รอมฎอน(เดือด)… ประตู ‘สันติภาพ’ แค่แง้ม ก็ยังยาก ?

ภายหลังจุฬาราชมนตรี ประกาศให้วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับ วันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567 เท่ากับการย่างก้าวเข้าสู่เดือนอันศักดิ์สิทธิ์ ของพี่น้องมุสลิมอย่างเป็นทางการ

แทบทุกฝ่ายตั้งความหวังอยากให้รอมฎอนปีนี้เป็นจุดเริ่มต้นดี ๆ ของการแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้

ปฐมบทเหตุรุนแรง รอมฎอน 2567

เหตุการณ์ปิดล้อม ในพื้นที่บ้านปาวา ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี (14 มี.ค.67)

แต่ตลอดช่วงเดือนสำคัญ ‘รอมฎอนสันติ’ ที่ถูกตั้งความหวัง พอจะมีทางเป็นไปได้ไหม ?

เหตุการณ์ช่วงเช้าวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา หรือเพียง 2 วันหลังเข้าสู่รอมฎอน คือคำตอบ… เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมพื้นที่บ้านปาวา ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี หลังได้รับข่าวว่ามีผู้ต้องสงสัย หลบซ่อนตัวอยู่ภายในบ้านเช่า การเจรจาไม่เป็นผล ไม่มีการตอบรับใด ๆ จากผู้ต้องสงสัยที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว จนนำไปสู่เหตุปะทะกัน ผลปรากฏว่าผู้ต้องสงสัยถูกวิสามัญฆาตรกรรม 2  คน โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าทั้งคู่มีหมายจับคดีความมั่นคง

ให้หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่นาน ค่ำคืนของวันที่ 22 มีนาคม เกิดเหตุลอบวางเพลิง วางระเบิด ในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวม ๆ แล้วไม่น้อยกว่า 30 จุด นี่ถือเป็นเหตุป่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นอีกครั้งในพื้นที่ชายแดนใต้ ยังไม่นับอีกหลายเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ถูกลอบยิง เป็นสิ่งย้ำเตือนว่า ไม่ง่ายอีกต่อไปแล้วกับการคาดหวังให้เกิดรอมฎอนสันติ

ไทย – ขบวนการฯ กับเส้นขนานบนทาง ‘สันติภาพ’ ?

ในช่วงไม่กี่วันก่อนสิ้นสุดรอมฎอน มีรายงานว่า คณะพูดคุยสันติสุขฯ ได้ร่วมหารือถึงสาระของแผนปฎิบัติการร่วมสร้างสันติสุข หรือ JCPP ที่ได้เคยตกลงใช้เป็นกรอบในการทำงานสร้างสันติสุขชายแดนใต้ ร่วมกันกับตัวแทนจาก BRN เน้น 3 สารัตถะสำคัญ คือ การลดความรุนแรง, การปรึกษาหารือสาธารณะ และการหาทางออก (ทางการเมือง) จากความขัดแย้ง ซึ่งพบว่ายังมีหลายประเด็นในเนื้อหา JCPP ที่ยังมีข้อสงสัย หรือความเห็นที่แตกต่างในถ้อยคำที่ใช้ จึงร่วมกันหาแนวทางทำความเข้าใจ ก่อนนำข้อสรุปที่ได้ไปหารือพูดคุยกับฝ่ายเทคนิคของ BRN ที่ มาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้

พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะของหัวหน้าคณะฝ่ายเทคนิค คณะพูดคุยสันติสุขฯ ย้ำถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน ยืนยันรัฐเองก็มีความจำเป็นที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากพบว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุ ยังมีความพยายามสร้างความรุนแรง และการก่อเหตุช่วงรอมฎอนในปีนี้ ยังเป็นห้วงเวลาที่เริ่มพูดคุยสันติสุข จึงได้ประสานกับ BRN ให้ลดความรุนแรงผ่านผู้อำนวยความสะดวกแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจสะท้อนถึงปัญหาในขบวนการฯ ที่บางส่วนอาจไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติสุข

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน 8 เมษายนที่ผ่านมา ปรากฏคลิปจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ BRN ผ่านช่องทาง Youtube เพื่อต้อนรับวันฮารีรายอ โดยมีเนื้อหาเป็นภาษามลายู ซึ่ง ฮารา ชินทาโร่ นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามลายู ได้แปลเนื้อหา พร้อมตั้งข้อสังเกต ถึงสิ่งที่ BRN พยายามสื่อสาร อาจกำลังบ่งบอกว่าการพูดคุยแทบไม่มีความคืบหน้า คำประกาศของ BRN จึงมีเนื้อหาที่ไม่แสดงถึงการประนีประนอม โดยพบว่าในคลิป ใช้คำว่า ‘สยาม’ พร้อมกับคำว่า ‘นักล่าอาณานิคม’ และ ‘พวกจักรวรรดินิยม’ โดยไม่มีคำว่า ‘รัฐบาลไทย’ แม้แต่ครั้งเดียว

เนื้อหาในคลิปยังย้ำความสำคัญของการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิให้กับชาวมลายูปาตานี

“พวกเราชาติมลายูปาตานีได้ต่อสู้มาเป็นเวลานาน และจะดำเนินการต่อสู้อีกเพื่อปกป้องสิทธิของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในอธิปไตย สิทธิต่อดินแดน สิทธิต่ออำนาจ สิทธิต่อทรัพยากร  ธรรมชาติ สิทธิความเป็นเจ้าของ ฯลฯ พวกเราขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า เราไม่เป็นศัตรูของชาติใด ๆ บนโลกนี้ นอกจากชาติที่เป็นนักล่าอาณานิคมคือพวกจักรวรรดินิยมสยาม การล่าอาณานิคมให้เกิดการเป็นปรปักษ์กัน เอกราชสร้างสันติภาพ นี่คือแนวทางแก้ไขที่ถูกต้องเพื่อสร้างสันติภาพ”

บางส่วนของคำแปลในคลิป จากฝ่ายประชาสัมพันธ์ BRN

รอมฎอน(เดือด) ข้อบ่งชี้ความไม่ลงตัวบนโต๊ะเจรจา

ไม่ว่าคำพูดตอกย้ำจากฝั่ง BRN จะเชื่อมโยงกับความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ตลอดช่วงรอมฎอนหรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วอาจกำลังสะท้อนชัดเจน ว่า การลดความรุนแรง ซึ่งเป็นหนึ่งในสารัตถะสำคัญของ แผนปฎิบัติการร่วมสร้างสันติสุข หรือ JCPP ยังหาจุดลงตัวได้ยาก นี่เป็นมุมมองที่เกิดขึ้นจาก ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) และอาจารย์ประจำสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

พร้อมหยิบยกสถิติการก่อเหตุความรุนแรงในช่วงรอมฎอนปีนี้ พบว่า มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 80 ครั้ง ในพื้นที่ชายแดนใต้ ถือเป็นสถิติการก่อเหตุในเดือนรอมฎอนที่สูงกว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน ผศ.ศรีสมภพ เห็นว่า เหตุกาณ์ต่าง ๆ อาจสะท้อนว่า จริง ๆ แล้วข้อตกลง และการสร้างความเข้าใจต่อกันอาจยังไม่ลงตัว โดยเฉพาะระหว่างคนพูดคุยฯ ทั้งฝ่ายไทย และ BRN โดยตั้งข้อสังเกตว่าภายในกลุ่ม BRN เองอาจยังมีบางกลุ่มไม่ค่อยพอใจข้อตกลงที่จะคุยกับรัฐบาลไทย ซึ่งก็ถือเป็นข้อสังเกตมานานแล้วว่า ฝ่าย BRN ที่ไปตกลงพูดคุยเป็นฝ่ายการเมือง อาจคิดไม่ตรงกับ ฝ่ายขบวนการฯ หรือฝ่ายที่จับอาวุธ ซึ่งอาจมองว่าข้อตกลงอาจเป็นการประนีประนอมกับรัฐบาลไทยมากเกินไป จนแสดงออกผ่านปฏิบัติการความรุนแรงที่มีสูงขึ้นในช่วงรอมฎอนที่ผ่านมา

“ข้อตกลงสันติภาพ สันติสุข ฝ่ายที่ถืออาวุธของ BRN มองว่า ฝ่ายการเมืองที่ไปเจรจากับรัฐบาลไทย อ่อนข้อไปหน่อย ยอมมากเกินไป ทั้ง ๆ ที่การพูดคุยยังไม่ถือว่าเป็นข้อตกลงสันติภาพ เพราะยังมีข้อตกลงเกิดขึ้น เวลานี้มีแต่ร่างข้อเสนอ ซึ่งยังต้องตกลงรายละเอียดกันให้ได้ ทีมเทคนิคแต่ละฝ่ายที่พูดคุยกัน ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าชัดเจน โดยเฉพาะข้อตกลงสำคัญที่สุดคือการลดความรุนแรง ต้องลดความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่าย คราวนี้ต้องตกลงกันอย่างชัดเจน ต้องเป็นระบบมากขึ้น ขณะที่ฝ่ายของขบวนการฯ เองก็ต้องหาทางทำให้แนวทางลดความรุนแรงเป็นเอกภาพให้ได้”

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

แม้ความถี่ของเหตุการณ์ความรุนแรงมีจำนวนมาก แต่ถ้าลองวิเคราะห์การก่อเหตุ กลับพบว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ได้สร้างความเสียหายหรือพุ่งเป้าในแง่ของการเอาชีวิตมากนัก เพราะเป้าหมายส่วนใหญ่ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ยังคงเน้นไปที่ สถานที่ หน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้ง ทหาร ตำรวจ อาสา ทหารพราน ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐที่ถืออาวุธ

“การก่อเหตุอาจพยายามหลีกเลี่ยงให้เกิดปฏิบัติการที่มีผลกระทบต่อพลเรือนให้มากที่สุด สิ่งนี้บ่งบอกว่าถึงการลดแรงกดดัน เพราะที่ผ่านมาประชาชนเบื่อหน่ายกับการใช้ความรุนแรง ฝ่ายผู้ก่อเหตุ จึงหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบ หรือทำให้สูญเสียชีวิตผู้บริสุทธิ์ให้น้อยลง”

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

‘ความมั่นคง’ ลบบรรยากาศ ‘สันติภาพ’ ?

แต่อีกแง่มุมสำคัญที่ ผศ.ศรีสมภพ แสดงความเป็นห่วง คือ ในทางปฏิบัติที่หลายเรื่องดูย้อนแย้งกัน ในแง่หนึ่งฝ่ายรัฐบาล หน่วยงานความมั่นคงของไทย ก็ยอมรับในแนวทางการเปิดพื้นที่เจรจาโดยใช้การเมืองนำการทหาร หรือการมีหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ ที่เป็นพลเรือน แต่อีกด้านหนึ่งฝ่ายความมั่นคงก็ยังคงบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ยังมีปิดล้อม ตรวจค้น ไปจนถึงการวิสามัญฯ ผู้ต้องสงสัย ซึ่งกรณีของการวิสามัญฯ มีสถิติค่อนข้างสูงในรอบ 4 – 5 ปีมานี้ มีมากถึง 80 – 90 กรณี สิ่งนี้กำลังสร้างความรู้สึกหวาดกลัว ทำให้ผู้คนในพื้นที่รู้สึกไม่พอใจ และมองว่ารัฐใช้กฎหมายมากเกินไป

นอกจากนั้นการใช้กฎหมายเพื่อจัดการกับนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ที่แสดงออกเชิงอัตลักษณ์มลายู ก็กลับถูกตั้งข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง

“เรื่องความมั่นคงทำให้บรรยากาศความหวาดกลัว ไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ว่าใครจะเคลื่อนไหว แสดงออกอะไร เหมือนรัฐไม่รับฟัง มีแต่ถูกเพ่งเล็ง ฟ้องร้อง ดำเนินคดี ทุกการแสดงออกถูกมองว่าสุ่มเสี่ยง ล่อแหลม บรรยากาศที่ขัดกันแบบนี้สวนทางกับการสร้างสันติภาพ หรือ สันติสุข และก็เป็นประเด็นที่ฝ่ายขบวนการฯ ค่อนข้างตั้งข้อสงสัยกับรัฐบาล และหน่วยความมั่นคงของไทย ว่าจะแสดงความจริงใจกับการเปิดพื้นที่ทางการเมือง ยืดหยุ่นการบังคับใช้อำนาจ ใช้กฎหมายได้มากขึ้นกว่าเดิมแค่ไหน เพราะเมื่อแสดงออกมาแล้ว ก็ถูกดำเนินคดี คนก็เลยไม่อยากคุย ไม่อยากมีส่วนร่วมกับกระบวนการสันติภาพ ไม่อยากปรึกษาหารือสาธารณะ จึงต้องอาศัยการเปิดกว้างให้มากกว่านี้”

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

สอดคล้องกับมุมมองของ รศ.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เห็นว่า การกระทำที่ย้อนแย้งของหน่วยงานความมั่นคงจากสิ่งที่ตกลงกันไว้บนโต๊ะเจรจา แต่ในฝ่ายปฏิบัติยังคงใช้กฎหมายเล่นงานนักกิจกรรมที่พยายามแสดงออกถึงประเด็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม การดำเนินคดีลักษณะนี้จึงถูกมองว่าในลักษณะการปิดปาก ก็ไม่แปลกที่จะนำมาซึ่งการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของฝ่ายขบวนการฯ

นักรัฐศาสตร์ ยังเชื่อว่า จริง ๆ แล้วบรรยากาศไปสู่การเจรจาพูดคุยกำลังเดินมาได้ด้วยดี จากการดำเนินงานในช่วงแรก ๆ ของการมีรัฐบาลใหม่ การได้พลเรือนมาเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข บรรยากาศดูดีขึ้นมาก แต่เมื่อดำเนินการไปสักพัก สิ่งที่ทำให้ผู้คนในพื้นที่ตั้วคำถามคือ รัฐบาลสนใส่ใจกระบวนการสันติภาพแค่ไหน เพราะดูเหมือนไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญมากนัก

รศ.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง

แม้การมาลงพื้นที่ชายแดนใต้ของนายกรัฐมนตรี ก็แทบไม่พูดถึงเรื่องปัญหาความไม่สงบ เรื่องความมั่นคง พูดกันแต่เรื่องเศรษฐกิจ เพราะคิดว่าถ้าเศรษฐกิจดี ทุกอย่างก็จะดีขึ้น แต่ข้อเท็จจริงในพื้นที่ชี้ให้เห็นแล้วว่าเศรษฐกิจ กับเรื่องความมั่นคง เรื่องการถูกกดทับ ความไม่เป็นธรรม มันเป็นคนละเรื่องกันสำหรับพื้นที่ชายแดนใต้  

“การก่อเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน ก็ชัดเจนในตัวเองว่าถ้าไม่อาศัยช่วงเวลานี้ปฏิบัติการ เสียงอาจจะไม่ดังพอ ไม่ค่อยได้รับการจับตา ดังนั้นเราต้องไม่ตั้งสมมติฐานว่า ถ้าพูดคุยกันแล้วเหตุการณ์จะสงบลง เพราะมันเป็นวิธีทางการเมืองในการพูดคุย ซึ่งเหตุการณ์ในพื้นที่ อาจจะเกี่ยว หรือไม่เกี่ยวกับการเจรจาก็ได้ หรือบางส่วนอาจจะเป็นเครื่องมือเพื่อกดดันในประเด็นที่ฝ่ายของตัวเองต้องการ จริง ๆ แล้วทุกที่ที่มีความขัดแย้ง พูดคุยกัน ไม่ได้หมายความเหตุการณ์จะลดลง”  

รศ.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง

คิดใหม่(อีกครั้ง) สู่ประตูสันติภาพ

นักรัฐศาสตร์ ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า ถ้าหากรัฐบาลส่งสัญญาณ ว่า มีเจตจำนงค์แน่วแน่ ในการทำให้กระบวนการเจรจาสันติสุข สันติภาพ ถูกแก้ปัญหาด้วยการเมืองจริง ๆ และที่ผ่านมาปฏิบัติการจากฝ่ายความมั่นคง กองทัพอาจทำให้ประชาชนเกิดความไม่สบายใจ ก็ต้องใช้บทเรียนที่เกิดขึ้นไม่รู้กี่ครั้ง นำไปสู่ความคิดริเริ่มใหม่ ๆ กับการแก้ปัญหาชายแดนใต้

เพราะถ้าต้องการให้สถานการณ์คลายความร้อนแรงลงจริง ๆ รัฐบาลจำเป็นต้องแสดงออกอย่างชัดเจน ยืนยัน ยึดมั่นในแนวทางเจรจา เปิดพื้นที่พูดคุยรับฟังทุกฝ่าย และพยายามสร้างกลไกในพื้นที่ โดยเฉพาะการสร้างบรรยากาศ สร้างความเป็นมิตร ให้มากกว่าความเข้มข้นของกฎหมาย รัฐบาลก็จะช่วยคลายความวิตกกังวล ความหวาดกลัว ปูทางสร้างบรรยากาศ ที่ไม่ทำให้ฝ่ายขบวนการฯ ใช้เป็นข้ออ้างก่อเหตุความรุนแรงได้ เมื่อนั้นประตูสันติภาพก็จะถูกแง้มออกมาได้เช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล