ชี้ชะตาสุราไทย ผูกขาด หรือ เปิดกว้าง ?

‘นักวิชาการ’ เชื่อคว่ำกฎหมาย 100% เหตุสมประโยชน์รัฐ – นายทุน ชวนมองผลดีต่อท้องถิ่น แปรรูปวัตถุดิบ สู่การกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม

ทันทีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลเตรียมคว่ำร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าฯ ที่เสนอโดย เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ ในวาระที่ 2 วันที่ 2 พ.ย. 2565 ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผู้เสนอเชื่อว่า จะนำไปสู่การปลดล็อกกระบวนการผลิตสุราของประเทศไทย ที่มีข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตที่สูงเกินไป ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ โดยมีการตั้งข้อสังเกตถึงการผูกขาดธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอยู่เพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้น จึงทำให้ประเด็นการผลักดันการแก้ไขกฎหมายนี้ถูกพูดถึงอีกครั้งว่า ชะตากรรมของสุราไทย จะเดินต่อไปแบบ “ผูกขาด” หรือ “เปิดกว้าง” อย่างที่หลายฝ่ายเรียกร้อง

The Active ชวนหาคำตอบว่าเหตุใดต้องมีการผลักดันกฎหมายฉบับดังกล่าว รายละเอียดของกฎหมายที่เสนอแก้ ว่าสร้างประโยชน์ให้กับใคร หรือว่าจริง ๆ แล้วใครเป็นผู้เสียประโยชน์กับการแก้กฎหมายครั้งนี้ และชวนมองไปข้างหน้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชนท้องถิ่น ผ่านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร สู่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการเปิดกว้างทางการผลิต และไม่ควรกีดกันหนทางการทำมาหากินของชาวบ้าน…

‘นักวิชาการ’ เชื่อคว่ำกฎหมาย 100%

ผศ.เจริญ เจริญชัย อาจารย์จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ประเมินการพิจารณาร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ตามที่มีกระแสข่าวออกมาว่า นายกรัฐมนตรี ได้เชิญพรรคร่วมรัฐบาลไปพูดคุยเพื่อหาทางคว่ำกฎหมายดังกล่าวว่า “ต้องมีมูล ไม่งั้นคงไม่เป็นกระแส” และที่ผ่านมาตนมีความเชื่อว่า รัฐบาลได้ตั้งธงที่จะคว่ำกฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น เพราะ เป็นเรื่องที่เราสังเกตกันได้ว่ามีความเกื้อกูลกันระหว่างรัฐบาล และกลุ่มทุน ถ้าเรามองสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ก็จะเห็นการช่วยเหลือที่มีให้กัน การแก้กฎหมายนี้ย่อมทำให้กลุ่มทุนเสียประโยชน์ จึงคิดว่าในวันที่ 2 พ.ย. นี้ ร่างกฎหมายนี้ไม่ผ่าน 100% ซึ่งผมยอมรับในการให้ความเห็นตรงนี้ หากผลออกมาไม่เป็นเช่นนั้น

ด้วยเหตุผลอีกประการหนึ่ง คือ รัฐบาลเตรียมแผนรองรับการคว่ำกฎหมายนี้ ด้วยการใช้ “กฎกระทรวง” มาเป็นเงื่อนไขว่า ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย เพียงแต่แก้กฎกระทรวงการคลังก็เพียงพอแล้ว แต่ในเรื่องกฎกระทรวงนี้ ผศ.เจริญ เล่าว่าได้มีการผลักดันมา 2 ปีแล้ว ยื่นเรื่อง ให้กับคณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้ามีการแก้ตามที่กฤษฎีกาพิจารณาเห็นชอบ ว่ากฎกระทรวงนี้เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของประชาชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 สมควรได้รับการแก้ไข โดยมีการระบุว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 แต่ว่าจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เสร็จ

นอกจากนั้นในช่วงการพิจารณา พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ในวาระที่ 1 ได้มีการทวงถามถึงการแก้ไขกฎกระทรวงนี้แล้ว ว่าเมื่อไหร่จะมีการแก้ไข และมีข้าราชการจากกรมสรรพสามิต ชี้แจงว่าจะแก้เสร็จภายใน 3 เดือน ตอนนี้ก็ครบกำหนดเวลาแล้ว และกฎกระทรวงตัวนี้ได้ออกมารับฟังความคิดเห็นที่เว็บไซต์ของกรมสรรพสามิต จึงสะท้อนว่าว่าตอนนี้เตรียมสิ่งที่รองรับเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ว่าไม่ต้องแก้ไขกฎหมายก็ได้ รอเอากฎกระทรวงตัวนี้ออกมาใช้ แต่โดยรายละเอียดแล้ว พบว่าไม่ได้ช่วยแก้ไขอะไรมากมายเลย

“ในเมื่อเขาเขียนกฎกระทรวงมาขนาดนี้ คงไม่ยอมแก้กฎหมายให้เราแน่ ๆ ถ้ามีความคิดจะช่วยรายเล็ก รายย่อยจริง ทำไมต้องมาแก้กฎกระทรวงแบบกั๊ก ๆ แบบนี้ และยังมีการกีดกันเหมือนเดิม…”

ผศ.เจริญ กล่าวว่า แม้กฎกระทรวง จะมีการเอาเรื่องกำลังการผลิตเบียร์ขั้นต่ำ 10 ล้านลิตรต่อปี ที่เป็นข้อกังวลของรายเล็กออกไปแล้ว แต่เอาเรื่องอื่นเข้ามาแทน ซึ่งเป็นข้อจำกัดไม่แพ้กัน ต้องมีการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA มีระบบประทับตราการเสียภาษีแบบอัตโนมัติของกรรมสรรพสามิต ที่ต้องมีขั้นตอนการผลิตโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นรูปแบบของโรงเบียร์ขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ขนาดกลางไม่สามารถทำได้ ในขณะที่สุราชุมชน ที่ต้องใช้วัตถุดิบทางการเกษตร ก็ยังมีการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำที่มากอยู่ ล็ออกเอาในกฎกระทรวงฉบับนี้ จีงไม่ใช่การเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายเล็กอย่างแท้จริง

กฎหมายกีดกัน “รายย่อย” แบกต้นทุน ต้องส่งผลิตต่างประเทศ

ธนากร ท้วมเสงี่ยม ผู้ก่อตั้งประชาชนเบียร์ เห็นด้วยว่า กฎกระทรวง นั้นไม่มีความมั่นคง ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้กฎหมายระดับ พ.ร.บ. ส่วนตัวคิดว่า เป็นแค่การลดแรงเสียดทานทางการเมือง ที่ไม่อยากให้กฎหมายนี้ถูกแก้โดยพรรคก้าวไกลเท่านั้นเอง สุดท้ายถ้ามีความตั้งใจจะแก้จริง ๆ กฎกระทรวงควรถูกแก้ไขมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาคุยกันไม่กี่วัน ก่อนที่จะมีการโหวตแบบนี้ เนื่องจากตนและเครือข่ายยื่นแก้กฎกระทรวงมานานกว่า 2 ปี คิดว่าถ้าจะทำ ทำได้ตั้งนานแล้ว จึงเป็นเพียงเทคนิคทางกฎหมายเท่านั้น

“กฎหมายนี้ตีกรอบรายเล็กอย่างเข้มงวดมาก ทั้งการผลิต โฆษณา การจัดจำหน่าย คนตัวเล็กจะเข้ามามีบทบาท หรือโอกาสในธุรกิจนี้ยากมาก แค่การปลดล็อกการผลิตเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังต้องทำในเรื่องอื่นควบคู่กันไปด้วย อย่างเช่นเรื่อง ภาษี ของคนที่สามารถผลิตได้ในปริมาณน้อย แต่เขากลับต้องจ่ายภาษีเท่ากับโรงงานใหญ่ มันไม่เป็นธรรม…”

ธนากร กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ตั้งใจปลดล็อกกระบวนการผลิตสุราของไทย คือ ต้องการให้มีเกณฑ์ที่ต่ำลง ธุรกิจไซซ์เล็กสามารถทำธุรกิจได้อย่างถูกกฎหมาย โดยไม่ต้องกำหนดรายละเอียดอะไรที่เกินกว่าเหตุ ไม่ให้เกินกว่าความจำเป็นกว่าที่รายเล็กต้องรับภาระ เพราะตอนนี้แทบทั้งหมดส่วนใหญ่ผลิตในสเกลที่เล็ก แต่ต้นทุนกลับสูงมาก แพงกว่ารายใหญ่เกือบ 10 เท่า พอมาจำหน่ายในท้องตลาด ก็จะมีราคาแพงกว่ารายใหญ่ และการตลาดก็ไม่สามารถทำแบรนด์ได้ ไม่สามารถพูดถึงสินค้าของตนเองได้อย่างตรงไปตรงมา

“อยากจะบอกว่าเบียร์ของเราใช้ส่วนผสมอะไรที่พิเศษขึ้น ก็ไม่สามารถบอกได้ เพราะ อาจถูกตีความว่าเป็นการเชิญชวน นั่นทำให้การทำการตลาดก็ไปไม่ถึง แถมราคายังแพง ผู้บริโภคไม่เข้าใจ เขาตั้งคำถามว่าทำไมถึงแพง แบรนด์ก็ไม่ได้ดัง นั่นเพราะ เราพูดอะไรไม่ได้เลย ก็ทำให้คนตัวเล็กเกิดไม่ได้เลย…”

ธนากร เล่าถึงความยากลำบากว่ากว่าจะนำสินค้าเข้าสู่ตลาดได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกแบรนด์ที่ออกมาทำเบียร์ “แบบถูกกฎหมาย” ต้องผ่านการทำผิดกฎหมายก่อน ต้องซ้อม ทดลอง จนได้สูตรที่เราคิดว่าดีที่สุด ซึ่งก็ต้องทำที่บ้าน จนกว่าจะมาต้มถูกกฎหมายได้ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี เพื่อนำสูตรที่ดีที่สุดไปพูดคุยกับโรงงานผลิต แล้วต้องไปต้มต่างประเทศ ค่อยนำกลับมาขายในไทย โดยเมื่อมีสูตรแล้ว ต้องมีเงินก้อนหนึ่ง อย่างน้อย 200,000 บาท เพื่อจ้างผลิตในสเกล 1,000 – 5,000 ลิตร กว่าจะมาขายในห้าง วางจำหน่ายทั่วไปให้คนได้บริโภค มันเป็นเรื่องแปลกสำหรับประเทศนี้ ทำไมเราไม่สนับสนุน คนมีความรู้ ความตั้งใจ มีความสามารถในการผลิต ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าทำเบียร์ขาย

พอกฎหมายมาตีเส้น แม้กระทั่งการทำดื่มเองก็ไม่ได้ มันแปลกประหลาดในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ในต่างประเทศสามารถให้ทำดื่มเองได้ ไม่มีกำลังการผลิตขั้นต่ำเยอะเหมือนเรา อย่าง ประเทศญี่ปุ่น เขามีร้านเล็กๆ ต้มเบียร์หลังร้าน แล้วมาขายหน้าร้าน ที่มีที่นั่งเพียงแค่ 20 ที่นั่งด้วยซ้ำ ทำไมเราถึงทำไม่ได้ และการจะผลิตต้องมีการขออนุญาตอยู่แล้ว ถ้ามีปัญหาด้านคุณภาพ ก็สามารถดำเนินคดีต่อร้านนั้นได้เลย แบบนี้ถึงจะเป็นเรื่องปกติ การที่รัฐบอกว่าไม่อยากสนับสนุนให้คนดื่ม แต่เจ้าใหญ่ ๆ ก็ยังผลิตในสเกลที่สูง และนำออกมาจำหน่ายอยู่ดี ทำไมเราจึงไม่สนับสนุนทางเลือกให้กับประชาชน ธนากรกล่าว

“คุณภาพ” สุรารายย่อย ได้มาตรฐาน แข่งกันที่คุณภาพ

ผศ.เจริญ กล่าวว่า หนึ่งในเหตุผลที่คนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายมักอ้างเสมอ คือ ถ้าปล่อยให้ผลิตกันมาก สินค้าจะไม่ได้มาตรฐาน ? ข้ออ้างนี้เป็นคำพูดของคนที่ไม่มีความรู้ เพราะ โดยปกติมาตรฐานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะไม่ต้องตรวจเชื้อจุลินทรีย์ ไม่เหมือนกับอาหารทั่วไปที่ต้องมีการตรวจเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะชนิดที่อาจมีการก่อโรค เนื่องจาก ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องมีระดับของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 0.5% จึงทำให้ไม่พบจุลินทรีย์ที่เป็นการก่อโรค ทำให้เกิดท้องเสีย แต่อาจมีเชื้อจุลินทรีย์ ที่ทำให้คุณภาพของเครื่องดื่มลดลง ซึ่งไม่มีผลต่อสุขภาพ อย่างเช่น กรดแลคติค ทำให้เกิดลดเปรี้ยว กลิ่นเปลี่ยนแปลงไป

“ใครบอกว่าต้มเองหลังบ้าน เดี๋ยวจะท้องเสีย ไม่มีคุณภาพ คือ คุณไม่มีความรู้ในเรื่องโภชนาการ และมาตรฐานสุราเลย และถ้าจะขอในอนุญาต ก็ต้องส่งสุราที่ผลิตไปให้กรมสรรพสามิตรตรวจสอบอยู่แล้ว ซึ่งจะมีการคัดกรองคุณภาพของเครื่องดื่มหลายขั้นตอน…”

ในขณะเดียวกัน กระบวนการตรวจสอบตรงนี้ ก็ยุ่งยาก และสร้างต้นทุนให้กับชาวบ้านด้วย เนื่องจาก ต้องส่งเข้ามาตรวจสอบที่ส่วนกลางเท่านั้น ผศ.เจริญ มองว่าทำไมจึงไม่กระจายห้องแลปในการตรวจทั่วประเทศ อยู่ในภูมิภาคต่างๆ ตอนนี้ชุมชนเล็กๆ น้อยๆ ต้องส่งเข้ามาตรวจสอบในกรุงเทพฯ เป็นค่าใช้จ่ายที่เขาก็บ่นกัน เพราะ ถ้าจะออกไลน์สินค้าใหม่ ชนิดใหม่ ต้องส่งเข้ามาตรวจสอบ และใช้เวลารอว่าตรวจเสร็จเมื่อไหร่ และส่วนมากที่โดนส่งกลับมา เพียงเพราะแค่ ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ไม่ตรงเกณฑ์ แต่เนื่องจากชาวบ้านอาจจะปรับปริมาณได้ไม่ตรงมากนัก จนต้องกลับมาทำใหม่ ทั้งที่การตรวจสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายก็ไม่เจอ

ส่วนเรื่องของ เมทานอล (Methanol) ที่ดื่มแล้วเสียชีวิต ส่วนหนึ่ง เนื่องจากประเทศเหล่านั้น ไม่อนุญาตให้ผลิตแอลกอฮอล์ขาย ทำให้เกิดเหล้าเถื่อน เวลาทำเหล้าเถื่อน ก็ไปนำเอาเมทานอลมาใส่กัน เราจะเห็นข่าวคนอินเดียวดื่มเหล้า แล้วตายกันยกหมู่บ้านบ่อยครั้ง นั่นเป็นผลเสียจากการออกกฎห้าม เราห้ามในสิ่งที่คนต้องการไม่ได้ แล้วยิ่งไปทำให้เกิดของใต้ดิน พอมองไม่เห็น คุณภาพก็ตรวจสอบไม่ได้ การที่เราเปิดกว้างให้ทำได้ เป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์มากกว่า

“มันไม่ใช่ เสรี ที่นึกจะทำก็ทำ คุณต้องไปขึ้นทะเบียน และมีกระบวนการมากมายที่เค้าต้องตรวจสอบ ทั้งคุณภาพ และบัญชี การที่นำข้อมูลเข้าสู่ระบบ มันลำบากก็จริง แต่ถ้าทำให้ยากเข้าไปอีก ก็จะเกิดเหล้าเถื่อน ทุกวันนี้ยาดองตามปากซอยมีไหม ผมต่อต้านการทำที่ไม่ถูกกฎหมาย แต่ถ้ากฎหมายไม่เอื้อ ก็ต้องมีการแก้ด้วย แต่คุณยังปล่อยให้ของผิดกฎหมายแบบนี้อยู่ได้ มีซุ้มทุกปากซอย แล้วถ้าจริงจังกับการไม่ให้ประชาชนเกิดอันตรายจากของพวกนี้ ทำไมสิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่…”

ในขณะที่ ธนากร อธิบายเพิ่มว่า ตอนนี้ผู้ผลิตราย่อย ทุ่มเทกับการผลิตอย่างมาก บางรายลงทุนซื้อคอร์สเรียนแพงๆ เพื่อให้ได้สินค้าที่ดี มันคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองอย่างจริงจัง ของดีตอนนี้ต้องแอบขายกัน แบ่งให้กับเพื่อน แลกเปลี่ยนกัน แชร์กัน ทั้งๆ ที่เป็นของที่ดี ควรจะถูกขายอย่างถูกต้อง เราสามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้ามาแบบดีๆ ได้ ทั้งที่ของที่ผลิตกันในบ้านเราก็ดีเทียบเท่ากัน ขอเพียงแค่มีพื้นที่ มีการสนับสนุนที่ดีพอ เราก็สามารถแข่งขันกันได้โดยที่ไม่น้อยหน้าใคร

เป้าหมายหลัก สร้างเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

ผศ.เจริญ กล่าวถึงความสูญเสียจากการกีดกันการผลิตสุราของรายย่อยนั้น ทำให้เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ของเรา “สาปสูญ” ไป เพราะ แต่เดิมประเทศเราเป็นแหล่งผลิตเหล้าในภูมิภาค ประเทศญี่ปุ่นก็เรียนรู้มาจากเรา อย่างที่ เกาะโอกินาวา ที่ทำเหล้าชั้นดี มีพิพิธภัณฑ์ข้อมูล ที่เขาบอกว่าได้วิธีการมาจากรุงศรีอยุธยา และปัจจุบันข้าวที่เขาใช้ ก็เป็นข้าวของไทย แต่วิธีการผลิตของเขาพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการลงทุนกับงานวิจัยมากมาย ในขณะที่บ้านเรายังกีดกันรายเล็กรายย่อย ทำให้นักวิจัยก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องร่วมกับเอกชน และเมื่อรัฐบาลไม่สนับสนุนให้กับกลุ่มแอลกอฮอล์ นักวิจัยก็เลือกที่จะทำเรื่องอื่นกันหมด

“เราขาดโอกาสทางการพัฒนา ขาดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เชื้อยีสต์ ในบ้านเรามีเกิดจากการหมักเอง มันเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นของเขา ที่เกิดจากการหมักอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่มีใครสามารถเอามาต่อยอดในเชิงการค้าได้ ในขณะที่เราต้องซื้อยีสต์ มาทำอาหารจากต่างประเทศตลอด ทำให้สูญเสียเงินออกไปข้างนอก ไม่เกิดการหมุนเวียนรายได้ภายใน…”

สอดคล้องกับมุมมองของธนากร ที่มองว่าการผลิตของรายเล็ก สามารถนำส่วนผสมในพื้นที่ตัวเองมาใช้ประโยชน์ได้ เรามีเบียร์โรตีสายไหม น้ำจิ้มซีฟู้ด กุ้งเผา ซึ่งเป็นเรื่องราวของ จ.อยุธยา ทำไม่จังหวัดอื่น ๆ ถึงมีไม่ได้ ถ้ากฎหมายเปิด จะทำให้อีกหลายพื้นที่ชูเอกลักษณ์ของตัวเองได้ ในเมื่อเราพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ตอนนี้นักท่องเที่ยวต้องเข้ามาดื่มแต่เบียร์เจ้าเดิม ๆ ทำไมเราไม่มอบประสบการณ์ใหม่ให้กับเขา ดื่มเบียร์ สุรา ของชุมชนนั้น ๆ ได้อย่างถูกต้อง ถ้าทุกคนตั้งคำถามตรงนี้ จะทำให้เห็นเหตุผลของกฎหมายนี้ชัดมากขึ้น

“เราไม่ได้ผลักดันกฎหมายเพื่อให้คนดื่มเบียร์เยอะขึ้น แต่เราอยากสนับสนุนการรวมตัวกันของชาวบ้าน คนตัวเล็กตัวน้อย คนในชุมชน ที่ผลิตทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ผลผลิตเกษตร และส่งเสริมเศรษฐกิจมากกว่า…”

ในภาพรวมของเรื่องนี้ มันคือการ “สมประโยชน์” ระหว่างรัฐ และกลุ่มทุน คือ เขายอมจ่ายภาษีเข้ารัฐมาก ๆ เพื่อให้รัฐออกกฎหมายที่มีแต่พวกเขาที่ทำได้ การขายเครื่องดื่ม คือ รายได้หลักของคนไม่กี่ตระกูล ที่มีความมั่งคั่งจากการขายเครื่อมดื่มในประเทศ ซึ่งธนากรมองว่า จริง ๆ แล้วทุนใหญ่ควรสร้างการแข่งขันในระดับโลก และมีพื้นที่ของตลาดในประเทศให้กับรายเล็กรายย่อยมากกว่า

สุดท้าย ผศ.เจริญ กล่าวว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าไม่ใช่สิ่งที่ควรจะแก้ยาก แต่เมื่อถึงเวลากลับแก้ได้ยากมาก เพราะมีเบื้องหลังที่เราพูดกันว่าเป็นประโยชน์ของใคร มีการขัดแย้งในผลประโยชน์หรือไม่ ตอนนี้เราควรมองที่ประโยชน์ของรายเล็ก รายน้อย แต่อีกฝั่งมีผลประโยชน์โดยตรง ที่จะเสียไม่ได้ ประชาชนจึงต้องช่วยกันส่งเสียง และออกความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับการผูกขาด และกีดกันการทำมาหากินของคนไทย


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้