5 ความต่างที่ทำให้โควิด-19 เปลี่ยนไปจากที่เคยรู้จัก

สำรวจการระบาดระลอกใหม่ “โอมิครอน”

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่พุ่งสูงต่อเนื่อง จนกระทรวงสาธารณสุขยกระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 4 ทั่วประเทศ แต่มาตรการควบคุมโรคต่างจากที่เคยเป็น…

ท่ามกลางความเป็นห่วงว่ามาตรการรับมือ ตลอดจนแนวทางป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในอดีตเพื่อตีกรอบการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ให้ได้ผลกับการระบาดรอบนี้ ซึ่งมีบริบทและปัจจัยความแตกต่างในหลายเรื่อง

The Active รวบรวม 5 ความแตกต่าง ของการระบาดระลอกใหม่ ที่ต่างจากในอดีต

เชื้อ “โอมิครอน” รุนแรงน้อยกว่า “เดลตา” แต่แพร่ได้เร็วกว่า

จากข้อมูลช่วงต้นเดือน ก.พ. จะเห็นว่าเชื้อโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทยเป็นเชื้อโอมิครอน 97.2% รองลงมาเป็นเดลตา 2.8% โดยพบว่าโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 แม้จะไม่รุนแรงมากเทียบเท่าสายพันธุ์เดลตา แต่แพร่กระจายได้รวดเร็ว กว่ามาก

ผลการศึกษาเบื้องต้นจากสหรัฐอเมริกาที่เปรียบเทียบระหว่างการติดเชื้อโอมิครอนกับเดลตา จากกลุ่มตัวอย่างเกือบ 70,000 คน จากระบบของโรงพยาบาลไคเซอร์เพอร์มาเนนเต เซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. 2564 ถึง 1 ม.ค. 2565 พบว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ครึ่งเดียวที่มีแนวโน้มที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลเมื่อเทียบกับเดลตา โอกาสเข้าไอซียูน้อยกว่าประมาณ 75% และโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าราว 90%

ดังนั้นหากมองในแง่ความรุนแรงอาจดูไม่น่าเป็นห่วง แต่ในความเป็นจริงเมื่อมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นย่อมส่งผลให้สัดส่วนผู้ที่ติดเชื้อรุนแรงเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย  โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบางอย่างกลุ่ม 608 หรือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุ BA.2 มีความสามารถในการแพร่กระจายได้ดีกว่า BA.1 ประมาณ 30-40%

ผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่แสดงอาการ

หากเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดลตา ผู้ติดเชื้อในอดีตจะมีอาการรุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลานานกว่าอาการจะดีขึ้น สอดรับกับยอดผู้ป่วยอาการหนักที่มีจำนวนมาก โดยขณะนั้น มีเคสที่ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,300 ราย และ เคสปอดอักเสบ 6,000 ราย ขณะที่ปัจจุบันมียอดผู้ติดเชื้อประมาณ  20,000 คน มีเคสใส่ท่อช่วยหายใจ 200 ราย และเคสปอดอักเสบ 800 ราย

เคสใส่ท่อช่วยหายใจเคสปอดอักเสบ
ระลอกก่อน1,3006,000
ระลอกนี้200800
เปรียบเทียบจำนวนเคสผู้ป่วย

ที่สำคัญคือผู้ติดเชื้อหลายรายไม่แสดงอาการ ทำให้ไม่รู้ตัวเองว่าเป็นผู้ติดเชื้อ กลายเป็นพาหะนำเชื้อไปแพร่ต่อให้กับคนรอบข้างที่ไม่ระมัดระวังตัว จนกลายเป็นเป็นอีกในปัจจัยสำคัญที่การแพร่ระบาดรอบนี้กลับมารุนแรงขึ้น

จำนวนผู้ได้รับวัคซีนมากขึ้นเทียบกับในอดีต

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบนี้มีอาการน้อยหรือแทบไม่มีอาการเลย เนื่องจาก ประชาชนส่วนมากได้รับวัคซีนเรียบร้อยแล้ว คิดเป็น 70-80% ของประชาชนทั้งประเทศ ต่างจากในอดีตช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. 2564 ที่ประชาชนได้รับวัคซีนเพียงแค่ 20% เท่านั้น ทำให้ผู้ติดเชื้อรอบนี้มีอาการรุนแรงน้อยลง  

จำนวนผู้ฉีดสัดส่วน
เข็มที่ 152,956,90176.1%
เข็มที่ 249,357,63071.1%
เข็มที่ 318,610,28226.8%
สรุปการฉีดวัคซีนในประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.พ. 2565

สอดรับกับมาตรการที่ผ่านมา ซึ่งเน้นให้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการใช้การรักษาระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) ส่วนกลุ่ม 608 ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงวัยติดเตียงก็จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษหรือรับเข้าโรงพยาบาล​  

ทั้งหมดการครองเตียงเตียงว่าง
จำนวนเตียง173,73685,389 (49%)88,347
เตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก2,160383 (17.7%)1,777
เตียงสำหรับผู้ป่วย Oxygen High FLow5,612673 (12.0%)4,939
ศูนย์พักคอย Community Isolation 31 แห่ง3,9811,717 (43.2%)2,065
ศูนย์พักคอย Community Isolation เตรียมเปิดใหม่970970
จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยติดเชื้อในปัจจุบัน

เด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้น เสี่ยงกลับไปแพร่สู่กลุ่มเปราะบางที่บ้าน

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มองว่า กลุ่มผู้ติดเชื้อในรอบนี้มีเยาวชนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นการติดเชื้อช่วงที่ผู้ปกครองช่วงที่พาไปสังสรรค์เทศกาลตรุษจีน เมื่อรับเชื้อมาแล้ว ก็ไปติดต่อกับเพื่อนที่โรงเรียนอย่างรวดเร็ว แตกต่างจากรอบที่แล้วที่โรงเรียนปิดทั้งหมด เด็กและผู้ใหญ่อยู่บ้าน

อย่างไรก็ตาม อาการติดเชื้อในเด็กไม่ส่งผลรุนแรงมาก ยกเว้นเด็กที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคปอดแต่กำเนิด ภูมิแพ้ หรือ โรคประจำตัว หากพิจารณาจากสัดส่วนผู้ป่วยปอดติดเชื้อทั้งหมด มีเพียงแค่ 5 % เท่านั้นที่เป็นเด็ก โดยการจัดเตียงรองรับเด็กที่ติดเชื้อรุนแรงก็มีเพียงพอไม่น่ามีปัญหา

สัดส่วนเด็กที่ติดเชื้อเทียบกับผู้ติดเชื้อทั้งหมด
เดลตา13-15%
โอมิครอน15-17%
เปรียบเทียบจำนวนเด็กที่ติดเชื้อ

“ต้องจับตาในช่วงปิดเทอมสิ้นเดือนนี้ ที่เด็กจะไปรวมกลุ่มกันตามร้านเกม สถาบันกวดวิชา สถานที่จัดกิจกรรมออกค่าย ซึ่งอาจจะพบการติดเชื้อกลับมาและกลับมาแพร่ให้กับปู่ย่าตายาย โดยเฉพาะกลุ่ม 608  ดังนั้นจึงต้องเน้นย้ำเรื่องการใส่หน้ากาก ระยะห่าง ขณะที่ผู้จัดงานก็ควรจะมีมาตรการเข้มช้นในการคัดกรองเด็กเสี่ยงให้ได้มากที่สุด”

ล็อกดาวน์ มาตรการที่ไม่อาจสะกัดเชื้อ BA.2

อีกปัจจัยที่แตกต่างจากการระบาดระลอกที่แล้วคือนโยบายการล็อกดาวน์ ปิดสถานที่บางประเภทและขอความร่วมมือให้ประชาชนทำงานอยู่ที่บ้าน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่ช่วงนี้ สถานบริการ ร้านค้า ส่วนใหญ่กลับมาเปิดบริการตามปกติ รวมถึงการเดินทางข้ามพื้นที่ไม่มีข้อจำกัด 

ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตรระบาดวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประเมินว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันมาตรการล็อกดาวน์อาจใช้ไม่ได้ผลเพราะเชื้อ BA.2 มีความสามารถในการแพร่กระจายได้ดีกว่าเชื้อเดลตา ทางแก้ไขปัญหาจึงน่าจะเป็นการควบคุมการทำกิจกรรมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรุนแรง

รวมทั้งเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเพราะอัตราการฉีดวัคซีนที่อยู่ที่ 70% นั้นยังไม่เพียงพอ เพราะเชื้อยังสามารถมุดไปหาคนอีก 30% ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนได้ เพราะเชื้อนี้สามารถแพร่กระจายได้ในวงกว้าง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนพล บางยี่ขัน

นักข่าวรุ่นเก่าที่ชอบวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ เชื่อมั่นในพลังของข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์