รู้จักระบบบริการโควิด-19 ใน กทม.

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวัน ในการระบาดระลอกใหม่ ยังแตะหลักพันคน ทุกวัน และยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ระหว่างการรักษาอีกหลักหลายหมื่นคน

ความน่ากังวลสำหรับการระบาดระลอกใหม่ ผู้ติดเชื้อกลุ่มใหญ่อยู่ใน กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล หากนับจากวันที่ 1 เม.ย. ถึง 4 พ.ค. 2564 กรุงเทพฯ มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมแล้ว 15,309 คน จากทั้งหมด 46,037 คน หรือราว 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ

ทั้งทับซ้อนและซับซ้อน: การควบคุมโรคระบาดในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร?

“โครงสร้างระบบสุขภาพ” ของกรุงเทพมหานคร ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มี 11 โรงพยาบาลสังกัด ‘สำนักการแพทย์’ มีกองควบคุมโรคติดต่อ และศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง กระจายอยู่ 50 เขต สังกัด ‘สำนักอนามัย’ (รายละเอียด โครงสร้างการบริหารราชการ กทม.)

แต่ถ้าพูดถึง “พื้นที่กรุงเทพมหานคร” ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรในระบบบริการสุขภาพ เป็นพื้นที่ที่มีโรงพยาบาลมากที่สุดในประเทศ มีเตียง เครื่องมือแพทย์ บุคลากรและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากที่สุดในประเทศ กล่าวเฉพาะจำนวนโรงพยาบาลที่มีทั้งหมด 159 แห่ง ทว่า ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน มากถึง 113 แห่ง ที่เหลือ เป็นโรงพยาบาลสังกัดหน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงสาธารณสุข ทหาร ตำรวจ และโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งต่างคนต่างบริหารจัดการ และไม่เชื่อมโยงกัน

ก่อนหน้าวิกฤตการระบาดโควิด-19 ความไม่มีระบบควบคุมโรคที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ และไม่มีหน่วยงานใดสั่งการข้ามหน่วยงานได้ ส่งผลให้การควบคุมโรคทำได้ยาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การระบาดมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ มากกว่าหนึ่งพันคนทุกวัน

เราจะเข้าถึงระบบบริการโควิด-19 ใน กทม. ได้อย่างไร?

นี่คงเป็นคำถามในใจของใครหลายคน…

เพื่อที่จะควบคุมสถานการณ์การระบาดอย่างรวดเร็ว และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพอย่างทันท่วงที ขณะนี้ มีรูปแบบการตรวจหาเชื้อหลัก ๆ 2 แบบ คือ (1) การตรวจหาเชื้อเชิงรุกในชุมชนหรือพื้นที่เสี่ยงระบาด โดยกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย และทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว จากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และที่ระดมทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วจากจังหวัดใกล้เคียง และ (2) การเดินเข้าสู่ระบบบริการเพื่อตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง เมื่อสงสัยหรือเป็นผู้มีความเสี่ยงสัมผัสกับผู้ติดเชื้อยืนยันก่อนหน้า

เมื่อพบผู้ป่วย หรือการยืนยันผู้ติดเชื้อโควิด-19 ข้อมูลจะถูกส่งไปยัง สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) เพื่อคัดกรองประเมินอาการว่าอยู่ในกลุ่มอาการสีเขียว เหลือง หรือแดง ก่อนจะส่งข้อมูลไปยัง ‘Co-ward’ หรือ ‘ฐานข้อมูลบริหารจัดการทรัพยากร’ ของ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเวลานี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดสรรทรัพยากร ทั้งการจัดสรรเตียงและระบบส่งต่อตามความเหมาะสมของอาการผู้ติดเชื้อ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาการหนักในกลุ่มสีแดงและสีเหลือง จะได้รับการประเมินให้ส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น หากบางคนอาการหนักจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จะถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยวิกฤตหรือ ICU อยู่เท่านั้น ขณะที่ผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว จะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel

ส่วน ‘ระบบรถรับส่ง’ ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่มีอาการ กรณีไม่สามารถเดินทางเองได้ แม้อยู่ภายใต้การดูแลภาพรวมโดย Co-ward แต่ก็ได้รับการสนับสนุนรถจากหลายหน่วยงาน เช่น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ศูนย์เอราวัณ กทม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานเอกชนหรือมูลนิธิต่าง ๆ

แนวทางคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19

หนึ่งในข้อมูลเบื้องต้น หากผู้ป่วย ญาติ หรือคนในชุมชน ร่วมกันสังเกตอาการและเตรียมอุปกรณ์พื้นฐานเบื้องต้นให้พร้อมใช้อยู่เสมอ จะช่วยลดความซ้ำซ้อน และขั้นตอนในการซักประวัติเมื่อต้องติดต่อสายด่วน 1330, 1668 หรือแพทย์ เพื่อขอเข้ารับการรักษาได้

เช่น ที่ชุมชนสวนอ้อย เขตคลองเตย มีการประสานงานกับอาสาสมัครทั้งในและนอกชุมชน ในการขอใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เพื่อบอกระดับออกซิเจนในเลือดกับแพทย์ และเตรียมเครื่องผลิตออกซิเจน หากพบผู้ป่วยที่เริ่มหายใจด้วยตัวเองไม่ได้ รวมถึงใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนในการถ่ายภาพและคลิปส่งให้แพทย์ร่วมประเมินอาการ ว่าใครอยู่กลุ่มสีแดง เหลือง หรือเขียว (ตามรูปประกอบ)

ล่าสุด สธ. ออกแนวทางเพื่อตัดวงจรการระบาดให้เร็วขึ้นว่า ผู้ติดเชื้อทุกคนต้องเข้าสู่การรักษา แม้ไม่แสดงอาการ หากปฏิเสธการรักษามีความผิด ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนผู้ที่เข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง ให้ใช้วิธีแยกกักเพื่อช่วยควบคุมการระบาด ซึ่งขณะนี้หลายชุมชนในกรุงเทพฯ เริ่มใช้แนวทางตั้ง ‘ศูนย์พักคอย’ (ไม่เกิน 24 ชั่วโมง) สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีพื้นที่แยกกักที่เหมาะสมที่ถูกจัดตั้งเร่งด่วน ในสถานการณ์การระบาดลุกลามรวดเร็วในชุมชนแออัด

แล้วตอนนี้ สถานการณ์เตียงในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร?

เมื่อกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่แดงเข้ม ที่มีผู้ติดเชื้อหลักพันคนทุกวัน ยอดสะสมราว 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ คำถามสำคัญคือ จำนวนเตียงที่มีอยู่เพียงพอรับมือกับสถานการณ์หรือไม่?

ข้อมูลเมื่อ 2 พ.ค. 2564 ระบุว่า จากจำนวนเตียงทั้งหมดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ราว 20,000 เตียง ถูกใช้ไปแล้ว 70-80 % กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า จำนวนเตียงที่เหลือ ส่วนใหญ่เป็นของภาคเอกชน และไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเตียงที่เหลืออยู่เป็นเตียงประเภทไหน

เวลานี้ ‘Co-Ward’ จึงต้องบริหารจัดการเตียงด้วยการสำรองเตียง โดยนำผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ ICU ให้ออกมาอยู่หอผู้ป่วยสามัญมากขึ้น ส่วนโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ยังมีเตียงว่างอยู่ โดยผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่ไม่แสดงอาการสามารถรับบริการได้ และยังเพิ่มจำนวนเตียงได้เรื่อย ๆ

ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แล้วสถานการณ์เตียง ICU ในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร

“สถานการณ์ครองเตียง ICU ถึงระดับร้อยละ 80 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครนับว่าค่อนข้างวิกฤต”

คือสิ่งที่ อธิบดีกรมการแพทย์เปิดเผยกับ The Active จากข้อมูล ณ วันที่ 5 พ.ค. 2564​ โดยแบ่งเป็น ห้อง ICU ความดันลบ มีเตียงอยู่ทั้งหมด 264 เตียง ครองเตียงไปแล้ว 213 เตียงเหลือ 51 เตียง

ICU ประยุกต์ มีทั้งหมด 449 เตียง ครองเตียงแล้ว 372 เตียง เหลือ​ 77 เตียง​ และ​ Co-ward​ ICU มีทั้งหมด 179 เตียงครองเตียงแล้ว 139 เตียง​ เหลือ​ 40​ เตียง

นั่นหมายความว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนนี้เหลือเตียงว่างอยู่ทั้งหมด 168 เตียง​ ในจำนวนเตียงว่างนี้ 120 เตียงอยู่กับโรงพยาบาลเอกชน

จากสถานการณ์วิกฤต ICU ดังกล่าว กรมการแพทย์ เตรียมเปิด ICU เฉพาะกิจ ที่ลานจอดรถโรงพยาบาลราชวิถี อีก 10 เตียง ให้แล้วเสร็จในวันที่ 9-10 พ.ค. นี้ และจะตั้งเป้าให้ได้ 30 เตียงในลำดับถัดไปตามสถานการณ์ ทั้งยัง เตรียมพื้นที่ของโรงพยาบาลนพรัตน์ที่จัดตั้ง ICU เฉพาะกิจอีก 20 ถึง 30 เตียง ที่อยู่ระหว่างประเมินความพร้อมอีกด้วย


อ้างอิง

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

กระทรวงสาธารณสุข

ข้อมูลโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร

แบ่ง 7 โซนกลุ่ม รพ.ทั้งรัฐ-เอกชนดูแลผู้ป่วยโควิด พร้อมเปิดศูนย์แรกรับส่งต่อคนไข้

กทม. เดินหน้าขยายเตียง รพ.สนาม, Hospitel รองรับผู้ป่วยโควิดที่ยังเพิ่ม


ทำความรู้จักระบบสุขภาพไทยในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดระลอกแรก ได้ใน Data Visualization ชุด โควิด-19 ทำให้เห็นอะไรในระบบสุขภาพไทย ?

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active