“อั้งยี่-ซ่องโจร” ข้อกล่าวหา “ชุมนุมชุดมลายู” แผลใหม่ ระหว่างทาง…“สันติภาพ”

“แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) กลายประตูเหล็กบานใหญ่ ที่ทั้ง “คณะพูดคุยสันติสุขฯ” และ “ผู้แทนกลุ่ม BRN” ตกลงสร้างร่วมกัน เพื่อทำให้ประตูบานนี้ แข็งแกร่งมากพอ เปิดออกไปสู่เส้นทาง “สันติภาพ” ที่ทุกฝ่ายคาดหวัง

เกือบปีที่ข้อตกลง JCPP ได้เขียนทิศทางที่ชัดเจนเอาไว้ให้กับพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อเดินไปสู่ความสงบสุข ด้วยพันธะสัญญาที่ทั้งไทย และ กลุ่มผู้เห็นต่าง พร้อมจับมือกันแก้ปัญหาความขัดแย้ง ด้วยการ “ลดความรุนแรง” และ จัดการ “ปรึกษาหารือกับประชาชน” พร้อมแสวงหาทางออกด้วย “การเมือง” ไปสู่เป้าสร้างสันติภาพในพื้นที่อย่างยั่งยืน

สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พต้อนรับ พล.อ.ตันศรี ดาโต๊ะ สรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน ผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของมาเลเซีย (10 ม.ค. 67)

เมื่อรัฐบาลเปลี่ยน คนทำงานเปลี่ยน แต่ข้อตกลง JCPP ยุค “พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ” ก็ถูกรับไม้ต่อโดย “ฉัตรชัย บางชวด” หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ คนใหม่ทันที เขาย้ำชัดในวันที่ร่วมพูดคุยกับ ผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซีย และ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รองนายกรัฐมนตรี ว่า ทุกอย่างยังเดินตามกรอบเดิม หวังจะเปิดโต๊ะเจรจากันอีกครั้ง ภายในเดือนกุมภาพันธุ์นี้

“ไทยมีเป้าหมายรับรองแผนฉบับดังกล่าว จะทำให้การขับเคลื่อนเดินหน้าไปได้มากขึ้น โดยมีเรื่องการลดความรุนแรง การเผชิญหน้า การเปิดเวทีสาธารณะ รวมไปถึงการแสวงหาทางออกทางการเมือง คาดหวังว่าจะมีข้อตกลงสันติสุขภายในเดือนธันวาคม หรือช่วงต้นปีหน้า”

ฉัตรชัย บางชวด  

ความรุนแรงในพื้นที่ จะลดลงได้หรือไม่ ยังต้องดูกันยาว ๆ

ส่วนความคาดหวังให้ใช้กลไกการเมืองแสวงหาทางออกความขัดแย้ง ก็กำลังค่อย ๆ เดิน ด้วยบทบาทของ คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้) สภาผู้แทนราษฎร

แต่สำหรับการเปิดพื้นที่ปรึกษาหารือประชาชน กลับยังเป็นคำถาม ?

กิจกรรม MELAYU RAYA 2022 (ภาพจาก : Wartani)

MELAYU RAYA งานที่ไม่เข้าตา ฝ่ายความมั่นคง

เพราะทันทีที่ นักกิจกรรม ภาคประชาสังคม คนรุ่นใหม่ ในพื้นที่ชายแดนใต้ 9 คน นัดแต่งกายด้วย “ชุดมลายู” เดินแถว มุ่งหน้าไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.สายบุรี จ.ปัตตานี หลังถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคงอย่างน้อย 2 ข้อหา คือ “ยุยง ปลุกปั่น” และข้อหา “อั้งยี่ ซ่องโจร” ผ่านการจัดกิจกรรม MELAYU RAYA 2022 ณ หาดวาสุกรี อ.สายบุรี ก็ชัดเจนว่า สายตาที่ฝ่ายความมั่นคง จ้องมองประชาชน อาจไม่ใด้อยู่ภายใต้โจทย์ที่สอดคล้องกันกับกรอบเจรจาตามข้อตกลง JCPP ที่หวังอยากเห็นความรุนแรงยุติลง

1 ใน 9 คน ที่โดนคดี คือ “มะยุ เจ๊ะนะ” ผู้อำนวยการสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) หนึ่งในผู้จัดกิจกรรม MELAYU RAYA 2022 โดยที่หมวกอีกใบยังเป็น กรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้

มะยุ เจ๊ะนะ

มะยุ มองว่า การถูกดำเนินคดีกำลังสวนทางกับสิ่งที่หลายฝ่ายพยายามใช้วิถีทางการเมือง หาทางออกสู่สันติภาพ เพราะเจตนาของ MELAYU RAYA 2022 ไม่เพียงส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟูการแต่งกายตามวิถีวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ท้องถิ่น แต่ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชนมีพื้นที่สาธารณะได้แสดงออก นี่คือบรรยากาศที่เขาเชื่อว่า จะหนุนเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในอนาคต

กิจกรรมในปีนั้นสิ้นสุดลง ท่ามกลางข้อสังเกตมากมายจากฝ่ายความมั่นคง คณะผู้จัดงานฯ ถูกเรียกเข้าพบ พูดคุยกับตัวแทน กอ.รมน. กองทัพภาคที่ 4 อย่างต่อเนื่อง เพื่อชี้แจง และยืนยันวัตถุประสงค์การจัดงาน จนดูเหมือนว่าฝ่ายความมั่นคง มั่นใจ และเชื่อใจกับกิจกรรมนี้มากขึ้น เป็นผลให้กิจกรรม MELAYU RAYA 2023 ได้รับไฟเขียวในปีถัดมา

“เราจัดกิจกรรมโดยไม่มีอะไรแอบแฝง แม้ครั้งแรกจะมีคำถาม เรื่องของธงที่พี่น้องนำมาร่วมกิจกรรม รวมถึงเพลง และคำกล่าวต่าง ๆ ที่อาจทำให้หน่วยงานความมั่นคงเกิดความกังวล แต่ก็ได้พูดคุย หารือ ชี้แจง ทำความเข้าใจกับฝ่ายความมั่นคงมาตลอด และเขาก็อนุญาตให้เราจัดครั้งต่อไปได้ ซึ่งการจัดครั้งล่าสุดเมื่อปี 2566 ก็ผ่านไปด้วยดี ทหาร หน่วยงานความมั่นคงเอง ก็ยังอำนวยความสะดวก ให้กับพี่น้องได้เข้าร่วมงานเป็นอย่างดี ไม่มีทีท่าว่าจะเกิดอะไรที่ผิดปกติ แต่แล้วทำไมผู้ที่จัดกิจกรรมจึงโดนหมายเรียก ถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมา เป็นสิ่งที่เราตั้งคำถาม”

มะยุ เจ๊ะนะ
กิจกรรม MELAYU RAYA 2022 (ภาพจาก : Wartani)

MELAYU RAYA เป็นกิจกรรมรวมตัวกันของเยาวชน คนรุ่นใหม่ชาวมุสลิมในชายแดนใต้ นัดแต่งกายด้วยชุดมลายู สะท้อนตัวตนตามวิถีวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น เริ่มจัดมาต่อเนื่องหลายปี จนในปี 2565 กิจกรรมเกิดไม่เข้าตาหน่วยงานความมั่นคง

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ชี้แจงกรณีออกหมายเรียกนักกิจกรรม 9 คน ยืนยัน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับการแต่งกายชุดมลายู เพราะถือเป็นการส่งเสริมอัตลักษณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่สิ่งที่ติดใจ จนนำไปสู่การดำเนินคดี เนื่องจากมองว่า กิจกรรมนั้นมีบางอย่างแอบแฝง เช่น มีธง BRN ปรากฏอยู่ พร้อมทั้งมองว่า มีความพยายามปลุกปั่น ยุยง ผ่านบทกวี ที่แสดงออก และสื่อความหมายได้ว่า เป็นถ้อยคำปลุกระดม ให้กลุ่มเยาวชน ยอมสละชีวิตต่อสู้เพื่อชาติมาลายู เป้าหมาย คือ แยกออกเป็นประเทศเดียว ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มองว่า อาจเลยเถิดไปสู่การต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้

และจากการเข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เมื่อถูกถามถึงการตัดสินใจแจ้งความดำเนินคดีของ กอ.รมน. ได้คำนึงถึงความกังวลต่อการแก้ปัญหาชายแดนใต้หรือไม่ พ.อ.เฉลิมชัย สุทธินวล ผอ.สำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน (ผอ.สกส.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ยืนยันว่า ไม่เคยห้ามการชุมนุมชุดมลายู การแต่งกายมลายู ไม่ใช่ประเด็น แต่ในกิจกรรมที่เกิดขึ้น พบข้อบ่งชี้บางประการ ที่ส่อไปในการกระทำผิดกฎหมาย งานเหล่านี้เป็นหน้าที่ของ กอ.รมน. ที่ต้องเฝ้าติดตาม ต้องรวบรวมหลักฐานทั้งหมด เพื่อนำไปสู่กระบวนการทางกฎหมาย ทำตามระบบทุกอย่าง  

ขณะที่ พ.ต.อ.จารุวิทย์ เรืองชัยกิตติพร รอง ผอ.สกส.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ย้ำว่า ที่ดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามกรอบกฎหมาย โดยเคารพสิทธิมนุษยชน และพยายามหาแนวทางที่เติมเต็มที่สุดในการอยู่ร่วมกันในฐานะของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กรณีดังกล่าว เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมคือการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าผิดหรือถูก อย่างกรณีการโบกธง BRN ทำไมต้องมีธง BRN ทำไมไม่สามารถควบคุมไม่ให้โบกธง BRN ได้ ซึ่งผู้ทำหน้าที่จัดกิจกรรม ต้องรับผิดชอบการดำเนินการของมวลชนทั้งหมด

ย้ำ MELAYU RAYA ไร้เจตนาแอบแฝง

เมื่อฝ่ายความมั่นคงมองแบบนั้น ในฐานะของคณะผู้จัดกิจกรรม และยังเป็น 1 ใน 9 คน ที่ถูกดำเนินคดี “มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ” เห็นว่า สิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ากังวล ผู้จัดกิจกรรมยินดีปรับเปลี่ยนให้ทั้งหมด สิ่งนี้จึงพอเน้นย้ำเจตนาว่ากิจกรรมของพวกเขา ไม่ได้มีนัยยะอื่นใดแอบแฝง

มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ (ภาพจาก : Wartani)

พวกเขายังยอมรับด้วยว่า การรวมพลคนหมู่มากในกิจกรรมวันนั้น อาจมีบ้างที่ควบคุม ดูแลไม่ทั่วถึง ซึ่งเป้าหมายกิจกรรมเพียงเพื่อนัดรวมตัวกัน ไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่า ใครจะนำพาอุปกรณ์อะไรมาเพื่อแสดงออก หรือ เป็นสัญลักษณ์  

“ในกำหนดการ เราแค่ต้องการมารวมตัวกันเฉย ๆ เรารวมตัวกันแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เรื่องธงก่อนหน้านั้นก็ไม่มี ละเราก็ไม่ได้มีกฎข้อห้ามอะไร พอปี 2565 ที่เกิดปัญหา ฝ่ายความมั่นคงกังวล เราก็เลยสั่งห้ามนำธง BRN ธงที่สุ่มเสี่ยง ห้ามนำอาวุธ รวมถึงการแสดงออกด้วยท่าทางตะเบ๊ะแบบทหาร ตรงนี้เราก็ห้ามทำหมดในปีล่าสุด เพราะฝ่ายความมั่นคงอาจมองว่าเรามารวมตัวกันฝึกกองกำลังอะไรรึเปล่า ซึ่งเราไม่ได้ทำแบบนั้น ก็ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าเขาห้าม เขาขอความร่วมมือ เราก็ไม่ทำ และยอมปรับเปลี่ยน เพื่อย้ำเจตนาว่าเราไม่มีอะไรแอบแฝง”  

มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ
กิจกรรม MELAYU RAYA 2022 (ภาพจาก : Wartani)

ส่วนเรื่องการปราศรัย ที่อาจเข้าข่ายปลุกระดม หรือไม่นั้น อาลาดี ซึ่งก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่บนเวที และได้ย้อนฟังทบทวนคำพูดของตัวเองหลายครั้ง ก็ย้ำแล้วย้ำอีกว่าเขา ไม่ได้พูดคำไหนที่อาจทำให้มีปัญหา ถ้าให้คิดว่าอะไรจะทำให้ติดใจหน่วยงานความมั่นคง ก็อาจเป็นคำแถลงสัตยาบรรณ เพราะเมื่อพูดเป็นภาษามลายู ก็เป็นไปได้ที่อาจสื่อสาร แปลความหมายกันผิดพลาด จนทำให้สิ่งที่ต้องการสื่อนั้นผิดเพี้ยนรุนแรง



เขายกตัวอย่างคำ ๆ หนึ่งที่เชื่อว่าอาจทำให้มีปัญหา คือคำมลายูที่ออกเสียงว่า “บังซา” ในความหมายคือ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติของชาวมลายู แต่ฝ่ายความมั่นคงอาจแปลเป็น “ชาติมลายู” อีกคำคือคำที่ออกเสียงว่า “เนอการา” ซึ่งแปลว่า แผ่นดิน เลยอาจถูกตีความเลยเถิดไปถึงการแบ่งแยกอะไรหรือไม่

กิจกรรม MELAYU RAYA 2022 (ภาพจาก : Wartani)

“สัตยาบรรณ คำแถลงต่าง ๆ เรามีคำแปลที่ชัดเจนส่งไปให้เขาแล้ว และก็ได้นำเสนอฝ่ายสื่อไปแล้ว แต่ดูเหมือนเขาไม่ฟังในสิ่งที่เราแปล แต่เราชี้แจงความหมายไป ว่าไม่ได้รุนแรง คำสัตยาบรรณ มาจากปรากฎการณ์ในพื้นที่ ที่กลุ่มเยาวชนต้องการสร้างสัญญาร่วมกันว่าจะให้ความช่วยเหลือกันและกัน สิ่งนี้สะท้อนออกมาหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นโควิด เราก็ช่วยเหลือกันเอง โดยไม่ต้องรอรัฐ ล่าสุดคือช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา เยาวชน คนรุ่นใหม่ก็รวมตัวลงไปช่วยชาวบ้าน นี่คือสิ่งที่เยาวชนในพื้นที่สัญญาว่า จะใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ช่วยเหลือประชาชน แค่นั้นแต่ถูกแปลว่า จะมากอบกู้เอกราช กู้ชาติ อันนี้ยืนยัน ว่าไม่มีเจตนาเหล่านั้น และเราก็ใช้สัตยบรรณคล้ายกันนี้ทุกปี”

มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ

คำถามคือในเมื่อ คณะผู้จัดงานฯ ทำความเข้าใจหน่วยงานความมั่นคงไปแล้ว และงานปีล่าสุดก็จัดได้ปกติ แต่ทำไม จึงถูกดำเนินคดีย้อนหลัง ?

มีข้อสังเกตว่าอาจเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านภายในกองทัพภาคที่ 4 โดยเฉพาะตัวแม่ทัพ เพราะการพูดคุยทำความเข้าใจในข้อห่วงกังวลของการจัดงานในปี 2565 เป็นแม่ทัพคนก่อน คือ “พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์” แต่การฟ้องดำเนินคดีเกิดขึ้นในยุคของ “พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค” แม่ทัพภาคที่ 4 คนล่าสุด ที่อาจต้องการแสดงบทบาทของหน่วยงานความมั่นคง เพื่อป้องปรามกลุ่มนักกิจกรรม ภาคประชาสังคม ในช่วงเวลาที่สังคมเรียกร้อง การเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อพูดคุยหาทางออกปัญหาความไม่สงบ

กิจกรรม MELAYU RAYA 2022 (ภาพจาก : Wartani)

“พื้นที่ปรึกษาหารือสาธารณะ” สิ่งที่ฝัน กับ ความจริง

ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า ในมุมมองของฝ่ายความมั่นคง การเปิดพื้นที่ปรึกษาหารือสาธารณะ และการมีส่วนร่วม อาจหมายถึงการทำให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ ที่คดีความจึงถูกนำมาใช้เพื่อสกัดการเคลื่อนไหวเหล่านี้

แต่ในเมื่อกรอบข้อตกลง JCPP ระบุชัดว่า การจัดการ “ปรึกษาหารือกับประชาชน” เป็นหนึ่งในเป้าหมายสร้างสันติภาพที่อย่างยั่งยืน ทำไม ? การเปิดพื้นที่ให้กับประชาชน จึงยังติดอยู่กับหลักคิดแบบเดิม ๆ

เพราะหากขนาดจัดกิจกรรมรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยชุดมลายูยังมีปัญหา อะไรจะเป็นหลักประกันว่า ความพยายามเดินไปให้ถึงการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มผู้เห็นต่างได้ร่วมพูดคุย ปรึกษาหารือ ผ่านโต๊ะเจรจา จะทำได้โดยไม่มีอะไรติดขัด

Ustaz Khalil Abdullah ผู้แทนคณะพูดคุยสันติภาพขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BRN)

ที่ต้องบอกแบบนั้น เพราะสิ่งนี้ทางฝ่ายผู้เห็นต่าง ก็คิดไม่ต่างกัน “Ustaz Khalil Abdullah” ผู้แทนคณะพูดคุยสันติภาพขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BRN) เคยระบุเอาไว้ผ่านช่องทางออนไลน์ ในเวทีเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า : ทิศทาง อนาคตกระบวนการสันติภาพปาตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่มูลนิธิความร่วมมือสันติภาพ (PRC) จัดขึ้น

เขามองว่า อนาคตการแก้ปัญหาความขัดแย้งต้องหาพื้นที่แสดงออกทางการเมือง จำเป็นต้องเจรจาต่อรองได้ แม้ยอมรับว่าไม่มีอะไรได้ 100% แต่กระบวนการต้องยืนบนหลักการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรมอย่างยั่งยืน เปิดพื้นที่ให้สังคมชุมชนปาตานี มีพื้นที่ มีหลักประกันเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความเห็นสาธารณะ ให้พื้นที่คณะพูดคุยฝ่าย BRN มีส่วนในกระบวนการรับฟังความเห็น โดยต้องได้รับการคุ้มครอง ซึ่งต้องเป็นเวทีที่ทั้ง 2 ฝ่าย ได้จัดร่วมกัน พูดคุยกันถึงประเด็นที่เป็นรากเหง้าของปัญหา ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

การคุ้มครองผู้ร่วมกระบวนการพูดคุยในพื้นที่เปิดสาธารณะ ของกลุ่มผู้เห็นต่าง ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่คิดตรงกันกับ กรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ และในอนาคตเราอาจมีกฎหมายสันติภาพ ที่ระบุชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ เป้าหมายเพื่อเปิดทางไปสู่การพูดคุยกับคนทุกกลุ่มเพื่อหาทางออกสันติภาพ

แต่คำถามก็ย้อนกลับไปที่หน่วยงานความมั่นคงอยู่ดีว่า…จะเอาด้วยหรือไม่ ?  

ยิ่งมีกรณีการฟ้องร้อง ดำเนินคดีกับประชาชน ไม่เพียงทำให้ทุกอย่างดูยากขึ้นไปอีกระดับ อาจยังทำลายบรรยากาศการเดินหน้าสันติภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทุกเรื่องดูเหมือนย้อนแย้งกันไปหมด

รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

“แผลใหม่” ทำลายบรรยากาศ “สันติภาพ”

ปัจจัยหนึ่งที่ถูกมองเป็นเหตุเป็นผล คือ ความไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาล เพราะเรื่องปัญหาชายแดนใต้ยังมองไม่ออกว่าใครคือคนรับผิดชอบหลัก นี่คือสิ่งที่ “รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ” จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตั้งข้อสังเกต ว่าส่งผลทำให้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้ดูสวนทางกันแทบทุกเรื่อง จากความพยายามเน้นใช้แนวทางการเมืองนำสู่การแก้ปัญหา แต่ที่สุดหลักคิดด้านความมั่นคงกลับมาทำลายบรรยากาศลง

“ในทางปฏิบัติฝ่ายความมั่นคง ทำอะไรดูไม่สอดคล้องกันเลย เหมือนปล่อยให้เจ้าหน้าที่ ในพื้นที่เผชิญหน้า รับมือกับสถานการณ์กันเอาเอง เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ไม่ผิด ทุกคนทำตามหน้าที่ แต่คนผิดคือรัฐบาล ที่ไม่ได้มองเห็นภาพรวมว่ากระบวนการแก้ปัญหาชายแดนใต้ เราเดินกันมาขนาดไหน และมีข้อตกลงอะไรร่วมกันบ้าง เรื่องแบบนี้จะปล่อยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ ปะทะกับแรงกดดันอย่างเดียว จนทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจต่อไปไม่ได้ จะส่งผลเสียหายกันหมด”

รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ

นักรัฐศาสตร์ ยังเชื่อว่า แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งไปสู่สันติภาพ ยืนยันชัดเจนว่า คุยกับคนที่เห็นด้วยอย่างเดียวไม่ใช่การแก้ปัญหา การพูดคุยจริง ๆ คือต้องมองเห็นเสียงที่แตกต่าง แล้วนำเอามาถกเถียงให้ได้ข้อสรุปที่เป็นจริง

“ถ้าอยากฟังแค่คนฝั่งเดียว การปรึกษาหารือสาธารณะจะไม่เกิดขึ้น พอไม่เกิดขึ้นต่อให้จัดเวทีกันแค่ไหน พูดไปก็ถูกจับ คนก็เลือกไม่พูดดีกว่า เราควรเก็บเกี่ยวบทเรียน แล้วมาปรับความคิดให้กว้างขึ้นหน่อย เพราะถ้ามีความเห็นต่าง แล้วถูกมองว่าแบ่งแยก ก็คงไม่ต่างอะไรกับการแก้ปัญหาแบบนี้มาเกือบ 20 ปี ที่ไม่เห็นรูปธรรมอะไรเลย กรณีฟ้องร้องนักกิจกรรม คิดว่าเป็นแผลใหม่ ที่ยังพอมีเวลาสมานแผลได้ ภาครัฐ ฝ่ายความมั่นคง ต้องอย่าทำให้เลยเถิดจนกลายเป็นแผลในใจ เพราะจะไม่มีใครเชื่อถืออีก”

รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ
อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม นักวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เปิดพื้นที่แสดงออก สร้างความคุ้นชินใหม่ ต่อยอดแก้ปัญหาความไม่สงบ

สอดคล้องกับมุมมองของ “อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม” นักวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่า แม้กระบวนการสันติภาพที่คุยในพื้นที่ จำเป็นต้องให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม มีบทบาทร่วมกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว จะเกิดสันติภาพได้ก็ต่อเมื่อต้องเปิดพื้นที่ให้กันและกัน เพื่อความแตกต่างหลากหลาย แต่ความเป็นจริงที่เห็นชัดเจนในเวลานี้ คือ ความคุ้นชินกับ “วัฒนธรรมเชิงเดี่ยว” ที่สังคมไทยไม่ค่อยเปิดรับอะไรได้เลย จนทำให้เฉดสีของความรุนแรง ความเกลียดชัง ยังเป็นเหมือนจนแก้ไขได้ยาก

แต่เมื่อความคุ้นชินแบบนี้ มาเกิดขึ้นกับประเด็นอัตลักษณ์เฉพาะ อย่าง กิจกรรมชุมนุมคนรุ่นใหม่แต่งกายด้วยชุดมลายู แม้ฝ่ายความมั่นคงย้ำว่าไม่เกี่ยวกับการที่มีนักกิจกรรมถูกดำเนินคดี แต่จากกิจกรรมที่มาจากอัตลักษณ์ของผู้คน ได้ถูกมองว่าเป็นปัญหา ถูกโยงกับเรื่องความมั่นคงไปแล้ว จนสร้างความไม่สบายใจให้รัฐ

จึงอยากให้คิดว่า ถ้ากิจกรรมเป็นเพียงการแสดงออก ไม่มีอะไรสุ่มเสี่ยงให้เกิดความรุนแรง รัฐก็ต้องให้พื้นที่แบบนี้เกิดขึ้นได้ นั่นเท่ากับว่า รัฐได้สร้างความคุ้นชินแบบใหม่ ๆ เชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์กับความคาดหวังไปสู่การแก้ปัญหาในพื้นที่ได้มากกว่า อย่างน้อยเพื่อเป็นพื้นที่ต่อรองทางวัฒนธรรม เพราะ 20 ปีที่ผ่านมา เยาวชน คนรุ่นใหม่ ที่ร่วมกิจกรรมชุมนุม พวกเขาถือเป็นผลผลิตจากความรุนแรงในพื้นที่ที่เกิดขึ้นมาก่อน รับรู้ถึงเรื่องราวของคนในครอบครัว คนใกล้ชิด ที่ถูกกระทำ ทำให้เห็นความไม่ยุติธรรมต่าง ๆ มาจนถึงยุคสมัยนี้ เลยคาดหวังให้ภาครัฐเข้าใจบริบทแวดล้อมเหล่านี้ด้วย

“รัฐต้องไม่ลืม ว่าพื้นที่ชายแดนใต้เต็มไปด้วยความหลากหลาย การยึดติดหลักคิดวัฒนธรรมเชิงเดี่ยวมากเกิน เมื่อมีอัตลักษณ์ หรือการกระทำใหม่ ๆ เข้ามา ต้องพร้อมรับฟัง พร้อมปรับเปลี่ยน ขณะเดียวกันรัฐต้องเชื่อโดยบริสุทธิ์ด้วยว่า การแก้ปัญหาชายแดนใต้ไม่ใช่มีแค่ ทหาร กอ.รมน. หรือ ฝ่ายความมั่นคง เพราะยังมีภาคประชาสังคม และประชาชนอีกหลายกลุ่มที่พร้อมยื่นมือเข้ามา เพียงแต่พวกเขาได้รับอิสระกับการพูดถึงแนวทางใหม่ ๆ แค่ไหน หรือต้องพูดคุยอย่างระแวดระวังกันทุกฝ่าย แต่ไม่ว่ายังไงในประเด็นที่ล่อแหลม ก็จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องคุยกันก่อน ไม่ใช่ใช้กฎหมายมาจัดการ แล้วรอให้ปัญหาบานปลาย หรือ ตัดสินใจทำโดยไม่รับฟังกัน สิ่งนี้นักวิจัย เชื่อว่าต้องทำให้สังคมไทยคุ้นชินกับเรื่องแบบนี้”

อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม

ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการมาของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง เป็นนิมิตรหมายที่ดี กับกระบวนการสร้างสันติภาพ ในห้วงเวลาที่ผู้คนเองต่างก็กำลังเชื่อมั่นกับระบบการเมือง ว่าจะนำพาไปสู่การแก้ปัญหา

บรรยากาศแบบนี้…จึงไม่มีใครอยากให้ถูกทำลายลง เพื่อทำให้ 20 ปีของความรุนแรงที่ชายแดนใต้ยุติลงเสียที

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชาลี คงเปี่ยม