เครือข่ายการศึกษา ชี้ “ปัญหาเด็ก Drop out” ทำคนไทยยากจนซ้ำซาก ย้ำ “ปากท้อง” ไม่ใช่ต้นตอเดียว “โครงสร้างการเรียนรู้” ก็ผลักเด็กหลุดระบบ

‘TSD Forum’ หวั่นสูญเสียทุนมนุษย์คุณภาพ เปิดสถานการณ์ “เศรษฐกิจยุคโควิด-โครงสร้างหลักสูตร” ฉุดเด็กไม่ได้เรียนต่อ “มัธยม-อุดมศึกษา” น่าห่วงยอดหยุดเรียนพุ่ง จี้นโยบายแก้ปัญหาครบมิติ ย้ำ! พลังทางสังคมพร้อมมีส่วนร่วม

วันที่ 15 ต.ค. 2564 มูลนิธิเพื่อคนไทย และภาคีเครือข่ายกว่า 10 องค์กร เปิดเวทีเสวนาโต๊ะกลมรูปแบบออนไลน์ หัวข้อ “เด็กหลุดจากระบบ (Drop out) และผลกระทบจากโควิด” ล้อมวงคุยระดมความเห็นและข้อเสนอในงาน Thailand Social Development Forum – Education (TSD Forum) หรือ เวทีระดมความร่วมมือแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาทางสังคมของประเทศไทย ประเด็นการศึกษา

ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำเสนอสถานการณ์ เด็กหลุดจากระบบการศึกษา (Drop out) ภาพรวมภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ระบุ เด็กและเยาวชนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานหลุดจากระบบการศึกษาแล้ว 1,188,000 คน และมีเด็กและเยาวชนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส 1,047,000 คน ระดับอุดมศึกษากว่า 1 แสนคน

ในข้อมูลนี้ ได้รับทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนของ สพฐ. และทุนเสมอภาคของ กสศ. ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินราวปีละ 6,000 ล้านบาท แต่ภาวะเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาพรวมการว่างงานและความยากจนเพิ่ม เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงชั้นรอยต่อ ม.1, ม.4 และอุดมศึกษา พบข้อมูลสมัครเข้าเรียนและยืนยันสิทธิ์ในระบบ TCAS ปีการศึกษา 2564 เพียง 10 คน จาก 100 คน

ขณะที่ผลสำรวจองค์การยูนิเซฟ ระบุข้อมูล เด็กเกือบทุกคนในประเทศไทยเข้าเรียนและจบชั้นประถมศึกษา แต่อัตราการเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยกลุ่มครัวเรือนยากจนเข้าเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพียงร้อยละ 53 ปัจจัยสำคัญมาจาก ไม่มีเงินจ่ายค่าสมัคร ค่าเดินทาง และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการเล่าเรียน

“เด็กจะทยอยหลุดระบบการศึกษาตั้งแต่ ม.ต้น และหายไปกว่าครึ่งหนึ่งตอนขึ้น ม.ปลาย มีโอกาสเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 10 ถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ เด็กจะหลุดจากระบบต่อเนื่อง ทำให้เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนจะมีโอกาสยากจนต่อไป และขยายครอบครัวยากจนเพิ่ม ในอนาคตถ้าไม่มีระบบแก้ไขปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาที่ก้าวหน้า ความท้าทายสุดท้ายของเรา คือสูญเสียโอกาสเปลี่ยนสถานะทางสังคมของทุนมนุษย์ในประเทศ”

สถานการณ์เด็กหลุดจากระบบการศึกษาภาพรวมทั่วประเทศ สอดคล้องกับข้อมูลการทำงานของ โมนา ศิวรังสรรค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวพัฒน์ องค์กรที่สนับสนุนทุนการศึกษาเกือบ 30 ปี ระบุว่า ความยากจน เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เด็กไม่ได้เรียนต่อ แต่ไม่ใช่สาเหตุเดียว

เด็กกลุ่มเสี่ยงมีลักษณะปัญหารุมเร้าอื่น ๆ ด้วย เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเรียนรู้ และการใช้ชีวิตตามสภาพแวดล้อม การแก้ปัญหาด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษาเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ เพราะมูลนิธิยุวพัฒน์สนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนต่อเนื่องจนจบ ม.6 หรือ ปวช. แต่ก็ยังพบว่ามีเด็กสำเร็จการศึกษาเฉลี่ยปีละ 80 จาก 100 คน

“ทำไมได้ทุนแล้วยังหลุดจากระบบ วันหนึ่งถ้าเด็กมีความรู้สึกว่าไม่อยากเรียนแล้ว มันง่ายมากเลยที่จะไม่กลับเข้าเรียนถ้าไม่มีที่ปรึกษา อยากให้สังคมให้โอกาสเด็กทุกคนไม่ใช่แค่เด็กยากจนหรือเรียนดี มีปัญหาหลายอย่างเกินกำลังที่เด็กจะควบคุมได้ เราพบว่าเด็กที่ขาดโอกาส มักอยู่ในโรงเรียนที่ขาดความพร้อมด้วย โอกาสที่ได้รับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาจริง ๆ”

เซอร์มารี-อักแนส สุวรรณา บัวทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ลพบุรี สนับสนุนข้อเสนอ ด้วยข้อมูลการทำงานของโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ลพบุรี และเซนต์โยเซฟ แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ในช่วงโควิด-19 กล่าวว่า บันทึกหลังการสอนของครู แจ้งว่ามีเด็กเกินครึ่งไม่เข้าเรียนออนไลน์ ทั้งที่โรงเรียนมีนโยบายสนับสนุนอุปกรณ์

“เราไม่ตัดสินว่าเด็กไม่เข้าเรียนเพราะไม่อยากเรียน แต่ช่วยกันออกแบบหาวิธีตามเด็กแต่ละคน โดยให้ครู 1 คน ติดต่อผู้ปกครองและนักเรียน 12-13 คน ถามทีละคนว่ามีอะไรให้โรงเรียนช่วยบ้าง พบว่าบางบ้านมีเด็กวัยเรียน 3 คน เรียนออนไลน์พร้อมกัน”

การแก้ปัญหาของโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ลพบุรี ใช้วิธีให้ผู้ปกครองส่งลูกบางคนมาเรียนกับครูที่โรงเรียน ส่วนโรงเรียนเซนต์โยเซฟ แม่แจ่ม เป็นโรงเรียนบนพื้นที่สูงไม่สามารถให้เด็กเข้ามาพักนอนได้ตามปกติ จึงใช้วิธีให้ครูออกไปสอนเด็กตามหมู่บ้าน แบ่งกลุ่มเรียนแบบคละชั้น บูรณาการรายวิชาโดยเรียนรู้ผ่านการลงมือ Active Learning ให้เด็กยังอยู่ในระบบการเรียนรู้ด้วยการถอดบทเรียนด้วยตัวเองว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) อธิบายถึงความรุนแรงของการปล่อยเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาว่า มีความเสี่ยงต่อการเพิ่มจำนวนยุวอาชญากร โดยพบว่าช่วง 3 เดือนแรกหลังหลุดระบบ มีเด็ก 6 คน ใน 10 คน มีความเสี่ยงก่ออาชญากรรม การทำให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาเป็นส่วนสำคัญต่อการหยุดปัญหานี้

ศ.สมพงษ์ ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา นอกจากปัญหาค่าใช้จ่าย ปัญหาครอบครัวและสภาพแวดล้อม โครงสร้างของระบบการศึกษาในปัจจุบัน หลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ และการวัดผล มีส่วนผลักเด็กออกจากระบบการเรียน

“ตอนนี้กระทรวงศึกษาฯ จะเปลี่ยนหลักสูตรฐานสมรรถนะผมว่ามาถูกทาง แต่สิ่งที่ต้องทำไม่ใช่แค่กระแสการสนับสนุนการเรียนรู้กระแสหลัก การศึกษาต้องมีหลายลู่ ไม่ใช่ลู่เข้ามหาวิทยาลัยอย่างเดียว เพราะเด็กมีศักยภาพ มีความสนใจแตกต่างกัน”

สอดคล้องกับมุมมองของ วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ ผู้ก่อตั้ง Eduzones ที่อธิบายว่าวันนี้การศึกษาได้ถูก Disruption แล้ว คำถามคือการเรียนรู้แบบเดิมยังตอบโจทย์อยู่หรือไม่ ประเทศไทยยังขับเคลื่อนการศึกษาด้วยระบบอุตสาหกรรม วันนี้ พื้นที่การเรียนรู้เปลี่ยนไป การแก้ปัญหาเด็กหลุดระบบ อาจไม่ใช่แค่การดึงเด็กกลับเข้าโรงเรียนเหมือนเดิม และต้องปฏิรูปโครงสร้างงบประมาณให้ไปถึงผู้เรียนมากขึ้น

ขณะที่ รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือ Big Rock ที่ 1 ในแผนปฏิรูปที่ให้ความสำคัญเรื่องการหลุดจากระบบการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษา มี 3 ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ 1.หลักคุณธรรม คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนเกิดมาต้องได้รับโอกาสเสมอภาคเรื่องการศึกษา 2.ระดับมหภาค เด็กหลุดระบบเท่ากับสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ส่งผลต่อความก้าวหน้าของสังคม 3.ระดับจุลภาค ความสูญเสียส่วนบุคคลและครอบครัว เสียโอกาสลืมตาอ้าปากจากวุฒิการศึกษาที่พึงมี

ทั้งนี้ ประเด็นร่วมที่ทุกคนเห็นตรงกัน คือการขยายผลการแก้ปัญหาร่วมกันของภาคีเครือข่าย วิเชียร พงศธร คณะทำงานภาคีเครือข่ายงาน Good Society Summit 2021 กล่าวว่า ข้อมูลจากเวทีจะถูกใช้เป็นพื้นฐานในการรวบรวมพลังทางสังคมที่กำลังขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการศึกษา และพร้อมมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน โดยจะใช้กระบวนการ TSD Forum เปิดพื้นที่ขยายความร่วมมือต่อไป โดยในวันที่ 21 พ.ย. นี้ จะเปิดเวทีใหญ่ ชวนภาคีเครือข่ายจํานวนมากร่วมกันวางแผนและออกแบบการขับเคลื่อนสังคมด้านการศึกษาในเชิงระบบ

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม