เสียงสะท้อนเครือข่ายการศึกษาจากเวที Thailand Social Development Forum
เคยไหม ? ที่เสียงเจื้อยแจ้วในโรงเรียน ชวนรู้สึกว่าอยากให้ความสงบผุดขึ้นบ้าง แต่ ณ เวลานี้ ความเงียบในโรงเรียนกินเวลาทอดนานกว่าครึ่งค่อนปี เด็กบางคนกลับไปเจื้อยแจ้วที่บ้านผ่านห้องเรียนออนไลน์ที่เจิดจ้า สวนทางเด็กบางคนที่ไม่มีโอกาสดำรงอยู่กับการศึกษาอีกต่อไป
“Drop out” หรือ เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา คือ 1 ในความเรื้อรังของปัญหาการศึกษาไทย ที่แม้ไม่มีข้ออ้างโรคระบาด ก็มีตัวเลขเด็ก ๆ ที่ควรอยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องหลุดออกไปมากกว่า 500,000 คน แล้วโควิด-19 ก็เข้าซ้ำเติมเด็กยากจนอีก 43,060 คน ไม่ให้กลับเข้ามาในระบบการศึกษาเทอมนี้อีกเลย
ถึงตรงนี้ ใช่ว่าไม่มีใครรู้หรือหาทางแก้ไข แต่ก็คงต้องทบทวนกันต่อไปว่าปัญหา “เด็ก Drop out” มีข้อผิดพลาดตรงไหน ถึงทำให้พวกเขาไม่ได้เรียน ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
The Active รวมเสียงสะท้อน ‘เครือข่ายการศึกษา’ ซึ่งตั้งใจให้ “เด็ก Drop out” เป็นวาระของสังคมที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม จากเวทีระดมความร่วมมือแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาทางสังคมของประเทศไทย (Thailand Social Development Forum) “เด็กหลุดจากระบบและผลกระทบจากโควิด” ชวนร่วมคิดและหาคำตอบเพื่อไปให้ถึงการเปลี่ยนแปลง
“รูปแบบการเรียนแบบเดิมได้ถูกทำลายลงแล้วด้วย Learning space ไม่มีขอบเขต ต้องเลิกคิดว่าการศึกษาคือการพาเด็กเข้าโรงเรียน อย่าใช้วิธีขับเคลื่อนการศึกษาแบบอุตสาหกรรม ถ้าเด็กไม่อยากเรียนในโรงเรียนแต่ทำมาหากินได้ คุณต้องสนับสนุนการเรียนรู้ให้พวกเขา”
‘วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์’ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์การศึกษา Eduzones แลกเปลี่ยนว่า โลกแห่งการเรียนรู้ถูก Disruption จนเห็นคำตอบแน่ชัดว่าระบบการศึกษาที่ผูกติดกับโรงเรียน ไม่ใช่ทางออกทั้งหมดของปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา เมื่อวันนี้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ไร้ขอบเขต เขาชวนตั้งคำถามต่อไปว่า “เรายังจำเป็นต้องพาเด็กเข้าระบบหรือไม่”
‘วิริยะ’ เสนอว่า ระบบการศึกษาไทยต้องตั้งขบวนใหม่ เปลี่ยนแนวคิดพาเด็กเข้าโรงเรียนไปสู่การสนับสนุนการเรียนรู้ที่หลากหลายแบบมีหลักประกัน ไม่อย่างนั้นระบบอาจเป็นผู้ผลักเด็กออกไปจากการศึกษาเสียเอง
“หนึ่ง คุณต้องเปลี่ยน Learning space ให้เด็กสามารถเรียนรู้เวลาไหนก็ได้ สองวิธีการจัดการคุณต้องทำด้วยความรักไม่ใช่ทำด้วยความกลัว คุยกันตามข้อเท็จจริงว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่เรื่องเด็กจน ถามว่าวันนี้มีนโยบายเรียนฟรีแต่ทำไมเด็กยังต้องเสียเงิน เอาความจริงมาคุยกันดีกว่าไหม”
“คนแรกที่ต้องไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษาคือครู กำลังใจครูสำคัญสุด ถ้าหลุดไปแล้วยากที่จะช่วยให้เด็กไม่ให้หลุด ครูเห็นปัญหาแล้วรีบช่วย นั่นแหละคือการทำให้เด็กไม่หลุดออกจากวงจรการศึกษา มีหลายองค์ประกอบที่จะจัดการเรียนรู้ แกนสำคัญที่สุดคือครูใส่ใจเด็ก”
‘เซอร์มารี-อักแนส สุวรรณา บัวทรัพย์’ ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ลพบุรี เล่าผ่านประสบการณ์ทำงานที่พบเด็กหายไปจากห้องเรียนออนไลน์ ผ่านบันทึกหลังการสอนของครู ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความสงสัยว่าทำไมเด็กถึงไม่เข้าเรียน ทั้งที่โรงเรียนมีนโยบายสนับสนุนอุปกรณ์ อีกทั้งเด็กหนึ่งชื่อยังไม่เข้าเรียนหลายวิชา
“เราไม่ตัดสินว่าเด็กไม่เข้าเรียนเพราะไม่อยากเรียน แต่ครูทุกคนช่วยกันติดตาม ครู 1 คน ติดต่อผู้ปกครองและนักเรียน 12-13 คน ถามทีละคนว่ามีอะไรให้โรงเรียนช่วยบ้าง พบว่าบางบ้านมีเด็ก 3 คนเรียนออนไลน์พร้อมกัน เราเลยช่วยให้เด็กบางคนมาเรียนกับครูที่โรงเรียน ทำให้โรงเรียนกับผู้ปกครองให้เป็นหัวใจแก้ปัญหานี้บนคำว่า No child left behind”
ภาพนี้ยังเกิดขึ้นที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟ แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่ ‘เซอร์มารี-อักแนส สุวรรณา บัวทรัพย์’ ดูแล เธอเล่าว่าที่นั่นเป็นโรงเรียนบนดอย ครูช่วยกันออกแบบวิธีตามหาเด็ก โดยไปประจำตามหมู่บ้านเดือนละ 3 สัปดาห์ ชวนนักเรียนกลุ่มเล็ก ๆ จัดการเรียนรู้คละชั้นรวมวิชา ประยุกต์การเรียนรู้ผ่านการลงมือสร้างบทเรียนในชุมชน แล้วให้เด็กตอบตัวเองว่าอะไรคือความรู้ใหม่
“ตามคำที่พระเยซูเจ้าได้บอกว่า ปล่อยให้เด็ก ๆ มาหาเราเถอะ เมื่อครูเห็นปัญหาแล้วรีบช่วย นั่นแหละคือการที่ทำให้เด็กของเราไม่หลุดออกจากวงจรการศึกษา”
“ไม่ใช่แค่มีทุนการศึกษาจะช่วยได้ เด็กในครอบครัวยากจนเปราะบาง มักเจอปัญหาซ้อนปัญหา การประคับประคองนอกเหนือจากการให้ทุนสำคัญมาก เราจะทำอย่างไรให้เด็กได้รับการประคับประคองอย่างเป็นระบบจนจบการศึกษา”
‘โมนา ศิวรังสรรค์’ ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวพัฒน์ สะท้อนชุดประสบการณ์ทำงานสนับสนุนทุนการศึกษาเด็ก ๆ ในครอบครัวยากจนเปราะบางเกือบ 3 ทศวรรษ พบว่า การให้ทุนการศึกษาอย่างเดียวไม่เพียงพอให้เด็กดำรงอยู่ในระบบการศึกษา เพราะความจนไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เด็ก Drop out
เธอยกตัวอย่าง สถิติการเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานของนักเรียนทุนมูลนิธิยุวพัฒน์ ที่สนับสนุนต่อเนื่องตั้งแต่อยู่ชั้น ม.1 พบว่า ในจำนวนนักเรียน 100 คน สามารถเรียนจบ ม.6 หรือ ปวช. โดยเฉลี่ยที่ 80 คน ขณะที่อีก 20 คน ทยอยหลุดออกไประหว่างทาง
“ถ้าถามว่าทำไมได้ทุนแล้วถึงยังหลุดจากระบบ เหตุผลมีหลายอย่างมาก เช่น ความประพฤติ เรียนไม่รู้เรื่อง ต้องออกไปทำงาน มีครอบครัว หรือมีปัญหาในครอบครัว ถ้าเด็กคนนั้นอยู่ในครอบครัวที่พร้อมดูแลใกล้ชิด การบอกว่าจะไม่เรียนแล้วไม่สามารถทำตามใจได้ง่าย ๆ แต่เด็กในครอบครัวเปราะบาง ถ้าวันหนึ่งตัดสินใจว่าจะไม่เรียนแล้ว มันง่ายมากที่เขาจะเดินออกไป”
‘ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวพัฒน์’ อยากเห็นสังคมไทยให้โอกาสเด็กทุกคน ไม่ใช่แค่เด็กยากจนหรือเรียนดี เพราะมีเด็กไม่น้อยเจอปัญหาหลายอย่างเกินกว่ากำลังพวกเขาจะควบคุมได้
“เด็กและเยาวชนจะเริ่มหลุดจากระบบการศึกษาในชั้น ม.ต้น และหายไปอีกครึ่งหนึ่งในชั้น ม.ปลาย จริงอยู่ ม.ปลาย หรือ ปวช. ไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ แต่ปัจจุบันการทำงานด้วยวุฒิ ม.3 มีโอกาสสูงมากที่จะยังอยู่ในกับดักความยากจน”
‘ไกรยส ภัทราวาท’ รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ฉายสถานการณ์เด็กหลุดจากระบบการศึกษาภาคเรียนล่าสุด กล่าวว่า นักเรียนชั้นรอยต่อชั้นอนุบาลขึ้น ป.1, ป.6 ขึ้น ม.1 และ ม.3 ขึ้น ม.4 ในครอบครัวที่มีรายได้น้อยกว่า 1,358 บาท/เดือน จำนวน 294,454 คน ไม่พบข้อมูลเรียนต่อ 43,060 คน และมีจำนวนนักเรียนในครอบครัวที่มีรายได้น้อยกว่าเส้นความยากจนเดือนละ 2,700 บาท จำนวน 2.2 ล้านคน ยังเรียนอยู่แต่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด
‘รองผู้จัดการ กสศ.’ กล่าวถึง ผลสำรวจองค์การยูนิเซฟ พบข้อมูลเด็กนักเรียนในครอบครัวยากจนที่สุด 20% ล่างของประเทศ กับนักเรียนในครอบครัวฐานะดีที่สุด 20% บน ที่เข้าสู่การศึกษาพร้อมกัน ตอนวัยประถมเกือบทุกคนได้เข้าเรียน แต่พอถึงเวลาเรียนต่อชั้น ม.ต้น นักเรียนในครอบครัวยากจนได้เรียนต่อ 81.5% ส่วนนักเรียนในครอบครัวฐานะดีเรียนต่อ 92.4% และเมื่อถึงวัยมัธยมปลาย นักเรียนในครอบครัวยากจนเหลือเรียนต่อ 52.7% ขณะที่นักเรียนในครอบครัวฐานะดีเรียนต่อ 87%
หลังจากนักเรียนยากจนออกจากระบบการศึกษากว่าครึ่งตอนมัธยม เมื่อถึงรอยต่อระดับอุดมศึกษา เหลือน้อยคนที่ได้เข้าเรียน สถิตินักเรียนยากจนตอนอยู่ ม.3 ที่ต้องสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยผ่านระบบ TCAS ปีการศึกษา 2564 ของ กสศ. พบว่าในจำนวนกว่า 1 แสนคน สมัครเข้าเพียง 3 ใน 10 คน และยืนยันสิทธิ์เพียง 1 ใน 10
“ถ้ายังเป็นแบบนี้คนที่เกิดในครัวเรือนยากจน ก็ยังมีโอกาสสูงที่จะยากจนในรุ่นของเขาและรุ่นลูก หากกลไกการศึกษาขั้นพื้นฐานเชื่อมต่อถึงระดับอุดมศึกษาที่สามารถทำให้เกิดหลักประกันโอกาสได้ จะช่วยตัดวงจรปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเจริญเติบโตของประเทศ”
“เด็กหลุดจากระบบการศึกษาจะสูญสิ้นความมั่นใจ สูญสิ้นความเป็นมนุษย์ค่อนข้างมาก เราพบว่าเด็กหลุดจากศึกษาประมาณ 3 เดือน เสี่ยงเป็นยุวอาชญากรมากถึง 6 ใน 10 คน ฉะนั้นการ Drop out เป็นเส้นเลือดใหญ่ ต้องหยุดไม่ให้ไหลออกนอกระบบ”
‘ศ.สมพงษ์ จิตระดับ’ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวถึงพฤติกรรมเด็กวัยเรียนหลังหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยอ้างอิงจากจำนวนเด็กในสถานพินิจและบ้านคุ้มครองที่เพิ่มต่อเนื่อง
นอกจากความจน ปัญหาครอบครัว และทัศนคติผู้ปกครองที่อยากให้บุตรหลานออกมาทำงานช่วยหารายได้ ‘ศ.สมพงษ์’ มองว่า โครงสร้างหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ และการวัดผลในปัจจุบัน ก็เป็นสาเหตุสำคัญในการผลักเด็กออกจากระบบการศึกษา ที่มีหลักสูตรคล้ายบังคับให้เด็กทุกคนต้องเรียนเหมือนกัน ขณะที่เป้าหมายต่อการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกัน
“ไม่ใช่แค่เด็ก Drop out แต่เป็นระบบที่ Push out เด็กให้ออกจากระบบ ตอนนี้กระทรวงศึกษาฯ จะเปลี่ยนหลักสูตรเป็นฐานสมรรถนะ ผมว่ามาถูกทาง แต่สิ่งที่ต้องทำไม่ใช่แค่สนับสนุนการเรียนรู้กระแสหลัก การศึกษาต้องมีหลายลู่ ไม่ใช่ลู่เข้ามหาวิทยาลัยอย่างเดียว เพราะเด็กมีศักยภาพ มีความสนใจแตกต่างกัน”
“การดึงเด็กเข้าระบบต้องทำเป็นกลยุทธ์ ในร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ บอกว่าคนที่จะรับผิดชอบระยะยาวคือคณะกรรมการนโยบายชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ถ้าไม่มีกฎหมายฉบับนี้ออกมา การปฏิรูปก็เดินหน้าต่อไปไม่ได้”
‘รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ’ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ประกาศให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นโจทย์ปฏิรูป Big Rock ที่ 1 จาก 5 โจทย์ใหญ่ในวาระปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่รับผิดชอบ โดยพิจารณาจาก 3 ประเด็นนี้
1. หลักคุณธรรมความถูกต้อง
ในฐานะความเป็นมนุษย์ ทุกคนควรได้รับโอกาสเท่าเทียมเสมอหน้ากันตามหลักการสากล วาระปฏิรูปต้องทำให้เกิดความเสมอภาคสำหรับทุกคน
2. ความสูญเสียภาพรวมทั้งประเทศ
การหลุดออกจากระบบการศึกษา เป็นความสูญเสียทุนมนุษย์ที่ควรได้รับการพัฒนาศักยภาพเต็มที่ จำเป็นต้องมีกลไกดึงดูดให้เด็กเรียนสูงสุดตามความต้องการ
3. ความสูญเสียโอกาสมีชีวิตที่ดีของตนเอง
วันนี้วุฒิการศึกษา มีผลต่ออาชีพและรายได้ของคนส่วนใหญ่ การศึกษาจึงเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงฐานะตนเองและครอบครัว
“วันนี้โลกการเรียนรู้เป็นโลกใหม่แล้ว แต่การปฏิรูปเป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงคน คนเปลี่ยนได้ช้า ปฏิรูปถึงช้าไปด้วย ฉะนั้นการปฏิรูปไม่ได้จบสั้น ๆ ต้องใช้เวลา”
“ปัญหาเด็ก Drop out มีคนหยิบยื่นความร่วมไม้ร่วมมือแก้ปัญหานี้อยู่พอสมควร เพียงแต่ยังทำไม่ทั่วถึงเพียงพอ เราต้องการคนมาช่วยสร้างนิเวศที่ปรากฏอยู่เป็นจุด ๆ ให้เกิดเป็นระบบแก้ปัญหาเพื่อขยายผลต่อ”
‘วิเชียร พงศธร’ คณะทำงานภาคีเครือข่ายงาน Good Society Summit 2021 สรุปประเด็นร่วมที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันจากเวทีนี้ คือ ทุกภาคส่วนต้องช่วยสนับสนุนกันและกันในการจัดการปัญหาเด็ก Drop out หรือ หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งแต่ละฝ่ายได้ฉายข้อค้นพบและชุดประสบการณ์ที่สำคัญต่อการเดินหน้าแก้โจทย์แบบคนมีของ ไม่ใช่คนเริ่มจากศูนย์
จากนี้ ข้อค้นพบจะถูกนำไปใช้ต่อยอดผ่านกระบวนการทำงาน โดยมูลนิธิเพื่อคนไทยจะชวนผู้คนซึ่งเห็นตรงกันว่าปัญหาการศึกษาเป็นโจทย์ร่วมของทุกคน ตั้งเป้าหมายขยายความร่วมมือเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการศึกษา