จัดการโควิด-19 เป็นเรื่องของทุกคน? | คุยหลังหนัง “คลองเตย Isolated Community”

การระบาดระลอก 3 ของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดครั้งใหญ่ รุนแรง และขยายไปแทบทุกพื้นที่ของประเทศไทย

การรับมือการระบาดในรอบนี้ ได้เผยให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยอย่างยาวนาน ตอกย้ำให้เห็นกระบวนการคิดและกลไกของหน่วยงานรัฐ รวมถึงบทบาทของภาคประชาชนเมื่อต้องเผชิญวิกฤต

กรุงเทพมหานคร ได้ชื่อว่ามีทรัพยากรเพียบพร้อมในทุก ๆ ด้าน แต่ก็เป็นพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อสูงที่สุดเช่นกัน

ทรัพยากรที่เคยคิดว่ามีความพร้อมรองรับ กลับอยู่ในภาวะที่ “ล้นขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข” ขณะที่ระบบเริ่มหมดแรง พลังของชุมชนกลับเด่นชัดขึ้น

“คลองเตย” ชุมชนแออัดขนาดใหญ่คือชุมชนแรก ๆ ที่ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาจากประสบการณ์ของเครือข่ายที่ทำงานในพื้นที่ พยายามประสานงาน เชื่อมต่อทุกฝ่าย จนเกิดกลไกการจัดการโรคระบาดภายในชุมชน และกลายเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่น ๆ รวมถึงระดับนโยบายของกรุงเทพมหานคร ในการจัดตั้งศูนย์ Community Isolation และ Home Isolation ในเวลาต่อมา 

จากวันนั้นถึงวันนี้ สังคมได้เรียนรู้อะไรจากชุมชนบ้าง หากโจทย์ในอนาคตไม่ใช่การจัดการเชื้อโรคร้ายนี้ให้ตายอย่างสิ้นซาก ทว่าคือการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย

The Active รวบรวมบทเรียน ข้อเสนอ ที่ได้จากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งร่วมแลกเปลี่ยน บนโจทย์ “จะทำอย่างไรให้การจัดการโควิด19เป็นเรื่องของทุกคน” ผ่านเวทีสาธารณะคุยหลังหนัง ในรูปแบบ Visual Note Taking


ปัญหาการจัดการวิกฤตโควิด-19 ระบาด…ยังเหลืออะไรบ้าง ?

สิทธิชาติ อังคะสิทธิศิริ ประธานชุมชนล็อก 123  ในฐานะที่เขาทำงานและตั้งทีมอาสาดูแลคนติดเชื้อคนแรกในคลองเตย จุดประเด็นให้เห็นว่าระบบที่ไม่เชื่อมต่อกับชุมชนทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้างต่อชุมชนแออัด บ้านไม่สามารถกักตัวรอเตียงได้เหมือนนโยบายที่ประกาศ แม้ระยะแรกจะลองผิดลองถูก ทำบนความไม่รู้และความกลัว แต่ทุกคนก็ร่วมมือกันจนผ่านมาได้ทุกวันนี้แบบอุตลุด

“รัฐบาลประกาศว่าติดเชื้อกักตัวในบ้านได้ แต่คลองเตยบ้านติดกันหมด ถ้าไม่เอาคนติดเชื้ออกจากชุมชนจะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ คนติดเชื้อประสานหาเตียงไม่ได้ ทั้งๆที่ตอนนั้นยังติดเชื้อไม่เยอะ รถรับส่งไม่มี เตียงไม่พอ  ดัดแปลงรถดับเพลิงมาเป็นรถรับส่งผู้ป่วยรู้ว่ามันผิดกฎหมาย แต่เราปล่อยให้คนป่วยนอนตายต่อหน้าไม่ได้ รถกระบะเคยรับส่งผู้ป่วยมาแล้วพันคน บางคนตายคารถก็มี  ชุมชนผมมีคนอาศัย7-8พันคน ได้โควต้าตรวจเชื้อ100-200คน ไม่ครอบคลุมกว่าจะได้ตรวจหมดก็ติดเชื้อกันกระจาย หลายชุมชนสู้ด้วยตนเองการทำงานไม่มีใครรู้ดีเท่าคนในพื้นที่ สาธารณสุขล้มเหลวมาก  ไม่มีการให้ความรู้ เราใช้วิธีการเรียนรู้โดยการลงมือทำเท่านั้นเอง”

ประธานชุมชนย้ำว่าสถานการณ์ในเวลานี้อาจไม่แย่เหมือนช่วงเริ่มต้น การส่งต่อผู้ป่วยรวดเร็วมากขึ้น ชุมชนทำงานคล่องตัวและมีความเข้าใจในระดับหนึ่ง มีทีมทำงานเฉพาะกิจแจ้งรับเหตุ 24 ชั่วโมง แต่เขาเห็นว่าหากรัฐบาลวางแผนให้ดีตั้งแต่แรกอาจไม่วิกฤตขนาดนี้

เช่นเดียวกับ ชุมชนบุญร่มไทร ซึ่งมีปัญหาไม่ต่างกัน  เชาว์ เกิดอารีย์ ประธานชุมชน บอกว่า มีปัญหาตั้งแต่การเข้าถึงการตรวจ การประสานหาเตียง วิกฤตครั้งนี้แม้จะผ่านมาด้วยความยากลำบาก แต่เวลานี้สิ่งที่ชุมชนได้กลับมาคือความสามัคคีที่มากขึ้น

“การตรวจในชุมชนยากมาก ประสานเขตก็ไม่ยอมรับ บอกสถานที่คับแคบ หน่วยงานไหนก็แล้วแต่ต่อให้เป็น รพ. ที่เราไปตรวจโทรกลับก็ไม่รับสาย เรื่องการประสานเตียงช่วงนั้นในประเทศการติดเชื้อไม่เยอะแต่การประสานเตียงยากรออยู่สิบวันกว่าจะได้เตียงรักษา การให้ความรู้กับเราน้อยมาก เราต้องเรียนรู้เอง มีมูลนิธิพุทธิกา หรือหน่วยงานอื่น ๆ มาช่วยเป็นเอกชนทั้งหมดไม่ใช่รัฐบาล เขต เพิกเฉยกับพวกเรา ถ้าให้หน่วยงานมาช่วยเหลือเราก็ไม่ทันแน่นอน การที่ชุมชนลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเอง มันเหมือนพลังของชุมชนความสามัคคี ตอนนี้คนในชุมชนก็รักใคร่กันมากขึ้นกว่าเดิออันนี้เป็นภาพลักษณ์ที่ดีมากเลย”

ปานทิพย์ ลิกขะไชย ชมรมเกสรลำพู พูดถึงชีวิตของแรงงานข้ามชาติที่ชาวชุมชนคลองเตย ร่วมกันดูแล ว่านี่คือตัวอย่างของการดูแลไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา หากไม่ดูแลเพียงคนเดียว ก็เดินหน้าสู่ความปลอดภัยไม่ได้ แม้จะยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น เจ้าของห้องเช่าบางแห่งที่ไล่คนติดเชื้อออกจากบ้านเช่า

“การไล่คนติดเชื้อออกจากบ้านเช่า ไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น”


การจัดการโควิด-19 จากชุมชนที่แตกต่างกัน

การระบาดระลอก 3 ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในชุมชนแออัดคลองเตยเท่านั้น แต่การระบาดลุกลามไปยังชุมชนแออัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ และชุมชนก็พบความท้ายท้ายไม่ต่างกัน คือ ติดขัดข้อกฎหมาย เช่น การจัดหาสถานที่เพื่อแยกผู้ป่วยติดเชื้อ การวางมาตรฐานของการดูแลศูนย์แยกตัว การขาดความรู้ การจัดการป้องกันและควบคุมการระบาด การรักษา อาหาร งบประมาณ หรือแม้แต่กำลังคน

แต่บนข้อจำกัดเหล่านี้ ชุมชนกลับกล้าลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตนเอง โดยใช้ต้นทุนที่ชุมชนมี คือ “อาสาสมัคร” ทำงานเพื่อเป้าหมายหนึ่งเดียว  “ผู้ป่วย ชุมชน ปลอดเชื้อ ปลอดภัย” 

นาวิน บุษบา ตัวแทนชุมชนคลองเตย บอกว่า ชุมชนเตรียมวางแผนล่วงหน้าก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 อยู่แล้ว ตั้งทีมกันขึ้นมาทำโรงครัวเพื่อแจกอาหารให้กับคนที่กักตัว คนไม่ได้ทำงาน แจกจ่ายตามบ้านโดยไม่ให้ออกไปไหนเลย 

“เรามีทีมงานให้อาหารและน้ำ เช้า กลางวัน เย็น จะให้เขากักตัว ก็ต้องมีอะไรให้เขาอยู่ที่บ้านได้”

บางชุมชนใช้พลังจากสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น  ปานทิพย์ ลิกขะไชย ชมรมเกสรลำพู ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “เสน่ห์บางลำพู” เป็นช่องทางระดมการช่วยเหลือ ตั้งแต่ที่ชุมชนแรกเริ่มติดเชื้อ และเริ่มระดมหาทีมอาสาให้ทำเหมือนที่คลองเตย คือ ต้องมีอาสาส่งอาหาร

 “เราใช้เพจเล็ก ๆ ของเราทำงานเชื่อมการช่วยเหลือชุมชนอื่น ๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการช่วยชีวิตคน ได้เห็นมิติของคนที่มีค่าในการช่วยชีวิตคน”

ขณะที่ “ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์” รัชชานนท์ มะมิง ตัวแทนชุมชนเล่าว่า ที่นี่ไม่ใช้วิธีแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน เพราะกังวลการจัดการ จึงให้ผู้ติดเชื้ออยู่ที่บ้านและแยกกลุ่มเสี่ยงมาไว้ที่มัสยิดแทน

“มัสยิดมีโรงเรียนที่สอนด้านศาสนา แต่ช่วงนี้ปิดอยู่ เลยใช้สำหรับผู้ที่ต้องกักตัว แต่ไม่เห็นด้วยว่าจะเอาคนติดเชื้อมา เพราะมีกฎหมายอยู่ เราก็เข้าใจ คนติดเชื้ออยู่บ้าน เอาคนเสี่ยงออกมา บ้านไหนมีห้องว่างก็ให้อยู่ไปก่อน ตั้งไลน์ชุมชน เฝ้าระวัง แจ้งปัญหา เราก็ทำได้ง่ายเพราะเป็นชุมชนเล็ก ๆ” 

ขณะที่ วรรณา แก้วชาติ ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ดูแลชุมชนแออัดหลายสิบชุมชน โดยใช้เครือข่ายภาคประชาชนเป็นแกนกลางในการดูแลชุมชนและมีคลองเตยเป็นต้นแบบในการทำ Community  Isolation ซึ่งการหาสถานที่เพื่อทำเป็นศูนย์แยกตัวผู้ป่วยติดเชื้อมีความยากลำบาก เพราะหน่วยงานไม่ให้การรับรองและอ้างว่าผิดกฎหมาย แต่ท้ายที่สุดผู้นำชุมชนก็ลงความเห็นว่ารอไม่ได้ จึงเดินหน้าต่อและใช้ศาลาชุมชนเป็นที่พักคอยรอส่งตัว แต่รอนานเข้าศูนย์ก็กลายเป็นที่พักรักษาตัว ที่ผ่านมาเราส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลแค่รายเดียว ส่วนอีก 60-70 คน พวกเขาดูแลกันเอง 

ไม่เพียงแค่การระบาดในชุมชนแออัดในเมืองหลวง แต่การระบาดแพร่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่ “เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล”

แสงโสม หาญทะเล ครูและแกนนำชาวเลกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโว้ย เล่าว่า การระบาดรอบ 3 เกิดขึ้น เพราะระดับจังหวัดไม่มีนโยบายปิดเกาะ หวั่นว่าจะกระทบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เมื่อไม่มีการจำกัดการเคลื่อนที่ของผู้คนและนักท่องเที่ยว เชื้อจึงแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วบนเกาะ โดยเฉพาะกับชุมชนชาวเล

พวกเขาและภาคประชาสังคม ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ และอาสาสมัคร ร่วมกันเปิดศูนย์กักตัวขึ้นมาบนเกาะ บนข้อจำกัดของอุปกรณ์ป้องกัน รักษา และความรู้

นอกจากนี้อาสาสมัครบนเกาะ ยังมีกลุ่มเยาวชนที่เคยทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเล  ในนามศิษย์เก่าบ้านเกาะหลีเป๊ะ เริ่มประกาศโพสต์ขอความช่วยเหลือ ก่อนที่น้ำใจจากทั่วสารทิศจะเริ่มทยอยมา และเดินหน้าดูแลกันภายใต้กลไกของอาสาชุมชน 

“เราต้องสื่อสารด้วยภาษาชาวเล ถ้ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พูดภาษาไทย ก็ต้องหันมาถามทีมครูและเด็ก ต้องรับสารจากหมอ ฝ่ายปกครอง ช่วยสื่อสารกับชาวบ้าน แล้วเราก็จะดูแลคนเสี่ยงสูงที่บ้าน ประสานกับ อบต. เบิกข้าวสารอาหารแห้ง นม มาให้คนเสี่ยงสูง นอกจากการให้ความรู้ เรายังได้รับองค์ความรู้สมุนไพรไทยจากต่างประเทศ ที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยใช้ มีมูลนิธิเข้ามาช่วยเหลือ ส่งความรู้กระจายให้กับคนในชุมชน ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเดือนเศษ แต่ละวันเจอราย สองราย ลดลง และเป็นกลุ่มสีเขียวกันหมด”

นพ.สิทธา ลิขิตนุกูล แพทย์เวชปฏิบัติองค์รวม บอกว่า เชื้อโควิด-19 เหมือนหวัดทั่วไป หากลงปอด หลายคนอาจติดเชื้อและหายเองไปแล้ว แต่ที่เรากังวลและจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อเพราะเรากังวลกลุ่มเสี่ยง โรคอ้วน เบาหวานกลุ่ม 7 โรค เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงทั้งติดเชื้อและเสียชีวิต ภูมิต้านทานต่ำ แต่ก็มีคนที่รักษาหายและกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ 

เมื่อรู้ว่าเป็นโรคติดต่อทางลมหายใจ จึงต้องใส่หน้ากากอนามัย ติดต่อจากการสัมผัส ต้องล้างมือ ที่ผ่านมามีคนติดเชื้อแต่ไม่โดดเดี่ยวเพราะจะมีบ้านวัดชุมชน เป็นไกด์ไลน์ของการทำ Community Isolation หรือ CI อย่างคลองเตย คือ คนติดเชื้อไม่โดนทิ้งขว้าง เป็นตัวอย่างที่ดีการจัดการโควิด-19

นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมจากประสบการณ์โดยตรงของผู้ติดเชื้อ เกวรินทร์ ศิลาพัฒน์ บอกว่าไม่ว่าจะเตรียมตัวมาดีแค่ไหน เมื่อถึงวันที่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ ก็มักทำอะไรไม่ถูก แต่เมื่อตั้งสติได้ ขอให้สังเกตอาการของตัวเอง พยายามลงทะเบียนในระบบ แยกตัวเองออกจากครอบครัว แจ้งข้อมูลการติดเชื้อให้ชุมชนทราบ ไม่ปกปิดข้อมูล เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา ดูแลความสะอาดสถานที่พัก และแยกขยะติดเชื้อในถุงแดงซึ่งสำคัญมาก และก็กินยารักษาตามอาการ

“ถ้าเราเริ่มจามถี่กว่าปกติ นี่เป็นสัญญาณแรก ไอ บางคนไม่มีไข้ แต่ท้องเสียติดกัน 2 วัน ถ่ายท้องถึง 12 ครั้ง เราก็กินยาตามอาการ คือแก้ท้องเสียและพยายามไม่ให้ตัวเองมีไข้ ป้องกันเชื้อลงปอด ถ้ากดไข้ไว้ได้ อาการอื่น ๆ ก็จะค่อย ๆ ควบคุมได้ และต้องสังเกตอาการตัวเองตลอด”

พิศาล แสงจันทร์ และทายาท เดชเสถียร หรือ บอลยอด สองหนุ่มนักเดินทางจากรายการ “หนังพาไป” เสนอว่าต้องมีการถอดบทเรียนโมเดลนี้อย่างจริงจัง และออกแบบคู่มือเป็นแนวทางองค์ความรู้ที่ถูกสื่อสารออกไปอย่างกว้างขวาง พร้อมกับการสื่อสารให้สังคมรับรู้ว่ามีคนเสียสละที่กำลังเหนื่อย และไม่มีระบบสนับสนุน

“ประเทศเราควรจัดการถอดบทเรียนบางอย่าง ไม่ใช่วิ่งตามปัญหา แต่ต้องวิ่งนำปัญหาได้แล้ว การดูหนังเรื่องนี้ให้แนวทางเรานะ อย่างน้อยคนที่อยากช่วยเหลือคนอื่นก็รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร”

สอดคล้องกับข้อเสนอจาก รัชชานนท์ มะมิง ที่ต้องการแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการใช้ชีวิตให้ปลอดภัย และอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้ ซึ่งในเวลานี้เขามองว่ายังไม่เห็นรูปธรรมที่ชัดเจน

ด้านตัวแทนจากพื้นที่หลีเป๊ะ เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณการทำงานของอาสาชุมชน ให้เห็นถึงความเสียสละที่ไม่ควรสูญเปล่า เพราะอาสาก็มีครอบครัว ภาระ หากขาดคนกลุ่มนี้การระบาดกลับมาอีกระลอก เมื่อเปิดเกาะ ถึงเวลานั้นจะวิกฤตวนซ้ำอีกรอบหรือไม่

ขณะที่ตัวแทนจาก เครือข่ายสลัม 4 ภาค มีความเห็นตรงกันในหลายประเด็น แต่ที่เธอเน้นย้ำ คือ การเร่งฉีดวัคซีนและให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการตรวจ การรักษา ได้โดยไม่แบ่งแยก 

“เรื่องนี้ควรเป็นสวัสดิการพื้นฐาน ไม่ต้องแบ่งแยกว่าเขาเป็นใคร สวัสดิการที่ทุกคนให้ความสำคัญเข้าถึงการรักษา การป้องกัน และชุมชนแกนนำทีมอาสาที่ทำงานควรเข้าถึงวัคซีน และให้การตรวจเข้าถึงชุมชน”

ด้าน นิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะทำงานโควิดชุมชน คลี่ปัญหาจากประสบการณ์ตรงที่ลงพื้นที่ทำงานตรวจเชิงรุกกับแพทย์ชนบท และมองว่าองค์ความรู้สำคัญหลายด้าน จำเป็นต้องร่วมพูดคุย ปรึกษา และทำการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ในการปฏิบัติ

“กลั่นบทเรียน องค์ความรู้ ประเมินความเสี่ยงว่าอะไรติด อะไรไม่ติดออกมาให้ได้ ครอบครัวจะเป็นฐานที่ดีของการรักษา เป็นยุทธศาตร์สำคัญแต่ต้องเติมอาวุธให้กับครอบครัว ทำให้คนในครอบครัวประเมินวิเคราะห์ความเสี่ยงได้”

นิมิตร์เสนอเพิ่มเติมว่า การสื่อสารในวันข้างหน้าต้องไม่ผลิตซ้ำความกลัว อยู่ร่วมกับคนที่ติดเชื้อได้ ไม่ว่าจะบ้าน ชุมชน หรือที่ทำงาน รัฐต้องให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ป้องกันที่มีคุณภาพ เพียงพอกับชุมชนหน้ากากอนามัย ปัจจัยต้น ๆ ของการป้องกันการติดเชื้อ แต่ยังมีบางคนที่ยังใช้หน้ากากซ้ำ หน้ากากผ้าที่บางเกินไป รวมถึงเจลแอลกอฮอล์ อุปกรณ์พื้นฐานเหล่านี้สำคัญจำเป็นที่ควรสนับสนุน

“ถ้ารัฐลงทุนตรงนี้ จะถูกกว่ายาฟาวิพิราเวียร์มาก จะลดการติดเชื้อได้”

สุดท้ายเขาย้ำว่า การเข้าถึงการตรวจนั้นเป็นสิ่งสำคัญ และการตรวจที่เกิดประโยชน์สูงสุดคือการตรวจแบบคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และไม่ควรใช้การตรวจยืนยันเพื่อทำงาน

ด้าน นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์  ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เห็นด้วยและร่วมเสนอว่าเครื่องมือที่สำคัญในการควบคุมการระบาด คือ จุดตรวจ (ตรวจเร็ว) และการดูแลรักษาต้องไม่ยึดติดโรงพยาบาลอย่างเดียว ต้องใช้ครอบครัวซึ่งมีส่วนสำคัญ แต่ให้ความรู้ทั้งวิชาการและความรู้ ที่ไม่ใช่การให้คู่มือ หรือแนวทางการปฏิบัติ แต่เป็นความรู้ที่นำไปสู่เรื่องการตรวจ การรักษา ระบบที่เชื่อมโยงสู่การปฏิบัติ รัฐต้องทำระบบเชื่อมโยงประชาชนและระบบดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในหน่วยบริการที่ยึดในพื้นที่ดูแลให้ทุกหน่วยรวมกัน ออกแบบโครงสร้างระบบบริการประชาชนจะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวทำงานหนักอยู่ฝ่ายเดียว

“นโยบายการควบคุมโควิด-19 ไม่ถูกจำกัดด้วยการล็อกดาวน์ แต่ควรใช้ในกรณีที่ระบบสาธารณาสุขจะล่มเท่านั้น ถ้ามีโครงสร้างระบบเชื่อมโยงประชาชนและระบบดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ และค่อย ๆ เติมเรื่องอื่น ๆ บนหลักทำงานร่วมกันหวังว่าจะไม่เจอสถานการณ์เดิม”

ด้าน วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย เสนอให้สร้างกระบวนการเตรียมความพร้อม เรียนรู้จากความร่วมมือที่เห็นอยู่แล้วจากพลังของชุมชน เห็นจุดอ่อนของภาครัฐว่าช่วยได้น้อยกว่าที่รัฐจะช่วยได้ เห็นการหยิบยื่นให้กัน จากกลุ่มใหม่ ๆ แก้กระบวนการจัดการความพร้อม ความร่วมมือให้เป็นระบบ ให้เกิดการประสานความร่วมมือเพื่อเสริมขีดความสามารถของชุมชน สังคมโดยร่วม โดยยกระดับสร้างภูมิคุ้มกันทั้งระบบ

เขายกตัวอย่างกรณีกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม เปลี่ยนวิธีคิดจะพยุงเพียงธุรกิจของตัวเอง โดยการฉีดวัคซีนเฉพาะพนักงานในโรงงานของตน แต่ควรยื่นมือมาร่วมกันทำให้ห่วงโซ่ปลอดภัยทั้งระบบ

“ธุรกิจอุตสาหกรรม หากคิดถึงแค่ตัวเองจะอยู่รอดได้แค่ครั้งคราว แต่ระยะยาวไม่น่ารอด คิดแต่จะรับผิดชอบน้อยที่สุดตามกฎหมาย จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือห่วงโซ่ธุรกิจของเราไปรอดด้วยกันหมด เปลี่ยนวิธีคิดทำดีที่สุดเท่าที่ศักยภาพมี ไม่ใช่แค่อยู่รอด แต่ยั่งยืน”

ด้าน สมชัย จิตสุชน ย้ำว่าประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำหนักอยู่แล้ว เมื่อมีโควิด-19 ก็หนักขึ้นไปอีก จะเห็นได้จากตัวเลขสถิติ สารคดียิ่งตอกย้ำ และทำให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนอ่อนแอ กลุ่มเปราะบาง ความสามารถในการจัดการที่ต่างจากคนที่มีฐานะ ไม่ว่าจะการทำงานที่บ้าน (Work From Home) การทำ Home Isolation (HI) นี่คือโจทย์ที่รัฐอาจจะต้องช่วยคนหาเช้ากินค่ำ เพราะพวกเขาต้องกังวลกับค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งเป็นผลกระทบที่ชนชั้นกลางไม่เข้าใจ เพราะมีบ้านเป็นของตัวเอง

นอกจากนี้ ยังมีความรู้ที่คิดว่าชุมชนเข้าใจอยู่แล้วแต่อาจไม่ชัดเจน เช่น การให้ความรู้ทางระบาดวิทยาก็เป็นความรู้แบบกว้าง ๆ ไม่ได้เฉพาะกับบริบทของชุมชนแออัด  แต่ในเวลานี้ ความรู้ที่ถูกต้องโดยเฉพาะการจัดการปัญหา การเยียวยาผลกระทบรัฐจำเป็นต้องฟังเสียงชุมชน

“โอนให้ชุมชนจัดการ รัฐทำหน้าที่สนับสนุนงบฯ เยียวยาในมิติต่าง ๆ รัฐแค่มอนิเตอร์ประเมินตาม kpi แต่ให้ชุมชนจัดการเอง เสียงเรียกร้องที่การช่วยเหลือไม่ถูกจุดจะเบาบางลง”

สมชัย ยังกังวลประเด็นสุขภาพในระยะยาวของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย ที่มีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ซึ่งอาจมากกว่านี้ในอนาคต รัฐจึงต้องมีแนวทางรองรับที่เหมาะสม สนับสนุนงบประมาณ โดยมีชุมชนร่วมระดมสมองเพื่อการจัดการระยะยาว และต้องคิดวางแผนจริงจังว่าทำอย่างไรให้แนวโน้มดีขึ้นและอยู่กับโควิด-19 โดยไม่ต้องล็อกดาวน์  

นอกจากนี้ ข้อมูลยังระบุว่าก่อนโควิด-19 ระบาด มีประชาชนพร้อมตกงานถึง 40% คือ กลุ่มที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่อมีโควิด-19 คนกลุ่มนี้บางส่วนไม่สามารถกลับมาทำงานเดิมได้อีกแล้ว นับว่าเป็นแผลเป็นด้านเศรษฐกิจ ธนาคารโลกจึงเสนอแนะให้หลายประเทศปรับโครงสร้างการเก็บภาษีจากความมั่งคั่ง หรือทรัพย์สิน ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกระแสเรื่องนี้เช่นกัน แต่มีการคัดค้านอยู่มากโดยเฉพาะคนที่เสียประโยชน์ แม้ว่าการปรับโครงสร้างภาษีจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่ก็ยังต้องการพื้นที่ถกเถียงอีกมาก 

“เห็นด้วยกับธนาคารโลก การปรับโครงสร้างภาษีลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่สังคมต้องร่วมกันถกเถียงเพื่อหาแนวทางต่อไป แต่รัฐต้องไม่ให้แผลเป็นลงลึกจนเกินไป ไม่ควรรัดเข็มขัดหรือลังเล ไม่ยอมทุ่มความช่วยเหลือ เยียวยา แยกแยะโดยเฉพาะกลุ่มเประบาง”

ความเห็นนี้ ยังสอดคล้องกับ วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย ที่ทิ้งท้ายว่าการปรับโครงสร้างภาษีควรเกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสม แต่เวลานี้รัฐบาลต้องวางแผนการใช้งบประมาณไม่เหมือนในภาวะปกติ แต่ต้องคำนึงถึงชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนสูงสุด


ชวนติดตามสารคดี “คลองเตย Isolated Community” ทาง www.VIPA.me คลิก 👉 https://thaip.bs/IyWl2zx เพื่อชมสารคดี

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

ลลิตา วิจิตอมรวงษ์

เปลี่ยนเนื้อหาเข้าใจยาก ให้เป็นภาพเข้าใจง่าย เจ้าของเพจ Mis.lalita รักธรรมชาติ และชอบฟังเพลง