ท้องถิ่นวิพากษ์รัฐ กระจายอำนาจแก้โควิด-19 | “เรามีท้องถิ่น ถ้ารู้จักใช้ ประชาชนจะได้ประโยชน์”

นายกเล็กฯ เมืองนนท์ แนะรัฐต้องปรับยุทธศาสตร์วัคซีน เน้นฉีดปูพรมพื้นที่สีแดงเข้ม ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ เปิดกว้างท้องถิ่นจัดหาเอง อวดศักยภาพศูนย์สาธารณสุข ภายใต้การดูแลของท้องถิ่น ตอบโจทย์เข้าถึงประชาชนรากหญ้า

“จากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น” ยังคงติดตามการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนภาพรวมของการกระจายอำนาจ

ในท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้นอย่างเขตเทศบาล ซึ่งจะเป็นการดูแลประชาชนระดับพื้นที่ The Active ชวนทำความเข้าใจกลไกการทำงานของ “เทศบาลนครนนทบุรี” ผ่าน สมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนนทบุรี

“ท้องถิ่นไหนที่เขาซื้อได้ ก็ให้เขาซื้อสิ อย่ามากลัวความเหลื่อมล้ำ เงินเทศบาลก็เงินแผ่นดินทั้งนั้น ที่ไหนงบประมาณไม่มาก รัฐบาลก็ตามไปฉีด เท่านี้เอง คิดอะไรกันอยู่”

สมนึก ธนเดชากุล

นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนนทบุรี เริ่มด้วยความไม่เข้าใจในกระบวนการคิดของผู้มีอำนาจเรื่องการจัดหาวัคซีนมาฉีดในท้องถิ่น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำว่า หากท้องถิ่นใดที่งบฯ น้อยแล้วไม่สามารถซื้อให้ประชาชนได้จะเกิดปัญหา ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วตนมองว่าก็จะต้องเป็นหน้าที่รัฐบาลที่เข้าไปสนับสนุนต่อไป และจะยิ่งทำให้เกิดความรวดเร็วในการบริหาร

โดยเปิดเผยว่าในช่วงการแพร่ระบาดเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เทศบาลนครนนทบุรีเรียกประชุมสภาฯ อนุมติงบประมาณกว่า 300 ล้านบาทเพื่อการ “จัดหาวัคซีน” โดยเฉพาะ

ถือเป็นจำนวนเงินมหาศาลเมื่อเทียบกับพื้นที่การดูแลและจำนวนประชากร The Active ค้นข้อมูลเพิ่มเติมและพบถึงความสามารถในการใช้งบประมาณของเทศบาลนครนนทบุรี ในฐานะ “เทศบาลนครที่มีงบประมาณมากที่สุดในประเทศ”

เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ของเทศบาลนครนนทบุรี แสดงรายรับประจำงบประมาณ 2564 มากถึง 2,600 ล้านบาท แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ถึงแม้จะมีงบประมาณมากเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนได้ตามต้องการ

เพราะในขณะนี้ จังหวัดนนทบุรี ฉีดวัคซีนไปได้ 435,537 คน คิดเป็นอัตรา 38.89 % ของจำนวนประชากรทั้งหมดจำนวน 1.12 ล้านคน ในขณะที่อัตราแพร่ระบาดรุนแรง และมีพื้นที่ใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานครนั้น คือว่าเป็นอัตราการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างน้อย

นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนนทบุรีมองว่า ปัญหาที่สำคัญคือ “ยุทธศาสตร์การจัดหาวัคซีนของรัฐบาล” ที่ช้าและน้อย การสั่งซื้อวัคซีนทีล่าช้านี้ ส่งผลต่อความมั่นใจของประชาชนในการใช้ชีวิต และยิ่งไม่ตอบโจทย์ต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะรัฐบาลยังเลือกฉีดเฉพาะคนไทย

“รัฐต้องฉีดวัคซีนให้ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว เวลาโควิดมันติดไม่ได้เลือกสัญชาตินะครับ ต่างด้าวก็เป็นพาหะนำโรคได้เหมือนกัน แล้วที่ติดกัน ณ ตอนนี้ก็มาจากต่างด้าวทั้งนั้น”

สมนึก ธนเดชากุล

ภายในเทศบาลนครนนทบุรีเต็มไปด้วยประชากรแฝงที่อาจจะไมมีข้อมูลทะเบียนบ้านในพื้นที่ ทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ตนมองว่าหากการฉีดวัคซีนยังจำกัดเชื้อชาติ จะไม่สามารถตัดวงจรของการแพร่ระบาดได้ และไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นได้ จึงเป็นข้อเรียกร้องและแนวทางปฏิบัติในพื้นที่เทศบาลนครนนทบุรีที่จะดำเนินการให้ทุกคนได้รับวัคซีน แต่ติดปัญหาที่จำนวนวัคซีนที่มีไม่มากพอ

อย่างไรก็ตาม เทศบาลนครนนทบุรีได้สั่งจองวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไว้ในเบื้องต้น 100,000 โดส และได้รับการจัดสรรเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2564 จำนวน 14,500 โดส ซึ่งถือว่าได้รับการจัดสรรมากเป็นอันดับที่ 7 ของหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งที่ 1

ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล 6 ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่และประชากรทั้งหมด

เมื่อถามถึงความพร้อมในการบริหารจัดการและฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เทศบาลนครนนทบุรี มีศูนย์บริการสาธารณสุขกระจายอยู่ทั่วทั้งเทศบาลนครถึง 6 ศูนย์ มีความพร้อมทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุข รวมถึงอุปกรณทางการแพทย์ที่ครบครัน ซึ่งจากศักยภาพแล้วสามารถฉีดวัคซีนได้วันละ 500 คนต่อศูนย์ รวมแล้ววันละ 3,000 คน โดยที่ไม่จำเป็นต้องจัดสถานที่สำหรับการฉีดเพิ่มเติม และสะดวกต่อการเดินทางของประชาชน

“เราต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนสะดวกที่สุด และใกล้มากที่สุด ใครไม่มีรถ ก็สามารถเดินมาได้ ถ้าจะต้องนั่งรถไปฉีดกันถึงเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน หรือเซ็นทรัล พลาซ่า เวสต์เกตก็ลำบาก…”

สมนึก ธนเดชากุล

The Active ลงพื้นที่เพิ่มเติม สำรวจความพร้อมของศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 6 เทศบาลนครนนทบุรี นพ.ปิยะ ฟองศรัณย์ ผู้อำนวยการส่วนบริการสาธารณสุข สำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครนนทบุรี เล่าให้ฟังถึงความพร้อมของศูนย์ฯ ซึ่งตอบโจทย์การให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะ “คนรากหญ้า” ที่อาจจะเข้าไมถึงบริการสุขภาพในระดับทุติยภูมิ หรือโรงพยาบาลเอกชน

“ความใกล้ชิดกับชาวบ้าน คือสิ่งที่ศูนย์ฯ เรามี” เขาอธิบายต่อว่า เพราะการฉีดวัคซีนนั้นล้วนต้องพิจารณากับประวัติทางสุขภาพร่างกายของคนนั้น หากการเดินทางไปฉีดในสถานที่อื่น อาจทำให้ข้อมูลตกหล่นหรือคาดเคลื่อนไปได้ แต่หากศูนย์ฯ ในระดับพื้นที่ทำหน้าที่ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ตนดูแล ย่อมสามารถช่วยให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ตู้เย็นเก็บวัคซีน ระบบควบคุมอุณภูมิและการแจ้งเตือนกรณีที่อุณภูมิเพิ่มสูงขึ้น อุปกรณ์สำรองไฟ และการดูแลวัคซีนอย่างเป็นระบบ เป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิดว่าจะเห็นในศูนย์บริการสาธารณสุขในระดับปฐมภูมินี้ นพ.ปิยะ บอกอีกว่าศักยภาพในการจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นนี้เราสามารถทำได้ทันที โดยการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลนครนนทบุรี

“สถานพยาบาลของท้องถิ่น” จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า หากพื้นที่อื่น ในระดับเทศบาล หรือ อบต. สามารถบริหารจัดการสถานพยาบาลของตนได้เอง จะมีประโยชน์ต่อประชาชนมากเพียงใด ต้องไม่เพียงแค่มีอยู่ แต่ต้องบริหารเองได้ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการกระจายอำนาจหรือการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุขให้องค์กรปกครองสวนท้องถิ่น อย่างเช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) หรือสถานีอนามัย (สอ.) ต่าง ๆ เป็นต้น แต่เหตุใดการถ่ายโอนนี้ก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ เพื่อทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน

ออกมาตรการกะทันหัน ขาดระบบรองรับปัญหา

“แคมป์คนงานก่อสร้าง” ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของเทศบาลนครนนทุบรี เนื่องจากมีโครงการก่อสร้างในพื้นที่จำนวนมาก มาตรการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างของรัฐบาลนั้น นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนนทบุรี มองว่า “กะทันหัน” เกินไป ขาดการวางแผนเพื่อรองรับปัญหาที่ตามมา

ประการแรก คือ การสั่งปิดแคมป์คนงานโดยที่ยังไม่มีการตรวจหาเชื้อกลุ่มเสี่ยง และแยกคนที่ไม่ติดเชื้อออกมาเสียกอน สิ่งนี้ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในพื้นที่มากขึ้น หากมีการตรวจเชื้อก่อนสั่งปิด ก็จะสามารถแยกให้ผู้ที่ไม่ติดเชื้อออกมาได้ และกักตัวตามระยะเวลาที่กำหนด หลังจากนั้น ก็สามารถทำงานในส่วนของตนเองต่อไปได้ และ ประการต่อมา คือ ไม่ได้รองรับการเดินทางกลับต่างจังหวัดของแรงงานเหล่านี้ ที่ต้องรับค่าจ้างเป็นรายวัน เมื่อไม่มีงานจึงต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา และหากมีเชื้อติดตัว ก็เป็นการนำเชื้อกลับบ้านไปอีกด้วยนั่นเอง

บทบาทหลักของเทศบาลนครนนทบุรีนั้นไม่ได้รับผิดชอบต่อการควบคุมการแพร่ระบาดโดยตรง แต่คือการดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานในแคมป์ ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ “คนข้ามชาติเขาก็ต้องกินข้าวกินปลาเหมือนกัน” แม้เหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สิ่งนี้คือการคิดอย่างเป็นระบบ ว่าหากสั่งปิดแล้วไม่มีการดูแลเยียวยา ย่อมไม่สามารถทำให้มาตรการสำเร็จผลได้ ถุงยังชีพจากเทศบาลนครนนทบุรี คือ อาหารในแต่ละมื้อของคนงานในแคมป์ที่ถูกสั่งปิด

มีท้องถิ่นต้องรู้จักใช้ กระจายอำนาจเพื่อประโยชน์ของประชาชน

“รัฐยังใช้ระบบกระจายอำนาจน้อย เรามีท้องถิ่น ถ้ารู้จักใช้ ประชาชนจะได้ประโยชน์ ยกตัวอย่างในอดีต เมื่อเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นหาวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้ เราก็ลดการแพร่ระบาดไปได้”

สมนึก ธนเดชากุล เป็นผู้บริหารท้องถิ่นที่ครองตำแหน่งยาวนานกว่า 9 สมัย ย่อมเข้าใจความหมายของการ “กระจายอำนาจ” ดีมากกว่าใคร เขามองว่าหากรัฐบาลใช้ประโยชน์จากท้องถิ่นมากกวานี้ปัญหาหลายอย่างจะได้รับการแก้ไขอยางรวดเร็ว หนึ่งในนั้น คือการ “จัดหาวัคซีนและยาต้านไวรัส” เพราะแม้จะมีงบประมาณอยู่ในมือมากมายเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถจัดซื้อยาต้านไวรัส “ฟาวิพิราเวียร์” มาให้กับผู้ป่วยได้ ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลจากผู้ติดเชื้อที่ผ่านมาบอกว่ายิ่งผู้ป่วยโควิด-19 ช่วงเวลาในการได้รับยาต้านไวรัส ส่งผลต่อการลดอาการรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ และลดอัตราการเสียชีวิตได้ในที่สุด หากสามารถเปิดกว้างให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดหาได้เอง เพื่อการบริการอย่างรวดเร็วของผู้ป่วย

“อาจจะเพราะความกังวลกลัวว่าท้องถิ่นจะทำไม่ได้ ถ้าคิดอย่างนี้แสดงว่าต้องทำเองทุกอย่างนะครับ เหมือนเรามีลูกอยู่ 6 คน แต่ทุกวันเราต้องไปช่วยทำงานทุกคน ถ้าเราไม่ปล่อยให้ลูกทำงาน เขาจะชำนาญได้อย่างไร ต้องกระจายให้เขาไปทำงาน ความรวดเร็วก็จะเกิดขึ้น “

สมนึก ธนเดชากุล

วิกฤตโควิด-19 ทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกพื้นที่ ไม่ใช่เพียงแค่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น จังหวัด อำเภอ ตำบล และท้องถิ่นขนาดเล็กล้วนต้องรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ การกำหนดแนวทางให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการตนเองได้ ถือเป็นการใช้ศักยภาพของคนในพื้นที่เพื่อคลี่คลายปัญหา ในขณะเดียวกันท้องถิ่นยิ่งต้องตระหนักในบทบาทของตน ตื่นตัวและทำงานเชิงรุกเพื่อให้การดูแลประชาชน เพราะวิกฤตในครั้งนี้ ไม่สามารถฝ่าฟันได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่ต้องเกิดจากความร่วมมือ “จากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น” นั่นเอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้