เดินหน้า​แก้ไข พ.ร.บ. ควบคุมแอลกอฮอล์ ’51 สู่ Balanced Policy

“ก้าวข้าม 32 : STOP | PAUSE | PLAY FORWARD” นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคร่วมระดมความคิดเห็นหาทางออกผลักดันการแก้ไข มาตรา 32  กระตุ้นสร้างการรับรู้ หาจุดสมดุลระหว่างกฎหมาย ปากท้อง และเศรษฐกิจ   

วันนี้ (5 มี.ค. 2565 ) สมาพันธ์พิทักษ์สิทธิ์ด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ สสค. จัดกิจกรรมเสวนา “ก้าวข้าม 32 : STOP | PAUSE | PLAY FORWARD” โดยนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับปัญหาจาก พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ. 2551  มาตรา 32  ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือทางอ้อม”  


ข้อกำหนดดังกล่าวทำให้เกิดข้อจำกัดทั้งการผลิต และการโฆษณา ซึ่งส่งลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย  วงเสวนาในครั้งนี้ จึงเน้นไปที่การระดมความคิดเพื่อหาช่องทางการไปเดินหน้าต่อไปของกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งทำให้ เกิดการสร้างการรับรู้ หาความสมดุลระหว่างกฎหมาย ปากท้อง และเศรษฐกิจ

ด้าน สมาพันธ์สิทธิ์ด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระบุว่า  พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีความคลุมเครือไม่ชัดเจน ตลอดจนบังคับใช้ไม่เป็นธรรม และเปิดช่องใช้ดุลยพินิจ  สร้างอุปสรรคและความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้สิทธิเสรีภาพของผู้บริโภคที่ถูกลิดรอน 

ณิกษ์ อนุมานราชธน ผู้ประกอบการค็อกเทลบาร์ กล่าวว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ ทำให้งานศิลปะและความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เพียงเพราะมันเป็นแอลกอฮอล์ รวมถึงทำลายสุราพื้นบ้านซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีค่า นอกจากนี้ ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องคำนิยามในกฎหมาย 

 

“ผมว่าใน ม.32 มีคำว่าทางตรงทางอ้อม ผมว่าทางอ้อมเป็นปัญหา เพราะมันใช้ดุลยพินิจได้ ถ้าตัดคำว่าทางอ้อมได้ก็ดี แต่ในใจผมคือไม่อยากให้มี อยากให้มี ม.31 และ ม.33 ไปเลย”

ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย นักวิชาการ และแอดมินเพจ “สุราไทย” ได้กล่าวถึง มุมมองทางกฏหมาย ว่า พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ต้องได้รับการปรับปรุง แก้ไขให้เหมาะกับสภาพการณ์ เพราะผู้ประกอบการและผู้บริโภคต่าง ได้รับผลกระทบ ​ต้องประสบกับความยุ่งยากในการประกอบอาชีพ จาก 3 มาตรการหลักของพ.ร.บ. คือมาตรการควบคุม การโฆษณา (มาตรา 32) มาตรการควบคุมฉลากและบรรจุภัณฑ์ (มาตรา 26) และมาตรการควบคุมการขาย ได้แก่ การควบคุมเวลาขาย (มาตรา 28) การควบคุมการขายในสถานที่สาธารณะ (มาตรา 27) และการห้ามขายออนไลน์ (มาตรา 30)

“จากหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐเองและ WHO มาตรการเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้การดื่มอย่างเป็นอันตราย (harmful use of alcohol) ลดลงแต่อย่างใด แสดงว่ามาตรการและการบังคับใช้กฎหมายที่เกินจำเป็นเหล่านี้ไม่มีประสิทธิผลตามเจตนารมณ์ในการออกกฎหมาย นอกจากนี้ ยังไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ เพราะใช้มานานกว่า 14 ปี โดยยังไม่มี การทบทวนปรับปรุงใดๆ จำกัดสิทธิของผู้บริโภคในการรับรู้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการเลือกซื้อสินค้า และเสรีภาพในการแสดงออก สร้างผลกระทบที่เกินสมควรให้ผู้ประกอบการ ซึ่งไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

ด้าน เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นักกฎหมายมหาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ​​หนึ่งใน ผู้ร่วมเสวนา ระบุว่า ทางแก้มี 2 ช่องทาง คือ กระบวนการทางการเมืองอย่างที่ทำกันอยู่ เพราะกฎหมายออกจากการการล็อบบี้ทางการเมือง อีกแบบหนึ่งคือช่องทางกฎหมาย

ในส่วนของการเคลื่อนไหวในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 ในการประชุมสภา ระเบียบวาระที่ 5 เป็นเรื่องค้างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ในการประชุมครั้งก่อน (2 ก.พ.) ซึ่งมีผู้เสนอคือ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล และคณะสภามีมติส่งร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน 60 วัน ก่อนนำมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง 

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ