“ศบค.ส่วนหน้า” ปรับยุทธศาสตร์คุมโควิด-19 ชายแดนใต้ใหม่ทั้งระบบ หวั่น ระบบสุขภาพล่ม

ชี้ หากไม่ทำอะไรอาจมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละเกือบ 8,000-10,000 คน ผู้เสียชีวิตสูง เพราะไม่ได้ฉีดวัคซีน คาด สถานการณ์จะดีขึ้น ช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้

25 ต.ค. 2564 – นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 12 เปิดเผยว่า ในการประชุม “ศบค.ส่วนหน้าชายแดนใต้” หรือ “ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ประเมินแนวโน้มการระบาดในพื้นที่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็น “ขาขึ้น” ของการระบาดมาถึงจุดทรงตัว แต่ไม่ใช่จุดสูงสุดของการระบาด มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 จังหวัดรวมกันเฉลี่ยวันละ 2,000 คน หากไม่มีการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นและฉีดวัคซีนเข็มแรกภายในสิ้นเดือนตุลาคมให้ได้ 70% ของประชากร เดือนพฤศจิกายนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว และเดือนธันวาคมจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าตัว หรือเฉลี่ยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 8,000-10,000 คนต่อวัน หากปล่อยให้ไปถึงจุดนั้น ระบบริการสุขภาพในพื้นที่จะรับมือไม่ไหว จะเกิดวิกฤตเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ

สำหรับข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน –  21 ตุลาคม มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่นี้ จำนวน 1,125 คน อัตราเสียชีวิตยังไม่ถึง 1% อยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.68 แต่ในจำนวนทั้งหมดนี้ ผู้เสียชีวิต 90% ไม่ได้ฉีดวัคซีน

หากสามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายเข็มแรก 70% พร้อมกับมีการตรวจเชื้อเชิงรุก แยกกักผู้ติดเชื้อ จ่ายยารักษาให้เร็ว จะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลงได้ประมาณสิ้นเดือนธันวาคม

การควบคุมป้องกันโรค COVID-19 4 จังหวัดชายแดนใต้

จัดระบบควบคุมโรคและรักษาใหม่ รับวิกฤตการระบาด

นายแพทย์สุเทพ ระบุว่า ศบค.ส่วนหน้า และกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้หน่วยงานในพื้นที่เร่งตรวจเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK (Antigen Test Kit) หากพบผลบวก ไม่ต้องรอตรวจซ้ำด้วย RT-PCR สามารถสั่งยาฟาวิพิราเวียร์ได้เลย 100% เพื่อป้องกันการติดเชื้อลงปอด หากใครตรวจเชื้อผลเป็นลบ ก็ขอให้ฉีดวัคซีนเลย และเพื่อช่วยลดการใช้เตียงในโรงพยาบาลและกันเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยสีแดงและเหลืองที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ขอให้องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ช่วยจัดหาสถานที่ทำศูนย์พักคอยที่ชุมชน (Community Isolation) ที่มีคุณภาพทุกอำเภอ และหากมีความพร้อมก็อยากให้ทำทุกตำบล และให้มีการจับคู่ผู้ป่วยกับสถานพยาบาลเพื่อกักกันตัวที่บ้าน (Home Isolation) ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตกับคนในพื้นที่

นายแพทย์สุเทพ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเข้าใจความเป็นมืออาชีพของแพทย์ที่กำลังรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทุกคน การต้องตรวจยืนยันผลการติดเชื้อด้วยวิธี RT-PCR กว่าจะทราบผลต้องรออีก 2 วันเป็นอย่างน้อย และต้องเอ็กซเรย์ปอดซ้ำรออีก 3 วัน ถึงจะจ่ายยาให้ผู้ติดเชื้อ จะทำให้การควบคุมโรคและรักษาเป็นคอขวด ในขณะที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนทวีคูณขึ้นทุกวัน หากยังใช้วิธีเดิม หมายถึงระบบสุขภาพขาดโอกาสในการได้รักษาผู้ป่วย และประชาชนก็ขาดโอกาสได้เข้าถึงยา 

การปรับระบบใหม่นี้เพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤต ระยะแรกอาจขลุกขลักบ้าง ซึ่ง สธ. พยายามปรับแนวทางการรักษาให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ได้ทราบสถานการณ์ในภาพรวม ชวนแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ที่เคยผ่านประสบการณ์วิกฤตสุขภาพในกรุงเทพฯ ช่วงการระบาดขาขึ้น

จากการดูแลผู้ป่วยโควิด 10,000 คน พบว่า การให้ยาฟาวิฟิราเวียร์ให้ผู้ป่วยสีเขียว ตั้งแต่มีการติดเชื้อ 4-5 วันแรก จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หรือเป็นสีเหลือง ได้ถึง 98% และผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องแอดมิดโรงพยาบาล ผลผิดพลาดจากตรวจ RT-PCR ซ้ำเพียงแค่ 3% เท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรเสียเวลาในการได้รับยาการจากรอผลตรวจนานถึง 2-3 วัน องค์ความรู้ใหม่นี้ ทั้งกรมการแพทย์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยเป็นที่รับรู้กัน และขณะนี้ องค์การเภสัชกรรมผลิตยาฟาวิฟิราเวียร์ได้เองแล้ว จึงไม่มีข้อจำกัดเรื่องยาแล้ว

นายแพทย์สุเทพ ขยายความผลการประชุม ศบค.ส่วนหน้าว่า ได้มีการสั่งการขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร่วมกับฝ่ายปกครอง ได้จัดทีมปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว CCRT คัดกรองเชิงรุก และขอให้โรงพยาบาลกับองค์กรปกครองท้องถิ่น ช่วยกันจัดระบบทำศูนย์พักคอย Community Isolation และ Home Isolation โดยแบ่งบทบาทกันว่ามาตรการทางการแพทย์เป็นของโรงพยาบาล มาตรการทางสังคม การช่วยเหลือชาวบ้าน เช่น เรื่องอาหาร ให้เป็นเรื่องของท้องถิ่น การจัดหาอาหารที่สอดคล้องกับบริบทวิถีชีวิตในพื้นที่ อาจจะมอบอาหารสดสำหรับครอบครัว เพื่อเป็นการกักตัวระดับครัวเรือน (Family Isolation)

ขณะนี้ จำนวนการทำ CI ยังพอรองรับสถานการณ์และลดจำนวนการใช้เตียงในโรงพยาบาลได้ ดังนี้

เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มและแนวทางใหม่รับมือในชุมชน

นายแพทย์สุเทพ ยังกล่าวอีกว่า ภาพรวมการใช้เตียง ก่อนหน้านี้ ทั้ง 4 จังหวัดชายแดนใต้ มีเตียง ICU ประมาณ 200 เตียง ก็มีนโยบายเบ่งเตียงเพิ่มขึ้นเป็น 375 เตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยสีแดงใช้เตียงอยู่ 182 เตียง ที่มีอัตราการใช้เตียง ICU น้อย เนื่องจากผู้ป่วยวิกฤตในพื้นที่นี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และญาติไม่ประสงค์ให้ใส่ท่อช่วยหายใจ ทางแพทย์จึงรักษาแบบประคับประคอง เพื่อสามารถให้ผู้ป่วยได้ทำศาสนากิจระยะสุดท้ายได้ 

ขณะที่เตียงในหอผู้ป่วยพิเศษ หรือเตียงผู้ป่วยสีเหลือง จำนวน 1,873 เตียง ใช้หมดไปแล้ว เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียว แบ่งเป็นเตียงในโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 5,539 เตียงใช้ไปแล้ว จำนวน 5,003 เตียง คิดเป็น 90.3% เตียงในโรงพยาบาลรวมกัน 17,059 เตียง ใช้ไปแล้ว 14,285 เตียง หรือประมาณ 83.7% ส่วนเตียงในศูนย์พักคอย หรือ Community Isolation รวม 11,152 เตียง ใช้ไปแล้ว 5,510 เตียงหรือประมาณ 49.4% โดยสรุปคือเตียงรวมทั้งหมดที่มีอยู่ 74.6% จึงน่ากังวลในสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อขาขึ้น

รวมทั้งการส่งแพทย์จากโรงพยาบาลราชวิถี และกรมการแพทย์จำนวนหนึ่งลงมาช่วยที่โรงพยาบาลปัตตานี หลังจากต้องปิดห้องผ่าตัด ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีบุคลากรติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้ การผ่าตัดเร่งด่วนของโรงพยาบาลปัตตานี ได้ส่งต่อไปที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลโคกโพธิ์ และโรงพยาบาลสมเด็จฯ นาทวี เป็นต้น และ ทาง สธ.วางแผนที่จะตั้งโรงพยาบาลสนาม ICU เพิ่มขึ้น ประมาณ 80เตียง สำหรับผู้ป่วยสีเหลืองที่ต้องให้ออกซิเจนอัตราการไหลสูง (High flow) ซึ่งได้ส่งเครื่องมือแพทย์ และเครื่องทำออกซิเจนจำนวนหนึ่งลงไปในพื้นที่แล้ว

การควบคุมป้องกันโรค COVID-19 4 จังหวัดชายแดนใต้

นายแพทย์สุเทพ เสนอว่า โควิด-19 จะอยู่กับพื้นที่ชายแดนใต้ไปอีกพักใหญ่ หรือที่มีนักระบาดวิทยาคาดการณ์ว่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น จึงอยากเสนอให้รัฐบาลหรือ ศอ.บต. จ้างงานคนในพื้นที่ เพื่อรับมือกับวิกฤตนี้ ช่วยเสริมการทำงานแพทย์ พยาบาล ร่วมเป็นหน่วยตรวจเชิงรุกด้วย ATK หรือช่วยดูแลผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการกักตัวเองในบ้าน และชุมชน จ้างงานหนึ่งคนช่วยดูแลติดตามอาการผู้ป่วยสัก 20 คน เป็นทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ และคนที่มาทำงานจุดนี้จะมีความรู้ติดเนื้อติดตัวสำหรับการดูแลชุมชนระยะยาวต่อไป ขณะนี้ สธ.ได้ส่งทั้ง ATK และยาฟาวิพาราเวียร์ไปไว้ที่สำนักงานสาธารณสุขทั้ง 4 จังหวัดแล้วจำนวนมาก

เร่งฉีดวัคซีนตัดวงจรระบาดโควิดสายพันธุ์เดลตา

หลังจากที่ สธ.จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 1 ล้านโดส สำหรับความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิดในพื้นที่ตั้งเป้าฉีดเข็มแรก 70% ภายในสิ้นเดือนตุลาคม ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงสัปดาห์เดียว นายแพทย์สุเทพ กล่าวว่า ศบค.ส่วนหน้า สั่งการระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนช่วยเร่งรัดการฉีดวัคซีน ภายใต้แนวคิด ทุกคนในพื้นที่จะต้องได้รับวัคซีน เช่น ฝ่ายปกครอง อปท. พาประชาชนในพื้นที่มาฉีดวัคซีน โดยมีผู้นาศาสนาเป็นผู้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนในพื้นที่ ซึ่งที่จังหวัดสงขลาและยะลามีคนมาฉีดเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ที่ปัตตานีและนราธิวาสยังต้องรณรงค์เชิงรุกให้มากขึ้น ตัวเลขการฉีดวัคซีน เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ต่างกันอยู่พอสมควร โดย

  • จังหวัดสงขลา ฉีดสะสม 1,420,324 คน คิดเป็น 55.37%
  • จังหวัดปัตตานี ฉีดสะสม 531,929 คน คิดเป็น 47.04%
  • จังหวัดยะลา ฉีดสะสม 502,354 คน คิดเป็น 53.03%
  • จังหวัดนราธิวาส ฉีดสะสม 566,023 คน คิดเป็น 43.98%

ทั้งนี้ นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตรสาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เขียนบทความวิชาการ “โควิดชายแดนใต้ปลาย พ.ศ. 2564 ตอนที่ 1 สภาพการระบาดและการเสียชีวิต” เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ในพื้นที่นี้ต้องฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร 90% จึงจะระงับการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาได้ การตั้งเป้าหมาย 70% ไม่พอ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ดังนั้น ถ้าโรคลดลงในเดือนสองเดือนนี้ก็คงจะลดลงจากธรรมชาติของโรค ไม่ใช่ลดลงจากการฉีดวัคซีน 

อย่างไรก็ดี นายแพทย์วีระศักดิ์ แนะนำให้ทำสงครามฉีดวัคซีนเข้าถึงประชากรที่ไม่มีภูมิต้านทานก่อนเชื้อโควิดเข้าถึง และเวลาที่จะแย่งประชากรจากโควิดด้วยวัคซีนเหลือน้อยแล้ว จะกําหนดยุทธศาสตร์อย่างไรดี เช่น ควรนัดหมายและตามตัวกลุ่ม 60-8 (ผู้สูงอายุ กลุ่มโรคประจำตัว 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์) มาฉีดวัคซีนทุกคน ป้องกันการป่วยหนักและการตายได้หนึ่งคน ลดภาระของโรงพยาบาลได้มาก การพิจารณาฉีดเป็นคลัสเตอร์ เช่น โรงงาน สถาบัน เรือนจํา ชุมชนเล็ก ๆ และ ตลาด เพราะผู้คนมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มในพื้นที่จํากัด ถ้าเชื้อเข้าถึงคลัสเตอร์ สมาชิกในคลัสเตอร์นั้นก็จะแชร์เชื้อด้วยกัน จึงต้องเร่งฉีดตามคลัสเตอร์ก่อนโควิดจะเข้าถึง รวมทั้งคนต่างด้าวที่อยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย และผู้ที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายด้วย

“ในพื้นที่ชายแดนใต้ตอนล่าง มีกลุ่มคิดต่างจากรัฐ และมีกลุ่มปฏิบัติการแยกดินแดน คนเหล่านี้ต้องหลบซ่อนตัวเพื่อหลบหลีกอํานาจรัฐ การหลบซ่อนตัวเป็นปัญหาทางระบาดวิทยา เพราะเขาจะเข้าไม่ถึงการฉีดวัคซีนและจะแพร่โรคออกในที่สุด ศบค. ส่วนหน้าต้องหาทางให้เขาเหล่านี้ได้รับวัคซีนโดยไม่แยกแยะจากคนทั่วไป ให้เขา เห็นว่ารัฐไม่ได้เอาวัคซีนมาเป็นเรื่องต่อรอง ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไรนั้น ทาง ศบค. คงจะหาทางจนได้”

The Active ได้ลงสำรวจสถานการณ์และพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ พบว่า ฝ่ายปกครองในพื้นที่ทยอยปิดหมู่บ้าน หรือล็อกดาวน์บางพื้นที่เป็นเขตกักกันโรค เช่น ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ‘นิพันธ์ บุญหลวง’ ออกคำสั่งปิดพื้นที่เสี่ยงเป็น 5 อำเภอ 22 ตำบล 49 หมู่บ้าน ประกอบด้วยอำเภอไม้แก่น อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอยะหริ่ง อำเภอมายอ และอำเภอสายบุรี โดยให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ดังกล่าว กำหนดจุดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ซึ่งในจำนวนหมู่บ้านที่ปิดยังคงเป็นอำเภอมายอที่เป็นพื้นที่น่าเป็นห่วงเป็นมีการปิดทั้งหมู่บ้านเยอะที่สุด 

ชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ขอร้องเจ้าหน้าที่รัฐก่อนปิดหมู่บ้านควรแจ้งก่อนล่วงหน้า เพื่อชาวบ้านสามารถกักตุนอาหารสำหรับกักตัว ที่ผ่านมา บางหมู่ถูกปิดตั้งแต่ 14 วันนานสุด 3 เดือน แต่ไม่ได้รับการเยียวยา และรัฐให้ถุงยังชีพไม่เพียงพอกับครอบครับที่มีขนาดใหญ่ อยู่กัน 9-10 คน ขณะที่บางบ้านอยู่กัน 2-3 คน 

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบางแห่ง ขอให้ ศบค.ส่วนหน้า มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการทำศูนย์พักคอย (CI) และการกักตัวที่บ้าน (HI) ควรมีความชัดเจนทั้งเรื่องกำลังคน และงบประมาณ เพราะบางโรงพยาบาลใช้โรงเรียนเป็นโรงพยาบาลสนาม เมื่อมีนโยบายเปิดเรียน 1 พฤศจิกายนนี้ ทำให้โรงเรียนหลายแห่งทวงคืนพื้นที่ การหาสถานที่ในการทำศูนย์พักคอยกับท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องยาก และยิ่งเป็นช่วงการเลือกตั้งท้องถิ่น เลือกตั้ง อบต.ในวันที่ 28 พฤศจิกายน จึงไม่มีใครกล้าตัดสินใจใช้งบประมาณและการจัดการเรื่องสถานที่ จนกว่าจะเลือกตั้งเสร็จ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง