26 ปี บนเส้นทางกระจายอำนาจของ ‘วุฒิสาร ตันไชย’

ปลายทางที่ยังต้องไปให้ถึง บทเรียน และความท้าทายท้องถิ่นไทย กับการปรับตัว ที่ไม่รอความจริงใจของรัฐ

หากนับชีวิตของคนคนหนึ่งที่ล่วงเลยมาถึงวัย 26 ปี คงไม่พ้นความเชื่อ “เบญจเพส” ของชีวิตที่อาจต้องประสบกับเคราะห์กรรม อุปสรรคอันยากลำบาก เช่นเดียวกับเส้นทางของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของไทย ที่แม้ไม่อาจเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ แต่ก็พัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันอย่างยากลำบาก เมื่อนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นการกระจายอำนาจครั้งสำคัญหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้ว ต่อจากนี้จึงเป็นช่วงปีที่น่าจับตาว่าท้องถิ่นไทย ยังต้องเจออะไรอีกบ้างในอนาคต 

เวทีสัมมนา The Next Station : อนาคตก้าวที่ 26 (ปี) ของการกระจายอำนาจ ที่สถาบันพระปกเกล้าจัดขึ้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นการปาฐกถา “ครั้งสุดท้าย” ของ ศ.วุฒิสาร ตันไชย ในฐานะเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นักวิชาการที่ทุ่มเทขับเคลื่อนการกระจายอำนาจ และการปกครองท้องถิ่นมาทั้งชีวิต ที่ยังคงเชื่อมั่นในหลักการ ศรัทธาในอุดมการณ์ว่าการกระจายอำนาจเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการพัฒนาเมือง และประเทศชาติ

The Active เรียบเรียงปาฐกถานี้ เพื่อชวนทุกท่านขึ้นขบวนรถไฟของการกระจายอำนาจ แวะทบทวนทุกช่วงสถานีสำคัญของการเดินทางอันยาวนานนี้ เพื่อเริ่มต้นมองไปสู่อนาคตว่าปลายทางที่เราคาดฝันควรเป็นอย่างไร 

“ผมกำลังจะหมดวาระตำแหน่งเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ครบ 8 ปี แบบไม่ต้องตีความ… เพราะผมนับเองเป็น” ศ.วุฒิสาร เริ่มต้นพูดถึงตัวเองในช่วงเวลาสำคัญ ซึ่งเชื่อว่าคนที่ติดตามการทำงานในแวดวงการเมืองการปกครองท้องถิ่นคงได้มีโอกาสทำงานร่วมกับท่านในบทบาทกำลังหลักสำคัญทางวิชาการ และการสนับสนุนองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้ทำงานได้ภายใต้ข้อจำกัดที่มีมากมาย 

ศ.วุฒิสาร กล่าวว่า เมื่อการกระจายอำนาจย่างเข้าสู่ปีที่ 26 เหมือนเพิ่งผ่านเบญจเพส ที่คนไทยจำนวนมากกลัว เพราะมักจะมีเคราะห์ มีกรรม แต่ตนมองว่าท้องถิ่นไทยมีเคราะห์กรรม ก่อนเบญจเพสมานานพอสมควร เพราะต้องเผชิญความลำบากมาหลายครั้ง หลายหน การทำงานด้านนี้ หากเปรียบเป็น “ขบวนรถไฟ” ได้ผ่านมาแล้วหลายสถานี และมีหลายขบวน

ขบวนรถไฟของการกระจายอำนาจนี้ ส่วนตัว ศ.วุฒิสาร เองมองว่าสถานีแรกเริ่มต้น ตั้งแต่ปี 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงมีพระราชดำริเขียนไว้ในหนังสือการปกครองท้องถิ่น ทรงตั้งพระทัยที่จะปรับปรุงการปกครองท้องถิ่นให้เป็นแบบประชาภิบาล หรือเทศบาล โดยได้บันทึกไว้ในหนังสือ Democracy in SIAM ความอันหนึ่งว่า

“จะเป็นอันดีกว่าอย่างแน่นอน สำหรับประชาชน ที่จะเริ่มต้นด้วยการควบคุมกิจการท้องถิ่น ก่อนจะเข้ามาควบคุมกิจการของรัฐ โดยผ่านทางรัฐสภา…”

นับเป็นจุดหมายแรกของการปกครองท้องถิ่นหลังประเทศไทยมีสุขาภิบาล ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระองค์ได้ทรงมีหนังสือราชการไปถึง กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น ให้ทรงคิดวางแผนการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง ซึ่งพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 7 ในเรื่องการกระจายอำนาจนี้ ได้เป็นแรงผลักดันที่ทำให้สถาบันพระปกเกล้า ตั้งใจสนับสนุน และผลักดันให้ท้องถิ่นทั้งประเทศสามารถพัฒนาตัวเองได้จนถึงปัจจุบัน 

หลังจากนั้น ศ.วุฒิสาร เล่าต่อว่ารถไฟขบวนกระจายอำนาจ ได้ผ่านสถานีสำคัญมากมาย ตั้งแต่การมีพระราชบัญญัติเป็นของตัวเอง มีการเปลี่ยนแปลงสถานะจาก ‘สภาตำบล’ มาเป็น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในปี 2538 และมีการเปลี่ยนแปลงสถานะขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในปี 2540 แต่ที่สำคัญมากที่สุด นับเป็นสถานีใหญ่ที่มีคุณูปการสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญ ปี 2540 

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 9 ว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น ได้เป็นจุดเริ่มต้นของหลายเรื่องในปัจจุบัน ตั้งแต่การบัญญัติให้มีกฎหมายกระจายอำนาจ พูดเรื่องการเปลี่ยนโครงสร้าง จากระบบสุขาภิบาล ที่เป็นคณะกรรมการ มาเป็นระบบสภา และเปลี่ยนเป็นรูปแบบเดียวกัน ด้วยการมีสภา กับผู้บริหารท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิในการเสนอข้อบัญญัติ รวมถึงการถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น นอกจากนั้นได้เริ่มพูดเรื่องสิทธิของท้องถิ่นในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมด้วย 

“ในปี 2540 ที่สำคัญที่สุด คือ การบัญญัติให้มีกฎหมายกระจายอำนาจอย่างจริงจัง สถานีนี้จึงได้วางรากฐานสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเรื่องกระจายอำนาจของไทย…”

หลังจากนั้น ปี 2542 ศ.วุฒิสาร กล่าวว่า เรามีกฎหมายจำนวนมากเกิดขึ้น ทั้งกฎหมายบริหารงานบุคคล ยกฐานะเทศบาล การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติ การเข้าชื่อถอดถอนผู้บริหาร และ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่าต้องมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ภายใน 2 ปี จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ขบวนรถไฟสายกระจายอำนาจเดินไปได้ 

“ตั้งแต่ปี 2543 – 2545 เป็นภาวะที่การกระจายอำนาจมีความสับสนในสังคม เป็นปีแรกที่ท้องถิ่นมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล จนถึงวันนี้เรามีรายได้ 8 แสนล้าน เกือบร้อยละ 30 ของรายได้สุทธิจากรัฐบาลนี่เป็นจุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดสภาพของการมะรุมมะตุ้ม สับสนอย่างมากในเรื่องหลักการกระจายอำนาจ…”

การเติบโตของ “ภูมิภาค” ที่คู่ขนานกับการเริ่มต้นของท้องถิ่น

อุปสรรคสำคัญในขณะนั้น ศ.วุฒิสาร เล่าว่าหลังปี 2544 เริ่มมีการกระจายอำนาจอย่างเป็นทางการ และเริ่มมีแนวคิดจากรัฐบาลเรื่อง “ผู้ว่าฯ CEO” เป็นการเพิ่มพลังของราชการภูมิภาค บนเส้นทางของรถไฟสายกระจายอำนาจเองบทบาทของส่วนภูมิภาค ยังคงเข้มแข็งอยู่มากเดินขนานคู่กันมา สิ่งที่ต้องทำ คือ ความพยายามในการแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน ต้องเอาหลักการเอาให้อยู่โดยเฉพาะ คำว่า “การกำกับดูแล” ที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ และบอกว่า “เท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาประโยชน์ทางราชการ และประชาชน” และคำถามที่ใหญ่ที่สุด คือ แค่ไหนเรียกเท่าที่จำเป็น ? 

“ในยุคแรก ๆ เราคงจำกันได้ ว่าอุปกรณ์กีฬา รัฐให้งบประมาณมา บอกถึงขั้นให้ไปซื้ออะไร ต้องไปซื้อตะกร้อมานะ แต่บอกด้วยว่ายี่ห้ออะไร ที่มันเตะแล้วจะได้เหรียญทอง แต่ผู้นำท้องถิ่นหลายแห่งก็บอกว่า หยุดส่งอุปกรณ์มาได้แล้วเพราะเขาไม่มีสนาม…” 

นอกจากนั้นยังมีปัญหา เรื่อง บทบาทท้องถิ่นในการจัดการรับงานถ่ายโอน การกระจายอำนาจในช่วงเวลานั้น เป็นเรื่องของการที่พยายามจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เดินหน้า เรื่องกระจายอำนาจ หรือการถ่ายโอน ศ.วุฒิสาร ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนการกระจายอำนาจฯ ปี 2543 และแผนปฏิบัติการถ่ายโอนภารกิจ ปี 2545 เล่าถึงความยากลำบากในขณะนั้น

“ในวันนั้นเราจะถ่ายโอน 245 เรื่อง 50 กรม 17 กระทรวง ทุกคนบอกเยอะ ท้องถิ่นจะทำได้อย่างไร แต่ถ้าย้อนไปอ่านจะเห็นว่าเราถ่ายโอนเรื่องซ้ำ ๆ ของกรมต่าง ๆ ที่ทำเรื่องเดียวกันไปให้ท่าน เฉพาะเรื่องส่งเสริมอาชีพ มีมากกว่า 21 กรม ที่ทำเรื่องนี้ซ้ำกัน เรื่องถนน มีอย่างน้อย 14 กรม ที่มีหน้าที่ทำถนน…” 

ศ.วุฒิสาร จึงกล่าวว่า ความสำเร็จของการกระจายอำนาจ ไม่ควรนับภารกิจถ่ายโอน เพราะแม้จะมีจำนวนมาก แต่แท้จริงแล้วเป็นภารกิจที่เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นทั้งสิ้น ช่วงเวลาก่อนปี 2550 นี้จึงถือเป็น “ยุคทองของการกระจายอำนาจ” ตนได้เดินทางไปชี้แจงให้กับองค์กรท้องถิ่น และหน่วยงานราชการทั่วทั้งประเทศ เล่าถึงช่วงเวลาที่ต้องทำความเข้าใจกับส่วนราชการที่ท้องถิ่นจะต้องรับถ่ายโอนภารกิจมา ซึ่งไม่ง่าย ในตอนนั้นตนได้รับมอบหมายจากประธานคณะกรรมการกระจายอำนาจ ให้เดินทางไปเจรจาได้ทุกกระทรวงว่าจะถ่ายโอนภารกิจอะไรมา 

“ตอนนั้นเป็นอาจารย์ตัวเล็ก ๆ เดินทางไปชี้แจงกรมตำรวจ เขาถามว่าจะเอาอะไรกับกรมตำรวจ ผมขออำนาจการจัดการจราจร และดับเพลิง จนมาอยู่ท้องถิ่นทุกวันนี้ ไปกรมโยธาธิการ บอกผมว่าระวังจะนอนตายตาไม่หลับ… แค่ทะเลาะกับส่วนราชการก็เหนื่อยมากแล้ว”

ศ.วุฒิสาร ยังเล่าต่อว่าได้ไปบรรยายให้กับโรงเรียนนายอำเภอ ที่มีกระแสความไม่พอใจอย่างมาก เพราะอำนาจของฝ่ายปกครองหายไปเยอะ ท้องถิ่นเอางานของนายอำเภอไป ตนถูกต่อว่าว่า “อาจารย์กำลังทำความฉิบหายให้บ้านเมือง” ผมตอบว่า ถ้าท่านคิดว่าคำนี้ พูดได้ในโรงเรียนแห่งนี้ “ผมก็ห่วงความฉิบหายของบ้านเมืองไม่น้อยไปกว่าท่าน” หลังจากนั้นตนก็ไม่ได้รับเชิญให้ไปบรรยายที่โรงเรียนนายอำเภออีกเลย 

“สิ่งนี้มันสะท้อนว่าขบวนรถไฟสายกระจายอำนาจ คือ การต่อสู้ทางความคิด และสร้างบทพิสูจน์ของความเชื่อและหลักการ เส้นทางของการกระจายอำนาจหลังปี 50 จึงเริ่มชัดเจนมากขึ้น…”

ต่อสู้ในสิ่งที่ควรเกิดขึ้น และลบล้างมายาคติเดิมของท้องถิ่น

ท่ามกลางการเติบโตของท้องถิ่น มีกระแสต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่ควรเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่สำเร็จ เช่น การเกิดขึ้นของเมืองพิเศษ ตนพยายามทำกฎหมายอย่างน้อย 3 – 4 เมือง เช่น แม่สอด สมุย แหลมฉบัง แต่ไม่สำเร็จ นอกจากนั้นยังมีกระแสที่เป็นมายาคติกับท้องถิ่นมาตลอด คือ ท้องถิ่นทุจริต ท้องถิ่นไม่มีความพร้อม ท้องถิ่นแสวงหาประโยชน์ให้กับพวกพ้อง มายาคติแบบนี้ ไม่ปฏิเสธว่าอาจเกิดขึ้นจริง แต่เราทำงานเพื่อลบล้างมายาคตินี้ ศ.วุฒิสาร กล่าว

“ผมตั้งคำถามเสมอ ว่าที่ท้องถิ่นทุจริตเยอะ เพราะอะไร คำตอบ คือ มีคนมาร้องเรียน คำว่าทุจริต จะรู้ว่ามีก็ต่อเมื่อจับได้ ถ้าจับไม่ได้ก็จะไม่รู้ ในอีกมุมหนึ่ง มายาคติเรื่องนี้ จึงทำให้ระบบ และกลไกการตรวจสอบเข้มแข็งขึ้น ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของอำนาจมากขึ้น ย้ายอำนาจในการตัดสินใจแก้ปัญหา ไปไว้ใกล้กับปัญหา…”

คสช. ยุคที่การกระจายอำนาจหยุดชะงัก ท้องถิ่นถูกทอดทิ้ง

ศ.วุฒิสาร กล่าวต่อว่า ในแง่การกระจายอำนาจ อาจมีปัญหาอุปสรรค แต่ต้องเดินต่อเพื่อลบล้างมายาคติเหล่านั้นการกระจายอำนาจจะสำเร็จหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับว่าเราเชื่อมั่นในสิ่งนี้แค่ไหน เส้นทางของการกระจายอำนาจในสถานีซึ่งตนคิดว่าเป็นช่วงเบญจเพสมากที่สุด คือ สมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นช่วงที่ท้องถิ่น และการกระจายอำนาจไม่ได้รับการดูแล ขาดเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนในเรื่องกระจายอำนาจ

“กฎหมาย ระเบียบ ที่ออกมาในห้วงเวลานั้นออกมาภายใต้ความไม่ไว้วางใจท้องถิ่น เอาข้าราชการ C8 มาเป็นสภาท้องถิ่น ทั้งที่ไม่รู้จักพื้นที่ หมู่บ้านนั้นเลยว่าเป็นอย่างไร แต่เข้ามาเป็นสภาฯ สุดท้ายก็ต้องกลับมายอมรับความจริงช่วง คสช. เราถดถอยเรื่องการกระจายอำนาจอย่างมาก…” 

บนเส้นทางกระจายอำนาจที่ล่วงเลยมาถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นช่วงที่บรรยากาศไม่เอื้ออำนวยกับการกระจายอำนาจเท่าไหร่นัก เราจะเห็นความพยายามในการปรับแก้กฎหมายหลายฉบับ เช่น ความพยายามแก้ไขกฎหมายกำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ  โดยยกร่างเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่อง การกำหนดขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น ซึ่งมีหลายเรื่องที่เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญไปจากกฎหมายเดิม เพราะ ถ้าไปเทียบเคียงดูจะพบว่า การที่ท้องถิ่นจะได้รับมอบอำนาจอะไรนั้น ต่อเมื่อกำหนดเป็นกฎกระทรวงแล้วเท่านั้น จากที่เดิมอาศัยมติของคณะกรรมการกระจายอำนาจเท่านั้น 

ที่สำคัญมากที่สุด ศ.วุฒิสาร มองว่า คือ การที่กฎหมายนี้ไม่มีหมวดว่าด้วยรายได้ท้องถิ่น ในขณะที่กฎหมายเดิม อย่างน้อยได้กำหนดภาษีมูลค่าเพิ่มให้มาสู่ท้องถิ่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 อย่าให้กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นได้ เพราะ ประโยชน์อย่างเดียวที่จะได้ คือ สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจ จะถูกยกฐานะขึ้นเป็นกรมเท่านั้น 

ศ.วุฒิสาร กล่าวต่อว่า หากกฎหมายนั้นผ่านทิศทางของการกระจายอำนาจจะเปลี่ยนไป จาก Decentralize ไปเป็น Recentralize นอกจากนั้นยังมีกฎหมายประมวลท้องถิ่น ที่ยังอยู่ภายใต้การรับฟังความคิดเห็นมาแล้วหลายรอบ แม้จะมีหลายเรื่องที่ดูเหมือนให้อำนาจท้องถิ่นทำได้ เช่น วิสาหกิจท้องถิ่น แต่จะมีคำในทางกฎหมายที่ต้องระวังให้ดี ไม่ให้มาจำกัดอำนาจท้องถิ่นในอนาคต

“สองประโยคที่ปรากฎในกฎหมายฉบับนี้จำนวนมาก เช่น ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เมื่อไหร่ที่เริ่มต้นด้วยคำนี้ แปลว่า ถ้ามีกฎหมายอื่นให้อำนาจ กฎหมายนี้เป็นรองทันที หรือการห้อยท้ายไว้ว่า ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ถ้าไม่ออกทำไม่ได้ใช่ไหม”

แม้ในวันนี้เรื่องกฎหมาย 2 ฉบับนี้จะซาไป แต่ยังต้องช่วยกันจับตา เรายังต้องทำหน้าที่ในการฟันฝ่าอุปสรรค เรื่องท้องถิ่นเวลาจะเสนอแก้อะไรไม่ค่อยจะสำเร็จ อย่างล่าสุดการแก้รัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น แม้จะไม่ผ่าน แต่ถ้าเราสังเกตอารมณ์ของสังคม คนที่เห็นด้วยกับการโหวตรับร่างนี้ มีจำนวนมากขึ้นอย่างชัดเจน นั่นหมายถึง ทิศทางการกระจายอำนาจ อยู่ในกระแสความคิดของคนในสังคมมากขึ้น นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่บ่งชี้ว่านี่คือทางที่ถูกต้องของสังคมไทย

ปลายทางของขบวนรถไฟ “กระจายอำนาจ”

สำหรับปลายทางของขบวนรถไฟการกระจายอำนาจนั้น ศ.วุฒิสาร กล่าวว่า คือ การทำให้ท้องถิ่นทำหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ มีความแตกต่าง หลากหลาย เลือกในทิศทางที่ตนเองอยากทำ มีธรรมาภิบาล ปลดล็อกการควบคุม ในวาระ “วันท้องถิ่นไทย” ของทุกปี นอกจากไปสักการะ แต่งชุดไทยแล้ว ควรต้องกำหนดด้วยว่าจะลดหนังสือสั่งการได้กี่ฉบับจะเลิกการสั่งการ และออกระเบียบกี่เรื่องที่มาควบคุม นี่เป็นเป้าหมายที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นต้องทำ

“เป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างบทบาทขององค์กรท้องถิ่น ที่เป็นองค์กรของประชาชน และสามารถทำหน้าที่ตอบสนอง ความแตกต่างหลากหลายได้ นี่เป็นเสน่ห์ของการปกครองท้องถิ่น และเมื่อไหร่ที่ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ และหวงแหนท้องถิ่นของเขา นั่นคือ ความสำเร็จ…”

เราต้องการความร่วมมือในการผลักดันเรื่องนี้ต่อไป ยิ่งอยู่ในช่วงใกล้เลือกตั้งแล้ว การผลักดันทิศทางกระจายอำนาจต้องการความร่วมมือหลายฝ่าย ส่วนหนึ่ง คือ ทางวิชาการ และอีกส่วนคือฝ่ายการเมือง อย่าง พรรคการเมือง ท่านจะไปสร้างสัญญาประชาคมกับพรรคการเมืองได้อย่างไร เพื่อให้เป็นคำมั่นสัญญาของการผลักดันเรื่องนี้ต่อไป 

รถไฟขบวนที่สอง “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

ในเส้นทางของการกระจายอำนาจ ขบวนรถไฟที่สำคัญอีกขบวน คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. เอง ต้องมีบทพิสูจน์ในความมีประสิทธิภาพ ที่ไม่ได้อยู่ที่การทำงานให้ถูกระเบียบเท่านั้น แต่เป็นการตอบสนองความต้องการประชาชนสมบูรณ์หรือไม่ และต้องสมบูรณ์ในทุกมิติ ถ้าเราสามารถสร้างความเชื่อถือว่าเป็นทิศทางในการพัฒนา และแก้ปัญหาประเทศได้ จะทำให้บ้านเมืองเปลี่ยน ตนพยายามพูดมาตลอด ว่า “เมืองเปลี่ยน ประเทศเปลี่ยน… เปลี่ยนเมือง เปลี่ยนประเทศ” เราไม่สามารถหวังความสำเร็จจากการออกกฎหมายปฏิรูปได้ ศ.วุฒิสาร กล่าว

บทบาทของ อปท. ในยุคของการก่อร่างสร้างตัว ลงหลักปักฐาน มันอาจจะยังสับสน แต่สิ่งที่มาเสริมให้รถไฟขบวนนี้เดินต่อได้ คือ การเสริมสร้างสมรรถนะของท้องถิ่น ที่หน่วยงานต่าง ๆ พยายามทำให้ท้องถิ่นเข้าใจว่ามีหน้าที่อะไร ถือเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านบทบาท จึงทำให้เห็นว่าวันนี้ท้องถิ่นเปลี่ยนไปมาก จากที่แค่ทำภารกิจถ่ายโอน ท้องถิ่นสามารถทำหน้าที่ตามบทบาทของตนเองได้มากขึ้น วันนี้ท้องถิ่นแทบจะไม่ทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแล้ว แต่ทำเรื่องคุณภาพชีวิต วัฒนธรรม ผู้สูงอายุในแนวลึก 

“รถไฟขบวนท้องถิ่นนี้ ไม่ใช่โบกี้ที่ลากกันไป แต่เป็นแต่ละขบวน มากกว่า 7 พันแห่ง การทำตามอำนาจหน้าที่ที่ดีขึ้นกว่าเก่าสำคัญที่สุด ต้องค้นหากลุ่มที่ลำบากมากที่สุด ถ้าเราเป็นคนที่จะนำพาประชาชนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่าคิดแค่ว่าไม่ให้คนตกรถไฟขบวนนี้ แต่พยายามหาว่ายังมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้ว่าสถานีรถไฟอยู่ตรงไหน ให้เขาได้ประโยชน์มากที่สุด นี่เป็นการทำงานที่ลึกซึ้งกว่าราชการ นี่คือจุดแข็งที่สุดของท้องถิ่น…” 

ความท้าทายของท้องถิ่นต่อจากนี้ คือ จะสร้างความพอใจให้กับประชาชนได้หรือไม่ สิ่งที่ต้องทำมากขึ้น คือ การสร้างงาน สร้างอาชีพ บทบาทการเคลื่อนของแต่ละท้องถิ่น เป็นไปตามศักยภาพ และความต้องการของประชาชนไม่เหมือนกัน ท้องถิ่นต้องเป็นคนกำหนดหมุดหมายว่าอีก 10 ปี อยากเห็นเมืองของเราเป็นอย่างไร เราจะใช้โอกาสต้นทุนท้องถิ่น ให้เมืองเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร 

เส้นทางการกระจายอำนาจ ยังมีอีกหลายสถานี ไม่มีวันสิ้นสุด 

และรถไฟขบวนสุดท้าย คือ นักวิชาการ ศ.วุฒิสาร มองว่า คุณค่าของวิชาการ ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติได้จริง เส้นทางของสายวิชาการ กับการกระจายอำนาจ ต้องการหมุดหมายที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ นักวิชาการต้องเชื่อมั่นหลักการ และศรัทธาต่ออุดมการณ์กระจายอำนาจอย่างแท้จริง เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูก หากทำแล้วยัง มีคนไม่เห็นด้วย ก็ต้องเพียรต่อไปนี่เป็นหัวใจสำคัญที่นักวิชาการจะช่วยเรื่องการกระจายอำนาจได้ 

ต่อมางานวิชาการ ต้องสร้างความรู้ที่ไม่ใช่เพียงตำรา แต่ลงไปปฏิบัติ รังสรรค์ความรู้ใหม่ จากการเห็นปัญหา แล้วพยายามมาปรับแก้ คนหนุ่มสาวทำเรื่องนี้เยอะขึ้นมาก และสุดท้าย คือ การถ่ายทอดสู่แนวทางการปฏิบัติ เพื่อเสริมอปท. ให้เข้มแข็งมากขึ้น และสนับสนุนให้ท้องถิ่นทำงานได้ดีกว่าเก่า กล้าที่จะบอกว่าอะไรถูก ผิดตามหลักวิชาการ ไม่โอนอ่อนต่อการเมือง 

ก่อน ศ.วุฒิสาร จะปิดท้ายว่า ปีที่ 26 อาจถือเป็นวัยเบญจะเพส ส่วนใหญ่คนจะให้ระวังเคราะห์ วิธีการแก้กรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น ไม่ได้ซับซ้อน คือ “ต้องมีสติ” ท้องถิ่นเราต้องรู้หน้าที่ รู้ว่าต้องทำอะไร สัญญากับประชาชนว่าอย่าไงร “ไม่ประมาท” หมั่นตรวจสอบสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องหรือไม่ ตรงกับปัญหา มีอะไรใหม่ๆ ที่ควรต้องทำ และไม่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป “ระมัดระวัง” ตรวจสอบระเบียบ ข้อกฎหมาย เงื่อนไขทางกฎหายให้ถูกต้อง และที่สำคัญ คือ มองโลกในแง่ดี มองว่าทุกอย่างที่มาถึงวันนี้เป็นโอกาส

“ท้องถิ่นวันนี้ต้องกลับมาถามตนเองว่าทำได้เต็มที่แล้วหรือยัง เลิกรอเงินอุดหนุน รัฐบาลเขาไม่จริงใจกับการกระจายอำนาจ เราต้องทำหน้าที่ของเรา อย่ามองอุปสรรคเป็นเครื่องขีดขวาง มองหาโอกาสและความท้าทาย หมั่นทำบุญการทำความดีที่สูงสุด คือ การทำให้ประชาชนมีความสุข ได้รับประโยชน์มากที่สุด…”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้