ทักษิณ โยนหิน ‘เขตปกครองพิเศษ’ ก่อน ‘ปกครองตนเอง’

เสนอ “อนาคตปาตานี/ชายแดนใต้” ใช้การพูดคุยและเปลี่ยนงบฯ ความมั่นคงมาพัฒนาพื้นที่ สร้างเศรษฐกิจ เชื่อว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า นักสันติวิธีเสนอ จะไม่มีอนาคตที่สันติ หากไร้การเมืองแห่งความเมตตา

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2565 ‘ทักษิณ ชินวัตร’ หรือ ‘Tony Woodsome’ ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงานเสวนาออกนไลน์ “ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้” (SCENARIO PATANI) จัดโดยสื่อใหม่ The Motive ถือเป็นครั้งแรกที่ ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การประกาศยุบ ศอ.บต. และกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 (พตท.43) เมื่อปี 2545 จนความขัดแย้งรุนแรงปะทุขึ้นรอบใหม่ จากเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ ผู้สร้างวาทกรรม ‘โจรใต้’ จนเป็นที่มาของการออกพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน และผู้อยู่เบื้องหลังกดดันฝ่ายขบวนการเห็นต่างจากรัฐให้ขึ้นโต๊ะพูดคุยสันติภาพ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อปี 2556

ทักษิณ ยอมรับว่าเสียใจที่มีเวลาพูดน้อยทั้งที่เตรียมมาตอบคำถามหลายคน เนื่องจากผู้จัดงานนัดเวลาไว้แต่รายการล่าช้าจึงไม่ได้พูดตามที่ตั้งใจไว้เนื่องจากติดนัดสำคัญ ทั้งนี้ ขอให้กำลังใจพี่น้องชาวปาตานีและคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำลังไขว่คว้าหาอนาคต ยอมรับว่าอดีตที่ผ่านมา ครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เน้นเรื่องความมั่นคงมากเกินไป ภายหลังพบว่าไม่ถูกต้อง และหลังจากที่คิดว่าต้องเปลี่ยนแปลงก็ถูกปฏิวัติเสียก่อน และจากการไปพูดคุยกับผู้นำ (ศาสนา) บางท่านที่มาเลเซีย เพราะอยากเห็นการพูดคุยกัน

ทักษิณ ระบุว่า การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเข้าใจภาวะที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ คือ 1. เขาพูดสองภาษา 2. บางคนมีสองสัญชาติต้องเดินทางเข้าออกชาแดนไทยมาเลเซีย 3. การเรียนหนังสือต้องเรียนด้านศาสนา แต่การเรียนด้านสามัญและวิชาชีพยังน้อยไป 4. การพัฒนาฝั่งไทยช้ากว่าฝั่งมาเลเซียมาก ทำให้การไหลเวียนคนข้ามฝั่งไปทำงานที่มาเลเซียเป็นจำนวนมาก และ 5. ธรรมชาติของเมืองชายแดนทุกที่คือเรื่องอาชญากรรม มีปัญหาเรื่องยาเสพติด ต้องหันกลับมาแก้ปัญหาที่ไม่ใช่วิธีการทหาร

‘คุ้มกว่า’ เสนอเปลี่ยนงบประมาณความมั่นคงมาพัฒนาพื้นที่

“เราใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาทกับวิธีการทางทหาร และแทบไม่ได้ผลอะไรเลย ทั้งยังสูญเสียชีวิตพี่น้องทหารไปอีกหลายคน เสนอว่าต้องนำงบประมาณด้านความมั่นคงเปลี่ยนเป็นงบการพัฒนาที่ทำร่วมกับทุกภาคส่วนดีที่สุด ผมเชื่อว่าพรรคประชาชาติที่อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถนำข้อเสนอเหล่านี้คุยกับรัฐบาลข้างหน้า เชื่อว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า และพรรคประชาชาติจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องจังหวัดชายแดนใต้”

“สิ่งที่ผิดก็ยอมรับว่าผิด สิ่งที่พลาดก็ยอมรับว่าพลาด ส่วนสิ่งที่ถูกต้องควรมาปรึกษาร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ผมมั่นใจว่าถ้ายอมรับความจริงกับสิ่งที่มีอยู่ปัจจุบันและพยายามหาศักยภาพของการพัฒนาจากคนในพื้นที่ จะใช้ soft power หรือใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ใช้การพัฒนาความเจริญโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เข้า ไป ผมคิดว่าคุ้มค่ากว่าจะทุ่มเทเงินใช้สำหรับการทหารเท่านั้น ซึ่งมองว่าที่ผ่านมาสิบกว่าปีไม่ได้ผลอะไรเลยกับงบประมาณที่เสียไป”

เสนอปรับ จชต.เป็น ‘เขตปกครองพิเศษ’ ก่อน ‘ปกครองตนเอง’

ทักษิณ เล่าว่าเคยลงตรวจพื้นที่เขตอันตรายที่สุด ในยามนั้น ผู้บังคับกองพันขณะนั้นคือ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ โดยลงพื้นที่ไปแบบไม่มีใครรู้ ไปตรวจการแล้วขอนอนที่นั่น ได้ยืมผ้าห่มของนายอำเภอและไข่ต้มของนายทหารที่ค่าย มั่นใจว่าถ้ามีการพูดคุยกัน ใช้การเมืองนำการทหาร สถานการณ์ความรุนแรงจะสงบและหาแนวทางการพัฒนาร่วมกันได้ ดูตัวตัวอย่างจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีแต่ทรายทั้งนั้น วันนี้มีความเจริญมากมากเพราะทั้ง 7 แคว้นพูดคุยสนับสนุนเกื้อกูลกัน  กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐีมาอยู่รวมกัน เพราะ 1. กฎหมายเป็นกฎหมาย 2. ความสงบสุขเขาดีมากและกติกาบ้านเมืองชัดเจน

“ผมยังเห็นศักยภาพของคนและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำไมมาเลเซียพัฒนาได้ แต่เราพัฒนาไม่ได้ แสดงว่าต้องมีบางสิ่งผิดปกติ ดังนั้น ยอมรับและกล้าเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เช่นเรื่องการปรับเป็นเขตปกครองพิเศษ และให้คนในพื้นที่ได้รับการเลือกตั้งมานั่งทำงานสร้างการมีส่วน โดยรัฐทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยจนกว่าจะลงตัว จากนั้นก็พัฒนาเป็นเขตปกครองตนเองได้ เชื่อว่าตรงนั้น เขาพูดภาษาเดียวกันวัฒนธรรมเดียวกันจะทำให้การพัฒนาไปได้ด้วยดี”

นายกทักษิณ กล่าวทิ้งท้ายฝากความหวังว่า ถ้าทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ลดเรื่องความมั่นคงลง สร้างเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ฐาน เพิ่มระบบการศึกษาที่ดี เชื่อว่าคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้จะมีการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีอนาคต มีความสุขกันทุกคน

ปาตานี ชายแดนใต้

งานเสวนาออนไลน์ “อนาคตปาตานี/ชายแดนใต้” จะจัดต่อเนื่อง 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 -25 มิถุนายน 2565 ในวันแรก มีปาฐกถาพิเศษ 2 ภาษามลายูและไทย โดย ‘อุสตาซอับดุลเราะห์มาน หลวงแดวา’ หรือ ‘ดอรอแม หะยีหะซา’ ในฐานะประธานกลุ่มนักเขียนปาตานี และ ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ รวมทั้งการอ่านบทวีโดย ‘ซะการีย์ยา อมตยา’ กวีซีไรต์

ติดตามรายละเอียดได้ที่ : https://www.facebook.com/TheMotive2020/videos/1089329868374846

สื่อสารกับคนถืออาวุธจะไม่มีอนาคตที่สันติ เพราะความขัดแย้งเป็นพิษ

ทั้งนี้ ปาฐกถาของ ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มีประเด็นหลักที่ต้องการนำเสนอคือ จะไม่มีอนาคตที่สันติ หากไร้การเมืองแห่งความเมตตา และถ้าจะทำข้อเสนอให้เป็นจริง การสร้างอนาคตปาตานี/ปัตตานีด้วยการปกปักรักษาความขัดแย้ง อย่าให้เป็นพิษจึงจะคิดถึงอนาคตอย่างสร้างสรรค์ได้ โดยทำสองอย่าง คือ (หนึ่ง) อย่าติดกับกลายเป็นความรุนแรง และ (สอง) อย่าให้ความขัดแย้งเป็นพิษ

โดยมี 5 ขั้นตอนเพื่ออธิบายปัญหา ‘อนาคตปาตานี’ คือ (1) ความขัดแย้งไม่ใช่อะไร (2) ความขัดแย้งเป็นพิษได้อย่างไร? (3) จะคิดถึงอนาคตได้กี่แบบ ? อะไรบ้าง? (4) ตัวอย่างโครงการอนาคตสำหรับปาตานี และ (5) จดหมายราชทูตเปอร์เซียและเรื่องของซาลมา ที่เกี่ยวกับการเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่

กล่าวโดยสรุป ความรุนแรงจะกลบต้นตอของความขัดแย้ง กลบผลกระทบที่มีต่อเหยื่อ มองไม่เห็นทางเลือกและทางออกจากความขัดแย้ง เพราะวนอยู่ที่การตอบโต้ความรุนแรง ต้องการให้คนที่ถืออาวุธ ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายต่อต้านรัฐตระหนักว่าความรุนแรงจะเป็นจุดจบของการอำนาจ

ทั้งนี้ ให้ระมัดระวังความขัดแย้งที่เป็นพิษจาก (1) ความเกลียดชังจนไม่สามารถหาทางออกในชีวิตและการเมือง (2) การแช่แข็งความขัดแย้ง เพราะความขัดแย้งมีพลวัตรเหมือนมีชีวิตและลมหายใจ หากถูกกดไว้อาจระเบิดเป็นความรุนแรง จะทำอย่างไรที่จะจัดการอย่างสร้างสรรค์ สัมพันธ์กับคู่ขัดแย้งในฐานะที่เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน เป็นโจทย์ที่สังคมต้องร่วมคิดหาทางออกด้วยกัน โดยอนาคตนั้น มี 3 อย่างคือ อนาคตที่เป็นไปได้ อนาคตที่พึงปรารถนา และอนาคตที่มีโอกาสน่าจะเป็นไปได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบ เหตุผล และที่มาของการใช้ชีวิต

เสนอ 3 โครงการสร้างความอาทรในพื้นที่เพื่ออยู่ร่วมกัน

ศ.ชัยวัฒน์ ยังเสนอ 3 โครงการทดลองให้ผู้เกี่ยวข้องกลับไปคิดว่าแต่ละโครงการจะมีผลต่ออำนาจของตัวเองอย่างไร คือ (ก) โครงการเล่นเปลี่ยนโลก: ให้ลงทุนกับเด็ก ๆ ในพื้นที่ เพราะเด็กที่เป็นอนาคตของทุกสังคมการเมือง หากให้เขาได้เล่นด้วยกัน พฤติกรรมการเล่นของเด็กจะช่วยเชื่อมร้อยพฤติกรรมของคนในครอบครัวและชุมชน ซึ่งจะช่วยพัฒนาเด็กในปาตานี/ปัตตานีทั้งสมองและสุขภาพ (ข) โครงการอาหารปลอดภัยทั้งด้านสุขภาพและวัฒนธรรม ซึ่งอาหารจะช่วยสะท้อนความเป็นตัวตนของคนในพื้นที่ทั้งหมด และความเป็นวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มคนด้วย และ (ค) โครงการ ​‘ปาตานีมีเมตตา’ ที่ดูแลสุขภาพกายและใจคนกลุ่มน้อย ผู้ลี้ภัย และกลุ่มคนเปราะบางทุกคนไม่เลือกปฏิบัติแก่คนในพื้นที่ จะเป็นการเชื่อมร้อยดูแลผู้คนที่มีความแตกต่างทางอัตลักษณ์

“คำถามคือ คนปาตานีต้องรอให้ได้ ‘Merdeka’ (เอกราช) จึงจะคิดทำโครงการแห่งความเอื้ออาทรประเภทนี้หรือ?” ศ.ชัยวัฒน์ อธิบาย “การดูแล ความเอาใจใส่ซึ่งกัน และความเอื้ออาทรนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ถึงที่สุดแล้วจะเป็นเครื่องบอกว่าเราเป็นใคร และเราเลือกจะมีชีวิตอย่างไร คำถามที่ติดตามมาคือ คนที่อยู่ในพื้นที่ปาตานี/ปัตตานีนั้นคือใคร และจะเลือกใช้ชีวิตอย่างไร ลองตอบคำถามนี้ผ่านความเอื้ออาทรและสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต”

การเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

ศ.ชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ความอึดอัดคับข้องใจมักเกิดจากการต้องเชิญหน้ากับสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่เคยเห็น เช่น ศตวรรษที่ 17 ราชฑูตจากเปอร์เซีย ตกใจกับการเห็นสุลต่านผู้หญิงเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองที่เมืองอาเจะห์ และเขียนสาส์นไปบอกกษัตริย์ว่า ประชาชนอาเจะห์คงต้องเป็นมุสลิมที่มี ‘ศรัทธาอ่อนแอ’ และมี ‘ระดับศิลธรมต่ำ’ ที่ยอมรับการปกครองจากผู้หญิง ข้ามมาศตวรรษที่ 21 ฝ่ายความมั่นคงสายเหยี่ยวก็อาจจะอึดอัดคับข้องใจ หวาดระแวงการรวมตัวกันของเขาวชนชายที่แต่งชุดมลายูนับหมื่นคน ที่เป็นการส่งเสียงของประชาชนให้ได้เห็นและได้ยินตัวตนทางอัตลักษณ์วัฒนธรรม เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 ที่เมืองสายบุรี จ.ปัตตานี ถึงขนาดบอกว่าน่ากลัวกว่าการจับอาวุธ

“หากปราศจากสิ่งใหม่ก็จะไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น และหากไม่มีความเปลี่ยนแปลง ประวัติศาสตร์ก็จะถูกแช่แข็งและสูญสิ้นความเร้าใจใด ๆ คำถามที่ตามมาอย่างสำคัญคือ เราจะปลดปล่อยพลังแห่งการแปลงเปลี่ยนในตัว ศาสนา และความเชื่อรวมหมู่ของผู้คนอย่างไร จึงจะเป็นคุณต่อการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ในอนาคต? ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐบาล หรือความมั่นคงของรัฐใดก็ตาม”

ศ.ชัยวัฒน์ ชวนให้คิดถึงอนาคตปาตานี/ปัตตานีที่โอบกอดคนที่แตกต่างกัน ให้ทุกคนมีอนาคต และสร้างสังคมที่มีเมตตามากกว่าความโกรธ ซึ่งสำหรับมุสลิมนั้น มีคำสอนของอัลเลาะห์ ‘ความเมตตานั้นธำรงไพศาลอยู่เหนือความโกรธ’ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอ ‘ไม่มีอนาคตที่สันติ หากไร้การเมืองแห่งเมตตา’ และเสนอให้สร้างอนาคตปาตานีด้วยการปกปักรักษาความขัดแย้งไว้อย่าให้เป็นพิษ จึงจะคิดถึงอนาคตอย่างสร้างสรรค์ได้


ติดตามการสรุปเนื้อหาจากเวที “ภาพอนาคตปาตานี ภาพอนาคตชายแดนใต้” กับ The Active ได้ทุกวัน ผ่าน #SCENARIOPATANI https://theactive.net/topic/scenario-patani/

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง