ศูนย์กักกันรอส่งตัว คลองเตย: ความเข้าใจวิถีชีวิตคนหาเช้ากินค่ำ

ศูนย์กักกันผู้ป่วยชั่วคราวรอส่งตัว วัดสะพาน… จุดเริ่มต้น ไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อ แต่คือความเข้าใจในวิถีชีวิตของคนหาเช้ากินค่ำ ที่ “คลองเตย”

จุดเริ่มต้นการระบาดระลอก 3 ที่ชุมชนคลองเตย…?

การพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรก ๆ ในชุมชนแออัดขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร อย่าง “คลองเตย” เกิดขึ้นราวกลางเดือนเมษายน 2564 จากนั้นไม่ถึงสัปดาห์ ยอดผู้ติดเชื้อก็ระบาดไปทั่ว

ส่วนที่มาของเชื้อ หากดูจากไทม์ไลน์ คือ การติดเชื้อจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง

เพราะพวกเขา คือ พนักงานที่ใช้แรงกายให้บริการ คอยอำนวยความสะดวกผู้คนในค่ำคืนของการแพร่เชื้อ

หลังจากนั้น จากการระบาดภายในชุมชน ก็กลายเป็นการติดเชื้อกันเองภายในครอบครัว

ก่อนสถานการณ์บานปลาย ใช่ว่าจะไม่มีใครคาดการณ์ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้น เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานมาอย่างยาวนานในชุมชนคลองเตย รู้อยู่แล้วว่า วันนี้จะมาถึง หากเมืองยังเต็มไปด้วยโรคระบาด

ศูนย์กักกันผู้ป่วยชั่วคราวรอส่งตัว วัดสะพาน

ศูนย์กักกันผู้ป่วยชั่วคราวรอส่งตัว วัดสะพาน แขวงพระโขนง เขตคลองเตย ใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์เศษ ก็เนรมิตสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ ให้กลายเป็นสถานที่แยกตัวสำหรับผู้ติดเชื้อในชุมชนคลองเตยได้

แม้ช่วงแรกของความคิดนี้ จะมีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย เนื่องจากติดขัดทั้งข้อกฎหมายและมาตรฐานที่ต้องเป็นไปตามหลักวิชาการทางการแพทย์ ทั้งการดูแลผู้ป่วย การกำจัดของเสียและสิ่งปฏิกูล อีกทั้งการจะเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ใช่ว่าใครจะทำได้ และหากทำโดยพลการ ถือว่ามีความผิดตาม พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

แต่ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะติดเงื่อนไขใด ศูนย์กักฯ วัดสะพาน ตัวอย่างของสถานที่แยกตัว ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กู้สถานการณ์ไม่ให้วิกฤต อย่างทันท่วงที 

การประชุมของ คณะกรรมการต่อต้านโควิด-19 ชุมชนคลองเตย (คตช.คลองเตย)

ก่อนวิกฤตการระบาดในชุมชน

27 เมษายน 2564 มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกครั้งแรกในชุมชนคลองเตย หลังการระบาดระลอกใหม่

หนึ่งวันให้หลัง 926 คน ที่ตรวจครั้งนี้ พบผู้ติดเชื้อ 50 คน และนี่คือบทพิสูจน์ว่า การเตรียมพื้นที่แยกตัวสำคัญแค่ไหน 

เช้าของวันที่ 28 เมษายน 2564 ที่ ชุมชนพัฒนาใหม่ หรือคั่วพริก เพียงชุมชนเดียว มีคนติดเชื้อ 19 คน มากกว่าชุมชนอื่น ๆ ที่ตรวจพร้อมกัน ที่นี่เป็นชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่ราว 1,700 คน มีการทำสถานที่แยกตัวไว้ที่ทำการชุมชนตั้งแต่แรก

ศูนย์กักตัวผู้ป่วยโควิด-19 ชั่วคราว ชุมชนพัฒนาใหม่ (คั่วพริก) คลองเตย

แผ่นพลาสติกขนาดใหญ่ปิดล้อมทั้ง 3 ด้าน มีทางเข้าออกทางเดียว ห้องน้ำ 1 ห้อง สำหรับผู้ติดเชื้อ พัดลมเพดานเปิดอยู่ตลอดเวลา มีชาวบ้าน 3 คน ทำงานเป็นหลักในการรับมือสถานการณ์นี้ภายในพื้นที่

มาเรียม ป้อมดี ประธานชุมชมเรียกที่นี่ว่า “ศูนย์กักตัวผู้ป่วยโควิด-19 ชั่วคราว”

ภาพคนติดเชื้อเก็บกระเป๋าเดินเข้าศูนย์ฯ บางคนสีหน้าเรียบเฉย บางคนร้องไห้ บางคนตื่นกลัว เสียงปลอบของประธานชุมชนดังฟังชัด คอยให้กำลังใจ และคอยบอกข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทุกอย่างเท่าที่เธอรู้

เธอและคณะกรรมการชุมชนเปิดศูนย์ฯ แห่งนี้ด้วยเหตุผลเดียว คือ บ้านแออัดเกินกว่าที่จะอยู่ร่วมกับคนติดเชื้อได้ และในเวลานั้นลูกบ้านก็ทยอยติดเชื้อกันเอง การพบผู้ติดเชื้อรายแรก ๆ ของชุมชน เป็นเด็กวัยเพียง 1 ขวบ 8 เดือน ซึ่งติดจากอาที่คอยเลี้ยงดู

“ใครจะจับก็จับเลย ป้ารู้แต่ว่าป้าต้องทำ ใครไม่เข้าใจหรอก แต่เราเข้าใจ มันติดกันทั้งบ้านเพราะว่าบ้านมันแคบ”

หญิงวัยกลางคนพูดถึงที่มาของการสร้างศูนย์ฯ ที่ชุมชนพัฒนาใหม่ 
ศูนย์กักตัวผู้ป่วยโควิด-19 ชั่วคราว ชุมชนพัฒนาใหม่ (คั่วพริก) คลองเตย

แม้วันแรกของการรู้ผลตรวจเชิงรุกจะอลหม่านไม่น้อย แต่การส่งต่อผู้ป่วยจากศูนย์ฯ กักตัวในระดับชุมชนส่งต่อไปยังศูนย์กักฯ วัดสะพาน ที่มีความพร้อมมากขึ้น เกิดขึ้นได้ภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งระบบส่งต่อเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ คณะกรรมการต่อต้านโควิดชุมชนคลองเตย หรือ คตช.คลองเตย เตรียมการเอาไว้แล้ว แม้ว่าหลายอย่างอาจผิดแผนไปบ้าง แต่ทุกฝ่ายก็ยังคงพยุงและปรับแผนตามสถานการณ์ด้วยเจตนาเดิม คือ  “คุุมการระบาด และทุกคนต้องปลอดภัย” 

ส่วนศูนย์กักฯ วัดสะพาน แม้จะเร่งมือทำเต็มที่ โดยเฉพาะระบบการบำบัดน้ำ ฆ่าเชื้อ แต่ก็ไม่ทันที่จะเปิดให้ผู้ติดเชื้อทั้ง 50 คน เข้าพักได้

ตัวเลขนี้… บังเอิญพอดีกับเตียงที่จัดเตรียมไว้ และพื้นที่แห่งนี้ก็กลายเป็นศูนย์กลางของการระดมการช่วยเหลือทุก ๆ ด้านในเวลาต่อมา

ประกอบกับการทำงานของสำนักงานเขตคลองเตย โดยการปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วยตนเอง ของ ปิยธิดา นิยม ผู้อำนวยการเขตคลองเตย และความร่วมมือของฝ่ายทหาร และอีกหลายหน่วยงาน ทำให้ผู้ป่วยทั้ง 50 คน ได้รับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาล แยกเป็น 45 คน ถูกส่งไปที่โรงพยาบาลท่าฉลอม โรงพยาบาลบ้านแพ้ว และโรงพยาบาลกระทุ่มแบน ที่เหลือส่งไปยังโรงพยาบาลเฉพาะทางและตามสิทธิ์ และภายในสัปดาห์นั้น ศูนย์กักฯ วัดสะพาน ก็พร้อมและเปิดรองรับผู้ป่วยชั่วคราวรอส่งตัว เฉลี่ยวันละ 50 คนต่อวัน ข้อมูลตั้งแต่ 28 เม.ย. – 10 พ.ค. มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หมุนเวียนเข้าออก ไม่ต่ำกว่า 500 คน ตกค้างการรอส่งตัวสูงสุดอยู่ที่ 3 วัน 

และจากผลการตรวจเชิงรุกในครั้งแรก นำมาซึ่งการตรวจเชิงรุกในครั้งต่อ ๆ มา รวมถึงการปรากฏตัวของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคน ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี ฝ่ายราชการระดับกระทรวงสาธารณสุข และอีกหลายคน หลายครั้ง ทำให้มาตรการตรวจเชิกรุกตั้งเป้าฉีดวัคซีน 5 หมื่นคน ให้คนคลองเตยเกิดขึ้น 

และยิ่งทำให้ระดับปฏิบัติการมีแนวทางชัดเจน เมื่อ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาแถลงต่อหน้าสื่อมวลชนด้วยตนเอง 

ระบบส่งต่อของศูนย์กักฯ วัดสะพาน

การดูแลผู้ป่วยที่นี่ มีพระสงฆ์วัดสะพานเป็นกำลังหลักอยู่ 3 ฝ่าย ฝ่ายแรก เก็บข้อมูล ประวัติของผู้เข้าออกศูนย์กักฯ ฝ่ายที่สอง คือ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมหรือเก็บขยะ ฝ่ายที่สาม คือ ฝ่ายสวัสดิการ คนดูแลความเป็นอยู่ และมีเจ้าหน้าที่ 2-3 คน เป็นอาสาสมัครมาร่วมดูแลสลับสับเปลี่ยนกันไป ทำหน้าที่ให้ข้อมูลการปฐมพยาบาลเบื้องต้นกับผู้ป่วย สื่อสารผ่านระบบออนไลน์เป็นหลัก

ตึกที่ใช้รองรับมีทั้งหมด 8 ชั้น ชั้น 5 รองรับผู้ติดเชื้อหญิง มี 25 เตียง ส่วนชั้น 8 รองรับผู้ติดเชื้อชาย 25 เตียงเช่นกัน 

ส่วนชั้น 4 เป็นที่พักของคนทำงาน ที่ประสานการช่วยเหลือภายในศูนย์กักฯ มีพระสงฆ์ ทั้ง 3 ฝ่ายจำวัดที่นั่น 24 ชั่วโมง พระสงฆ์จะคอยตรวจอาการของผู้ติดเชื้อผ่านระบบไลน์ (LINE) หากได้รับการแจ้งว่ามีอาการ เช่น หายใจไม่ออก เหนื่อยหอบ ก็จะทำการประสานให้ และส่งข้อมูลของผู้ติดเชื้อไปที่หน่วยงานต่าง ๆ และรอการประสานกลับ

นอกจากนี้ ยังคอยทำหน้าที่ส่งอาหารเครื่องดื่ม ยา หรือของใช้ตามที่ผู้ติดเชื้อร้องขอ

พระพินัย เตชพโล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสะพาน เป็นพระสงฆ์ที่ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วยมากที่สุดรูปหนึ่ง เชื่อมระบบการส่งต่อผู้ป่วยของวัดสะพานไปยังโรงพยาบาลสนาม อธิบายถึงบทบาทศูนย์กักฯ และยังเน้นย้ำว่า ผู้ติดเชื้อ ญาติ และชุมชน ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติช่วงที่รอส่งตัว เพื่อลดการแพร่เชื้อและความปลอดภัยของคนทำงาน 

“นอนไม่ค่อยหลับ เราต้องคอยตอบข้อความ คอยดูเผื่อเขาอยากได้อะไรก็จะส่งมาในไลน์กลุ่ม ที่นี่ไม่ใช่โรงแรม ไม่ใช่รีสอร์ต ไม่ใช่โรงพยาบาลสนาม แต่เป็นสถานที่ที่เราจะดูแลความเป็นอยู่ระหว่างการรอส่งตัว และเราไม่มีอำนาจสั่งใครให้มารับ ทำได้แค่ช่วยประสานเท่านั้น” 

พระพินัย เตชพโล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสะพาน

ส่วนการเข้าออกตึก ผู้ติดเชื้อจะใช้ลิฟต์ เจ้าหน้าที่จะใช้บันได หากจะส่งอาหารและยาจะส่งโดยใช้ลิฟต์และประสานทางไลน์เพื่อรับของ ลดการใกล้ชิดระหว่างผู้ติดเชื้อและคนทำงาน   

ข้าวของบริจาคจากหน่วยงานภาครั​ฐ​ เอกชน​ และประชาชน​ เป็นเสบียงที่หล่อเลี้ยงผู้คนที่นี่ทั้งผู้ป่วยติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยงที่กักตัว และชุมชนทั้ง 39 ชุมชนในเขตคลองเตย รวมถึงชุมชนใกล้เคียงในเขตอื่นด้วย การเกิดขึ้นของศูนย์กักฯ และการวางระบบการช่วยเหลือในสถานการณ์การระบาดในชุมชนแออัด คือ สิ่งที่ภาคประชาชนเตรียมการไว้ก่อนหน้านั้นเป็นปี ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก วันนี้ มีการจัดตั้งคณะทำงานของศูนย์​มีประธานชุมชนทั้ง 39 ชุมชน​ ร่วมบริหาร​

พระพิศาลธรรมานุสิฐ​ เจ้าอาวาสวัดสะพาน ประธานศูนย์กักฯ บอกว่า  ทุกฝ่ายต่างมองเห็นชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนที่นี่มาอย่างยาวนาน จึงประเมินได้อย่างง่ายดายว่า คนหาเช้ากินค่ำ หากติดเชื้อโควิด-19 จะระบาดเร็ว​ กลุ่มเสี่ยงกักตัว​ จะขาดรายได้​ วัดสะพานที่มีพื้นที่พร้อม จึงเหมาะที่จะทำเป็นสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อ และความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ รวมถึงชุมชนที่จัดกำลังอาสามาช่วยงานภายในศูนย์กักฯ ให้เดินหน้าต่อได้

พระพิศาลธรรมานุสิฐ​ เจ้าอาวาสวัดสะพาน

จุดเริ่มต้น จึงไม่ใช่สิ่งที่น่าเหลือเชื่อ แต่คือ “ความเข้าใจในวิถีชีวิตของคนหาเช้ากินค่ำ ​”

ยังมีผู้คน หน่วยงานรัฐ เอกชน ภาคการเมือง เครือข่ายภาคประชาชน เช่น มูลนิธิดวงประทีป กลุ่มคลองเตยดีจัง แพทย์ฝ่ายวิชาการที่ทำงานวิจัยในพื้นที่ และอีกมากมาย ที่ล้วนต่างเป็นจิ๊กซอว์ ต่อเติมภาพของศูนย์กักฯ ให้สำเร็จขึ้นมาได้

ความสำคัญของภาพนี้ อาจไม่ใช่ความสมบูรณ์ไร้ที่ติ แต่ความสำเร็จของภาพนี้ เพียงเพราะ “มันเกิดขึ้นจริง” และรอการส่งต่อความร่วมมือเฉกเช่นนี้ ไปยังชุมชนแออัดอื่น ๆ พาสังคมไทย รอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้อีกครั้ง 


ดูเพิ่ม

โควิด-19 รุกคลองเตย : ช่วยชีวิต ปิดจุดเสี่ยง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

ณัฐพล พลารชุน