‘ไม่มีอนาคตที่สันติ หากไร้การเมืองแห่งเมตตา’

อนาคตของปาตานี | ปาฐกถา ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

อนาคตของปาตานี/ปัตตานี และซาลมา
No Peaceful future without politics of mercy

  • ถ้าจะทำข้อเสนอให้เป็นจริง, การสร้างอนาคตปาตานี/ปัตตานีด้วยการปกปักรักษาความขัดแย้งอย่าให้เป็นพิษ จึงจะคิดถึงอนาคตอย่างสร้างสรรค์ได้
  • และหากอยากสร้างอนาคตของปาตานี/ปัตตานีไปด้วยกัน ด้วยการ “ปกปักรักษาความขัดแย้ง” ทำอย่างไร?
  • (หนึ่ง) อย่าติดกับ กลายเป็นความรุนแรง และ (สอง) อย่าให้ความขัดแย้งเป็นพิษ

ปาฐกถา ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
ในเวทีเสวนาออนไลน์ ‘อนาคตปาตานี/ชายแดนใต้’
19.06.2022

การเมือง ชายแดนใต้
ภาพ: The Motive

วันนี้ ต้องการพูดเรื่องราวของ ‘อนาคตของปาตานี/ปัตตานี และซาลมา’ ขออนุญาตพูดคำว่า ‘ปาตานี’ ที่หมายถึงดินแดนในเชิงประวัติศาสตร์และการต่อสู้ ควบคู่กับคำว่า ‘ปัตตานี’ ที่หมายถึงจังหวัดและผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ในสมัยปัจจุบันด้วย

เวลาคิดเรื่องอนาคต ต้องเริ่มก่อนว่าเวลานั้นทำงานอย่างไร เวลาของมนุษย์นั้นมีสองอย่าง คืออดีตกับอนาคต ซึ่งคุณลักษณะสำคัญ อดีตนั้นหวนคืนไม่ได้ (The past is irreversible) อะไรที่เกิดขึ้นแล้ว ก็จะอยู่ตรงนั้น ทั้งคำพูด การกระทำ หวนคืนไม่ได้ทั้งสิ้น ส่วนอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน คาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น (The Future is uncertain) แนวคิดนี้มาจาก ฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) นักปรัชญาและนักทฤษฎีการเมืองชาวเยอรมนีพูดไว้ในหนังสือ “มนุษย์สภาวะ” (human condition)

“เมื่ออดีตหวนคืนไม่ได้ เราจะทำอย่างไรกับอดีต ขณะเดียวกัน อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เราจะทำอย่างไรกับบอนาคต เพื่อให้มีชีวิตทางส่วนตัวและทางการเมืองดำเนินต่อไปได้”

ในหนังสือของ เดสมอนด์ ทูตู นักเคลื่อนไหวต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวและสิทธิมนุษยชน ชาวแอฟริกาใต้  เขียนจากประสบการณ์ก้าวข้ามความขัดแย้งประเทศแอฟริกาที่ผ่านกระบวนการสัจจะและการปรองดอง (Truth and Reconciliation) ที่ถือว่าเป็นตัวแบบสำคัญในการหาทางออกจากความขัดแย้ง แม้จะมีปัญหามากมายก็ตาม ซึ่งหัวใจของหนังสือสาธุคุณทูตูบอกไว้ คือ “ไม่มีอนาคต หากไม่มีการให้อภัย” (No Future without Forgiveness) ถ้าอยากมีอนาคตต้องให้อภัย แต่ถ้าจะทำก็ต้องมีกระบวนการ ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่ายดายนักกับความโหดร้าย การใช้ความรุนแรงต่อกัน เพราะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและกระบวนการปรองดอง ฯลฯ

ประเด็นหลักที่ต้องการจะพูดคือ “ไม่มีอนาคตที่สันติ หากไร้การเมืองแห่งความเมตตา” (No Peaceful future without politics of mercy) “Tiada masa depan yang aman tapa politik belas kasihan”

เรามักจะได้ยินผู้รู้พูดอยู่บ่อยครั้ง ‘ยามสันติ คนที่ฉลาดควรหาวิธีเตรียมตัวเพื่อสงครามเอาไว้’ มาจากข้อเขียน ฮอเรซ กวีชาวโรมันได้เสียดสีเอาไว้ “in peace, as a wise man, he should make suitable preparation for war” หลายท่านคงเคยได้ยินคนโบราณว่าไว้ “หากหวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ ถ้าอยากได้สันติภาพต้องเตรียมทำสงครามไว้” แต่ผมคิดอีกทางตรงกันข้ามว่า ถ้าอยากสร้างสันติภาพก็ต้องปกปักรักษาความขัดแย้งอย่าให้เป็นพิษ

กล่าวคือ ถ้าจะทำข้อเสนอให้เป็นจริงการสร้างอนาคตปาตานี/ปัตตานีด้วยการปกปักรักษาความขัดแย้งอย่าให้เป็นพิษจึงจะคิดถึงอนาคตอย่างสร้างสรรค์ได้ และหากอยากสร้างอนาคตของปาตานี/ปัตตานีไปด้วยกันด้วยการ “ปกปักรักษาความขัดแย้ง” ทำอย่างไร โดยทำสองอย่าง คือ (หนึ่ง) อย่าติดกับกลายเป็นความรุนแรง และ (สอง) อย่าให้ความขัดแย้งเป็นพิษ

โดยมี 5 ขั้นตอนเพื่ออธิบายปัญหา ‘อนาคตปาตานี’ คือ (1) ความขัดแย้งไม่ใช่อะไร (2) ความขัดแย้งเป็นพิษได้อย่างไร? (3) จะคิดถึงอนาคตได้กี่แบบ? อะไรบ้าง? (4) ตัวอย่างโครงการอนาคตสำหรับปาตานี และ (5) จดหมายราชฑูตเปอร์เซียและเรื่องของซาลมา

ความขัดแย้งไม่ใช่อะไร?:

ความขัดแย้งไม่ใช่ความรุนแรง ถ้าใครมาบอกว่าความขัดแย้งและความรุนแรงเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นเป็นเรื่องเข้าใจผิด ในสาระสำคัญและทฤษฎี ความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องลบ แต่เป็นธรรมชาติของมนุษย์และสังคมการเมือง ไม่มีใครในโลกนี้ไม่ผ่านพบความขัดแย้ง กล่าวอีกแบบได้ว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ และเป็นเรื่องธรรมชาติด้วย เราจึงต้องหาทางอยู่กับความขัดแย้ง ดังนั้น โจทย์ของเราคือ จะอยู่กับความขัดแย้งได้อย่างไร? และความรุนแรงเป็นปัญหาอย่างไร มหาตมะ คานธี กล่าวไว้ว่า ‘ตาต่อตาก็รังแต่จะทำให้ตาบอดกันทั้งโลก’

ไม่นานนี้ มีคนถามผมกรณีการชุมนุมและการปะทะกันระห่างกลุ่มทะลุแก๊สและเจ้าหน้าที่รัฐที่ดินแดง จะมีคำตอบในเชิงสันติวิธีไหม หากเขาไม่ใช้ความรุนแรงจะเกิดอะไรขึ้น หากจะให้ผมตอบก็จะตอบด้วยคำของมหาตมะ คานธี ‘ตาต่อตาก็รังแต่จะทำให้ตาบอดกันทั้งโลก’ เมื่อฝ่ายหนึ่งจี้ตาเราบอด วันรุ่งขึ้นอีกฝ่ายหนึ่งก็จี้ตากลับมาให้บอดอีกข้าง และสลับกันทำให้ต่างคนต่างตาบอด วนไปมา ความรุนแรงเป็นปัญหาอย่างไร? ซึ่งมี 4 เหตุผลสำคัญ คือ

  1. ความรุนแรงมีผลทำให้คนและสังคมมืดบอดต่อเหตุของปัญหา เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น เราต่างเห็นแต่ความรุนแรงปรากฏตัวขึ้น แต่ความรุนแรงนั้นไม่ได้ชี้ไปสู่อะไร หรือน้อยมากที่จะเห็นเหตุของปัญหา เช่น ความอยุติธรรม ความเอาเปรียบรังแกผู้คน หรือความเหลื่อมล้ำทางสังคม ฯลฯ เหตุของปัญหาเหล่านี้ถูกกลบด้วยความรุนแรง แม้จะเป็นข่าว ทว่านักข่าวก็รายงานแต่สถานการณ์ความรุนแรงเท่านั้น
  2. ความรุนแรงมีผลทำให้คนและสังคมมืดบอดต่อผลที่กระทบเหยื่อของความรุนแรง น้อยครั้งที่จะเห็นว่าเหยื่อโดนกระทำอะไรบ้าง และเหยื่อที่ไม่เป็นข่าวก็ไม่ถูกเห็น รวมทั้งเหยื่อที่ได้รับบาดเจ็บทางจิตใจต้องเยียวยากัน ขณะที่คนบาดเจ็บและล้มตายก็มีจำนวนมาก เช่น สถานการณ์ที่ยูเครน เราอาจจะเห็นคนที่บาดเจ็บพิการ ทว่า คนที่บาดเจ็บทางจิตใจกลายเป็นความโศกเศร้าที่ยากจะมองเห็น
  3. ความรุนแรงมีผลทำให้สังคมมืดบอดต่อทางเลือกในการเผชิญกับความขัดแย้ง โดยมีการตอบโต้กันไม่สิ้นสุด
  4. ความรุนแรงทำให้อำนาจหายไป (Violence is not power but it makes power disappear.) ความรุนแรงไม่ใช่อำนาจแต่คือ จุดจบของอำนาจ ผมอยากสื่อสารกับคนที่ถืออาวุธ ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายต่อต้านรัฐ อยากพูดให้ได้ยินว่า ความรุนแรงไม่ใช่อำนาจแต่เป็นจุดจบของอำนาจ อธิบายเป็นหลักวิชาได้มากมายมีบทความจำนวนมาก เช่นเดียวกับการข่มขืนไม่เคยใช่ความรัก แต่คือจุดจบของความรัก ดังนั้น อย่าสับสนระหว่างความขัดแย้งกับความรุนแรง เพราะจะทำให้อำนาจของพวกคุณหายไป

อะไรทำให้ความขัดแย้งเป็นพิษ (What makes conflict toxic?):

มี 2 ประเด็นที่ต้องการย้ำ คือ (1) ความเกลียดชัง (Hatred): ทำไมความเกลียดชังทำให้ความขัดแย้งเป็นพิษ เพราะทำให้เห็นคนที่ตนเกลียดเป็นศัตรู ทำให้เราต้องฉีกตัวเองออกมากจากคนอื่น ถ้ามีแต่ความเกลียดแล้ว เมื่อเราเป็นสุขก็ไม่มีใครแบ่งปันด้วย และเมื่อเป็นทุกข์ก็ไม่มีใครปลอบโยน ชีวิตติดอยู่ในวังวนของความเกลียดจนไม่สามารถหาทางออกมาได้ (2) การแช่แข็งความขัดแย้ง (Petrification of conflict): ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่มีพลวัตเหมือนมีชีวิต มักแสวงหาลู่ทางต่าง ๆ ด้วยลมหายใจของตนเอง การแช่แข็งความขัดแย้ง ทำให้ความขัดแย้งหายใจไม่ออก แตกระเบิดเป็นความรุนแรง เราต้องพยายามคลี่ความขัดแย้งออก หรือประคับประคองจัดการด้วยความสร้างสรรค์ ไม่ใช่ไปกดไว้จนกลายเป็นความรุนแรง แง่นี้ เปรียบความขัดแย้งเป็นของมีค่าในสังคมนี้ เราจะจัดการหรือสัมพันธ์กับคู่ขัดแย้งในฐานะที่เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเราอย่างไร เป็นโจทย์ที่สังคมต้องคิดร่วมกัน

จะคิดถึงอนาคตได้กี่แบบ? อะไรบ้าง?:

ในวิชาอนาคตศึกษา มีวิธีการคิดเรื่องอนาคตหลายวิธี ประมวลแล้วสามารถคิดถึงอนาคต 3 อย่าง: อนาคตที่เป็นไปได้ (Possible Futures), อนาคตที่พึงปรารถนา (Preferred Futures) สำคัญมากเพราะจะเป็นวิธีการนำไปสู่ความสร้างสรรค์ในการออกแบบอนาคต, และ อนาคตที่มีโอกาสน่าจะเป็นไปได้ (Probable Future) ขึ้นอยู่กับวิธีการที่เราทำหรือใช้ชีวิต

กรณีตัวอย่างนักศึกษา: นักศึกษาคนหนึ่งเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยแห่งชาติของมาเลเซีย (UM) มา ย่อมมีโอกาสที่จะเรียนจบ ได้เกียรตินิยมหรือถูกรีไทร์ก็ได้ทั้งนั้น อย่างนี้คือ อนาคตทางการศึกษาที่เป็นไปได้ของใครก็ได้ที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย แน่นอน นักศึกษาคนนั้นย่อมมีอนาคตที่ปรารถนา ซึ่งน่าจะเรียนจบ ได้เกียรตินิยม มีงานดี ๆ ทำ สร้างครอบครัวเป็นสุข แต่ถ้าเขาเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ UM มาได้ แต่ไม่เรียนหนังสือ ไม่เข้าเรียน ไม่อ่านหนังสือเอง ไม่มีใครช่วย เอาแต่เที่ยวเตร่ อนาคตที่น่าจะเป็นของเขาก็คือ คงต้องถูกคัดชื่อออก ไม่ว่าเขาปรารถนาอย่างไรก็ตาม

หรือกรณีตัวอย่างนักการเมือง: นักการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้ง อาจได้รับเลือกตั้งหรือสอบตก อนาคตเป็นไปได้ ทั้งนั้น แน่นอน นักการเมืองคนนั้น ย่อมมีอนาคตที่ปรารถนา คือได้รับการเลือกตั้งและมิใช่สอบตก แต่ถ้าเขาไม่ขยันหาเสียง ไม่สื่อสารกับประชาชนในเขต ไม่ให้ประชาชนเห็นหน้าเห็นตา เอาแต่นอนอยู่กับบ้าน เชื่อว่าคนอื่นจะทำให้เขาได้รับเลือกตั้ง ไม่ทุ่มเทให้กับการเลือกตั้ง อนาคตที่น่าจะเป็นสำหรับเขาคือ เขาจะสอบตกไม่ว่าเขาจะปรารถนาอย่างไร

ตัวอย่างโครงการอนาคตสำหรับ ‘ปาตานี/ปัตตานี’:

การคิดถึงอนาคตของปาตานี/ปัตตานี มีบททดลองนำเสนอ 3 โครงการได้คิด คือ (1) โครงการเล่นเปลี่ยนโลก (2) โครงการอาหารปลอดภัย และ (3) โครงการ ‘ปาตานีมีเมตตา’ (Mercy Patani) อยากให้ลองพิจารณาดูว่าโครงการเหล่านี้จะมีผลต่ออำนาจของแต่ละคนอย่างไร?

โครงการเล่นเปลี่ยนโลก: จะช่วยพัฒนาเด็กในปาตานี ทั้งสมองและสุขภาพผ่านการเล่น เพราะการเล่นเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก และเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในครอบครัว การสนใจเด็กคือการใส่ใจกับอนาคต และการให้ความสำคัญที่เด็กมีข้อได้เปรียบเพราะเด็กเล็ก ๆ เล่นด้วยกันได้ ไม่เลือกว่า พวกเขาจะเป็นใคร พ่อแม่ สีผิว หรือกลุ่มชาติพันธุ์ใด ศาสนาใดก็ตาม พระเจ้านั้นสร้างเด็กมาให้บริสุทธิ์ เราต่างหากที่ทำให้เขาแปดเปื้อน แง่นี้ การสร้างปาตานีในอนาคตควรคิดถึงสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่ต่างกันอย่างไร หมายความว่า การลงทุนกับเด็ก ๆ ในพื้นที่ ทั้งที่เป็นมลายูมุสลิมและที่ไม่ใช่อย่างไร? เพราะการคิดถึงเรื่องเด็ก คือการคิดถึงอนาคตปาตานี/ปัตตานี เพราะเด็กคืออนาคตของสังคมการเมืองทุกแห่งหน ผู้ใหญ่นับวันก็จะจากไปไม่ใช่อนาคตแล้ว

โครงการอาหารปาตานีปลอดภัย: ต้องคิดเรื่องปลอดภัยในสองความหมาย (1) ปลอดภัยและดีทางสุขภาพ นี่เป็นอาหารปลอดภัยสำหรับทุกคน ไม่เลือกว่าเป็นมลายูปาตานีหรือไม่  (2) ปลอดภัยทางวัฒนธรรม อันนี้สำหรับมุสลิมก็เป็นอาหารฮาลาล สำหรับผู้ที่ไม่ใช่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารฮาลาล แต่เป็นวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ ในแง่นี้ การคิดถึงอนาคตปาตานีผ่านเรื่องอาหารปลอดภัย คือ การคิดถึงตัวตนของปาตานี/ปัตตานีที่มีคุณสมบัติและตัวตนทั้งสองแบบ คือ inclusive หมายถึงการรวมคนที่เป็นปาตานี/ปัตตานี เป็นมลายูปาตานีและที่ไม่ใช่ และ exclusive เน้นอัตลักษณ์ของคนปาตานีในเวลาเดียวกัน

โครงการ ปาตานีมีเมตตา’ (Mercy Patani): เป็นโครงการที่ดูแลสุขภาพกายและใจคนกลุ่มน้อย คนที่มีอัตลักษณ์แตกต่างออกไปในพื้นที่ที่ต่างคนต่างดูแลกันอยู่ การดูแลสุขภาพกายและใจผู้ลี้ภัย หากพวกเขาปรากฏตัวอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งการดูแลสุขภาพกายและใจผู้คนที่เปราะบางในสังคมปาตานี/ปัตตานี ทุกรูปทุกนามที่ก่อรูปเป็นร่างของปาตานี/ปัตตานี เพราะหากเชื่อว่าผู้คนในสังคมร้อยกันเป็นสายโซ่ สายโซ่ที่ยึดมั่นกันไว้มันจะแข็งเท่ากับข้อเปราะบางที่สุด หากจุดเปราะบางนั้นแตกหัก ก็จะทำให้โซ่หรือผู้คนแตกห่างหลุดออกจากกันนั่นเอง

ตัวอย่างที่ยกมานี้ไม่ใช่สิ่งไร้สาระ ทั้งสามโครงการเกิดขึ้นในชีวิตจริงในไทยและของโลก เช่น โครงการเล่นเปลี่ยนโลกนั้น ดำเนินการโดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กได้รับการสนับสนุนจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีเครื่องมือจำนวนมากที่จะนำไปสู่เป้าหมาย, โครงการเมตตานั้น เคยเกิดขึ้นที่มาเลเซียตั้งแต่ปี 1999 ที่คนมุสลิมไปช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมที่ตกยากลำบากในยุโรป เช่นที่ เซอร์เบีย เป็นต้น และโครงการอาหารปลอดภัยนั้น เป็นโครงการขององค์การอนามัยโลกพยายามทำขึ้นมา และกำหนดให้วันที่ 7 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันอาหารปลอดภัย

“คำถามคือ คนปาตานีต้องรอให้ได้ ‘Merdeka’ (เอกราช – อธิบายความหมายโดยผู้เขียน) จึงจะคิดทำโครงการแห่งความเอื้ออาทรประเภทนี้หรือ?”

เพราะมีความอัศจรรย์แห่งความเอื้ออาทรที่สังคมต้องให้ระหว่างกัน ในหนังสือ วิญญาณแห่งการดูแล นั้น ตอนหนึ่งระบุว่า  “การดูแลคือกาวมนุษย์ที่ยึดครอบครัว ชุมชน และสังคมเข้าด้วยกัน การดูแลหรือการเอื้ออาทรให้ทางเลือกว่าเราจะใช้ชีวิตแบบไหนและเราคือใคร แต่มันถูกทำให้เงียบเสียงและลดทอนคุณค่า ทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกเป็นเครื่องสังเวยแก่เศรษฐกิจและประสิทธิภาพ” การดูแล ความเอาใจใส่ซึ่งกัน และความเอื้ออาทรนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ถึงที่สุดแล้วจะเป็นเครื่องบอกว่าเราเป็นใคร และเราเลือกจะมีชีวิตอย่างไร คำถามที่ติดตามมาคือ คนที่อยู่ในพื้นที่ปาตานี/ปัตตานีนั้นคือใคร และจะเลือกใช้ชีวิตอย่างไร ลองตอบคำถามนี้ผ่านความเอื้ออาทรและสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

บทสรุปสำหรับอนาคต: สองเรื่องราวจากประวัติศาสตร์และนวนิยาย

โดยจะกล่าวถึง (ก) ประวัติศาสตร์ ทูตเปอร์เซียไปอาเจะห์ในศตวรรษที่ 17 (ข) นวนิยาย เรื่องของซาลมา จากช่างซ่อมตุ๊กตาจากอาเคเชีย ของศิริวร แก้วกาญจน์

เรื่องราวของทูตเปอร์เซียในศตวรรษที่ 17: ในศตวรรษที่ 17 ราชสำนักเปอร์เซียส่งทูตมายังมหาราชแห่งราชสำนักอยุธยาเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี แต่เคราะห์ร้าย เรือราชทูตเปอร์เซียถูกลมพายุพัดข้ามอ่าวเบงกอล ไม่อาจขึ้นฝั่งคาบสสมุทรมลายูได้ พายุพัดเรือราชทูตไปขึ้นฝั่งท่าเมืองอาเจะห์ ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ราชสำนักสุมาตราเชิญราชทูตเปอร์เซียเข้าเฝ้า ระหว่างทางราชทูตตื่นตาตื่นใจกับความเจริญรุ่งเรืองของนครอาเจะห์อย่างยิ่ง เพราะเวลานั้น อาเจะห์เป็นเมืองท่าค้าขายกับเมืองอื่นทั้งในจีน อินเดีย และยุโรป ไม่ต่างจากปาตานี เมื่อได้เข้าเฝ้าผู้ครองนครอาเจะห์ ราชทูตเปอร์เซียตกใจนัก เพราะเห็นว่าสุลต่านอาเจะห์เป็นผู้หญิง Sultaddin of Aceh (1641-1675) ท่านทูตประหลาดใจที่เห็นเหล่าบุรุษก้มหัวยอมรับการปกครองของสตรี ท่านเขียนในสาส์นถึงกษัตริย์เปอร์เซีย ระบุว่า ประชาชนชาวอาเจะห์คงต้องเป็นมุสลิมที่มี ‘ศรัทธาอ่อนแอ’ และมี ‘ระดับศีลธรรมต่ำ’ จึงได้ยอมรับการปกครองเช่นนั้นได้

ก้าวข้ามจากศตวรรษที่ 17 มาศตวรรษที่ 21 กรณีการชุมชนแต่งกายชุดมลายูของเยาวชนชายในจังหวัดชายแดนใต้จำนวนมาก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 ที่เมืองสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีคนจำนวนหนึ่งตกใจ คนจำนวนสะพรึงกลัวว่าขบวนการมาแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ เราจะอ่านสถานการณ์นี้อย่างไร เช่น รอมฎอน ปันจอร์ จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อธิบายว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเพราะการส่งเสียงของประชาชนกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ ให้ได้ยิน ได้เห็นตัวตนทางอัตลักษณ์วัฒนธรรม และชื่นชมทางรัฐด้วยที่เปิดโอกาสให้มีการชุมชนนี้ ขณะเดียวกัน เสียงจากฝ่ายความมั่นคงสายเหยี่ยวบางคนกลับเห็นว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้น่าอึดอัดใจยิ่งหวาดระแวงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีคำอธิบายที่น่าสนใจประเด็นการเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่1 ทั้งกรณีราชทูตเปอร์เซียคือการเผชิญหน้ากับการขยายขอบฟ้าแห่งความเป็นไปได้ในชีวิตทางการเมืองอย่างถึงราก (Radical expansion of his own horizons of possibility) เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน แม้จะทำให้ท่านทูตต้องคับข้องอึดอัดเป็นอันมาก แต่ ‘สิ่งใหม่ ๆ’ โดยนิยามย่อมแตกต่างไปจากเดิมและทำให้อัดอัดคับข้องใจได้ ที่สำคัญ, หากปราศจากสิ่งใหม่ ๆ ก็จะไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น และหากไม่มีความเปลี่ยนแปลง ประวัติศาสตร์ก็จะถูกแช่แข็งและสูญสิ้นความเร้าใจใด ๆ

เช่นเดียวกับการชุมชนเยาวชนชุดมลายู ที่สายบุรีเมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นเหตุการณ์ใหม่ ซึ่งมีการคาดประมาณการณ์คนเข้าร่วมชุมนุมต่างกันตั้งแต่ 6,000 – 30,000 คน แต่งตัวแสดงออกทางอัตลักษณ์วัฒนธรรม มีการจัดการชุมชนอย่างสงบ เข้าแถวจัดระเบียบและส่งพลัง ทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยเห็นย่อมอึดอัดคับข้องใจได้ และบางคนคิดว่าการถือปืนไม่น่ากลัว แต่การแสดงออกเช่นนี้ต่างหากน่ากลัวกว่า นี่คือ สิ่งที่ผมพยายามบอกเรื่องของการใช้อำนาจและความรุนแรงไม่เหมือนกัน

คำถามที่ตามมาอย่างสำคัญคือ, เราจะปลดปล่อยพลังแห่งการแปลงเปลี่ยนในตัว ศาสนา และความเชื่อรวมหมู่ของผู้คนอย่างไร จึงจะเป็นคุณต่อการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ในอนาคต? ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐบาล หรือความมั่นคงของรัฐใดก็ตาม

เรื่องราวของซาลมาจากนวนิยาย ช่างซ่อมตุ๊กตากจากอาเคเชีย ของศิริวร แก้วกาญจน์: ซาลมา เด็กหญิงน่าตาน่ารักใส่ฮิญาบสีชมพูได้สนทนากับเจ้าของร้านกาแฟ ซึ่งภายนอกร้านนั้นเต็มไปด้วยทหารถืออาวุธทุกชนิด เจ้าของร้านเป็นห่วงเด็กสาวที่มานั่งเล่น และแนะนำให้หญิงสาวหาอะไรอย่างอื่นทำน่าจะมีประโยชน์กว่าการนั่งเล่นอยู่ที่นี่ เด็กหญิงชี้แจง ‘ใครบอกว่าหนูนั่งเล่นล่ะ’ ชายเจ้าของร้านบอก ‘ก็คนทั้งเมืองนี้แหละ’ ‘คนทั้งเมืองที่ถือาวุธมากกว่า’ ซาลมายิ้ม

ชายเจ้าของร้านกาแฟ ชวนคุยต่อ ‘ถึงฉันจะถืออาวุธ แต่ฉันก็เข้าใจหนู’ ขณะที่ซาลมา หัวเราะตอบกลับไป ‘บอกตามตรง หนูไม่เคยเห็นคนถืออาวุธคนไหนเข้าใจหัวจิตหัวใจมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อเลยสักคน’ เจ้าของร้านกาแฟก็บอกว่า ‘ฉันนี้หล่ะจะเป็นคนแรกที่หนูจะได้เห็น’

คำตอบของซาลมาน่าสนใจ ชวนให้กลับมาคิดถึงอนาคตปาตานีในอ้อมกอดของซาลมา หรือปาตานีดารุสซาราม ได้อย่างน้อย 3 ประเด็น คือ (ก) ปาตานีมีสองด้าน ทั้ง inclusive/exclusive  คือคนปาตานีที่มีตัวตนและคนอื่นที่อยู่ในพื้นที่ด้วย มีชีวิตอยู่หายใจอยู่ร่วมกับเรา (ข) ปาตานีมีอนาคตให้ทุกคน (ค) ปาตานีมีเมตตา

ในซีรีส์เรื่อง Walking Dead ที่ผมชอบดู ที่พระเอกพยายามสู้กับกองทัพซอมบี้ หรือศพเดินได้ มีตอนหนึ่งพระเอกสู้กับผู้ร้ายซึ่งไม่ใช่ผีดิบ ระหว่างที่ต่อสู้กันจนอาบเลือด พระเอกมีโอกาสจะฆ่าศัตรูได้ แต่ทันใดนั้น เขาก็พูดขึ้นมา ‘My mercy orevails over my wrath’ แปลว่า ความเมตตาของข้าอยู่เหนือความพิโรธของข้า เป็นประโยคน่าสนใจมากและมีข้อถกเถียงถึงที่มา ทว่า สำคัญต่อคนมุสลิม กล่าวคือ ประโยคนี้อยู่ในพระคัมภีร์ บางคนก็บอกว่าเป็นถ้อยคำติดไว้ที่บัลลังก์ขออัลเลาะห์ โดยอาบูฮุรอยเราะห์ รายงานว่า ท่านศาสดามูฮัมมัด (ซอล.) กล่าวว่า อัลเลาะห์ตรัสว่า ‘ความเมตตาของข้าฯ ธำรงไพศาลเหนือพิโรธของข้าฯ’ ซึ่งสำคัญมาก เพราะไม่ได้อยู่ในอัลกุรอ่าน แต่อยู่ในหะดีษคำสอนของท่านศาสนา (Hadith narrated in Sahih Muslim, hadith no.2751)

กล่าวโดยสรุป. ข้อเสนอของผมคือ ‘ไม่มีอนาคตที่สันติ หากไร้การเมืองแห่งเมตตา’ และเสนอให้สร้างอนาคตปาตานีด้วยการปกปักรักษาความขัดแย้งไว้อย่าให้เป็นพิษ จึงจะคิดถึงอนาคตอย่างสร้างสรรค์ได้


1 Farish Noor, “Expanding the Horizons of possibility in Muslim Normative Religio-Cultural Life” 2013.

ติดตามการสรุปเนื้อหาจากเวที “ภาพอนาคตปาตานี ภาพอนาคตชายแดนใต้” กับ The Active ได้ทุกวัน ผ่าน #SCENARIOPATANI https://theactive.net/topic/scenario-patani/

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง