‘ประชามติ เอกราชปาตานี’ ข้อเสนอทะลุเพดาน

ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้ด้านกระบวนการสันติภาพ

  • คนวงในโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้ให้เห็นด้านที่เป็นความหวัง สันติภาพช่วยเปลี่ยนพลวัตการต่อสู้ จากแนวทางอาวุธเป็นหลัก สู่แนวทางการเมือง แสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง
  • ถ้าลดความรุนแรง ปรึกษาหารือกับประชาชนอย่างกว้างขวางได้ โดยไม่ตัดทิ้งข้อเสนอการ ‘ทำประชามติเอกราช’
  • ปัจจัยทางการเมืองหลังเลือกตั้งทั่วประเทศ ทำให้กระบวนการสันติภาพสะดุดได้
  • ส่วน ‘คนในพื้นที่’ เห็นว่าการพูดคุยเปราะบาง เพราะฝ่ายความมั่นคงไม่ลดความอึดอัดใจของชาวบ้าน

นี่คือ ‘ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้ด้านกระบวนการสันติภาพ’ ที่ถูกปะติดปะต่อจาก ‘คนวงใน’ ที่อยู่ใกล้ชิดกับโต๊ะพูดคุยฯ ตั้งแต่อดีตและปัจจุบัน ทั้งจากภาครัฐ คือ ฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ, นักวิชาการที่เคยขึ้นโต๊ะพูดคุยฯ แล้ว ทั้ง รศ.มารค ตามไท อาจารย์สาขาการสร้างสันติ (หลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาเอก) มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่, ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) รวมทั้ง รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโภรัช อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มีงานวิจัยศึกษาขบวนการบีอาร์เอ็นกับอิสลามและการต่อสู้เชิงอุดมการณ์

‘ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้ด้านกระบวนการสันติภาพ’ เป็นไฮไลท์สำคัญในการจัดงานเสวนาออนไลน์ “ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้” (SCENARIO PATANI) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่สำนักข่าว The Motive จัดต่อเนื่อง 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 19-25 มิถุนายน เพื่อนำร่องการเป็นพื้นที่ปรึกษาหารือสาธารณะ (Public consultation) หนึ่งในสามข้อของกรอบ ‘หลักการพูดคุยทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพ’ ที่คู่ขัดแย้งระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและขบวนการบีอาร์เอ็นตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา

บทสนทนาของ 5 คนนี้ ชวนเราไปสู่ทางออกที่เป็นความหวังได้อย่างไร The Active ถอดความอย่างละเอียด เพื่อให้ความรู้นี้เป็นส่วนหนึ่งในการประคับประคองกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีด้วย


ประชามติ เอกราช ปาตานี
ภาพ: The Motive

รศ.มารค ตามไท ในฐานะอดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพ เมื่อยังปิดลับตั้งแต่ปี 2549 ในสมัยรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ และต่อเนื่องถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์​ เวชชาชีวะ และยังมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาด้านกระบวนการสันติภาพถึงปัจจุบัน เปิดประเด็นก่อนว่า 

“การพูดคุยสันติสุขกับกระบวนการสันติภาพเป็นคนละอย่างกัน ผมตั้งใจ, อยากพูดเรื่องกระบวนการสันติภาพ เพราะการพูดคุยคือกระบวนการปูพื้นของกระบวนการสันติภาพเท่านั้น เมื่อกระบวนการพูดคุยจบ คือการเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพ และเห็นว่าการพูดเรื่องภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้ ที่หลายคนตั้งใจให้เป็นการร่วมกันคิดภายในกรอบของรัฐธรรมนูญไทยนั้น เป็นการพูดอย่างไม่มีเหตุผล”

‘การพูดคุยสันติสุข’ เป็นเรื่องปัจจุบัน มีความเหมาะสมที่จะใช้กรอบของรัฐธรรมนูญ เพราะต้องหาจุดจบเพื่อปูทางสู่กระบวนการสันติภาพ แต่เรื่องกระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องของอนาคต เพราะฉะนั้น ไม่มีเหตุผลที่จะใช้กรอบของรัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นกรอบการพูดเรื่องอนาคต ต้องเข้าใจเงื่อนไขนี้กันก่อน 

รัฐธรรมนูญเป็นกรอบกติกาเพื่อให้คนอยู่ร่วมกัน คือพลเมืองที่มีชีวิต ไม่ใช่พลเมืองที่ตายแล้ว และรัฐธรรมนูญเปลี่ยนอยู่เรื่อยตามสถานการณ์ของโลก คนเปลี่ยนและวิธีที่คนที่อยากอยู่ด้วยกันก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญก็ต้องเปลี่ยน เพื่อแก้ไขปัญหาบางอย่าง หากไปแช่แข็งไว้จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่น สตรีกับการมีสิทธิเลือกตั้ง หลายประเทศในอดีต, รัฐธรรรมนูญไม่ได้กำหนดสิทธินี้ไว้ แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน สิทธิของสตรีในการเลือกตั้งก็เปลี่ยนไป แง่นี้ เมื่อพูดถึงอนาคตโดยใช้กติกาปัจจุบันเป็นกรอบ จึงรู้สึกว่าไม่มีเหตุผล และทำให้ความขัดแย้งจบไม่ได้

นอกจากนั้น, ยังมีประเด็นต้องแยกแยะอย่างสำคัญ คือการใช้สันติวิธีแก้ปัญหา รูปแบบของสันติวิธีต้องคู่ควรกับลักษณะความขัดแย้ง ความขัดแย้งบางอย่างใช้รูปแบบสันติวิธีบางอย่างได้ และบางอย่างใช้ไม่ได้ ต้องจัดการให้ถูก ยกตัวอย่าง ปัญหาความขัดแย้งยุคพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยช่วงสงครามเย็น คนจะยกเรื่องคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 หรือ ‘คำสั่งที่ 66/23’ นโยบายให้คนกลับเข้ามาร่วมพัฒนาชาติไทยว่าเป็นสันติวิธี ต้องเข้าใจว่าเป็นคนละเรื่องกับปาตานีขณะนี้ เพราะสถานการณ์ในอดีตมีคนจำนวนหนึ่งอยากเปลี่ยนรัฐไทยให้เป็นคอมมิวนิสต์ การใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหานั้น ถือเป็นเรื่องเหมาะสม 

ทว่า กรณีปาตานี/ปัตตานี ไม่ใช่การอยากเปลี่ยนรัฐไทย แต่เป็นปัญหาว่าคนจำนวนหนึ่งไม่อยากอยู่กับรัฐไทย อยากแยกต่างหาก เพราะฉะนั้น รูปแบบสันติวิธีต้องเปลี่ยน ไม่ควรใช้รูปแบบวิธีเดียวกัน จึงต้องคิดรูปแบบอื่นสำหรับปัญหาที่ต่างออกไป ส่วนตัวคิดว่า กระบวนการสันติภาพเองไม่ต้องใช้สันติทุกกรณี เราไปยิงคนตายหมดก็สร้างสันติภาพได้ ในประวัติศาสตร์ก็ทำมาหลายครั้ง เราใช้สันติภาพในการฆ่าคนที่เป็นศัตรู 

“ข้อสรุป ณ ขณะนี้ ในที่สุดกระบวนการสันติภาพปาตานีหนีไม่พ้นการจัดประชามติเอกราช แม้ว่าจะไม่ชอบ ไม่อยากพูดถึง พยายามหลบเลี่ยงไปทางใดแล้วก็ตาม” 

หลังจากการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขจบ, สังคมไทยจะเจอของจริง ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาต้องยอมรับก่อนว่าในโลกนี้ ไม่มีรัฐใดชอบการทำประชามติเพื่อเอกราช ปฏิกิริยาของรัฐ, มีตั้งแต่ไม่ยอมให้ทำเลย แต่ก็ดื้อทำกัน เช่น แคว้นคาตาโลเนียกับสเปน รัฐไม่ยอมเลย ใครทำก็จะถึงกับติดคุกหรือหนีออกนอกประเทศ หรือกรณีที่รัฐยอมให้ทำ เมื่อแนวโน้มประชามติผ่านแล้วก็ไม่ยอมรับ เช่น การลงประชามติแยกรัฐควิเบก ประเทศแคนาดา เป็นเอกราช พ.ศ. 2538 แต่สัปดาห์หนึ่งโพลสำรวจความเห็นล่วงหน้าออกมาความเห็นประชาชนสูสีกันมาก นายกรัฐมนตรีแคนาดาก็ประกาศว่าต่อให้การทำประชามติผ่านแล้วก็จะไม่ให้เอกราชแคว้นควิเบก หรือกรณีสหรัฐราชอาณาจักรกับสกอตแลนด์ ก็มีการประกาศก่อนล่วงหน้าว่า หากประชามติผ่าน, สหรัฐราชอาณาจักรจะช่วยประคับประคองให้สกอตแลนด์สามารถเป็นอิสระ และผู้คนดำเนินชีวิตต่อได้ จะเห็นว่ามีปฏิกิริยาของรัฐต่อเรื่องนี้มีหลายแบบ

ทำไมกระบวนการสันติภาพปาตานี/ปัตตานีหนีไม่พ้นการจัดประชามติเอกราช? เหตุผลอยู่ที่ลักษณะความขัดแย้ง รัฐไทยปัจจุบัน ไม่มีทางปฏิรูปตนเองได้ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งเช่นในอดีต ที่เคยแก้ปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์ไทยได้ และยิ่งคู่กรณีของความขัดแย้งยกสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองขึ้นมาอ้าง ซึ่งไม่ทราบว่าคนที่ยกสิทธินี้มาอ้างมีจำนวนมากเท่าใด ยิ่งบีบบังคับให้รัฐไทยหนีไม่พ้นการทำประชามติเอกราช เพราะหัวใจของสิทธินี้ คือการบอกว่าประชาชน คนสำคัญกว่ารัฐ ไม่ใช่รัฐสำคัญกว่าประชาชน เป็นจุดที่ต้องตีความให้แตกว่ายอมรับกันได้หรือไม่ และ ความน่ากลัวของการทำประชามติเอกราช คือการบอกว่าประชาชนสำคัญกว่ารัฐ และรัฐมีไว้เพื่อความทุกข์สุขของคน คนไม่ได้มีอยู่เพื่อรักษารัฐ นี่คือหัวใจของสิทธินี้

หากยอมรับหลักการข้างต้น, สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองไม่ได้หมายถึงการได้เอกราช เพียงแต่บอกว่า “เราต้องการบอกว่าเรามีทางเลือกจะเอาหรือไม่เอาเอกราช” ดังนั้น หลายประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับเอกราช แต่มีคนจำนวนหนึ่งเห็นด้วยทำประชามติเอกราช เพราะประชาชนอยากเป็นคนบอกเองว่าไม่ต้องการเอกราช ไม่ต้องการให้รัฐบอกว่าไม่ห้ามมีเอกราช เป็นคนละเรื่องคนละระดับ สิทธิกำหนดชะตากรรมตนเองนั้น ชื่อบอกอยู่แล้วว่าต้องการมีทางเลือกในการกำหนดชะตากรรม ไม่ได้แปลว่าจะกำหนดไปทางไหน เพราะคนมีความแตกต่างทางความคิด คนปาตานี/ปัตตานีอาจมีทั้งคนที่อยากได้และไม่อยากได้เอกราช แต่เขาต้องการเป็นคนบอกเอง ไม่ต้องการให้รัฐบอก 

ในทุกประเทศที่มีกลุ่มคนยกสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองขึ้นมาต่อสู้ทางการเมือง หนีไม่พ้นต้องทำประชามติเอกราช ถ้าอยากยุติความขัดแย้ง ถ้าไม่อยากยุติก็มักจะหาวิธีหลบหลีก เช่น วิธีการปกครองรูปแบบพิเศษชั่วคราว แต่ท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นต้องจัดทำประชามติ ซึ่งไม่น่ากลัวเท่าใดนัก

ผมมีโอกาสได้คุยกับนายทหารจำนวนหนึ่ง ถ้าต่อสู้ทางการทหารเขามีความมั่นใจก็รบกันไป แต่การที่ฝ่ายขบวนการเห็นต่างจากรัฐเข้ามาต่อสู้ทางการเมือง เขาลำบากใจแล้ว เริ่มจะไม่มั่นใจแล้วว่าจะสู้อย่างไร เพราะเวลานี้จะมีคนยกเรื่องสิทธิ ยกเรื่องรูปแบบการปกครองพิเศษ ยกเรื่องการทำประชามติเอกราชมาเป็นลำดับ และท้ายที่สุดก็อาจไปสู่ปลายทางการเสียดินแดน ผมสนใจว่าทำไมฝ่ายทหารและรัฐคิดเช่นนี้ เพราะหากมีประชามติเอกราชจริง ประชามติอาจไม่ผ่านก็ได้ แต่ความกลัวนั้น ทำไมรัฐเชื่อว่าปาตานีจะทำประชามติเอกราชผ่าน แปลว่ารัฐมีอะไรอยู่ในใจ ขณะเดียวกัน ผมเคยถามคนที่สนับสนุนเอกราชปาตานี ถ้าทำแล้วคิดว่าคนปาตานีจะเลือกเอกราชกี่เปอร์เซ็น เขาคิดว่าประมาณ 50 – 60% ซึ่งไม่ได้มากถึง 90% เพราะกระบวนการทำซับซ้อนมากต้องวางแผน ไม่ใช่การเล่นเกม 

ในโลกนี้, มีการทำประชามติเอกราชมาแล้วหลายร้อยประเทศ ที่ผ่านมติมีแต่ไม่มาก และความเห็นของประชามติที่ผ่านก็ไม่สูสีกันมากระหว่าง 51 ต่อ 49  เช่น กรณีแคว้นควิเบก หรือสกอตแลนด์ก็ตาม ประเด็นของการทำประชามติไม่ใช่เรื่องใครแพ้ชนะ แต่คือการจัดการหาทางออกของความขัดแย้งด้วยสันติวิธี หลังจากผลออกมาอย่างไร มีความชอบธรรมที่ไม่สามารถให้ใครใช้ความรุนแรงต่อได้ 

สมัยผมเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพ ช่วงปี 2549 เคยถามตัวแทนฝ่ายขบวนการว่า ‘ทำไมถึงคิดว่ากำลังพูดแทนคนปาตานี/ปัตตานีอยู่?’ เขาก็ไม่รู้ว่าเขาพูดแทนอยู่หรือไม่ นี่เป็นเหตุผลสำคัญเวลาต่อมา จึงชวนตัวแทนภาคประชาสังคมบางคนเข้ามาร่วมด้วยในแทร็กหนึ่ง (ระหว่างคนที่กำกับทิศทางของความขัดแย้ง) เพื่อหาคำตอบว่าจริงแล้วคนปาตานีหรือคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้คิดอย่างไร และทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้เดินหน้าต่อไปได้

ส่วนการทำโพลสำรวจความเห็นกันเองก็ไม่มีใครรับผล ซ้ำต่างฝ่ายต่างอ้างผลโพลของฝ่ายตัวเอง จึงต้องทำความเห็นของประชาชนให้เป็นกิจลักษณะอย่างเป็นทางการ เมื่อมีกลุ่มคนอ้างสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง ดังนั้น งานที่จำเป็นต้องทำจริงจังหลังจากนี้ คือ การออกแบบการทำประชามติเอกราช ระหว่างคอย ‘คณะพูดคุยสันติสุข’ ดำเนินการพูดคุยให้ลงเอยพอมีพื้นที่และผู้คนพร้อมที่จะทำประชามติ นี่คือขั้นตอนเชื่อมโยงต่อเนื่องถึงกระบวนการสันติภาพในอนาคต

การออกแบบการทำประชามติเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยคิด รวมทั้งฝ่ายรัฐ บางประเทศไม่ต้องทำประชามติเพราะใส่เข้าไปในรัฐธรรมนูญแต่แรก เช่น สหรัฐอเมริกา รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หากรัฐใดต้องการเป็นอิสระและแยกตัวออกเป็นอิสระ เป็นไปได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องทำตามขั้นตอนอย่างละเอียด เป็นเรื่องยากมาก เพราะนอกจากทำประชามติในรัฐเอง ยังต้องไปบอกกับรัฐอื่นและประชามติจะผ่านได้ต้องมีคนเห็นด้วย 70% ขึ้นไป ทั้งหมดนั้นขั้นตอนซับซ้อนมาก แต่ที่สำคัญคือเป็นกระบวนการที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายรับทราบร่วมกัน เช่น กรณีรัฐเท็กซัสเคยอยากเป็นรัฐอิสระออกจากอเมริกา มีความพยายามมาตั้งแต่ต้นจนปัจจุบันก็ไม่เคยสำเร็จ ทุกวันนี้ มีพรรคการเมืองที่สนับสนุนเอกราชที่สามารถส่งนักการเมืองลงเลือกตั้งและถูกยอมรับให้เป็นรองผู้ว่าการรัฐเท็กซัสด้วย

แต่ประเทศไทยทำแบบสหรัฐอเมริกาไม่ได้ เพราะขั้นตอนการทำรัฐธรรมนูญผ่านเลยมาแล้ว ไม่สามารถย้อนกลับไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญได้ จึงต้องทำเหมือนหลายประเทศคือการทำประชามติเอกราช 

แง่นี้ การออกแบบการทำประชามติต้องทำอย่างไร? เพราะการทำประชามติเป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐ และเป็นเรื่องของรัฐสภาด้วย จึงต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติเอกราชในปาตานี/ปัตตานี หรือกฎหมายทำนองนี้ ดังนั้น จึงต้องมีงานออกแบบและเสนอเข้าไปในรัฐสภา ซึ่งมีรายละเอียดจำนวนมาก เช่น กำหนดให้ทำประชาชนภายใน 3-5 ปี เป็นต้น จากนั้นเป็นขั้นตอนของกระบวนการสันติภาพในช่วงรอคอยทำประชามติ เพราะจะต้องมีการพูดคุยกันในรายละเอียดของคนปาตานี/ปัตตานีเอง 

ตัวอย่างจากหลายประเทศ ปัญหาหนึ่งในการทำประชามติ อยู่ที่ฝ่ายสนับสนุนการเอกราชมักไม่ทำรายละเอียดว่าหากชนะแล้วรูปแบบการเมืองเป็นอย่างไร  ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งกลัวว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร กำลังไปสู่สิ่งที่ไม่แน่นอน ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่ชอบ จึงไม่เลือกเอกราช ดังนั้น ฝ่ายสนับสนุนเอกราชจะต้องทำงานหนักและละเอียดในการออกแบบทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ รวมทั้งการเงินการคลังว่าจะใช้สกุลเงินอะไร มีกระทรวงอะไรบ้าง งบประมาณด้านกลาโหมเป็นอย่างไร ก็คือการออกแบบประเทศนั่นเอง ส่วนคนที่ไม่เอาเอกราชก็จะถูกบังคับให้คิดถึงทางเลือกอื่น เช่น การปกครองพิเศษรูปแบบต่าง ๆ เมื่อเป็นการทำงานการคุยทางความคิดก็จะไม่มีการใช้ความรุนแรงเพื่อกดดันคู่ขัดแย้ง เช่น การระเบิดในตลาด ส่วนรัฐเอง, แม้ไม่ต้องการให้กฎหมายผ่าน แต่เป็นเรื่องจำเป็นต้องทำกระบวนการเหล่านี้

และคำถามที่ซับซ้อนที่สุดตามมา คือคนที่ไม่ใช่คนปาตานี หรือคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คนนอกพื้นที่จะวางตนเองอย่างไรท่ามกลางการมีประชามติเอกราช คนที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ แต่เป็นประชาชนธรรมดา

สมมติสถานการณ์ว่า กฎหมายผ่านรัฐสภาและมีเวลาทำประชามติเอกราชอีก 4 ปี คนในพื้นที่คุยเชิงประเด็นลงรายละเอียดต่าง ๆ การจะเอาหรือไม่เอาเอกราช การเมืองการปกครองข้างหน้าจะพากันไปทางไหน จะพังหรือไม่พัง และคนข้างนอกปาตานี/ปัตตานี พลเมืองไทยที่จะไม่เห็นด้วยมีมาก เพราะเขาจะอยู่ในวิธีคิดลักษณะไม่อยากเสียดินแดน หรือเมื่อสื่อไปถามความเห็นคนนอกพื้นที่จะรู้ว่าเขามองอย่างไร ผมเองเคยถูกถามจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงว่าทำไมถึงสนับสนุนทางเลือกเอกราช ผมจะสนับสนุนได้อย่างไร เพราะไม่ใช่คนปาตานี จังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่บ้านผม และในอนาคต ผมไม่ใช่คนลงคะแนนประชามติ แต่ผมสนับสนุนหลักการในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ให้ประชาชนมีทางเลือก

กรณีคนนอกพื้นที่จะสนับสนุนรัฐที่แยกตัวเป็นอิสระอย่างไรนั้น ยกตัวอย่าง เพื่อนชาวแคนาดา Jane Jacobs นักวิชาการมีชื่อเสียงด้านการวางแผนเมืองใหญ่ และเป็นคนเขียนตำรา Urban Study เขาไม่เคยสนใจมาก่อนว่าทำไมคนในแคว้นควิเบกต้องการแยกตัวเองออกจากประเทศแคนาดา ก่อนเขาเสียชีวิตไม่นานได้ออกหนังสือเล่มหนึ่งตั้งคำถามถึงการแยกตัวเป็นอิสระของแคว้นควิเบก โดยมีใจความสำคัญว่า เขาสนับสนุนเอกราชแคว้นควิเบก จากมุมมองการเป็นนักพัฒนาเมือง เขาพบว่า ความคิดของผู้คนมาจากเมืองใหญ่และจะมีส่วนช่วยมนุษยชาติได้ และมอนทรีออล เมืองหลวงของแคว้นควิเบกหากถูกทำลายไปจะสร้างความสูญเสียแก่มนุษยชาติอย่างไร หากเป็นบริบทจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี คนนอกพื้นที่จะมีมุมมองการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่อย่างไร

“คนนอกพื้นที่ชายแดนใต้จะมีวิธีหรือมุมมองอย่างไร เพื่อให้คนในพื้นที่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่อยู่กันด้วยความหวาดระแวง อัดอันตั้นใจ หลายประเทศเกิดสงครามกลางเมือง เพราะไม่มีกระบวนการสันติภาพที่ดี นี่คือตัวอย่างว่าการใช้สันติวิธีเพื่อชี้ทิศทางที่ควรจะไป  และในอนาคต คนที่แพ้ประชามติไม่ว่าใครก็ตาม จะยอมปรับความสุขใจปรับความรู้สึกของตนเอง ให้คล้อยตามเสียงส่วนใหญ่ หรือเพื่อสู้ในการทำประชามติครั้งต่อไป สิ่งเหล่านี้เป็นพลวัตของการอยู่ร่วมกันโดยไม่ใช้ความรุนแรง”

ประชามติ เอกราช ปาตานี
ภาพ: The Motive

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช ผู้มีงานวิจัย และวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกศึกษา ‘ขบวนการบีอาร์เอ็นกับอิสลามและการต่อสู้เชิงอุดมการณ์’ ชี้ให้เห็นหัวใจของความขัดแย้ง ตัวละครสำคัญ และปัจจัยกำหนดอนาคตกระบวนการสันติภาพคืออะไร

“เราต้องคุยกันก่อนว่าปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้ ตัวละครสำคัญคือใครบ้าง ถึงวันนี้ดูเหมือนความเข้าใจตรงกันมากขึ้น แม้หน่วยงานรัฐบางหน่วยยังพูดถึงภัยแทรกซ้อนในพื้นที่อยู่บ้างก็ตาม จากงานวิจัยศึกษา ‘ขบวนการบีอาร์เอ็นในเชิงอุดมการณ์’ ที่ชูธงชาตินิยมมลายู ทว่า ในการต่อสู้มีแง่มุมทางศาสนาด้วย ชูประเด็นการต่อสู้หลักคือ มลายู อิสลาม และปาตานี เรียกว่า ‘3 องค์ประกอบสำคัญของบีอาร์เอ็น’ และกลุ่มอื่น เช่น พูโลชูประเด็นคล้ายกัน” 

ในการต่อสู้ ฝ่ายนักรบมองว่าเป็นการญิฮาด ทำให้ฝ่ายความมั่นคงรู้สึกตกใจ โดยเฉพาะช่วงปี 2547 มีความหวาดกลัวมากว่า ปัญหาในภาคใต้จะไปเกี่ยวข้องกับการญิฮาดสากล ซึ่งหลายปีผ่านมา, มีความชัดเจนขึ้นว่าการต่อสู้ที่ภาคใต้ไม่เกี่ยวข้องกับการญิฮาดสากล แต่พูดแบบนี้, ไม่ได้หมายความว่าการต่อสู้ในพื้นที่ไม่ใช่ญิฮาด เพราะจากการศึกษาปฏิบัติการต่อสู้ของกลุ่มขบวนการมีร่องรอยการใช้ภาษาทางศาสนาของการญิฮาดอยู่ค่อนข้างมาก ในเอกสารการฝึกต่าง ๆ ของบีอาร์เอ็น ปรากฏทั้งภาษาชาตินิยมและภาษาทางศาสนามากพอสมควร 

คำถามที่หลายคนสนใจ ขบวนการบีอาร์เอ็นเข้ามาในการพูดคุยสันติภาพ, อธิบายตัวเองอย่างไร? เมื่อหลายคนบอก ‘ญูแว’ หรือนักรบในพื้นที่ว่าเป็นการต่อสู้ญิฮาดที่ศักดิ์สิทธิ์ แล้ววันหนึ่งคุณลุกขึ้นมาเข้าสู่การพูดคุยสันติภาพ เช่นนั้นแล้วจะอธิบายต่อคนในขบวนการอย่างไร เคยไปสัมภาษณ์ตัวแทนฝ่ายการเมืองของบีอาร์เอ็น ช่วงที่มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการ หลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขาพูดถึงบัญญัติ อัลกุรอ่าน ในซูเราะห์ที่ 8 และอายัดที่ 61 ที่ได้บัญญัติว่า “ … […] ..และหากพวกเขาได้โอนอ่อนมาเพื่อการประนีประนอมแล้ว เธอก็จงโอนอ่อนตามเพื่อการนั้นด้วย และจงมอบหมายต่ออัลลอฮฺเทอญ แท้จริงนั้น พระองค์คือพระผู้ทรงได้ยิน พระผู้ทรงรอบรู้…” ซึ่งหมายถึงว่า ในอัลกุรอ่านมีการพูดลักษณะส่งเสริมการพูดคุยสันติภาพ การเจรจากับศัตรูเป็นสิ่งที่กระทำได้ 

คำถามต่อมา การพูดคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทยเป็นการละทิ้งคุณค่าศักดิ์สิทธิ์การต่อสู้เพื่อเอกราชหรือไม่? จากการสัมภาษณ์สมาชิกอาวุโสของบีอาร์เอ็นท่านหนึ่ง อธิบายว่า การพูดคุยในปัจจุบันเป็นเรื่องตั้งคำถามกันได้ว่าควรกำหนดกรอบกันหรือไม่ แม้การคุยกันภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทยก็ไม่ได้หมายว่าว่าเขาละทิ้งถึงเป้าหมายการต่อสู้สูงสุดเพื่อเอกราช แต่เป็นลักษณะการต่อสู้เพื่อสะสมชัยชนะในแต่ละขั้นแต่ละตอน ซึ่งเป็นคำอธิบายการต่อสู้ที่เราพบในขบวนการเพื่อเอกราชในพื้นที่อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ทั้งมินดาเนาและอาเจะห์เอง และในทางวิชาการก็จะพบคำอธิบายในลักษณะนี้ด้วย

จริงแล้ว พวกเรา – คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องแก้ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงชายแดนใต้เดินทางมาไกล จากการพูดคุยสันติภาพครั้งแรกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2556 กว่า 9 ปี หากมองดูบทสนทนาคนในพื้นที่เปลี่ยนไปมาก ข้อสังเกตหลังจากปี 2547 ที่ความขัดแย้งรอบใหม่ปะทุเป็นต้นมา ประเด็นการกระจายอำนาจอาจยังพอพูดได้บ้าง แต่หากจะพูดถึงการปกครองพิเศษ หรือ Autonomy ในยุคนั้นพูดไม่ได้ ทว่า การพูดคุยสันติภาพ ทำให้พื้นที่การสนทนาทางการเมืองเริ่มเปลี่ยน มีพื้นที่ในการพูดคุยระหว่างกันมากขึ้น ในส่วนพลวัตการต่อสู้ การพูดคุยสันติภาพเข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนอย่างสำคัญในการต่อสู้พื้นที่ชายแดนใต้ จากเดิมที่มีการต่อสู้ทางการทหารเป็นหลักขยับมาสู่การต่อสู้ทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น

การที่คู่ขัดแย้งเริ่มต้นคุยใน ‘สารัตถะ’ ของ ‘หลักการทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพ’ (General Principle on Peace Dialogue Process) ใน 3 กรอบ คือ (1) การลดความรุนแรง (2) การปรึกษาหารือสาธารณะ และ (3) การแสวงหาทางออกทางการเมืองถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะในช่วงเวลา 9 ปีที่ผ่านมาไม่เคยคุยประเด็นที่เป็น “สารัตถะ” กันเลย จึงให้กำลังใจทุกภาคส่วนของรัฐและขบวนการบีอาร์เอ็นร่วมกันสนับสนุนและประคับประคองกรอบการพูดคุยนี้ต่อไป

ส่วนเรื่องความท้าทายในอนาคต ปัจจัยที่มีส่วนในการกำหนดว่าการกระบวนการสันติภาพจะเดินไปทางไหน มี 3 เรื่องหลักที่ชวนคิด คือ 

(1) บรรยากาศทางการเมืองโดยภาพรวมของประเทศไทย ซึ่งอีกไม่นานจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลและมีการเลือกตั้งทั่วประเทศ ไม่แน่ใจว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะ ทั้งนี้ ภายใต้กลไกการเลือกตั้งปกติอาจจะชนะ แต่การชนะภายใต้กรอบกติการัฐธรรมนูญหรือไม่ ประเด็นหลังไม่ค่อยมั่นใจนัก เนื่องจากการตั้งรัฐบาลยังมีเสียงสนับสนุนของ ส.ว. 250 เสียงเป็นเงื่อนไขอยู่ จะมีผลต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ ในการตัดสินร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม (Royalist establishment) และไม่แน่ใจว่าพรรคพลังประชารัฐจะแตกออกเป็นกี่พรรค แต่มีแนวโน้มว่าพรรคอนุรักษ์นิยมมีกำลังอยู่บ้าง จึงไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แนวโน้มจะเป็นอย่างไร หากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้จัดตั้งรัฐบาลจะเป็นสัญญาณที่ดีให้กระบวนการสันติภาพเป็นเสรีขึ้น แต่เขาจะได้เข้าสู่อำนาจหรือไม่, ไม่มั่นใจนัก 

ดังนั้น การเลือกตั้งมีผลอย่างสำคัญ เกี่ยวพันระหว่างความสัมพันธ์ทหารกับการเมืองและทิศทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ โดยเฉพาะทิศทางของการกระบวนการสันติภาพด้วย

(2) การปรึกษาหารือกับประชาชน (Public Consultation) ซึ่งมีการตั้งคำถามถึงวิธีการที่จะใช้คืออะไร จริงแล้วหัวใจอาจอยู่ที่เรื่องการลงประชามติเอกราชก็เป็นได้ มองคล้ายกับอาจารย์มารค ตามไท คือโดยทิศทางน่าจะเปิดเพดานของการพูดคุยให้มากที่สุด ซึ่งข้อห่วงใยของภาครัฐที่การพูดคุยเลยกรอบจากรัฐธรรมนูญไม่ได้นั้น แต่ทำไมจึงนำกรอบของปัจจุบันมากำหนดอนาคตที่ยังไปไม่ถึง มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่มีการพูดถึงทางออกกันอย่างเสรี โดยที่ไม่ต้องมีกรอบบังคับ เพราะไม่แน่ว่าการทำประชามติแล้วคนจะเลือกเอกราช 

สิ่งที่ดีที่สุด คือเปิดพื้นที่ให้คนทุกฝ่ายได้อภิปรายทางเลือกทุกเฉด ตั้งแต่การกระจายอำนาจ การปกครองพิเศษมีกี่รูปแบบจนไปถึงเอกราช ให้ประชาชนมีข้อมูลถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียทางเลือกรูปแบบต่าง ๆ 

การเกิดรัฐใหม่หรือประเทศเล็ก ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ตัวอย่างติมอร์ตะวันออก เมื่อได้เอกราชจากอินโดนีเซียแล้ว การใช้เงินสกุลยูเอสดอลลาร์ในทางเศรษฐกิจค่อนข้างยากลำบากในการหารายได้เลี้ยงดูประชาชน มีเรื่องต้องคิดค่อนข้างมาก ประชาชนอาจไม่เห็นว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง แน่นอนว่า ในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่ใช่มีแต่คนมลายูมุสลิม ยังมีคนพุทธ คนจีน และคนศาสนาอื่น ๆ อยู่ด้วย ดังนั้น เสียงของพวกเขาควรได้รับฟังด้วยเช่นกัน 

อีกประการหนึ่ง หากรัฐเปิดเพดานให้มีการพูดคุย ไม่น่าจะต้องกลัวว่าคนจะเลือกเอกราช หลายพื้นที่ในโลก การที่คนจะเลือกสร้างรัฐใหม่ หรือแยกไปจากรัฐเดิม ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ฆ่ากันเป็นจำนวนมาก ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว จนประชาคมโลกสนับสนุนให้แยกตัวเองออกมา ทั้งนี้ การแยกออกเป็นรัฐใหม่ ในการเมืองปัจจุบันของโลกนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยการมีรัฐมากจนไม่มีที่สิ้นสุดนั้นไม่ได้เป็นผลดีต่อการระบบเมืองระหว่างประเทศ ฉะนั้น ในมุมของประชาคมโลก หากไม่มีเหตุผลร้ายแรงสมควรจริงก็จะหาแรงสนับสนุนเพื่อแยกออกเป็นรัฐใหม่ไม่ง่ายนัก

ประเด็นสุดท้าย (3) ความเป็นเอกภาพของฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น ทั้งสองฝ่ายคู่ขัดแย้ง มีทั้งสายเหยี่ยว (ที่เน้นการใช้วิถีทางการทหาร) และสายพิราบ (ที่สนับสนุนแนวทางการเมือง) การพูดคุยบางครั้งมีการสะดุดเป็นระยะเนื่องจากฝ่ายเดียวกันเองไม่ได้มีข้อคิดเห็นเป็นทางเดียวกัน แง่นี้ การสร้างฉันทามติในฝ่ายเดียวกันเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าการสร้างฉันทามติข้อตกลงกับคู่เจรจา จึงเป็นข้อท้าทายว่าการสร้างความเป็นเอกภาพแต่ละฝ่ายจะทำได้แค่ไหน 

ยกตัวอย่าง การรวมตัวชูอัตลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ที่ สายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นสิ่งที่ภาครัฐฝ่ายความมั่นคงสายเหยี่ยววิตกกังวลว่าอาจมีบางกลุ่มบางคนที่ฝ่ายขบวนการจัดตั้งมา ซึ่งไม่น่าเป็นประเด็นที่ฝ่ายความความมั่นคงกังวล แม้ว่าจะมีคนของขบวนการสนับสนุนอยู่ออกมาชูธงสัญลักษณ์ เพราะหากรัฐต้องการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุย หรือปรึกษาหารือสาธารณะอยู่แล้ว ก็ต้องอนุญาตให้คนที่มุมมอง ทัศนคติ อุดมการณ์แตกต่างจากรัฐได้มีพื้นที่แสดงออกทางการเมืองได้อย่างเสรี แต่สันติ 

ฉะนั้น หากรัฐยังก้าวข้ามความคิดแบบนี้ไม่ได้ ก็ยาก ไม่มีประโยชน์ที่จะเปิดพื้นที่พูดคุยปรึกษาหารือกับประชาชาชน แทนที่จะไปกดปราบให้พวกเขาแสดงออกทางการเมืองบนดินอย่างสันติก็จะทำให้พวกเขากลับไปสู่ใต้ดินเหมือนเดิม ความขัดแย้งจะกลับไปสู่ยุคเดิมที่สู้รบด้วยอาวุธเป็นหลัก หากต้องการเปลี่ยนพลวัตของความขัดแย้งและก้าวเดินในหนทางที่ดีมากขึ้น ต้องอนุญาตให้พวกเขาแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น

“ถ้าคิดว่าขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นพรรคการเมืองพรรคหนึ่งก็ไม่แปลกที่คนสนับสนุนพรรคนี้ลุกขึ้นมาชูธง หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ตราบใดที่การแสดงออกนั้น กระทำอย่างสันติ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่อนุญาตให้ทำได้”

ประชามติ เอกราชปาตานี
ภาพ: The Motive

ฉัตรชัย บางชวด ในฐานะเลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ และเป็นนักความมั่นคงที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการสันติภาพมาอย่างยาวนาน การร่วมเวทีเสวนาครั้งนี้ ได้รับมอบหมายจาก พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยฯ​ อย่างเป็นทางการเพื่อสื่อสารความคืบหน้าและชี้ปัจจัยที่เป็นอนาคตของกระบวนสันติภาพให้ประชาชนทราบ

“ทาง สมช. มีส่วนร่วมขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2549 หรือ 15 ปี ถือว่าเป็นความภูมิใจขององค์กร ที่รัฐบาลและผู้บังคับบัญชาในอนาคตให้ความสำคัญเรื่องนี้ เอาใจใส่ขับเคลื่อน และดำเนินต่อเนื่องจริงจังมาตลอดเพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง มีการผลักดันประเด็นบรรจุไว้ในนโยบายสาธารณะและนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ เรื่อง ‘การพูดคุยสันติสุข’ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น”

เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของการพูดคุยสันติสุขมีความต่อเนื่องและไม่เปลี่ยนแปลง ใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ (1) การแปรเปลี่ยนการต่อสู้ด้วยความรุนแรงมาสู่การต่อสู้ด้วยสันติวิธีผ่านวิถีทางการเมือง เป็นความพยายามสำคัญที่ภาครัฐขับเคลื่อนแก้ปัญหาชายแดนใต้ (2) การเปิดพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพื่อนำมาหาจุดร่วมและแสวงหาทางออกร่วมกัน

ตั้งแต่ปี 2549 แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายยุค การดำเนินการเรื่องนี้ยังดำรงอยู่อย่างมั่นคงเพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง ระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา บนเส้นทางของกระบวนการสันติภาพ เป็นจุดเริ่มต้นวางรากฐานงานสันติวิธีที่นำไปสู่การแก้ปัญหายั่งยืนระยะยาวที่เป็นรูปธรรม 6 ข้อ คือ 

  1. มีการบรรจุการใช้สันติวิธี ด้วยการพูดคุยสันติภาพเป็นนโยบายของรัฐอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่นโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 และมีการบรรจุในนโยบายต่อเนื่องตลอดมา 
  2. มีการสร้างความเข้าใจและการรับรู้ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานราชการ รวมทั้งฝ่ายทหารและตำรวจมีความตระหนัก เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ ภาพที่ปรากฏในปัจจุบันสะท้อนความเข้าใจของฝ่ายความมั่นคงเป็นอย่างดี 
  3. มีการส่งเสริมบทบาทของกองทัพให้มีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุย หลายคนตั้งคำถามว่าเป็นความขัดแย้งหรือไม่ ในฐานะคนที่ดูแลความสงบและบังคับใช้กฎหมาย จริงแล้ว ตำรวจและทหารมีบทบาทสำคัญในฐานะที่เข้าใจพื้นที่ดี การเข้ามาร่วมรับรู้และตัดสินใจบางเรื่องเป็นสิ่งที่ฝ่ายผู้ใช้ความรุนแรงไว้วางใจ ว่าฝ่ายที่มีอำนาจจริงได้เข้ามานั่งในโต๊ะพูดคุยด้วย การตกลงทำสัญญาต่าง ๆ จะมีความมั่นใจได้ 
  4. การจัดกระบวนการพูดคุยมีกลไกรองรับเป็นระบบชัดเจน ภายใต้คำสั่งนายกรัฐมนตรี 3 ระดับ (ก) ระดับนโยบาย (ข) ระดับการพูดคุย และ (ค) ระดับประสานงานในพื้นที่ ทำให้มีคนร่วมขับเคลื่อนในการแก้ปัญหามากมาย 
  5. กระบวนการพูดคุยได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและจริงใจต่อคู่พูดคุย หรือคู่เจรจา จนมีผู้นำระดับสูงของขบวนการเห็นต่างจากรัฐเข้าสู่โต๊ะการพูดคุยด้วย และนำไปสู่การตัดสินใจได้ ซึ่งสะท้อนความมั่นใจการดำเนินนโยบายของรัฐ 
  6. ภาคประชาคมระหว่างประเทศมีความเข้าใจในการกระบวนการพูดคุย เจตนารมณ์ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาในพื้นที่ ทำให้องค์กรระหว่างประเทศเอื้อ สนับสนุน และช่วยสร้างบรรยากาศ มีการประสานงานสนับสนุนให้การพูดคุยเดินหน้าต่อไปได้ ทูตหลายประเทศเข้าใจและคิดว่านี่คือปัญหาภายในของประเทศไทยที่ต้องแก้ไขปัญหากันเอง โดยเฉพาะสามปีที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

การหาทางออกให้กับพื้นที่และสร้างบรรยากาศสงบสุข โดยมีประชาชนเป็นเป้าหมายสำคัญ ความมั่นคงของประเทศ คือความมั่นคงของประชาชนด้วย 3 ประการคือ  (1) ประชาชนต้องอยู่ดีกินดี พื้นที่ได้รับการพัฒนา (2) ความปลอดภัย ประชาชนต้องอยู่อย่างสงบเรียบร้อย (3) ความมั่นคงของมนุษน์นั้นจะต้องมีเกียรติ ศักดิ์ศรี สามารถใช้ชีวิตตามวิถีอัตลักษณ์วัฒนธรรมศาสนาอย่างเสรี ไม่ว่าทางออกความขัดแย้งเป็นรูปแบบวิธีการใดต้องไปสู่เป้าหมายประชาชนมีความมั่นคงใน 3 ส่วนนี้

บางวิธีออกจากความขัดแย้งอาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เช่น การใช้สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง การทำประชามติ หรือการพูดคุยสันติภาพที่เลยไปจากกรอบรัฐธรรมนูญ เพราะบางคนคิดว่า ถ้ายังไม่สามารถพูดคุยออกนอกกรอบได้ ยังไม่เรียกว่าเป็นการเจรจาสันติภาพที่แท้จริง เห็นว่า น่าจะมีทางเลือกที่หลากหลายไปสู่เป้าหมายความมั่นคงของประชาชน มีวิธีการอื่นที่เป็นไปได้โดยไม่มีเงื่อนไขมากมาย ภาครัฐพยายามทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความมั่นคง 3 องค์ประกอบเป็นส่วนสำคัญ  

“จุดยืนของนักความมั่นคงที่พยายามเน้นไปสู่ภาพอนาคตของกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ คือ (1) ความหลากหลายของวิธีการ เพราะการทำประชามติ รวมทั้งการทำความเข้าใจกับคนทั้งประเทศนั้น เป็นเรื่องละเอียด ซับซ้อน ยากลำบาก”

(2) การพูดคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากยังไม่ได้พูดคุยเลยกรอบของรัฐธรรมนูญถือว่ายังไม่ใช่กระบวนการเจรจาสันติภาพนั้น เป็นเพียงรูปแบบ อยากทำความเข้าใจว่า การพูดในที่สาธารณะของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือความเป็นรัฐเองก็มีข้อจำกัด โดยอำนาจหน้าที่ภารกิจที่รับผิดชอบ ทว่า มีทางออกคือ การมีเวทีเฉพาะที่สามารถพูดได้ทุกเรื่อง ทุกประเด็นที่นำไปสู่ทางออกในการแก้ปัญหาได้ ที่ได้สาระเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าไม่เคยทำกัน  

(3) กลไกที่รัฐออกแบบบางครั้งแข็งไป อาจมีจุดอ่อนไม่ครอบคลุม จึงทำให้เป็นแนวสันติภาพลูกผสมดังที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็ยังมีทางออกอื่น โดยแก้ไขเพิ่มการมีส่วนร่วมให้ครอบคลุมคนมากขึ้น ซึ่งสามารถออกแบบเพิ่มเติมได้ หรือให้พื้นที่เป็นคนออกแบบและเสนอฝ่ายรัฐ ทุกวิธีการมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น (4) การสื่อสารผลการพูดคุยเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ได้เข้าใจและรับรู้ ต่อไป, ภาครัฐและฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นจะรับข้อเสนอแนะนี้ เพื่อปรับวิธีการสื่อสารกับประชาชนให้มากขึ้น การจะบอกว่าคุยเฉพาะ ‘สล. 3′ อย่างเดียวคงไม่ได้ คงต้องมีเวทีเฉพาะสำหรับแต่ละคนกลุ่มคนมากขึ้น 

ส่วนแผนของคณะพูดคุยสันติสุขในอนาคตเป็นสัญญาณที่ดีอย่างหนึ่ง จากความพยายามในการสร้างความไว้วางใจกับกลุ่มขบวนการทุกกลุ่มต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 7 ปี เพียงแต่อาจจะมีลำดับขั้นตอนเพื่อให้กระบวนการเดินหน้าไปก่อน ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ได้มีการพูดคุยเป็นทางการนั้นจะมีการดำเนินการพูดคุยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มตามนโยบายฯ ส่วนการพูดคุยที่มาเลเซียเมื่อต้นเดือนเมษายน 2565 เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ เป็นความตั้งใจของภาครัฐ จากโอกาสที่สัมผัสโดยตรงกับกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น มีความไว้วางใจมากขึ้น แต่ก็มีจุดที่มีความเห็นต่างกันบ้าง เป็นเรื่องปกติ 

การพูดคุยที่มาเลเซียที่ผ่านมา เป็นพัฒนาการที่สำคัญมากกว่าในอดีต คือ (1) กรอบการพูดคุยที่เรียกว่า ‘หลักการทั่วไปฯ’ ข้อแรก คือการลดความรุนแรง แม้จะไม่ยั่งยืนระยะยาว แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีในช่วงของรอมฎอนสันติสุข ระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่สองฝ่ายเห็นชอบ และประชาชนในพื้นที่เห็นด้วย (2) การเปิดให้มีการปรึกษาหารือกับประชาชนและสร้างมีส่วนร่วน ภาครัฐและฝ่ายขบวนการก็เปิดช่องนี้ เหลือเพียงปัญหาเชิงการจัดการว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ภาคประชาสังคมกลุ่มต่าง ๆ ก็ต้องเข้ามาช่วยกันผลักดัน ใครปฏิเสธถือว่า เป็นผู้ไม่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพ (3) การแสวงหาทางออกทางการเมืองเป็นคุณค่าทางจิตใจของหลายฝ่ายในพื้นที่ที่ต้องการพูดคุยเรื่องนี้ และนโยบายก็เปิดให้สามารถพูดเรื่องการกระจายอำนาจได้ ทั้งเวทีปิดและเปิดเพื่อให้การถกแถลงข้อเท็จจริงรูปแบบต่าง ๆ เชิงลึก เหล่านี้เป็นเส้นทางเพื่อหาทางออกทางการเมืองสู่ภาพอนาคตของปาตานี/ชายแดนใต้ 

ในส่วนของ สมช. ได้เจอฝ่ายฝ่ายขบวนการมาหลายครั้ง โดยเฉพาะผู้อาวุโสของฝ่ายบีอาร์เอ็นมีความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ พยายามขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ต้องพูดคุยต่อไปเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น และต้องช่วยกันหลายฝ่าย ไม่ใช่แค่เฉพาะฝ่ายรัฐไทยหรือขบวนการเท่านั้น แต่รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ต้องช่วยกันแสวงหาทางออกทางการเมืองที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ คิดว่าไม่ใช่มิติทางการเมืองอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมเรื่องการบริหารพื้นที่ อัตลักษณ์วัฒนธรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย จะอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญหรือไม่ สิ่งสำคัญคือเมื่อทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์ก็จะทำเป็นทางออกที่เดินต่อไปได้ ไม่ต้องใช้วิธีการที่ซับซ้อนและยากลำบาก

ประชามติ เอกราชปาตานี
ภาพ: The Motive

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เคยเป็นหนึ่งในคณะพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อปี 2556 ทุกวันนี้ทุ่มเท สร้างความรู้เพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ให้แข็งแรง และมีส่วนอย่างสำคัญในการริเริ่มสร้างพื้นที่กลาง ให้พูดเรื่องละเอียดอ่อนทางการเมืองได้ เขาประเมินการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้อย่างไร

ในวงการทฤษฎีด้านสันติภาพในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีคำพูด แนวคิดและนิยามเรื่อง ‘สันติภาพที่เสรีและไม่เสรี’ เพราะสถานการณ์ทั่วโลกซับซ้อนและมีความเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การสร้างสันติภาพมีทั้งจบลงดีและไม่ดี บางครั้งจบลงด้วยความรุนแรงมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะ โดยไม่ได้แก้ปัญหาใดเลยก็มี ซ้ำเกิดปัญหามากขึ้น หากสันติภาพทำให้คนที่ทะเลาะกัน คนที่เคยเข่นฆ่าทำร้ายกันสามารถอยู่ร่วมกันได้ และหากมีการใช้ความรุนแรงจนถึงที่สุด ก็เกิดสันติภาพได้ฝ่ายเดียวโดยกำจัดคนที่ต่างจากตัวเองหายออกไป ดังนั้น เราจึงต้องการสันติภาพในแง่ดี ที่เสรี เสมอภาค สร้างความพึงพอใจร่วมกัน 

‘แนวคิดสันติภาพที่เสรี’ คือ กระบวนการสันติภาพที่สร้างการมีส่วนร่วมวางอยู่บนฐานคิดเรื่องประชาธิปไตย เกิดเครือข่ายความร่วมมือหลายฝ่าย มีการต่อรองเจรจาคุยกันให้มากที่สุด โดยหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งพอใจ หรือไม่พอใจน้อยที่สุด แนวคิดสันติภาพที่เสรีปรากฏชัดเจนช่วงแรกของการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ช่วงการพูดคุยปิดลับตั้งแต่ปี 2549 และเปิดอย่างเป็นทางการในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แนวคิดสันติภาพเสรีมีความหมายมากและต้องการให้เกิดขึ้นเช่นนั้น จึงมีการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมสร้างบรรยากาศ มีการเปิดพื้นที่พูดคุย มีข้อเสนอเรื่องรูปแบบการเมืองการปกครองหลายรูปแบบ ทั้งการปกครองแบบพิเศษ การปกครองจัดการตนเอง รวมทั้งการทำประชามติเอกราช เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้ง แต่การพูดคุยสันติภาพรอบแรก ปี 2556 ไปไม่ถึงไหนจึงต้องยุติ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยด้วยที่มีความไม่แน่นอน จนเปลี่ยนเป็นรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้มีการเปลี่ยนคณะพูดคุยถึง 3 ชุดจนมาถึงคณะพูดคุยสันติสุขชุดปัจจุบัน ที่พลเอก วัลลภ รักเสนาะเป็นหัวหน้าคณะ

ข้อสังเกตของ ผศ.ศรีสมภพ “ช่วงแรกของการพูดคุยวางแนวคิดเน้นสันติภาพแบบเสรี เราเรียก ‘การพูดคุยสันติภาพ’ มาโดยตลอด ตอนหลัง คณะพูดคุยชุดปัจจุบันเปลี่ยนการเรียกชื่อเป็น ‘การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้’ ในเชิงความหมายจะว่าเหมือนก็เหมือน แต่ก็มีความต่างอยู่” โดยอธิบายรายละเอียดว่า

แนวคิดสันติภาพเสรี บางทีก็ยอกย้อนวนไปวนมา บางครั้งก็ไปทางซ้ายหรือขวา บางครั้งก็ก้าวหน้าบางครั้งก็ถอยหลัง แต่คนในกระบวนการมีความมุ่งมั่นยึดมั่นแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกฝ่ายในการแก้ปัญหา นั่งบนโต๊ะพูดคุยอย่างเท่าเทียมกันและผู้คนในสังคมยอมรับกันได้ ให้การพูดคุยสันติภาพเป็นเรื่องปกติ หลักการควรเป็นอย่างนั้น ภายหลังมีพัฒนาการมากขึ้น คณะพูดคุยสันติสุขปัจจุบัน ออกแบบกระบวนการการพูดคุยเป็นลำดับชั้น มีกฎหมายรองรับเชิงโครงสร้าง และสามารถระดมการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่ายเข้ามาได้ นี่คือส่วนดี

แต่ก็ยังมีข้อสงสัยในมุมมองทางวิชาการว่าเป็นสันติภาพที่เสรีจริงหรือไม่? เพราะการออกแบบกระบวนการบางส่วนแข็งเกินไป คุมมากเกินไป แม้ว่าไม่ได้บังคับ แต่กระบวนการการจัดการมีการใช้อำนาจในเชิงอำนาจแฝง ใช้โครงสร้างอำนาจในการรองรับ ทำให้รู้สึกขาดความเสมอภาค ขาดโอกาสเท่าเทียมกันให้ฝ่ายที่เห็นต่างเข้ามามีส่วนร่วม นี้เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น แต่ไม่ถึงกับแย่มาก

“ตัวอย่างแนวคิดสันติภาพที่ไม่เสรี ใช้อำนาจนิยมในการจัดการ คนมักพูดถึงจีนกับการจัดการชนกลุ่มน้อยอุยกูร์หรือกรณีรัสเซียจัดการกับเชชเนีย ไทยอาจไม่ถึงขนาดนั้น ผมอยากจะเรียกว่าเป็นการใช้แนวคิดสันติภาพแบบลูกผสม (Hybrid) แม้ระยะหลังรัฐบาลไทย คนที่ทำงานด้านสันติภาพ โดยคณะพูดคุยสันติสุข พยายามเปิดมากขึ้นก็ตาม เพราะหากเป็นการรวมศูนย์หรือใช้อำนาจแข็งเกินไป อาจมีคนไม่พอใจ หรือถอยออก ไม่ยอมรับ ถูกวิพากษ์วิจารณ์”

ในด้านกลับ หากเปิดการพูดคุยด้วยแนวคิดสันติภาพเสรีอย่างเต็มที่ ทางฝ่ายรัฐอาจมีคนไม่เห็นด้วย และมีความเสี่ยงจากฝ่ายเดียวกัน แง่นี้ ข้อดีการทำงานของแนวคิดสันติภาพลูกผสมอาจเป็นความพยายามจากหลายฝ่ายในการช่วยคิดช่วยออกแบบ จนกระทั่งเกิดข้อเสนอกรอบ ‘หลักการทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพ’ ที่คู่เจรจาจะคุยลงลึกในสารัตถะ 3 ข้อ คือการลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง จนเป็นที่ยอมรับกันหลายฝ่ายว่าจะการพูดคุยสันติภาพเดินไปได้ ประเมินจากข้อตกลงหยุดยิงช่วง ‘รอมฎอนสันติสุข’ ที่ทีมประเมินอิสระจากภาคประชาสังคม เผยข้อมูลว่าลดความรุนแรงได้อย่างมาก

คำถามที่ตามมาหลังจากการมีกรอบข้อเสนอ ‘หลักการทั่วไปฯ’ แล้ว, คือจะออกแบบกระบวนการสันติภาพจากนี้อย่างไรให้สอดคล้อง มีส่วนร่วม สร้างบทสนทนาการพูดคุยแลกเปลี่ยนทุกเรื่องทุกประเด็น ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย รวมทั้งคนที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยจากกรอบนี้ จากทั้งฝ่ายรัฐและฝั่งขบวนการ และเปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนสนทนาที่มีการปูทางไว้นั้น ไม่ว่ารูปแบบการปกครองจะอยู่ในหรือนอกกรอบรัฐธรรมนูญ ครอบคลุมเรื่องการทำประชามติเอกราช เป็นหนึ่งในองค์ประกอบการแสวงหาทางออกทางการเมืองให้เป็นที่ยอมรับกันได้

“อย่ากังวลเรื่องการทำประชามติเอกราชมากนัก เพราะขณะนี้ ไม่รู้ว่าฝ่ายใดจะได้เสียงส่วนใหญ่ ในความคิดและรู้สึกลึก ๆ แล้ว, ไม่ใช่เพียงฝ่ายรัฐ ผู้มีอำนาจที่หวั่นไหว คนที่สนับสนุนให้ทำเอกราชเองก็หวั่นไหวไม่น้อยไปกว่ากัน”

สถาบันทางวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคม 24 องค์กรทั้งในและนอกพื้นที่ได้ริเริ่มสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559-2564  Peace Survey ทั้ง 6 รอบ มีคำถามเกี่ยวกับรูปแบบการเมืองการปกครอง ซึ่งสุ่มตัวอย่างให้เกิดความเป็นตัวแทนในกลุ่มผู้ตอบที่หลากหลายมาก ปรากฏว่าคำถามเกี่ยวกับการแยกตัวเป็นอิสระ มีคนเห็นด้วยคงที่ 5 ครั้ง ประมาณ 10% แต่คนที่ไม่ขอออกความเห็น และคนที่ยังไม่ตอบคำถาม อยู่ระหว่างการตัดสินใจอีก 50% คือไม่บอกว่าคิดอะไรอยู่ เป็นสิ่งที่ท้าทายคนในกลุ่ม 50% นี้จะมีความเห็นไปทางใด แน่นอนว่า กระบวนการในการพูดคุยควรเป็นทำให้ข้อเสนอประเด็นเอกราชเป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อหาทางออกร่วมกัน

“อยากให้รัฐควรขยับกรอบ เพดานการพูดคุยให้สูงขึ้นอีกสักนิด”

ประชามติ เอกราชปาตานี
ภาพ: The Motive

มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ เคยเป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาที่เข้าร่วมการชุมนุมครั้งใหญ่ที่มัสยิดกลางปัตตานี เมื่อปี 2550 ผันตัวมาเป็นภาคประชาสังคมจัดเวที “บีจารอปาตานี” (Bicara Patani) สื่อสารให้ชาวบ้านเข้าถึงข้อมูลข่าวสารกระบวนการสันติภาพ ล่าสุด ถูกเชิญตัวและถูกแจ้ง 19 ข้อกล่าวหาด้านความมั่นคงในฐานะผู้จัดการรวมตัวเยาวชนชูอัตลักษณ์มลายู ที่สายบุรี สะท้อนความเปราะบางของการพูดคุยสันติภาพที่มุ่งกดปราบความรุนแรงเป็นหลัก ข้อเสนอของเขาต่ออนาคตกระบวนการสันติภาพคืออะไร?

“ก่อนหน้าการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการครั้งแรก ปี 2556 ประมาณสองสัปดาห์ เกิดเหตุการณ์น่าตกใจ แกนนำนักรบ ‘มะรอโซ จันทรวดี’ โจมตีฐานทหารที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส มีนักรบเสียชีวิตทั้งหมด 16 คน ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รุนแรงปี 2547 นอกจากเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เหตุการณ์ตากใบแล้ว ไม่มีเหตุการณ์ใดที่กองกำลังเสียชีวิตมากเท่ากับเหตุการณ์การโจมตีฐานทหารเมื่อปี 2556 สำหรับคนที่เอาใจให้กลุ่มผู้ต่อสู้เหตุการณ์นั้นมีความหมายมาก และทำให้รู้สึกแพ้ขึ้นมา ขณะเดียวกัน ไม่มีเคยมีการระแคะระคายมาก่อนว่าจะมีการเจรจาสันติภาพเกิดขึ้น และการเจรจาครั้งนั้นเป็นการลงนามพูดคุยกันว่าจะคุยกันภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย คนที่กำลังรู้สึกแพ้อยู่แล้วยิ่งรู้สึกแพ้มากขึ้นไปอีก” 

พวกเราที่ทำงานภาคประชาสังคมรู้สึกว่าไม่ควรทำให้ประชาชนมีความรู้สึกสิ้นหวังเช่นนั้น ความตกใจกับกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นจากความไม่รู้มาก่อน ทั้งในหมู่คนที่กำลังต่อสู้ในพื้นที่ หรือแม้แต่คนในประชาสังคมชายแดนใต้เองด้วยซ้ำ ด้วยความช็อคจึงต้องทำอะไรบางอย่าง นั่นคือการเปิดเวที “บีจารอปาตานี” (Bicara Patani) เพื่อให้ข้อมูลกับชาวบ้าน 

ช่วงแรกของการพูดคุยสันติภาพ เราเข้าใจและได้รับข้อมูลจากเพื่อนฝั่งมาเลเซียว่าการพูดคุยทางการครั้งนั้น แกนนำตัวแทนฝ่ายขบวนการบางคนถูกจับตัว ถูกบีบบังคับเพื่อขึ้นสู่โต๊ะพูดคุย ความรู้สึกช่วงนั้น คือไม่ใช่การเจรจาสันติภาพที่ถูกต้อง วงพูดคุยบีจารอปาตานีช่วงแรกจึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ รับฟังความเห็น และข้อเสนอประชาชนในพื้นที่เพื่อขึ้นสู่โต๊ะพูดคุยสันติภาพ ยังไม่มีการสื่อสารทางสังคมออนไลน์ เป็นการตื่นตัวของชาวบ้านที่ต้องการรับทราบข้อมูลว่ามีอะไรเกิดขึ้นบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพและใครเกี่ยวข้องบ้างอย่างไร จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 2557 เวทีบีจารอก็หายไป เพราะมีกฎอัยการศึก และ ม.44 จนคนทำงานและผู้ประสานงานลงพื้นที่ไม่ได้

ปัจจุบัน เวทีบีจารอปาตานีกลับมาอีกครั้ง มีการติดตามการพูดคุยสันติภาพทุกครั้ง รวมทั้งครั้งที่คู่เจรจาเป็น “มาราปาตานี” ที่อ้างว่าเป็นองค์กรร่มของทุกขบวนการเห็นต่างจากรัฐ จุดยืนของเวทีบีจารอ ต้องการกระบวนการเจรจาที่มีความเข้มแข็ง และความแข็งแกร่งของฝ่ายขบวนการด้วย เพราะหากว่ากระบวนการเจรจาไม่มีกลไกที่เข้มแข็งก็อาจทำให้การพูดคุยล่มง่าย ไปไม่ไกล และไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาว 

จนกระทั่งมี ‘การพูดคุยสันติสุข’ ชุดปัจจุบัน สิ่งสำคัญที่คิดคือให้ชาวบ้านได้รับรู้ข่าวสารว่ายังมีการพูดคุยอยู่ และมีความคืบหน้าอย่างไร รายละเอียดแต่ละครั้งเป็นอย่างไร แต่เรื่องราวเหล่านี้กลับไม่ถูกสื่อสารต่อประชาชน รวมทั้งฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นก็ไม่สื่อสารกับประชาชนของตัวเอง ส่วนฝ่ายรัฐไทยเองก็ใช้กระบวนการของ ‘คณะประสานงานระดับพื้นที่’ หรือ ‘สล.3’ คุยกับฝ่ายประชาชนของตัวเองก็จบ แล้วชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องการรับรู้เรื่องนี้ด้วยอยู่ตรงไหนของกระบวนการสันติภาพ ทำให้เกิดความเฉื่อยชาของชาวบ้าน และไม่ตื่นเต้น จนมีการติดแฮชแท็ก #ยังตื่นเต้นกับกระบวนการเจรจาอีกหรือ ในเฟซบุ๊กหลายครั้ง แง่นี้ เวทีบีจารอจึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่กำลังสื่อสารกับชาวบ้านด้วยความเป็นกันเองและภาษาท้องถิ่น เพื่อให้รับรู้ว่าจังหวะไหนที่ชาวบ้านเสนอความคิดเห็นได้

“กระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องที่คู่เจรจาคุยกันคนละภาษาและเปราะบาง ฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นบอกว่าเป็นการพูดคุยสันติภาพ แต่ฝ่ายรัฐบาลไทยเรียกว่าการพูดคุยสันติสุข เมื่อยังไม่เป็นภาษาเดียวกัน แสดงว่าเวทีบีจารอต้องประคับประคองเพื่อให้กระบวนการถูกต้องและเดินไปได้ แม้มีความยากลำบากมากก็ตาม เพราะทุกตัวละครล้วนมีอำนาจ คู่ขัดแย้ง ฝ่ายมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยการความสะดวก ขณะที่ฝ่ายภาคประชาสังคมมีอำนาจน้อยที่สุด ทำให้พวกเราอยู่ในลักษณะอึดอัดและปะทะกันทางความคิดในพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดเวลา”

โดยเฉพาะมาตรการของรัฐที่เข้ามาจัดการคนจัดงานรวมตัวของเยาวชนแต่งชุดมลายูนับหมื่นคน เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 หลังเทศกาลรายอเดือนรอมฎอนสันติสุข สะท้อนว่า รัฐต้องการคือสันติภาพเชิงลบ (Negative Peace) คือเน้นการลดกดความรุนแรง ไม่ใช่สันติภาพเชิงบวก (Positive Peace) ที่ลดความอึดอัดใจของชาวบ้านเลย  โต๊ะพูดคุยสันติภาพประเมินว่าประสบความสำเร็จ ไม่มีสถานการณ์รุนแรงช่วงที่ทำข้อตกลงหยุดยิงช่วงรอมฎอนสันติ แต่เรื่องความอึดอัดใจของชาวบ้านกลับไม่ลดลงเลย ทั้งการตั้งด่านลอย การลาดตระเวนในหมู่บ้าน การมีทหารพรานผูกเปลนอนในป่าในสวนยาง สร้างความอึดอัดใจให้ชาวบ้านมาก

ทำไมการชุมนุมแต่งชุดมลายูของเยาวชนจึงกลายเป็นเรื่องความมั่นคง? สัตตาบันของกลุ่มเยาวชนก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรกับรัฐเลย เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางคนมองไกลด้านลบว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง ทั้งที่พวกเราออกมาเรียกร้องให้รักษาอัตลักษณ์ของเรากันเอง เหตุการณ์นี้ยืนยันว่าสิ่งที่รัฐต้องการมากที่สุด คือต้องการลดความรุนแรง ไม่ให้มีระเบิด ทำให้คนจัดงานถูกเชิญตัวไปสอบสวนและมีข่าวว่าตั้งข้อหา 19 ข้อหา แค่การรวมตัวแต่งชุดมลายูยังมีความผิดจะไปสู่การปรึกษาหารือสาธารณะที่คุยประเด็นแหลมคมกว่านี้ได้หรือ การแสดงตัวเพื่อทำให้คนรู้สึกความเป็นมลายูมากขึ้นและรัฐไม่พอใจหรือไม่ กลายเป็นประเด็นความมั่นคง จะเป็นอนาคตที่เป็นไปได้ของกระบวนการสันติภาพได้อย่างไร

“เวทีการพูดคุยสันติสุขเปราะบางมาก เน้นลดสถานการณ์ความรุนแรงเป็นหลัก ไม่ได้เน้นบรรยากาศการทำความเข้าใจให้ชาวบ้านลดความอึดอัดใจลงเลย ทำอย่างไรให้เวทีที่พูดคุยอนาคตปาตานีเป็นเวทีชาวบ้านพูดได้ ไม่ใช่พูดได้เฉพาะนักวิชาการเท่านั้น”

การสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการพูดคุยเป็นเรื่องสำคัญ ในพื้นที่ยังมีด่านความมั่นคงเต็มไปหมด ชายแดนนราธิวาสก็จะมีการทำกำแพงกั้นการข้ามชายแดนเพิ่มขึ้นอีก ไหนจะมีการบังคับใช้ ‘ซิม 2 แชะ’ ฝ่ายความมั่นคงบังคับบันทึกอัตลักษณ์เจ้าของซิมการ์ด หรือการเปิดบัญชีธนาคารพ่อบ้านใจกล้า เพื่อช่วยเหลือครอบครัวคนเสียชีวิตจากการปะทะฝ่ายที่ไม่ใช่คนของรัฐ ปรากฏว่าเจ้าของบัญชีธนาคาร รวมทั้งของคนที่โอนเข้ามาในบัญชีถูกฝ่ายความมั่นคงตรวจสอบทั้งหมด คือ เราไม่มีความเป็นตัวเอง มีกี่บัญชี รวมทั้งบัญชีภรรยาถูกตรวจสอบหมด ไม่มีแม้กระทั่งพื้นที่ส่วนตัว มองไม่ออกว่าในอนาคตกระบวนการสันติจะเดินหน้าต่ออย่างไร

“ย้ำอีกครั้งว่า โต๊ะพูดคุยฯ เปราะบางมาก และไม่อยากเห็นการพูดคุยสันติภาพล่ม ไปต่อไม่ได้ แต่ 9 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ มีพัฒนาของกระบวนการสันติภาพ เปิดให้คุยเรื่องต้องห้ามได้มากขึ้น แม้แต่ในขบวนการบีอาร์เอ็นเอง ก่อนหน้านี้ เรื่องการเจรจากับรัฐ หรือการปกครองตนเองก็คุยไม่ได้ จะถูกต้องข้อสงสัยว่ายอมประนีประนอมกับรัฐ และถูกตั้งคำถามว่าเป็นการลดธงการเรียกร้องเอกราชลงมา แต่ปัจจุบัน ขบวนการฯ เปิดมากขึ้น ถกเถียงในหลายเรื่องได้แล้ว สิ่งที่อยากเห็นในอนาคตคือ การพูดคุยเรื่องภาพอนาคตปาตานีสามารถนำไปคุยกับชาวบ้านในร้านน้ำชา คุยวงในมัสยิดได้ เพราะชาวบ้านทุกคนอยากรู้เรื่องนี้”


ติดตามการสรุปเนื้อหาจากเวที “ภาพอนาคตปาตานี ภาพอนาคตชายแดนใต้” กับ The Active ผ่าน SCENARIOPATANI

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง