โควิด-19 รุกคลองเตย : ช่วยชีวิต ปิดจุดเสี่ยง

19 เม.ย. 2564 เป็นวันแรกที่ The Active ได้รับข้อมูลว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนคลองเตย กทม. จากการระบาดระลอกใหม่ เดือนเมษายน

นอกจากข้อจำกัดเรื่องระบบส่งตัวผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษา เนื่องจากเข้าช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของการระบาดจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อร้องขอให้ผู้ติดเชื้อ “กักตัวรออยู่ที่บ้าน” ของภาครัฐ ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักสำหรับคนในชุมชนแออัดอย่าง “คลองเตย”

The Active ร่วมกับเวทีสาธารณะ ชวนนักวิชาการด้านสาธารณสุข ภาคประชาสังคม และตัวแทนผู้ติดเชื้อ ร่วมสนทนา “โควิด-19 รุกคลองเตย : ช่วยชีวิต ปิดจุดเสี่ยง” เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564

จากการรับฟังสถานการณ์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นำมาสู่การระดมข้อเสนอเพื่อจัดวางระบบการจัดการชุมชนคลองเตย ให้เอื้อต่อการควบคุมโรค หยุดวงจรการแพร่ระบาด

ข้อกังวลของชาวชุมชนคลองเตย โดยเฉพาะภายในบ้านที่พบผู้ติดเชื้อยืนยัน คือความกังวลระหว่างรอการจัดหาเตียงของภาครัฐ เพราะสภาพความเป็นอยู่ภายในบ้านที่แออัด

ผู้ป่วยรายหนึ่ง อยู่ร่วมบ้านกับสมาชิก 9 คน มีห้องน้ำเพียงห้องเดียว และก่อนที่จะตรวจพบเชื้อ พวกเขานอนรวมกันทั้งหมด

อีกคน เป็นแม่ของเด็กน้อยวัย 1 ขวบ 8 เดือน ที่ติดเชื้อ ต้องอาศัยอยู่ในแคมป์คนงานก่อสร้างระหว่างรอการส่งตัว วันที่ 4 หลังการพบเชื้อ เด็กเริ่มมีไข้สูง เหนื่อยหอบ และยังคลุกคลีอยู่กับทุกคนในบ้าน รวมทั้งตาและยาย ที่มีโรคประจำตัว

ทั้งสองครอบครัวนี้ ต้องรอเตียงอยู่ในบ้านที่แออัด โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้รอการจัดการเตียง 2 – 3 วัน แต่เมื่อเกินเวลาที่แจ้งไว้จึงทำให้เขาและครอบครัวทุกข์ร้อนใจ แม้หลังการพูดคุยในเวทีสาธารณะ จะมีหน่วยงานมารับทั้ง 2 รายทันทีในช่วงเย็น แต่นี่สะท้อนถึงปัญหาของชุมชนคลองเตย ที่อาจเป็นภาพเดียวกันกับชุมชนแออัดอีกหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร

ยังไม่รวมถึง ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ที่ยังเข้าไม่ถึงการจัดการตามระบบการควบคุมโรคตามมาตรการทางสาธารณสุข

คำแนะนำของ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ ผอ.ศูนย์รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19 ที่พอจะบอกกับตัวแทนผู้ติดเชื้อได้ในขณะนั้น คือ ช่วงที่ผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน ต้องพยายามแยกตัวเอง ของใช้ จากสมาชิกในบ้าน ใช้ห้องน้ำคนสุดท้าย ฆ่าเชื้อ เว้นช่วงเวลาการใช้ และให้ดูแลตัวเองตามอาการ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ตั้งสติ หากมีอาการหายใจไม่ทัน ให้รีบแจ้งข้อมูลเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือผู้นำชุมชนทันที

ขณะที่ ผอ.สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนคลองเตย ต้องมีการแยกตัวระหว่างผู้ป่วยและคนในบ้านซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงออกจากกันทันที

นี่คือคำแนะนำที่ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์เฉพาะหน้า แม้รู้ว่าอาจทำได้ยาก ภายใต้ข้อจำกัดของรูปแบบชุมชนและที่อยู่อาศัย

จากปัญหาเฉพาะหน้า การพูดคุยใน “เวทีสาธารณะ” ยังทำให้เห็นว่า ประชาชนและชุมชน มีอำนาจที่จะจัดการตัวเอง อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาความทุกข์ยาก ในยามที่รัฐยังไม่สามารถจัดการการดูแลตามระบบที่กำหนดไว้ ซึ่งมีปรากฏให้เห็นแล้วว่า การรอคอยด้วยความหวังที่เคว้งคว้าง มีผลลัพธ์สำหรับบางคนเป็น “ความตาย

เมื่อสำรวจต้นทุนชุมชนคลองเตย พบว่า ชุมชนมีพื้นที่ที่จะจัดสรรให้เป็นศูนย์พักพิงของผู้เดือดร้อน เพื่อลดความแออัดในบ้าน และสะดวกต่อการประสานงานแบบกลุ่ม จึงนำมาสู่ข้อเสนอในการสร้างกลไกความร่วมมือ 3 ส่วน

1) ตั้งศูนย์ประสานงานชุมชน เพื่อเป็นช่องทางให้ชาวชุมชนได้สื่อสารและมีคำตอบจากทีมงานในชุมชนกันเอง โดยศูนย์ฯ จะเป็นตัวแทนประสานต่อกับระบบต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งจะช่วยทำให้การสื่อสาร ประสานความช่วยเหลือลดความซ้ำซ้อน และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นได้

2) หน่วยย่อยแยกกักตัวในชุมชน ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อหรือพักรอ ภายในชุมชนย่อยในคลองเตย ที่มีมากถึง 43 ชุมชน ก่อนจะประเมินสถานการณ์ และส่งต่อไปยังศูนย์พักพิง

และ 3) ศูนย์พักพิง ที่ใช้ชื่อว่า “ศูนย์กักกันผู้ป่วยชั่วคราวรอส่งตัว” ทำหน้าที่รองรับผู้ป่วย ระหว่างรอการจัดหาเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อ ซึ่งมีวัด และโรงเรียน รวมถึงศูนย์เด็กเล็กหลายแห่งในชุมชน เป็นพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ในการใช้เป็นสถานที่ดังกล่าว แต่ต้องประสานเพิ่มเติมกับ กทม. ซึ่งมีอำนาจในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรค ที่ต้องให้ความเห็นชอบและร่วมมือสนับสนุนความรู้ทางการแพทย์ การควบคุมโรค และการอนามัย

พื้นที่ดังกล่าว อาจเป็นศูนย์พักพิงผู้เดือดร้อน คล้ายกับศูนย์พักพิงในยามเกิดภัยพิบัติ หรืออาจพัฒนาเป็นโรงพยาบาลสนามตามหลักเกณฑ์ของกรมการแพทย์ เพื่อดูแลคนในชุมชน ซึ่งมีการประเมินว่า หากมีการตรวจคัดกรองเชิงรุก อาจพบผู้ติดเชื้อจำนวนเลข 3 หลัก

หากทำได้ คลองเตยโมเดล จะเป็นรูปแบบที่ใช้จัดการ ควบคุมโรค กับชุมชนแออัดอื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร ได้อีกหลายแห่ง ซึ่งการระบาดที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

แม้จะควรเว้นการกล่าวโทษในสถานการณ์นี้ แต่ความเหลื่อมล้ำที่พิสูจน์ให้เห็นถึงขั้น มีผู้เสียชีวิต อาจทำให้คนจนในชุมชนแออัด เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ไม่ง่ายดาย

การมีระบบที่จัดการดูแลกันเองในชุมชนได้ โดยไม่ต้องเข้าไปยื้อแย่งทรัพยากรที่มีศูนย์กลางเดียว แท้ที่จริงแล้วก็คือ การกระจายอำนาจ และร่วมจัดการอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

ด้านปากท้องประจำวัน ผู้นำชุมชน มูลนิธิดวงประทีป และกลุ่มคลองเตยดีจัง จัดระบบช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ เช่น คูปองอาหารชุมชนซึ่ง เยาวชนในกลุ่มคลองเตยดีจังช่วยกันระดมทุนผ่าน TAEJAI.COM ทำภารกิจนี้

ส่วน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือระหว่างประชาชน ชุมชน ประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญ กับหน่วยงานรัฐและระดับนโยบาย ได้นำแนวทางการจัดการทั้งหมดนี้ หารือร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงตามโครงสร้างการบริหารสถานการณ์ปัจจุบัน

เพื่อทำให้ “คลองเตย” เป็นโมเดล และต้องรีบกระจายระบบการจัดการไปที่อื่นด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active

Alternative Text
visual note taking

ลลิตา วิจิตอมรวงษ์

เปลี่ยนเนื้อหาเข้าใจยาก ให้เป็นภาพเข้าใจง่าย เจ้าของเพจ Mis.lalita รักธรรมชาติ และชอบฟังเพลง