ได้รับการช่วยเหลือแล้ว! เด็กขวบกว่า และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในคลองเตย

หลังแม่เด็ก วอนขอความช่วยเหลือ ผ่าน The Active ลูกชายวัย 1 ขวบ 8 เดือน ติดโควิด-19 รอเตียงกักตัวในแคมป์ก่อสร้าง แต่ยังเหลืออีก 7 คน ทิ้งโจทย์ใหญ่  “แยกกักตัว” คุมโรคระบาดชุมชนแออัด

วันนี้ (24 เม.ย. 2564) เวลา 16.50 น. The Active ได้รับแจ้งจาก สุภาพร ฉลาดทิพย์ ชาวชุมชนพัฒนาใหม่ (คั่วพริก) เขตคลองเตย กทม. ซึ่งเป็นแม่ของเด็กชายวัย 1 ขวบ 8 เดือน ที่ติดโควิด-19 ว่าลูกชายพร้อมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน 4 คน ได้รับการส่งตัวไปที่โรงแรมย่านรามคำแหง 83 (Hospitel) แล้ว แต่ในชุมชนคลองเตยยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กักตัวที่บ้านรอเตียงอีก 7 คน 

“ขอบคุณมากค่ะสำหรับทุกฝ่ายที่ประสานให้ ตอนนี้สบายใจขึ้นมากแต่ยังอดห่วงไม่ได้เพราะเขามีอาการอยู่ แต่น่าจะได้รับการตรวจจากหมอ” 

โดยก่อนมีการส่งตัวผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไปรักษาตัวครั้งนี้ สุภาพร ฉลาดทิพย์ ได้เป็นตัวแทนชุมชนคลองเตย เล่าถึงอาการของลูกชายและสภาพบ้านที่อาศัยในการกักตัวช่วงรอเตียงผ่านรายการเวทีสาธารณะ “โควิด-19 รุกคลองเตย : ช่วยชีวิต ปิดจุดเสี่ยง” ว่าลูกชายได้รับการตรวจพบเชื้อตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลให้กักตัวรอเตียงที่บ้าน โดยแจ้งว่าจะมารับภายใน 3 วัน แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครประสานมารับตัว เธอรู้สึกกังวลมากเพราะลูกชายมีไข้สูงตอนกลางคืน ท้องร่วง เหนื่อย หอบ แน่นหน้าอก หายใจแรงถี่ 

สำหรับบ้านที่เด็กชายวัย 1 ขวบ 8 เดือน ใช้กักตัวรอเตียง เป็นแคมป์พักคนงานก่อสร้าง  มีประมาณ 10 ห้อง แต่ละห้องอยู่กันประมาณ 2-3 คน แต่ห้องน้ำมีเพียงห้องเดียวใช้ร่วมกันทั้งแคมป์ สุภาพร บอกว่าเธอพยายามดูแลตัวเอง แยกตัว และฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังใช้ห้องน้ำ แต่หลายคนยังกังวล เพราะสถานที่แออัดและยากจะหลีกเลี่ยงในการใช้ของร่วมกัน  ภายในแคมป์มีคนได้รับการตรวจเชื้อโควิด-19 เพียง 5 คน รวมครอบครัวเธอซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 

บัญชา สินธุเจริญ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีกคนซึ่งอาศัยในชุมชนเดียวกัน และเป็น 1 ใน 4 คนที่ได้รับการส่งตัวไปที่ Hospitel ช่วงเย็นที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์และข้อจำกัดของการกักตัวที่บ้านในรายการเวทีสาธารณะด้วย โดยยอมรับว่า การกักตัวภายในบ้านที่มีพื้นที่จำกัด และอยู่รวมกันหลายคนเป็นเรื่องยาก

“ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา แต่มีอาการมาตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. เริ่มเจ็บคอ ไอ ปวดหัว มีไข้ วันนี้เริ่มมีอาการแน่นหน้าอก กลืนน้ำลายรู้สึกเจ็บ ร้อนระอุในตัวตลอดเวลา ขณะกักตัวที่บ้านได้กินยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ยาฟ้าทะลายโจร และน้ำขิง ส่วนบ้านที่ใช้กักตัวรอเตียง อาศัยอยู่กันถึง 9 คน มีทั้งเด็กและผู้สูงอายุซึ่งมีโรคประจำตัว ห้องน้ำต้องใช้ร่วมกัน การแยกพื้นที่ทำได้ยากเพราะมีข้อจำกัด” 

นิตยา พร้อมพอชื่นบุญ ประธานชุมชนสร้างสรรค์พัฒนา 7-12 เขตคลองเตย ซึ่งเป็นอาสาสมัครที่ดูแลและประสานงานให้กับคนในชุมชนบอกว่า ขณะนี้ชุมชนคลองเตย มีกลุ่มเสี่ยงอีกจำนวนมากที่รอผลการตรวจ หากผลออกมาเป็นบวก การกักตัวที่บ้านจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหากไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ ปัญหาของชุมชนขณะนี้ คือการที่ผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการรักษาและต้องมาใช้ชีวิตร่วมกับคนในบ้านที่อยู่กันแออัด การเว้นระยะหรือการป้องกันตัวเองและชุมชนให้ปลอดภัยจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ  ระบบควรจัดสรรตามอาการไม่ใช่ตามคิว 

ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ ผอ.ศูนย์รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19 แนะนำว่า ช่วงที่ผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน ต้องพยายามแยกตัวเอง ของใช้ จากสมาชิกในบ้าน ใช้ห้องน้ำคนสุดท้าย ฆ่าเชื้อ เว้นช่วงเวลาการใช้ และให้ดูแลตัวเองตามอาการ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ตั้งสติ หากมีอาการหายใจไม่ทัน ให้รีบแจ้งข้อมูลเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือผู้นำชุมชนทันที เพราะนี่เป็นสัญญาณอันตราย ให้ทดสอบด้วยการลองดูจำนวนครั้งในการหายใจใน 1 นาที วิธีนี้แพทย์จะสามารถประเมินอาการได้ กรณีที่ต้องคุยข้อมูลทางโทรศัพท์ ไลน์  และหากฉุกเฉินต้องมีเบอร์ที่สามารถติดต่อเพื่อจะเข้ารับการบริการได้ทันที 

ส่วนกรณีกลุ่มเสี่ยงสูงที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีสิทธิ์ที่จะได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุกคน โดยไม่เสียค่าใช่จ่าย โดยสามารถลงทะเบียนรับการตรวจได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขตามพื้นที่ที่อาศัยอยู่ หรือแจ้งผู้นำชุมชนให้ประสานงานช่วยเหลือการลงทะเบียนได้อีกทาง 

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส