สรุปประเด็นจาก TSD Forum EDUCATION
เปลี่ยนการศึกษาในชาตินี้ ยังพอมีโอกาสอยู่ไหม ?
ในวันที่สังคมเรายังเต็มไปด้วยคำถามที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการศึกษา ตั้งแต่ #ทำไมครูไทยอยากลาออก จนมาถึง #พี่ตูนวิ่งทำไม สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำที่สูง คุณภาพที่ต่าง เด็กออกจากระบบ เรียนไม่ตอบโจทย์โลกปัจจุบัน ฯลฯ อีกเพียบ
แต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างการระดมทุนช่วยเหลือเป็นครั้งคราวแบบที่กำลังเกิดขึ้นใช่คำตอบหรือไม่?
The Active ร่วมกับ เครือข่ายภาคี TSDF-การศึกษา สรุปประเด็นจากวงสนทนา Thailand Social Development Forum – Education 5 เวที ที่มีภาคส่วนของสังคมกว่า 30 องค์กร ร่วมบอกสถานการณ์ แบ่งปันประสบการณ์ และวิธีลงมือแก้ปัญหาแบบไม่รอใคร ในรูปแบบ Visual Note สรุปเนื้อหาจากบทสนทนากว่า 10 ชั่วโมง
Roundtable 1 : ความเหลื่อมล้ำและความไม่พร้อมของโรงเรียนขนาดกลาง–เล็ก
“ความเหลื่อมล้ำและความไม่พร้อมของโรงเรียนขนาดกลาง-เล็ก” คือ ความท้าทายแรกที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาไทย
ปัจจุบันเด็กในโรงเรียนชนบท มีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ล่าช้ากว่าเด็กโรงเรียนในเมืองถึง 2 ปีการศึกษา นี่ไม่ใช่เรื่องความสามารถเฉพาะบุคคล แต่เป็นผลจากการสนับสนุนไม่ทั่วถึงกันในเรื่องอุปกรณ์ บุคลากร และงบประมาณ ที่กระทรวงศึกษาธิการยังคงลงทุนกับเด็กแบบนับหัว ซึ่งนอกจากเด็กทั่วไปจะยังเข้าไม่ถึงการศึกษาได้ครบ ในกลุ่มเด็กพิการก็มีมากถึง 38% ที่ไม่ได้เข้าเรียนในระบบการศึกษา สวนทางคำประกาศ “Education For All”
เชื่อไหม ? การศึกษาไทยยุค 5G มีเด็กโรงเรียนยากจน เข้าไม่ถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตถึง 80% ขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่เข้าถึงได้มากกว่า 85%
ขณะที่ครูผู้มีส่วนสำคัญต่อคุณภาพนักเรียน ก็มีเฉลี่ยเพียง 4 คนตามโรงเรียนขนาดเล็ก รับหลายหน้าที่ ไม่มีเวลาโฟกัสงานสอน โดยพบว่าโรงเรียนมากกว่า 13,000 แห่ง หรือ กว่าครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั่วประเทศอยู่ในสภาพนี้ ตอกย้ำด้วยดัชนีการเข้าถึงทรัพยากรครูและอุปกรณ์การศึกษาของไทย มีความเหลื่อมล้ำสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย
“นักเรียนยากจน เรียนในโรงเรียนยากจน” เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้ มีโอกาสเรียนต่อระดับอุดมศึกษาเพียง 5%
มีความพยายามแก้ปัญหานี้ทั้งจากระดับบุคคล กลุ่ม องค์กร และภาคี เช่น จัดทำ Big Data หรือระบบสารสนเทศขนาดใหญ่ชื่อว่า iSEE โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รวบรวมข้อมูลนักเรียนจากคุณครู ปักหมุดแผนที่นักเรียนยากจนและสภาพปัญหาแบบรายคน หวังให้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแบบถูกจุดถูกคน ใช้งบประมาณคุ้มค่าไม่หว่านแจก
มีโครงการชื่อ FSQL ที่ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กำลังทำงานกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรให้โรงเรียนอย่างเหมาะสม มี Startup พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาสนับสนุนเด็ก ๆ ให้เข้าถึงการเรียนรู้ได้หลากหลายและเน้นคุณภาพ โดย สสวท. , Startdee, LearnEd และมีความพยายามพัฒนาครู โดย HCEC, กสศ., Trainkru มีการสนับสนุนให้คนพิการเข้าถึงการศึกษาโดยมูลนิธินวัตกรรมสังคม และ Smarttricks
“การทำงานความร่วมมือข้ามภาคส่วน” คือ สิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรขยายผลความร่วมมือ ด้วยการช่วยกันหาแหล่งทุน สร้างกลไกร่วมกันบริหารจัดการ และใช้วิธีทำงานแบบร้อยพลังการศึกษาที่มีประสบการณ์หรืองานของแต่ละคนคอยเป็นพี่เลี้ยง ชวนท้องถิ่นและเอกชนในพื้นที่มาร่วมขยายผลการทำงานให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
Roundtable 2 : ปัญหาเด็กหลุดจากระบบและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด
“เด็กหลุดจากระบบและผลกระทบจากโควิด” โจทย์ใหม่ทับซ้อนปัญหาเก่าในระบบการศึกษาที่รอแก้
ก่อนการระบาดโควิด-19 การศึกษาภาคบังคับ ไม่สามารถบังคับนักเรียน ป.1 ถึง ม.3 ให้อยู่ในระบบการศึกษาได้แล้วกว่า 500,000 คน และผลกระทบจากการระบาด ทำให้ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เพิ่มจำนวนเด็กยากจนขึ้นกว่า 300,000 คน มีนักเรียนชั้นอนุบาล 3 ป.6 และ ม.3 ไม่เรียนต่อช่วงชั้นถัดไปเกือบ 50,000 คน และมีนักเรียนยากจนอีกกว่า 1.8 ล้านคน ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยง Drop out หรือ หลุดออกจากระบบเพราะความไม่พร้อม
• อ่าน – “เด็ก Drop out” เหมือนใบไม้ร่วง ภาวะไม่ปกติของการศึกษาไทย
“ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมและค่าเล่าเรียน ต้องเป็นแรงหลักหาเงิน” เป็นเหตุผลอันดับ 1 เพื่อโบกมือลาการศึกษาชั้น ม.ปลาย หลังจากได้วุฒิ ม.3 ของเด็กยากจน 47.3% แต่ไม่ใช่เหตุผลเดียว มีปัญหาอื่น ๆ อีกมาก เช่น เรียนไม่ทันเพื่อน ความรุนแรงและความขัดแย้งในครอบครัว ไร้ที่ปรึกษาและผู้แนะนำ ก็ทำให้เด็ก Drop out หรือ ออกจากระบบ เพราะความไม่พร้อมเยอะมาก
การถูกตีตราว่าเป็นผู้แพ้ และไม่รักดี เหนี่ยวนำความรู้สึกให้เด็กกลายเป็นยุวอาชญากรถึง 6 จาก 10 คน ทันทีที่หันหลังให้ระบบการศึกษาไม่เกิน 3 เดือน
ทั้งหมดนี้ มีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการดูแลเด็ก Drop out และเสี่ยง Drop out ด้วยระบบทุนการศึกษาและเป็นที่ปรึกษา เช่น กสศ., มูลนิธิยุวพัฒน์ และมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ระบบประคับประคองการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning loss เช่น อาสาสมัครผู้สนับสนุนการเรียนรู้ นักจิตวิทยาส่งเสริมการเรียนรู้หลายรูปแบบจาก สสวท. , Startdee และ LearnEd มีการหาช่องทางเชื่อมโยงกับครอบครัวและชุมชน ในรูปแบบร้อยพลังการศึกษา และความพยายามดึงเด็ก ๆ กลับมาเข้าระบบด้วยพลังของครูในโรงเรียนและการแนะแนว
นอกจากนี้ ยังเห็นความพยายามปรับหลักสูตรการเรียนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ความหลากหลายของนักเรียนและพื้นที่ ปรับตัวชี้วัดให้เด็กได้เลือกแนวทางการเรียนรู้ของตนเอง เช่น โรงเรียนเซนต์โยเซฟแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
• อ่าน – เครือข่ายการศึกษา ชี้ “ปัญหาเด็ก Drop out” ทำคนไทยยากจนซ้ำซาก
Roundtable 3 : ทักษะชีวิตและการเป็นพลเมืองที่ดี
“พัฒนาทักษะชีวิตและความเป็นพลเมืองที่ดีของเด็กเยาวชน” คือความมุ่งหวังที่คนส่วนมากอยากเห็นจากระบบการศึกษา
วันนี้ เด็กไทย “เน้นวิชาการหนักไป” ขาดสมดุลการเติมทักษะอื่น ๆ เพื่อสร้างสมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ได้ใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงมากกว่า
รู้หรือไม่ ? ไทยมีโครงการและหลักสูตรการเรียนรู้ที่มุ่งเน้น “คุณธรรมจริยธรรมและการทำความดีของเยาวชน” อย่างน้อย 31 โครงการใหญ่ แต่ “คอร์รัปชัน ยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ” เรื่องนี้หลายคนเชื่อว่า เป็นเพราะโครงการหรือหลักสูตรเหล่านี้ เป็นนโยบายสั่งการแบบ “เบื้องบน ชี้” ไม่ทำความเข้าใจความพร้อมของพื้นที่ และไม่ถาม
และถึงแม้ว่า ทักษะชีวิตและการเป็นพลเมืองที่ดี จะเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันมานานว่าสำคัญ แต่จนถึงวันนี้ สภาพแวดล้อมในระบบการศึกษาก็ยังไม่เอื้อเฟื้อให้เกิดระบบหนุนเสริมทักษะการคิดและการแก้ปัญหา ไม่เพิ่มบรรยากาศแห่งการลงมือลองผิดลองถูก ขณะที่ “ครอบครัว” หนึ่งในภาคส่วนสำคัญต่อการปลูกฝังทักษะและความเป็นพลเมือง ก็เจอปัญหาเศรษฐกิจทำให้ไม่สามารถดูแลช่วยกันได้อย่างที่ควรจะเป็น
“การเชื่อมโยง In school + Out school” คือโมเดลทางออกของปัญหาที่ เครือข่ายภาคี TSDF-การศึกษา เชื่อว่าทุกภาคส่วนช่วยได้ สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ หากตั้งใจปรับหลักสูตรแกนกลางให้เหมาะสมกับยุคสมัยจะช่วยให้การศึกษาไทยไปต่อได้ในเรื่องคุณภาพ ส่วนครอบครัวให้มีบทบาทนักส่งเสริมการเรียนรู้อย่างใส่ใจ ขณะที่ครูเป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างสภาพแวดล้อมให้เด็ก ๆ ได้ทดลองทำ และผู้บริหารโรงเรียนต้องหนุนนำเต็มที่ โยนทิ้งระบบสั่งการ
มาถึงตรงนี้ “การสร้างความร่วมมือข้ามภาคส่วนของภาคีเครือข่าย” กำลังเริ่มขึ้นโดยกลุ่มคนที่เห็นความสำคัญและทำมาแล้ว เช่น ธุรกิจเพื่อสังคม a-chieve ได้สร้างแพลตฟอร์มค้นหาตัวตนและระบบแนะแนวที่ทันสมัย มีความพยายามพัฒนาเครื่องมือเสริมประสบการณ์ด้านธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของครูและนักเรียนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานเรียนรู้จริงของแฮนด์วิสาหกิจเพื่อสังคม, สถาบันพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวพัฒน์ และการพัฒนาหลักสูตรคุณธรรมที่น่าสนใจมากขึ้นโดย CG fund และ Trainkru
นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มการเรียนรู้โรงเรียนวันเสาร์ หรือ Saturday school ที่สร้าง Learning space ให้เด็ก ๆ มีพื้นที่เรียนรู้ตามความสนใจ แบบที่หาไม่ได้ในระบบโรงเรียน
• อ่าน – 9 ประสบการณ์ 9 เครื่องมือ “สร้างความสำเร็จจากการศึกษา”
Roundtable 4 : ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อสาธารณะ และโครงการเพื่อร่วมผลักดันหลัง TSD Forum
จากการสนทนาใน Roundtable 1-3 “ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและยกระดับโรงเรียนขนาดกลาง-เล็ก, เด็กหลุดออกจากระบบและลดผลกระทบจากโควิด Learning loss, การพัฒนาทักษะชีวิตและความเป็นพลเมือง” คือ ประเด็นที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันในการตั้งต้นระดมความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์สังคมดี ด้วยความเชื่อว่า “การศึกษาไทยเป็นโจทย์ร่วมของคนไทยทุกคน”
ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อสาธารณะที่เห็นตรงกัน คือ ให้อำนาจโรงเรียนมีสิทธิเลือกแนวทางจัดการเรียนรู้ของตนเอง เปิดโอกาสความร่วมมือข้ามภาคส่วนด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนท้องถิ่นและภาคเอกชนในพื้นที่มีส่วนร่วมด้วยมาตรการจูงใจทางภาษี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ต้องมีส่วนร่วมแท้จริงเพื่อสร้างหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ใช้ได้จริง มีหลักสูตรที่อ่อนตัวกับความหลากหลายของผู้เรียนและพื้นที่ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน มีศูนย์ร้องเรียนที่ปลอดภัย
ปฏิรูปงบประมาณ เปลี่ยนการลงทุนรายหัวเป็นตามความจำเป็นของโรงเรียน ลดค่าใช้จ่ายแอบแฝงให้นักเรียนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการศึกษาแบบไม่มีค่าใช้จ่ายได้จริง จัดให้นักเรียนทุกคนได้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และจัดให้นักเรียนมัธยมปลายมีอุปกรณ์เพื่อการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี ใช้เครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดสรรทรัพยากรให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ เช่น FSQL
ทั้งนี้ เครือข่ายภาคี TSDF-การศึกษา จะสนับสนุนงานพัฒนา Big Data ผลักดันการใช้ข้อมูล เชื่อมโยงภาคีอาสาสมัคร และการมีส่วนร่วมจากชุมชนและครอบครัว รวมทั้งระดมแหล่งทุนและความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ ลงขันประสบการณ์ออกจากทางตันการศึกษา เพื่อทำให้ความคาดหวังเกิดเป็นความจริง
“ปฏิรูปการศึกษาไม่รอรัฐ” | แผนปฏิบัติการพัฒนาสังคมด้านการศึกษา
บทสรุปจาก เวทีความร่วมมือแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาทางสังคมของประเทศไทย ด้านการศึกษา หรือ Thailand Social Development Forum – Education ในงาน Good Society Summit 2021 : Hope In Crisis ในวิกฤตยังมีหวัง
นักเรียน ผู้ปกครอง ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน และตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ มีความเห็นตรงกันว่า หากการศึกษาเปลี่ยนได้ จะเป็นเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาสังคมอื่น ๆ โดยเฉพาะการสร้างเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น
“อยากให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับทุกเรื่องในโรงเรียน” คือ ความหวังของตัวแทนเด็กและเยาวชน ซึ่งมองว่าในระดับโรงเรียนยังไม่ค่อยเปิดพื้นที่ทางความคิดกับผู้เรียน นี่คือภูมิคุ้มกันชั้นแรกของการเป็นพื้นที่ปลอดภัยในระดับกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะนำไปสู่การออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ที่นักเรียนได้ใช้ในชีวิตจริง ลดความสิ้นหวังกับระบบ และมองว่ากระทรวงศึกษาฯ ยังทำงานข้ามหน่วยงานน้อยเกินไป
“ความรู้วิชาการไม่ใช่ที่ 1 ของการศึกษายุคนี้” คือความคิดเห็นจากมุมผู้ปกครอง ที่มองว่านักเรียนควรถูกสนุบสนุนตามความหลงไหล และนี่คือหนึ่งในหน้าที่ผู้ปกครองในการหาทางช่วยส่งเสริมลูกหลานให้ได้เรียนรู้แบบเน้นทักษะในขณะที่โรงเรียนยังมีมาตรฐานต่างกัน
มีบางโรงเรียนผ่านการปรับตัวเพื่อทำ “หลักสูตรการศึกษาที่มีเด็กเป็นตัวตั้ง” เช่น โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ที่สร้างหลักสูตรการศึกษา 19 โปรแกรม รองรับนักเรียนในท้องถิ่น สนับสนุนการศึกษาตามความสนใจผู้เรียนที่หลากหลาย ไม่สอบ ไม่จัดอันดับนักเรียน
• อ่าน – หมดยุคการศึกษาเสื้อโหล “รร.อบจ.เชียงราย” ให้เด็กประถม-มัธยม เลือกเรียน 19 หลักสูตรตามถนัด
“ต้องการอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์เรียนออนไลน์แบบไม่มีค่าใช้จ่ายผูกพัน และเพิ่มเทคนิคการสอน” คือ ความคาดหวังของตัวแทนครูผู้อยู่กับเด็กที่มีแนวโน้มหลุดระบบ และอยู่กับการจัดการศึกษายุคเก่าที่อาจไม่ทันเป้าหมายการเรียนรู้เด็กยุคนี้
“มีศูนย์สนับสนุนเติมทักษะครูเต็มที่” คือ ความพร้อมที่ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ สพฐ. หรือ HCEC แจ้งทุกฝ่ายว่า พร้อมสนับสนุนครูในการเสริมทักษะกระบวนการสอน แต่ขณะนี้ก็ยังขาดแคลนวิทยากรผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ด้าน หากใครพร้อมช่วยกัน เชื่อว่าเปลี่ยนการศึกษาโดยเริ่มจากครูจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าเดิม
“ใช้ Big data แก้ปัญหาแบบตรงจุด” คือบทสรุปจาก เวทีความร่วมมือแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาทางสังคมของประเทศไทย ด้านการศึกษา หรือ Thailand Social Development Forum – Education โดยยกตัวอย่างการทำงานของมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ และแอปพลิเคชันเพื่อการศึกษา StartDee ที่ใช้ข้อมูลจากระบบ iSEE ของ กสศ. มาจัดสรรทรัพยากรและเปิดพื้นที่การศึกษาให้เด็กยากจนได้อย่างคุ้มค่า
“ทุนการศึกษาแบบยั่งยืน” คือ ประเด็นที่คนทำงานด้วยระบบมูลนิธิ อยากเห็นระบบการมอบทุนการศึกษาไม่ใช่ครั้งเดียวจบ แต่มีระบบออกแบบชีวิตทางการศึกษานักเรียนรายคน และอยากให้ภาครัฐช่วยเปลี่ยนกฎเกณฑ์สนับสนุนเอกชนที่ลงทุนด้านการศึกษา สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ทุกองค์กร
ส่วนมุมมองที่อยากเห็นการพัฒนา คือ “ใช้เทคโนโลยีช่วยครู” จัดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น งานเอกสาร การสอนทฤษฎี เพื่อให้ครูได้เต็มที่กับการสอนภาคปฏิบัติ และการแลกเปลี่ยนกันความเห็น “ปฏิรูปหลักสูตร” ให้มีเนื้อหาตอบโจทย์ยุคสมัย “สนับสนุนการเรียนฟรี” ให้เกิดขึ้นจริงตามสิทธิ “ปรับโครงสร้างการจัดการงบประมาณ” ให้โรงเรียนตัดสินใจบริหารได้เอง
ขณะที่การ “สร้างทักษะความเป็นพลเมือง” ต้องอาศัย 3 ป. คือ เปิดกว้าง เข้าใจบริบทการศึกษาแบบใหม่ ๆ ปลูกฝังความเข้าใจความคิดที่แตกต่าง และปฏิบัติจริง เพื่อทำให้เด็กได้มีโอกาสปฏิบัติและมีส่วนร่วมกับทุกเรื่องในโรงเรียน
• อ่าน – รวมพลังภาคีกว่า 30 องค์กร ลงขันประสบการณ์ออกจากทางตันการศึกษา
“การศึกษาไทย” อย่างไรต่อ ?
บทสรุปจาก 4 เวทีย่อย ได้ถูกใช้เป็นประเด็นระดมความร่วมมือและข้อเสนอเพื่อสร้างสรรค์สังคมดีด้วยความเชื่อว่า “การศึกษาไทยเป็นโจทย์ร่วมของคนไทยทุกคน” ในงาน “Good Society Summit 2021 : Hope In Crisis ในวิกฤตยังมีหวัง” กับ “เวทีความร่วมมือแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาสังคมของประเทศไทย ด้านการศึกษา” ทางเว็บไซต์ http://goodsociety.network และ The Active
เครือข่ายภาคี TSDF-การศึกษา ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลและองค์กรเครือข่ายจากภาคส่วนต่าง ๆ ดังนี้
1.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา
2.Good Society Summit 2021
3.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
4.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
5.สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย
6.a-chieve
7.Hand Social Enterprise
8.มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.
9.ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ
10.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
11.มูลนิธิเพื่อคนไทย
12.Learn Education
13.Life Education Thailand
14.Talitha Kum Thailand
15.โครงการร้อยพลังการศึกษา
16.มูลนิธิยุวพัฒน์
17.โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย
18.Eduzones Education Community
19.ศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม
20.saturday school
21.StartDee
22.Thai Ed Reform 2022
23.Thai PBS
24.The Active
25.The Trust
26.UNICEF
27.World Bank
28.Smart trick training