิ่งตรวจก็ยิ่งเจอ”
เมื่อย้อนไทม์ไลน์ สืบหาที่มาที่ไป พบว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในชุมชนคลองเตย เกิดขึ้นหลังพบผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ราว 2 สัปดาห์พอดี
กลุ่มผู้ติดเชื้อรายแรก ๆ ของคลองเตย เป็น “แรงงาน” ที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้คน ในค่ำคืนของการแพร่เชื้อ หลังจากนั้น จากการติดเชื้อกันเองภายในครอบครัว ก็ขยายวงกว้าง กลายเป็นการระบาดภายในชุมชนแออัด
1 เดือนผ่านไป… การติดเชื้อโควิด-19 ระบาดเหมือนไฟลามทุ่ง ทว่า ช่วงเวลาเดียวกันนี้ หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นที่ “ชุมชนคลองเตย” ด้วยความร่วมมือจาก “ทุกภาคส่วน” ต้นทุนที่มี ได้นำพาให้ “คลองเตยโมเดล” ขยายวงกว้างออกไปทั่วทุกเขตของกรุงเทพมหานคร
ขณะเดียวกัน “สถานการณ์ระบาดในคลองเตย” ก็เริ่มคงที่ และมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นในไม่ช้า หากไม่มีตัวแปรใหม่เข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์อีก
The Active ถอดลักษณะเด่นของโมเดลคุมโควิด-19 ที่ชุมชนคลองเตยให้เห็นชัด ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้วลี “คุมคลองเตยได้ คุมกรุงเทพฯ ได้” เห็นผลเป็นรูปธรรมได้รวดเร็วขึ้น โดยยกตัวอย่าง “ชุมชนพัฒนาใหม่” หรือ “ชุมชนคั่วพริก” หนึ่งใน 41 ชุมชนย่อยของคลองเตย ซึ่งมีพบผู้ติดเชื้อสูงที่สุด เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหา
ชุมชนคลองเตย ใน เขตคลองเตย มีชุมชนย่อย 41 แห่ง ในจำนวนนี้ ไม่ใช่ว่าทุกชุมชนจะมีผู้ติดเชื้อเข้มข้น หรือเป็นชุมชนเสี่ยงสูงทั้งหมด แต่ชุมชนที่มีผู้ติดเชื้อรายแรก ๆ (ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน – 13 พฤษภาคม) เวลานี้ มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด 121 คน คือ “ชุมชนพัฒนาใหม่ (คั่วพริก)”
เพราะรูปแบบการอยู่อาศัยในชุมชนนี้ มีหลายรูปแบบ ทั้งบ้านที่มีลักษณะเป็นหลัง ที่มีเจ้าของบ้านอยู่อาศัย และบ้านเช่า รวมถึงบ้านที่แบ่งย่อยทำเป็นห้องเช่า แต่เกือบทั้งหมด มีสมาชิกภายในบ้านอาศัยกันอย่างแออัด จำนวนมาก ไม่มีห้องย่อย และมีห้องน้ำเพียงห้องเดียว
แม้ข้อมูลจากสำนักงานเขตคลองเตย จะบอกว่า ชุมชนพัฒนาใหม่มีคนอาศัยอยู่ 1,469 คน แต่ข้อมูลจากการประเมินของผู้นำชุมชน บอกว่า คลองเตย มีประชากรแฝงจำนวนมาก โดยคาดว่าที่ชุมชนนี้ อาจมีตัวเลขคนอยู่อาศัยจริงมากกว่า 2,000 คน
สอดคล้องกับจำนวนเฉลี่ยประชากรต่อครัวเรือน หากดูเพียงข้อมูลจากสำนักงานเขต จะเห็นว่ามี 2 – 3 คน ต่อหลังคาเรือน แต่ตัวเลขเชิงสถิติไม่อาจอธิบายสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด เพราะจากการสำรวจของ The Active และ Thai PBS พบว่า บ้านบางหลังที่มีห้องนอนและห้องน้ำเพียงห้องเดียว มีคนอยู่รวมกันมากถึง 13 ชีวิต คุณจินตนาการได้ไหม?
ในสถานการณ์เช่นนี้ สมาชิกในครอบครัวนี้จะสร้าง “ระยะห่าง” เพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างไร?
หรือถ้ามีใครสักคนในบ้านนี้ติดเชื้อ คนที่เหลือจะ “กักตัว” อย่างไร เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายในครอบครัว ดังนั้น จึงต้องมี “คลองเตยโมเดล” ขึ้นมา
เมื่อผลกระทบจากคลัสเตอร์ใหม่ ส่อเค้ารุนแรงและน่าเป็นห่วง ทันทีที่โรคระบาดแพร่เข้ามาภายในชุมชนแออัด คนคลองเตย ภาคประชาสังคม นักวิจัย และนักวิชาการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ ไม่ได้นิ่งเฉย
พวกเขาพยายามออกแบบโมเดลการทำงานเชิงรุก ทั้ง (1) เพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า (2) ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และ (3) วางระบบเพื่อรองรับกลุ่มเสี่ยง แยกผู้ติดเชื้อ จนเกิดเป็นศูนย์แยกตัวระดับชุมชน และ ศูนย์กักกันผู้ป่วยชั่วคราวรอส่งตัว วัดสะพาน หรือที่เรียกว่า “ศูนย์พักคอย” ภายใน 1 สัปดาห์ ด้วยความร่วมมือทั้งจากภาคประชาสังคม และสำนักงานเขตคลองเตย โดยมีอาสาสมัครช่วยเหลือชุมชน (อสช.) เป็นกำลังสำคัญในพื้นที่
เพราะ อสช. 1 คน จะคอยดูแลคนเปราะบางในชุมชนย่อย ๆ ในคลองเตยจำนวน 50 คน ขณะนี้ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวส.) ได้พัฒนาศักยภาพของ อสช. ได้มากถึง 15 คนแล้ว ซึ่ง อสช. นอกจากจะทราบว่ามีใครเปราะบางอยู่ที่บ้านไหน ในชุมชนไหน เขายังมีหน้าที่ดูแลกลุ่มคนต่าง ๆ สอดส่ายสายตาว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อ และใครเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ที่ต้องแยกดูแลตามสถานการณ์ของแต่ละคน ศักยภาพของ “คนในชุมชน” จึงกลายเป็นศักยภาพของชุมชนไปในตัว
เมื่อพบผู้ติดเชื้อในคลองเตยเพิ่มขึ้น 27 เมษายน 2564 จึงเป็นวันแรกที่มีการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชนอย่างเป็นทางการจากกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตคลองเตยเป็นผู้อำนวยการสถานการณ์เร่งด่วนนี้ ด้วยรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย จากความพยายามประสานงานโดยองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่ จนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม มีการตรวจหาเชื้อคนในคลองเตยแล้ว 26,799 คน พบผู้ติดเชื้อ 1,146 คน
แต่ในจำนวนนี้ ยังไม่รวมผู้ติดเชื้อที่เดินทางไปตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองก่อนหน้านี้แล้ว เพราะความแออัดของ “ชุมชนคลองเตย” ที่ไม่รู้แน่ชัดว่ามีผู้ติดเชื้อเท่าใด กรุงเทพมหานคร จึงตั้งเป้าตรวจคัดกรองเชิงรุกให้ได้ 50,000 คน จากจำนวนประชากรที่คาดการณ์กว่า 90,000 คน
เมื่อพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกวัน จากนั้น พวกเขาจะต้องแจ้งกับ “ศูนย์แยกตัวชุมชน” ก่อนจะไปพักคอยอยู่ที่ “ศูนย์กักกันผู้ป่วยชั่วคราวรอส่งตัว วัดสะพาน” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ศูนย์พักคอย” ระหว่างรอการจัดสรรเตียงของ Co-ward กระทรวงสาธารณสุข และส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษาตัวโดยศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร
และเมื่อเป็นชุมชนเสี่ยง คลองเตยจึงเป็นพื้นที่เป้าหมายในการปูพรมฉีดวัคซีนเพื่อช่วยควบคุมโรคและป้องกันผู้ป่วยอาการหนัก โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ 50,000 โดส เร่งหยุดวงจรการระบาด หากนับจากวันแรก 4 – 13 พฤษภาคม มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับคนคลองเตยไปแล้ว 24,283 คน
จากแนวทางการทำงานของชุมชนและภาคประชาสังคม พร้อมการสนับสนุนและร่วมวางระบบโดยกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานเขตคลองเตย ในฐานะกลไกของรัฐท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้นำมาสู่การขยายผลเป็นโครงสร้างการทำงานของ “ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 สำนักงานเขต กทม.” รูปแบบ Community Quarantine
โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 5 ฝ่าย ประสานความร่วมมือกัน มีฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายปฏิบัติการตรวจเชิงรุก ฝ่ายบริหารจัดการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง ฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่ และฝ่ายบริหารจัดการวัคซีน
สิ่งที่น่าสนใจตามโครงสร้างนี้ จะเห็นได้ว่า การบริหารจัดการถูกออกแบบตามหลักการควบคุมโรคและมิติด้านสังคม กล่าวคือ การทำงานของ ฝ่ายบริหารจัดการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง ที่มีผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขต เป็นผู้รับผิดชอบ และแบ่งการทำงานออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ การดูแลผู้ติดเชื้อ ที่มีศูนย์เอราวัณ และศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ COVID-19 ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กลุ่มเสี่ยงและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง มี สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) สำนักอนามัย (สนอ. กทม.) อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ชุมชน และภาคประชาสังคม และมี ศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ บริหารจัดการโดย สำนักงานเขต อสส. ชุมชน และภาคประชาสังคม
“คุมคลองเตยได้ คุมกรุงเทพฯ ได้” จะไม่ใช่เพียงวลีปลุกใจ เพื่อเร่งควบคุมโรคระบาดในชุมชนอีกต่อไป เพราะหากดูจากภาพรวมการพบผู้ติดเชื้อจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม จะเห็นว่า “เขตคลองเตย” ยังเป็น 1 ใน 5 อันดับแรก ของเขตหรือพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดต่อประชากรแสนคน
ผ่านไปสามวัน ข้อมูลอัปเดต ณ วันที่ 14 พฤษภาคม พบว่า 5 อันดับเขตที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดไม่มีเขตคลองเตย แทนที่ 5 อันดับแรก ด้วย เขตดินแดง ห้วยขวาง บางเขน จตุจักร และลาดพร้าว ส่วนเขตคลองเตย กลายเป็นอันดับ 7 มีผู้ติดเชื้อสะสม 484 คน
หากดูจากผลการตรวจคัดกรองเชิงรุก ข้อมูลอัปเดต ณ วันที่ 15 พฤษภาคม นั้นจะพบว่า เขตดินแดง พบผู้ติดเชื้อ 1,457 คน ขณะที่เขตคลองเตย พบผู้ติดเชื้อ 1,400 คน แต่หากเทียบกับจำนวนคนที่ได้รับการตรวจคัดกรองเชิงรุก จะเห็นได้ว่าดินแดงตรวจไปมากกว่า 55,000 คน ขณะที่คลองเตย ตรวจไปราว 27,000 คน ทำให้อัตราการพบเชื้อเมื่อเทียบกับสัดส่วนของการตรวจเชิงรุก ไม่อาจอธิบายภาพรวมของผู้ติดเชื้อได้ทั้งหมด
แต่ตัวเลขที่ทรงตัวต่อเนื่องเกือบสัปดาห์ สิ่งนี้สะท้อนว่า ทั้งกลไก จำกัดการเคลื่อนที่ โดยให้ความช่วยเหลือด้านการยังชีพเพื่อลดการเดินทางแพร่เชื้อ การตรวจหาเชื้อเชิงรุก การจัดการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง ผ่านรูปแบบศูนย์พักคอย การตั้งศูนย์พักฟื้น การบริหารจัดการพื้นที่ และการใช้วัคซีนเร่งควบคุมระบาด สิ่งเหล่านี้ อาจพอเป็นความหวัง ว่านอกจากมาตรการควบคุมโรคหลักของฝ่ายนโยบายอย่าง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค. แล้ว การกระจายอำนาจเพื่อจัดการโรคระบาดในชุมชนย่อย ๆ แบบนี้ ก็เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยควบคุมโรคระบาดเช่นกัน
และเป็นข้อท้าทายสำหรับเขตอื่น ๆ จะสร้างความเข้มแข็งจาก “ภายใน” ลักษณะเดียวกับ “คลองเตยโมเดล” ขึ้นมาได้อย่างไร
- ดูทั้งหมด เนื้อหาชุด #datacovid19series
โควิด-19ทำให้เห็นอะไรในระบบสุขภาพไทย ?