หมดยุคการศึกษาเสื้อโหล “รร.อบจ.เชียงราย” ให้เด็กประถม-มัธยม เลือกเรียน 19 หลักสูตรตามถนัด

เปลี่ยนการเรียนรู้ภาพเก่า “ไม่สายวิทย์ ก็สายศิลป์” สู่การเรียนตามความสนใจ ‘ผู้อำนวยการโรงเรียน’ เชื่อ เด็กทุกคนมีศักยภาพของตัวเอง ไม่ต้องสอบแข่งขัน-จัดลำดับความสามารถ

สถานการณ์โควิด-19 ยังคงกระทบการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ทั้งเด็ก ครู ผู้ปกครอง และคนในแวดวงการศึกษา มีความคาดหวังและข้อเสนอเรื่องหลักสูตรการศึกษาที่ยืดหยุ่น โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษา

21 พ.ย. 2564 ศราวุธ สุตะวงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดสอนระดับปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 กำลังรับสมัครนักเรียนใหม่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2565

โดยเปิดรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนใน 19 โปรแกรมวิชา ได้แก่ ห้องเรียนเตรียมความพร้อมสู่พานิชย์นาวี, ห้องเรียนวิทยาศาสตร์การกีฬา, ห้องเรียนวิศวกรรมซอฟต์แวร์, ห้องเรียนเตรียมความพร้อมสู่สี่เหล่าทัพ, ห้องเรียนเตรียมครุทายาท, ห้องเรียนการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร, ห้องเรียนโปรแกรมทั่วไป (มัธยมศึกษาตอนต้น), ห้องเรียนสร้างศิลปะสู่ศิลปิน เสริมทักษะดนตรีและการแสดง, ห้องเรียนความเป็นเลิศทางด้านภาษาอังกฤษ, ห้องเรียนความเป็นเลิศทางด้านภาษาจีน, ห้องเรียนความเป็นเลิศทางด้านภาษาญี่ปุ่นเพื่อธุรกิจ, ห้องเรียนความเป็นเลิศด้านอุตสาหกรรมบริการและการบิน, โปรแกรมห้องเรียนพิเศษเตรียมแพทย์, โปรแกรมวิศวกรรมศาสตร์, ห้องเรียนนวัตกรรมการจัดการเกษตรสมัยใหม่, โปรแกรมห้องเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์, โปรแกรมกีฬาสู่เส้นทางนักกีฬาอาชีพ, ห้องเรียนความเป็นเลิศด้านธุรกิจค้าปลีก และห้องเรียนผู้นำแห่งการพัฒนา

ผู้อำนวยการโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส คุณภาพ และความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นขนาดหรือที่ตั้งของโรงเรียน ทำให้การจัดการศึกษาแต่ละพื้นที่มีปัญหาหรืออุปสรรคแตกต่างกัน ย้อนไปในอดีตตนเคยทำงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เห็นจุดแข็งจุดอ่อนของการจัดการศึกษาในระบบ หลังจากปี 2542 มี พ.ร.บ. กระจายอำนาจ และ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ที่เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมจัดการศึกษามากขึ้น จึงได้มาออกแบบโรงเรียนที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เพื่อปิดช่องว่างการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับหลักสูตรการเรียนรู้ที่หลากหลาย

“เรามีลู่วิ่งหลักสูตรให้เหมาะกับเด็กแต่ละกลุ่ม วิธีการเรียนการสอนก็เปลี่ยนตามไปด้วย เช่น ห้องเรียนสู่เส้นทางนักกีฬาอาชีพ เด็กอยากเป็นทีมชาติจะให้เขาเรียน 8.00 น. ถึง 16.00 น. แล้วไปซ้อมกีฬา เป็นไปไม่ได้ที่เด็กกลุ่มนี้จะประสบความสำเร็จ วิชาที่ไม่ได้สำคัญต่อเขาเราตัดออก ทำให้มีนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติจากโรงเรียนเรา เช่น เอกนิษฐ์ ปัญญา โชติพิพัฒน์ พุ่มแก้ว ทักษ์ดนัย ใจหาญ และอีกหลาย ๆ คนที่เราส่งให้สโมสรอาชีพต่าง ๆ ทั่วประเทศ เกิดจากห้องนี้”

ศราวุธ สุตะวงค์ ผอ.รร.องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย
(ภาพจากเว็บไซต์ โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย)

ผู้อำนวยการโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กล่าวต่อไปว่า เมื่อโลกปรับ สถานการณ์เปลี่ยน การศึกษาต้องเปลี่ยน คือ โรงเรียนต้องปรับหลักสูตร การเรียนการสอน และการวัดประเมิน ในอดีตผู้ปกครองมักอยากให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน อยากให้เรียนเก่ง โรงเรียนเองก็รวมเด็กที่มีความสนใจไม่เหมือนกันนั่งเรียนห้องเดียวกัน แล้วจัดลำดับ Ranking ว่า ใครได้ที่ 1 ของห้อง ซึ่งตนมองว่าการจัดการศึกษาแบบนี้ ทำให้โรงเรียนสนใจเด็กกลุ่มน้อยแล้วละทิ้งเด็กกลุ่มใหญ่

“พอเรามาออกแบบโรงเรียนเอง สร้างหลักสูตรเอง จริง ๆ ก็ยึดหลักสูตรแกนกลาง เพียงแต่เอาเด็กที่มีความชอบเหมือนกันมาอยู่ห้องเดียวกัน เก่งกีฬาก็อยู่ห้องกีฬา เก่งภาษาก็อยู่ห้องภาษา ยังหาตัวเองไม่เจอก็อยู่ห้องผู้นำแห่งการพัฒนา สัปดาห์ที่แล้วมีเด็ก ม.5 มาปรึกษาผม เราเปิดบริษัทให้เขาตอนอยู่ ม.4 ทำออแกไนซ์รับจ้างจัดงานทั้งในและต่างจังหวัด พวกเขาบอกว่าปีที่ผ่านมาเสียภาษีให้รัฐถึง 3 ล้านบาท เพราะมีรายได้จากธุรกิจ ถ้าเด็กกลุ่มนี้ไปอยู่โรงเรียนอื่น เขาจะกลายเป็นเด็กหลังห้อง แต่อยู่โรงเรียนนี้เขาเป็นสตาร์ทอัพตั้งแต่ ม.4”

ภาพจากเฟซบุ๊ก โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย

โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ไม่มีการสอบแข่งขันจัดลำดับความสามารถเด็กข้ามห้อง ผู้อำนวยการโรงเรียน ระบุว่า ความท้าทายที่สุดในช่วงก่อตั้งโรงเรียนเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา คือการเปลี่ยนวิธีคิดต่อการศึกษาของผู้ปกครอง ผู้เรียน และวิธีการทำงานของครู และขณะนี้มีความท้าทายใหม่ คืออยากชวนโรงเรียนทั่วประเทศ เปลี่ยนวิธีคิดต่อการจัดการศึกษาที่ยึดผู้เรียนเป็นตัวตั้ง

“เราเชื่อว่าเด็กหนึ่งคนที่มาเรียนกับเรา ถ้าล้มเหลวก็คือล้มเหลวจากการจัดการศึกษาของเรา เพราะฉะนั้นเมื่อเราบอกว่าเราจะยึดเด็กเป็นตัวตั้ง ก็ต้องมีหลักสูตร วิธีการเรียน วิธีการสอน แบบวัดไซต์เสื้อให้เขาสวมใส่เพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ให้เขาใส่เสื้อโหล เด็กแต่ละคนมีความเก่งไม่เหมือนกัน ดังนั้นโรงเรียนก็ต้องมีวิธีจัดการเรียนการสอนแตกต่างกัน”


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม