“ประเทศประชาธิปไตยพูดเรื่องเอกราชได้อย่างปลอดภัย”

ธนาธร แสดงวิสัยทัศน์ มองภาพอนาคตปาตานี อนาคตชายแดนใต้ ชูข้อเสนอนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ชี้ ต้องทำให้ “เอกราช” เป็นเรื่องพื้นฐานและปลอดภัย เพื่อเดินตามฝันของคนพื้นที่ในทุกมิติ

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2565 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ครั้งหนึ่งเคยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แสดงความรู้สึกดีใจที่มีคนกล้าหาญลุกขึ้นมาจัดงานพูดคุยเรื่องอนาคตปาตานีและจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีความจำเป็นและควรมีมานานแล้ว “เพราะเราไม่สามารถหาทางออกจากขัดแย้งด้วยความรุนแรง และหากไม่มีการพูดคุยประเด็นความขัดแย้งอย่างเป็นสาธารณะ” รวมทั้ง ให้กำลังใจผู้ฝันเห็นสันติภาพในพื้นที่ทุกคน เขาแสดงวิสัยทัศน์ในงานเสวนาออนไลน์ “ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้” (SCENARIO PATANI) มีขึ้นทั้งหมด 7 วัน ระหว่างวันที่ 19-25 มิถุนายน 2565 จัดโดยสำนักข่าว The Motive เป็นวันที่ 3 มุ่งหมายให้เกิดการปรึกษาหารือในที่สาธารณะ

เอกราช
ภาพ: The Motive

ธนาธร เริ่มต้นวิสัยทัศน์จากการตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องมาพูดเรื่องอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้ เพราะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2547 เป็นต้นมา มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบแล้วจำนวน 5,776 คน มีจำนวนผู้บาดเจ็บและพิการ 12,995 คน และมีจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นทั้งหมด 9,440 เหตุการณ์ กล่าวได้ว่าในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ไม่เคยมีความขัดแย้งในสังคมครั้งใดนำมาสู่การสูญเสียมากมาย ผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และพิการ มีทั้งคนพุทธและคนมุสลิม มีทั้งครู เด็ก ผู้หญิง ผู้นำศาสนา และเจ้าหน้าที่รัฐ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาสู่ความหวาดกลัวในชีวิต ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ความกลัวต่อคนในชุมชนด้วยกันเอง ดังนั้น เป็นความชอบธรรมอย่างมากที่ภาคประชาสังคม ภาครัฐ เอกชน และทุกภาคส่วนมาหาทางออกร่วมกัน

ปาตานี/ปัตตานี: ปลายทางที่เราอยากเห็นเป็นอย่างไร

4 ข้อเสนอที่ธนาธรอยากเห็น คือ (1) มีสันติภาพ ประชาชนทุกความเชื่อ ทุกความศรัทธาอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และอยู่ร่วมกันด้วยไว้เนื้อเชื่อใจกัน (2) มีงานทำ ประชาชนมีงานที่มีคุณค่าทำ สามารถทำงานแล้วเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างเหมาะสม (3) มีวัฒนธรรมท้องถิ่น ปลายทางที่ผู้คนในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ทางวัฒนธรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ทุกวัฒนธรรมทุกความเชื่อได้รับการเชิดชู และ (4) ท้องถิ่นมีอำนาจของตนเอง โดยท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการบริการสาธารณะและทรัพยากรของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ฟ้า ป่า

ทั้งนี้ เขาให้ข้อมูลว่า งบประมาณแก้ปัญหา 3 จังหวัดในรอบ 19 ปี ใช้ไป 512,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขมหาศาลมาก เพียงพอสำหรับใช้ดูแลประชาชนด้านการสาธารณสุขเพียงพอ 67 ล้านคนได้หนึ่งปี เราใช้งบประมาณบัตรทอง โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งปีเพียงแค่ 2-3 แสนล้านบาทต่อปี เฉลี่ยแล้ว 19 ปีปฏิทิน หรือ 20 ปีงบประมาณ รัฐบาลไทยใช้งบฯ สำหรับแก้ปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้เฉลี่ย ปีละ 25,600 ล้านบาท จะว่าไป ปีหนึ่งงบฯ ในการแก้ไขปัญหานี้หนึ่งปีสามารถซื้อเรือดำน้ำได้หนึ่งลำเลย คูณจำนวนปี ในรอบเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา 

“ความสูญเสียในชีวิต สูญเสียทรัพย์สิน สูญเสียความเชื่อใจกันในหมู่ประชาชน และชุมชน การสูญเสียด้านงบประมาณมหาศาล จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องใช้มาตรการทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมไปพร้อมกัน”

ข้อเสนอและนโยบายทางการเมือง

ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า วิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งและนำไปสู่สันติภาพด้านการเมืองนั้น เสนอว่า 1. ควรลดบทบาทกองทัพ ใช้การทูตและการเมืองนำในการแก้ปัญหา เห็นว่าควรทยอยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กฎอัยการศึก, พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ลดระดับปฏิบัติการทหารในจังหวัดชายแดนใต้ให้เหมือนพื้นที่อื่น และใช้การเจรจาทางการทูตเป็นตัวนำ โดยสภาผู้แทนราษฎรติดตามตรวจสอบได้ ไม่ปล่อยให้ผู้นำกองทัพเป็นตัวแทนการเจรจาเป็นหลัก 2. สร้างความเป็นธรรมในสังคม ยกเลิกการเลือกปฏิบัติเพราะชาติพันธุ์ สีผิว หรือความเชื่อทางศาสนา ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเสมอภาคกัน เอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีซ้อมทรมานในค่ายทหาร 3. กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง มีการจัดสรรภาษีอย่างเป็นธรรม กระจายอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่นจัดทรัพยากรในพื้นที่ตนเองได้ เปิดโอกาสให้เขาออกแบบบ้านเมือง กำหนดอนาคตของชุมชนของตนเองได้

“ความเป็นธรรมเป็นเรื่องสำคัญ ตราบใดที่ไม่สามารถสร้างความเป็นธรรม ก็ไม่สามารถสร้างสันติภาพได้ สันติภาพต้องตั้งอยู่บนความยุติธรรม ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีสันติภาพ”

เขายกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประชาชนในพื้นที่กับรัฐส่วนกลาง กรณีแรก การเลือกปฏิบัติโดยใช้มาตรการซิมสองแชะ เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีนโยบายเพื่อจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลประชาชนในพื้นที่ โดย กอ.รมน. มีมาตรการให้ถ่ายรูปบัตรประจำตัวประชาชน และถ่ายรูปใบหน้าของประชาชน เจ้าของซิมการ์ด ช่วงแรก บอกว่าเป็นนโยบายขอความร่วมมือแก่ประชาชน แต่ภายหลังมีการขู่ว่าหากเจ้าของซิมการ์ดโทรศัพท์ไม่ปฏิบัติตามจะมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์ หมายความว่า ท้ายที่สุด ไม่ใช่การขอความร่วมมือประชาชน เพราะถ้าใช่, ต้องไม่มีการบังคับโทษ เมื่อมีการตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎรและกลายเป็นประเด็นสังคม จึงไม่มีการตัดซิมโทรศัพท์ แสดงให้เห็นการเลือกปฏิบัติกับประชาชนในพื้นที่และการใช้นโยบายไม่ได้สัดส่วน รวมทั้งการขอเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของประชาชนในพื้นที่ ก็ชัดเจนว่านี่คือการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กรณีที่สอง ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับ ‘อับดุลเลาะ อีซอมูซอ’ ซึ่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลหลังจากถูกคุมตัวไปที่ค่ายทหาร ต่อมาศาลตัดสินว่าการเสียชีวิตของดับดุลเลาะไม่ได้ถูกซ้อมทรมาน ไม่ได้เกิดขึ้นที่ค่ายทหาร ซึ่งขัดกับหลักฐานข้อเท็จจริงและความรู้สึกของประชาชนอย่างมาก กรณีเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งกรณีการบังคับให้สูญหายและการซ้อมทรมาน สุดท้ายไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดต้องรับผิดชอบเลย ทำให้ประชาชนในพื้นหวาดกลัว ไม่ไว้วางใจรัฐส่วนกลาง รวมทั้งกรณีตากใบและกรือเซะ ผ่านมาหลายปีก็ยังไม่มีการชำระความจริง คนที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สิ่งเหล่านี้ สะสมความเกลียดชังและเพิ่มพูนความไม่ไว้วางใจ หากต้องการสันติภาพ คนหันมาพูดคุยกันด้วยสันติ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องลดบทบาทของกองทัพ สร้างความเป็นธรรมในสังคม กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง

ข้อเสนอและนโยบายทางเศรษฐกิจ

ธนาธร แสดงวิสัยทัศน์ด้านนี้ โดยเริ่มจากการแสดงข้อมูลทางเศรษฐกิจให้เห็นว่า ขณะนี้ รายได้ต่อเดือนต่อหัวของคนไทย 67 ล้านคน โดยเฉลี่ย 18,000 บาทต่อเดือน หมายความว่าถ้าใครมีรายมากกว่า 18,000 บาทต่อเดือน แสดงว่ามีรายได้ดีกว่าคนครึ่งประเทศ ส่วนรายได้ของคนในพื้นที่นี้ คนปัตตานีอยู่อันดับ 64 มีรายได้เฉลี่ย 6,200 บาทต่อเดือน คนยะลามีรายได้เฉลี่ยอยู่อันดับที่ 43 มีรายได้ 8,500 บาทต่อเดือน ส่วนคนนราธิวาส ติดอันดับยากจนที่สุดในประเทศ มีรายได้เฉลี่ยต่อคน 4,500 บาทต่อเดือน เป็นอันดับที่ 76 ของประเทศ

“ไม่ต้องแปลกใจเมื่อคนไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจพยายามดิ้นรนหาทางออก และผ่านมาหลายสิบปี ก็เหมือนเดิม จึงไม่แปลกใจที่เขาลังเลทางเลือกในอนาคต อยากให้พื้นที่มีเอกราชเป็นของตนเอง เพราะชีวิตของเขาไม่มั่นคงขึ้นเลย เขาไม่สามารถมีรายได้ มีความทะเยอทะยาน หรือเดินตามความฝันของตนเองได้เลย ดังนั้น จะต้องสร้างงานให้กับประชาชนเพื่อใช้ชีวิตอย่างมั่นคง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่กับด้านการเมือง”

เขาตั้งคำถาม “ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ มีงานของเอกชนกี่งานที่สามารถจ่ายเงินเดือนในระดับ 15,000 – 20,000 บาทต่อเดือนได้ ผมเชื่อว่าในจังหวัดหนึ่งมีงานไม่ถึง 2,000 งานที่สามารถทำให้ประชาชนตั้งต้นชีวิตและเดินตามความฝันของตนเองได้ จึงไม่แปลกใจที่เห็นคนหนุ่มสาวในสามจังหวัดออกไปแสวงหาโชค แสวงหาโอกาสที่มาเลเซีย สงขลา หรือภูเก็ต”

ยกตัวอย่างสิ่งที่ภาครัฐทำได้ดีและควรทำมากขึ้นอีก เช่น การสร้างงานด้วยการกีฬา สองเดือนที่ผ่านมา จังหวัดยะลาเคยจัดงานวิ่งระดับโลก คือ งานวิ่งเทรล Amazean jungle trail ที่ อ.เบตง ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและการกีฬาแห่งประเทศไทย ให้นักวิ่งและนักออกกำลังกายได้สัมผัสธรรมชาติของป่าดิบชื้นในพื้นที่ กลายเป็นงานระดับชาติ มีคนติดตามให้กำลังใจมากมาย เฉพาะนักวิ่งอย่างเดียวมีมากกว่าพันคน นอกจากนั้นยังมีคนติดตามนักวิ่ง 2-3 คน ทำให้สุดสัปดาห์นั้นมีนักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่มากกว่า 3,000 คน และมีเงินหมุนเวียนในยะลามากกว่า 10 ล้านบาท

และยังสามารถดึงศักยภาพในพื้นที่ สิ่งที่ใกล้ตัว วิถีชีวิตของคนมุสลิมมาสร้างเศรษฐกิจในท้องที่ได้อีก เช่น จากประสบการณ์ตรง ให้มีการแปรรูปสินค้าการเกษตร โดยทำนมแพะพาสเจอร์ไรซ์และไอศกรีมจากนมแพะ จากเงินลงทุน 1.8 ล้านบาท ทว่า ช่วงเปิดตัวธุรกิจ ‘มาจูนมแพะ’ ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาด แต่ช่วงระยะเวลาสองปีเศษ สามารถสร้างรายได้ให้พนักงานในบริษัท 2.3 ล้านบาท การจ้างงานโดยตรง 10 คนที่เข้าถึงสวัสดิการและประกันสังคม ยังจ้างงานทางอ้อม  ทำให้เกษตรที่เป็นเจ้าของฟาร์มแพะมีรายได้อีก 8 ครัวเรือน รวมรายได้การซื้อนมสร้างรายได้ให้เกษตรกรมากถึง 1.7 ล้านบาท

ประธานคณะก้าวหน้า คิดว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ยังมีศักยภาพในการสร้างงานและอาชีพได้อีกจำนวนมาก เพราะที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ เมื่อหันมามอง 2 ประเทศใกล้เคียง คือมาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นตลาดที่ใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทยมากกว่า 2 เท่าตัว มาเลเซียมีประชากร 32.3 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจมูลค่า 333.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนอินโดนีเซีย มีประชากร 273.5 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจ 1.05 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ GDP ของประเทศไทยครึ่งเดียวของตลาดสองประเทศนี้รวมกัน

“หมายความว่า ตลาดมุสลิมสร้างมูลค่าเศรษฐกิจไทยได้ เพราะมีมูลค่ามากกว่าสองเท่าของเศรษฐกิจไทย มูลค่าตลาดสองประเทศนี้ใหญ่มาก ซึ่งผู้คนที่อยู่ในสถานที่ตั้ง ความเชื่อทางศาสนา ความเข้าใจด้านวัฒนธรรม และความสามารถทางด้านภาษา ไม่มีใครเหมาะที่จะเป็นทูตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมากกว่าคนในปาตานี/ปัตตานี การมองตลาดของสองประเทศนี้ในฐานะตลาดเพื่อสร้างงานให้แก่คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็น Game Changer ที่สำคัญ เช่น การสร้างอุตสาหรรมอาหารฮาลาลขนาดใหญ่ในพื้นที่นำเข้าวัตถุดิบจากหลายหลายพื้นที่และแปรรูปสร้างมูลค่าการส่งออกได้ การสร้างอุตสาหกรรมการศึกษา หากเราสามารถทำให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมมลายู พื้นที่แห่งนี้ก็จะกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้และท่องเที่ยวของมาเลเซียและอินโดนีเซียก็จะเกิดการจ้างงานขึ้น”

รวมทั้ง ด่านการค้าใน 5 จังหวัดภาคใต้รวมสงขลาและสตูลด้วย ควรเชื่อมโยงการเดินทาง การค้า และการท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน เรากำลังพูดถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 5.7 แสนล้านบาท เฉพาะรายได้จากการค้าชายแดน ด่านที่ อ.สะเดา อ.ปะดังเบซา อ.เบตง สามด่านนี้รวมกันมีมูลค่ามากถึง 4.9 แสนล้านบาทต่อปี เป็นรายได้ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ส่วนการท่องเที่ยวใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ มีมูลค่า 08.83 แสนล้านบาทต่อปี ก่อนโควิดระบาดเช่นเดียวกัน

ปัจจุบัน การเดินทางการคมนาคมไม่มีประสิทธิภาพ ลองจินตนาการ หากการคมนาคมสาธารณะมีประสิทธิภาพ ทั้งรสบัส และรถไฟ เชื่อมโยง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่านี้ สะดวก ลดระยะเวลาในการเดินทางลง ยกตัวอย่าง ยะลาไป อ.เบตง ระยะทาง 100 กว่ากิโลเมตร ประชาชนใช้เวลาขับรถมากกว่าสองชั่วโมงครึ่ง หากมีรถไฟรางเบาเชื่อมโยงพื้นที่ได้ ทำให้ย่นระยะทางและเวลาการเดินทางน้อยลง ทำให้ค่าขนส่งสินค้าจากด่านต่าง ๆ น้อยลง การค้าการขายจะเติบโตมากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวสะดวกไม่ต้องนำรถส่วนตัวมา ลดภาวะรถติด ลดมลพิษทางอากาศ และส่งเสริมเศรษฐกิจสองข้างรางไปด้วย คนขึ้นรถไฟ รถเมล์ จะทำให้ร้านค้าที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง และรายเล็กสองข้างทางได้ประโยชน์ แต่ถ้าคนท่องเที่ยวโดยรถยนต์เมื่อใด ดอกผลของการท่องเที่ยว การค้า ประโยชน์จะตกอยู่ที่เจ้าของน้ำมัน ปตท. และ 7-11 หากลงทุนกับระบบคมนาคมเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยว จะเกิดการลงทุนมหาศาลกับโครงสร้างพื้นฐาน หลายเส้นทางอาจจะคุ้มทุนให้ลงทุนเส้นสร้างระบบรถไฟได้ ทั้งหมดนี้คือการพัฒนาเศรษฐกิจ

ข้อเสนอและนโยบายด้านสังคมและวัฒนธรรม

ธนาธร เสนอว่า 1. ควรมีการเปิดพื้นที่เรียนรู้และการส่งต่อทางวัฒนธรรม ต้องเข้าใจว่าปาตานีเคยเป็นรัฐของตนเองมาก่อน มีพื้นเพ มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม จำเป็นต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์และส่งต่อวัฒนธรรม เช่น พิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรม พื้นที่กลางแจ้ง ศูนย์เยาวชน 2. โอบรับวัฒนธรรมที่หลากหลาย คืนความเป็นธรรม ยอมรับคุณค่าที่แตกต่าง ที่สำคัญ รัฐไทยต้องเลิกยัดเยียดอัตลักษณ์ ความเชื่อ และประวัติศาสตร์จากส่วนกลาง 3. สร้างเศรษฐกิจจากวัฒนธรรม นำอัตลักษณ์ในพื้นที่มาสร้างงานและรายได้ให้ชุมชน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีคนพยายามทำ ผลักดัน และเชิดชูอัตลักษณ์วัฒนธรรมพื้นที่ดั้งเดิม

ยกตัวอย่างเช่น Patani Art Space เป็นการรวมกลุ่มกันทำของภาคเอกชน นำเสนอศิลปะและวัฒนธรรมมลายู กลายเป็นแกลเลอรีที่มีชื่อเสียงโด่งดังในหมู่นักศิลปะและผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวัฒนธรรมของปัตตานี ถ้ามีภาครัฐเข้ามาสนับสนุนพื้นที่แบบจะเติบโตได้ไกลและเร็วมากขึ้น

หรือกรณีย่านเมืองเก่าของเมืองปัตตานีมีเรื่องเล่าและความหลากหลาย ในทางประวัติศาสตร์จะเห็นว่าไม่ได้มีแค่มลายู แต่มีไทยพุทธ คนจีน ทำมาค้าขายและอยู่ร่วมกันอย่างสันติมาก่อน หากนำเรื่องเล่าเหล่านี้มาสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และฟื้นฟูสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ชุมชนก็จะได้ประโยชน์ นักศึกษาด้านศิลปะวัฒนธรรมก็จะได้ประโยชน์ นี่คือนโยบายที่จะทำให้เห็นปลายทาง 4 อย่างที่กล่าวข้างต้น

Peace, not War – Love, not Hate

สุดท้ายนี้ มนุษยชาติไม่ว่าเป็นใครก็ตาม คนยูเครน คนรัสเซีย คนพุทธ คนจีน มลายูมุสลิม ไม่ว่าจะใคร อยู่ที่ใหน เราต่างแสวงหาสันติภาพไม่ได้แสวงหาสงคราม เชื่อว่าจะสร้างสันติภาพนั้น ต้องอยู่ด้วยกันอย่างเข้าอกเข้าใจ ยอมรับซึ่งตัวตนอัตลักษณ์ของเพื่อนร่วมโลก อยู่ด้วยความรักไม่ใช่ความเกลียดชัง

เอกราช ปาตานี
ภาพ: The Motive

ตอบทุกคำถาม ในเวที SCENARIO PATANI

  • ‘พื้นที่ปาตานี’ อยู่อย่างไรในรัฐธรรมนูญไทย? : เขาไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูยปี 2560 อยู่แล้ว เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่รวบอำนาจมาอยู่ที่ส่วนกลาง อยากมีรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจท้องถิ่นต่าง ๆ จัดสรรทรัพยากรตัวเอง การกระจายอำนาจจะทำให้ปาตานี และท้องถิ่นต่าง ๆ สามารถสร้างบ้านเมือง ดึงจิตสำนึกกลับมาพัฒนาบ้านเกิดได้ ดังนั้น มอง ‘ปาตานี’ ว่า กระจายอำนาจกับเรื่องสันติภาพเป็นเรื่องเดียวกัน
  • กรณีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ: เขาเห็นต่างจากอดีตนายกรัฐมนตรีทั้งทักษิณ ชินวัตร และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แสดงวิสัยทัศน์ก่อนหน้าในการสนับสนุนให้มีการออกแบบการปกครองท้องถิ่นพิเศษเพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งว่า ปัญหาอยู่ตรงที่ ‘ความพิเศษ’ ต้องทำเป็นรูปแบบการปกครองปกติเหมือนทุกจังหวัด ทุกตำบล เพราะถ้าความหมายของคำว่า ‘พิเศษ’ มีนัยของความแตกต่างและผิดปกติ หากไปคุยกับคนล้านนา อีสาน หรือตะวันตก ซึ่งมีประวัติศาสตร์ ความเชื่อ อัตลักษณ์ของตนเอง และผู้คนที่หลากหลายชาติพันธุ์ ทรัพยากรธรรมชาติก็ถูกเอารัดเอาเปรียบจากรัฐบาลส่วนกลางเช่นเดียวกัน ดังนั้น ปัญหาของคนปาตานีเป็นปัญหาร่วมสมัยของคนไทย ไม่ควรมีพื้นที่ใดที่ ‘พิเศษ’ แต่ควรทำให้เป็น ‘ปกติ’ เหมือนกันทุกที่ กล่าวคือ อำนาจการกำหนดและจัดการทรัพยากรในพื้นที่นั้นเป็นของคนในพื้นที่นั้น
  • ถ้าคนในปาตานีไม่ต้องการสร้างเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม จะมีทางเลือกการเพิ่มรายได้อย่างอื่นหรือไม่? การพัฒนาเศรษฐกิจต้องเป็นมาตรการควบคู่กับมาตรการการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งทำได้หลายเลือก ไม่ใช่แค่ปาตานี/ชายแดนใต้ ทั้งประเทศ ภาคการเกษตรของประเทศไทยไปไกลกว่านี้ไม่ได้ ถ้าอยากให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต ต้องมีงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าและบริการได้ และงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มถ้าไม่ใช่ภาคการเกษตร ก็มีด้านอุตสาหรรมการผลิต หรือด้านการท่องเที่ยว บริการและการเงิน
  • จังหวัดชายแดนภาคใต้ควรมีธนาคารเป็นของตนเอง ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ การเคลื่อนย้ายเงินตราและความรู้ต่าง ๆ และการบริหารจัดการทักษะสมัยใหม่จะรวมศูนย์อยู่ที่สำนักงานใหญ่ ส่วนสำนักงานย่อยและสาขาต่างจังหวัดเป็นเพียงหน้าร้านเท่านั้น ไม่มีทักษะในการบริหารจัดการจึงอยากเห็นธนาคารอิสลามที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ปาตานี/ปัตตานี ทำไมถึงเป็นไปไม่ได้
  • ธนาธร มีความเห็นว่า สิ่งที่สำคัญและผลักดันให้คนเรียกร้องเอกราชออกจากรัฐไทย คือ ชีวิตและความเป็นอยู่ไม่ดี ถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอยู่ตลอดเวลา เรื่องการเรียกร้องเอกราชถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ต่างจากคนอาเจะห์ ติมอร์ ต้องการออกจากอินโดนีเซีย สกอตแลนด์ต้องการแยกตัวจากอังกฤษ จึงเกิดการทำประชามติ และหลายแคว้นของสเปนต้องการออกจากยุโรปตะวันตก หรืออังกฤษต้องการออกจากยุโรป ความตึงเครียดระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลางมีทุกประเทศ จึงจำเป็นต้องบริหารความสัมพันธ์ให้ดี แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะสามารถพูดเรื่อง ‘เอกราช’ ได้อย่างเป็นปกติไม่ผิดกฎหมาย ไม่สร้างความหวาดกลัว จำเป็นต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้เกิดการพูดคุยเรื่องเอกราชได้อย่างเป็นปกติ ปลอดภัย
  • หากทำให้เสรีภาพการพูด เสรีภาพการคิดเรื่องเอกราชเป็นเรื่องปลอดภัยเป็นพื้นฐาน และเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุย สนทนาอย่างกว้างขวางมากพอ จะมาถึงจุดที่ประชาชนสามารถตัดสินใจร่วมกันโดยประชามติได้ ทำให้ข้อถกเถียงเรื่องการแยกดินแดน การแยกตัวเป็นเอกราชหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชาชน
  • จะมีวิธีการใดให้ทหารกลับเข้ากรมกองอย่างไรและเจ้าหน้าที่รัฐเองก็รู้สึกปลอดภัย? สิ่งที่ต้องการคือความปกติ ทหารที่อยู่จังหวัดอื่น เช่น สุโขทัย หรือลพบุรีอยู่กันอย่างไร ดูแลประชาชนอย่างไร ก็ทำให้ทหารที่ปาตานี/จังหวัดชายแดนใต้อยู่เหมือนกับจังหวัดอื่นไม่จำเป็นต้องมีปฏิบัติการทางทหารล้นเกิน หากใช้มาตรการทางทหารนำแล้วแก้ปัญหาได้ เหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงจะไม่ยืดเยื้อมาเกือบ 20 ปี แนวคิดใหม่วิธีการใหม่จึงเป็นเรื่องการทูต การเศรษฐกิจ และการเมืองนำน่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี การจะสร้างความเชื่อใจระหว่างกันได้ ผู้ที่มีอำนาจมากกว่าต้องยื่นมืออกมาให้จับก่อน แสดงความเชื่อใจก่อนว่าต้องการออกจากความขัดแย้งนี้
  • หากมีโอกาสได้สื่อสารกับขบวนการบีอาร์เอ็นจะพูดถึงอนาคตอย่างไร? “เข้าใจความเจ็บปวด การถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกข่มเหงจากรัฐส่วนกลาง ทั้งทางร่างกายและวัฒนธรรม แต่เรามีโอกาสสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ อย่าทิ้งโอกาสนี้ไป ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรีจะสามารถสร้างสถานการณ์ โอกาสการพูดคุยอย่างปลอดภัยได้ และจะทำอย่างดีที่สุด รวมทั้งสร้างสถานการณ์ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมืองการปกครองที่เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศนี้ไม่ว่าเป็นใครสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ หากเงื่อนไขเป็นเช่นนี้ ทางผู้นำของขบวนการบีอาร์เอ็นอยากสร้างสังคมร่วมกันหรือไม่?”

ติดตามการสรุปเนื้อหาจากเวที “ภาพอนาคตปาตานี ภาพอนาคตชายแดนใต้” กับ The Active ได้ทุกวัน ผ่าน #SCENARIOPATANI https://theactive.net/topic/scenario-patani/

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง