นับถอยหลัง “โควิด-19” โรคประจำถิ่น

เข้าใจ ปลอดภัย หยุดสร้างความกลัว เพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19

“หาจุดสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ” เป็นสิ่งที่ได้ยินมาตลอดการระบาดของโควิด-19 หลังได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค และยาแรงที่สุดนั่นคือการ “ล็อกดาวน์” เมื่อครั้งการระบาดระลอกแรกและระลอกสอง

ผ่านมาจนเข้าปีที่ 3 ของการระบาด กระทรวงสาธารณสุข วางแผนเปลี่ยนผ่านโควิด-19 ไปสู่ “โรคประจำถิ่น” เป็นการส่งสัญญาณว่าวิถีชีวิตจะกลับมาเป็นปกติมากที่สุด และฟื้นฟูผลกระทบจากการระบาดที่ผ่านมา เพราะชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป

ถึงวันนี้อาจต้องยอมรับว่า สังคมและข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ยังมีผลทำให้หลายฝ่ายลังเล เพราะการระบาดระลอกสายพันธุ์โอมิครอนมีผู้ติดเชื้อสูง แต่ความจริงที่พบอีกด้านหนึ่ง คือส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง

จะคลี่คลายความกลัว ไม่รังเกียจ ตีตรา เมื่อโควิด-19 จะไม่ใช่โรคฉุกเฉิน และเตรียมปรับสู่โรคประจำถิ่น จะสร้างความมั่นใจ คลายกังวล ลดความสับสนได้อย่างไร?

The Active รวบรวมและสรุปข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยร่วมกันระหว่างกลุ่มคอมโควิด-19 (Community-led COVID-19 Support Workforce) และภาคีเครือข่าย เพื่อหาแนวทางใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างเข้าใจและปลอดภัย ในรูปแบบ Visual Note


โควิด-19 โรคประจำถิ่น

“โรคไม่รุนแรง” สถานการณ์โควิด-19 ที่แตกต่างจากการระบาดในปีที่ผ่านมา

สถานการณ์ของการระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน แม้จะติดเชื้อกันมากเพราะเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่ได้ไว แต่ผู้ติดเชื้อมีอาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรงต่างจากการระบาดปีที่ผ่านมา เหตุผลเป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อกันมากแล้ว

แม้สถานการณ์ของโรคจะเปลี่ยนไปรุนแรงน้อยลง แต่ความกลัว ความไม่เข้าใจของคนส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเกิดจากการทำให้รู้สึกกลัว จากทั้งสื่อและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐที่เกินความจำเป็น ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โรคในปัจจุบัน ตอกย้ำความไม่เข้าใจ นำไปสู่การรังเกียจ ตีตรา กีดกันผู้ติดเชื้อ และครอบครัว

ยกตัวอย่างมาตรการที่ถูกสั่งทำมาตั้งแต่แรกของการระบาดระลอกแรกและยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น การใส่ชุด PPE คุมสอบ การตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) ทั้งไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง และการเร่งหาทางเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งที่ไม่มีอาการ ความไม่เข้าใจเรื่องการรักษาดูแลเหล่านี้ นำไปสู่การใช้บริการในระบบสุขภาพที่เกินความจำเป็น และสร้างผลกระทบต่อผู้ให้บริการ ที่ควรจัดเก็บทรัพยากรเอาไว้ให้กับผู้ติดเชื้อกลุ่มอาการหนัก

ทั้งนี้ การป้องกันที่ถูกต้องเหมาะสม จะทำให้ทั้งตัวเราเองและคนอื่นปลอดภัย อยู่ร่วมกันได้ ลดความกลัว ไม่รังเกียจ และไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรมากจนเกินไป อย่างไรก็ตาม วัคซีนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ แม้สถานการณ์โรคจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะก็ยังสามารถช่วยลดการระบาด ลดการเจ็บป่วยรุนแรง ลดการตาย และลดโอกาสการเกิดภาวะ Long Covid ได้


โควิด-19 โรคประจำถิ่น

ติดเชื้อแล้วต้องดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อโควิด-19 กำลังนับถอยหลังสู่โรคประจำถิ่น

ถ้าตัวเองมีความเสี่ยงใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ต้องสำรวจตัวเองว่า​ มีอาการหรือไม่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ หรือ เป็นกลุ่มเสี่ยง คือ มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว เป็นสตรีมีครรภ์ หรือเป็นเด็กเล็ก หากใช่ทั้งสองอย่างนี้จึงควรรีบตรวจ ATK

หากตรวจแล้วไม่ติดเชื้อ ก็ใช้ชีวิตตามปกติ ใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา และเว้นระยะห่างกับผู้อื่น แต่ถ้าติดเชื้อ ให้สำรวจตัวเองต่อไปว่ามีอาการรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีอาการก็เข้าสู่ระบบ โทร 1330 หรือไปโรงพยาบาลตามสิทธิรักษาแบบ เจอ แจก จบ กลับมาแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Self Isolation รวมทั้งใช้ชีวิตปกติใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะกับผู้อื่น แต่ถ้า มีอาการหายใจถี่ หอบเหนื่อย รีบโทร 1669 เพื่อส่งต่อเข้าระบบ ให้แพทย์ดูแลรักษาอาการต่อไป


โควิด-19 โรคประจำถิ่น

แผน 4 ระยะเปลี่ยนผ่านโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ตั้งเป้าวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าจะปรับให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เริ่มเข้าสู่แผนระยะแรกมาตั้งแต่เดือนมีนาคม พยายามกดตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงไปมากกว่านี้ เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนเมษายนเข้าสู่แผนระยะที่ 2 คือคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น เป็นระนาบลดลงเรื่อย ๆ และระยะที่ 3 ในเดือนพฤษภาคม ลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือวันละ 1,000-2,000 คน ก่อนจะเข้าสู่ระยะสุดท้าย คือ ระยะที่ 4 เดือนมิถุนายนออกจากการเป็นโรคระบาด และเข้าสู่โรคประจำถิ่นในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

ทว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อในช่วงเดือนเมษายนยังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง และยังไม่เห็นว่าจะถึงจุดสูงสุดเมื่อไหร่ สวนทางกับแผนที่ระบุว่าจะทำให้ผู้ติดเชื้อลดลงจนเป็นระนาบ ไปสู่เดือนพฤษภาคมจนนำไปสู่อีกเดือนถัดมา จะต้องเหลือผู้ติดเชื้อ 1,000 – 2,000 คน ยังคงเป็นข้อท้าทายกับสถานการณ์จริง

แต่การประกาศเป็นโรคประจำถิ่นก็เป็นเสียงเรียกร้องมาจากทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชนเพื่อสร้างบรรยากาศฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งเสียหายและหยุดชะงักจากการระบาดของโควิด-19 มาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ประกอบกับสถานการณ์ของโรคมีความรุนแรงน้อยลง

จะทำอย่างไรเพื่อที่ทำให้การประกาศโรคประจำถิ่นเร็วขึ้น เป็นคำถามที่นำมาสู่ข้อเสนอรัฐควรจะทำดังต่อไปนี้

  1. ประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติให้ชัดเจน กล้าสื่อสารให้ประชาชนรับรู้
  2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและเชื่อมั่นว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือ
  3. สนับสนุนประชาชนจริง ๆ มีกระบวนการทำความเข้าใจ ให้ของใช้ที่จำเป็น ท่ีต้องช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

โควิด-19 โรคประจำถิ่น

ท่ามกลางผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น จะสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัยอย่างไร

โควิด-19 เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ โอกาสที่จะรับเชื้อหรือส่งต่อเชื้อ คือ การอยู่ใกล้ชิดกันโดยไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย นี่คือหลักการสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อนำไปสู่ความตระหนักรู้ที่ถูกต้องและปฏิบัติตัวอย่างสมเหตุสมผล

หนึ่งในข้อเรียกร้องของคนทำงานเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพ คือ รัฐต้องออกมาพูดให้ชัดว่า คนที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว เพราะสามารถรักษาตัวเองได้ ขณะเดียวกัน อาจต้องเลิกตรวจหาเชื้อ เมื่อจะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น

การเป็นโรคประจำถิ่น ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการระบาด แต่การระบาดไม่เป็นภาระต่อระบบสาธารณสุข เพราะมีเคสผู้ติดเชื้อที่ไม่จำเป็นต้องเข้าระบบ ไม่สิ้นเปลือง และที่ผ่านมาตอกย้ำว่า การตรวจเพียง ATK อย่างสมเหตุสมผลเป็นเครื่องมือสำคัญเพียงพอ ในแง่ช่วยแยกผู้ติดเชื้อและลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อต่อได้

ส่วนการสวมหน้ากากอนามัย การได้รับวัคซีนครบที่รวมถึงเข็มกระตุ้น และการล้างมือบ่อย ๆ ไม่นำมือมาสัมผัสบริเวณใบหน้าซึ่งเป็นช่องทางที่มีโอกาสนำเชื้อเข้าไปสู่ร่างกาย คือ การป้องกันโควิด-19 ที่ถูกต้องและเพียงพอแล้ว

ขณะที่การพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามสถานที่และร่างกาย การสวมใส่ชุด PPE ในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงน้อยในการรับเชื้อ การใส่ถุงเก็บศพ ห้ามอาบน้ำศพ เป็นสิ่งที่ควรยกเลิกเพราะถือเป็นการป้องกันที่เกินความจำเป็น


โควิด-19 โรคประจำถิ่น

แนวทางการลดผลกระทบ และสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย

เปลี่ยนจากการ “กักตัว” ของผู้ติดเชื้อเป็นการ “แยกตัว” คือข้อเสนอของภาคประชาชน ที่เห็นชัดเจนที่สุดหากโควิด-19 จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น

พวกเขายังเสนอว่ารัฐบาลต้องพูดให้ชัด เรื่องแนวทางการกักตัวที่อาจต้องเลิกใช้แนวทางนี้ เปลี่ยนเป็นการแยกตัวเอง เพื่อให้ผู้ติดเชื้อสามารถดูแลตัวเองได้ ออกไปซื้อยา ซื้ออาหารเองได้ ด้วยการป้องกันตัวเอง และต้องสร้างความเชื่อใหม่ว่า “อย่าฝากความปลอดภัยไว้กับคนอื่น”

ภาพความจำเรื่องความกลัวที่ฝังลึกตั้งแต่ระลอกแรก การป้องกันที่เกินความจำเป็น ทำให้เกิดความกลัว มาตรการที่ยังเข้มข้นมากเกินเหตุ เป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่โรคประจำถิ่น 

“เราต้องหยุดการตีตราผู้ติดเชื้อ จากองค์ความรู้ทั้งหมด พิสูจน์แล้วว่าเราอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้”

สิ่งสำคัญเร่งด่วนเพื่อให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น คือยกเลิกมาตรการที่สร้างความกลัวควบคู่กับการสร้างความมั่นใจว่า สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ กระทรวงต่าง ๆ ต้องเร่งทำความเข้าใจกับบุคลากรและทำให้เกิดแนวทางการปฏิบัติเป็นต้นแบบที่ถูกต้องกับคนในชุมชนและสังคม


Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

ลลิตา วิจิตอมรวงษ์

เปลี่ยนเนื้อหาเข้าใจยาก ให้เป็นภาพเข้าใจง่าย เจ้าของเพจ Mis.lalita รักธรรมชาติ และชอบฟังเพลง