คืนครูให้ห้องเรียน: ภาระครูวนเป็นงูกินหาง ต้องย้อนแก้ตั้งแต่โรงเรียนจนถึงกระทรวงฯ

กลายเป็นประเด็นร้อนให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาต้องกลับมาทบทวนและแก้ปัญหากันอย่างจริงจังอีกครั้ง  เมื่อผลคะแนน PISA ของเด็กไทยตกต่ำลงเป็นประวัติการณ์  ซึ่งผลคะแนนที่ออกมาไม่เพียงแค่ชี้วัดระดับความรู้ของเด็กเท่านั้น แต่ยังสะท้อนไปถึงคุณภาพชีวิตและระบบการศึกษา รวมไปถึงสะท้อนปัญหาเรื้อรังเกี่ยวกับ “คุณภาพครูไทย” ที่ทำงานด้านการสอนได้ไม่เต็มที่ เพราะต้องแบกรับภาระอื่นอีกมากมายที่อยู่นอกห้องเรียน

ภาระครู

ผลคะแนนสอบ PISA ปี 2022 ของนักเรียนไทยอายุ 15 ปี มีคะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยเฉพาะผลคะแนนของนักเรียนในโรงเรียนที่ครูขาดแคลนมาก (โรงเรียนที่ครูไม่มีเวลาสอน หรือมีครูไม่พอ) มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าโรงเรียนที่ครูไม่ขาดแคลนถึง 42 คะแนน หรือคิดเป็นคะแนนเฉลี่ยเพียง 367 คะแนนเท่านั้น เป็นระดับทักษะที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้    

101 PUB  วิเคราะห์ข้อมูลที่เชื่อมโยงจากผลคะแนน PISA มาถึงปัญหาภาระครู ฉายภาพให้เห็นว่า แม้ในภาพรวมอัตราครูไทยต่อจำนวนนักเรียนจะมีสัดส่วนที่เพียงพอ จากปริมาณข้าราชการครู ที่ปัจจุบันมีอยู่ 3.4 แสนคน กับนักเรียนที่มีอยู่ 6.5 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 20 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากล แต่เมื่อดูในรายละเอียดกลับพบว่า โรงเรียนในไทยราวครึ่งหนึ่งมีปัญหา “ครูขาดแคลน” โดยเฉพาะใน รร. ขนาดเล็กกว่า 80% ล้วนเจอปัญหาดังกล่าว กลายเป็นโจทย์สำคัญที่ถึงแม้ รร. ขนาดเล็กจะมีนักเรียนน้อย แต่พอแบ่งห้องเรียนออกมา แต่ละห้องครูก็มีไม่พอสอน และแทนที่ครูจะเอาเวลาไปดูแลเด็กได้ทั่วถึง ก็ต้องไปทำงานธุรการหรืองานอื่น ๆ นอกเหนือการสอนอีก

ผลการสำรวจจาก เครือข่ายครูขอสอน พบว่า ครูไทยทำงานหนักแต่สอนได้ไม่เต็มที่เพราะถูกแย่งเวลาไป โดยร้อยละ 95 ของครูต้องทำงานนานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน และร้อยละ 58 ต้องทำงานอื่นที่ไม่ใช่การสอนมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่ผลการสำรวจของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ (สสค.) ในปี 2557 พบว่า ใน 200 วัน ครูต้องทำงานอื่นที่ไม่ใช่งานสอนไปแล้ว 84 วัน  โดยคิดเป็น

  • งานประเมินผลงานและคุณภาพ 31 วัน
  • งานแข่งขันวิชาการ 29 วัน
  • งานจัดทำและประเมินโครงการ 12 วัน
  • การฝึกอบรม 10 วัน
  • งานธุรการอื่น ๆ อีกหลายวัน และพบมากในโรงเรียนขนาดเล็ก

วงเสวนาชี้ว่า ภาระงานครูเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มาจาก 3 สาเหตุหลักด้วยกันคือ

  • ระบบรัฐราชการรวมศูนย์ ที่คิดหรือดำริโครงการโดยไม่คิดถึงภาระงานครู
  • การประเมินผลแบบราชการที่เน้นเอกสารเป็นหลักมากกว่าผลที่เห็นได้จริง
  • การจัดสรรครูที่ไม่มีประสิทธิภาพ เน้นย้ายตามคำขอ แต่ไม่ย้ายตามภาระงานและความจำเป็น

แนวทางจากภาครัฐ หวังลดภาระเดิม แต่อาจเพิ่มปัญหาใหม่ให้ครู

ปัญหาภาระครูที่มากล้น ส่งผลต่อระดับการศึกษาของผู้เรียน นำมาซึ่งโครงการต่างๆที่หวังแก้ไขปัญหา แต่กลับไปเพิ่มงานครูอีกต่อหนึ่ง เวียนวนเป็นงูกินหาง

ด้วยเหตุเหล่านี้ ทำให้ปัญหาภาระงานครูยังคงทับถมและยากจะแก้ไขได้ แม้ทางภาครัฐมีความพยายามลดงานครู โดยการจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการและเจ้าหน้าที่สนับสนุนงานด้านการศึกษาอื่น ๆ มาช่วยแบ่งเบา แต่การจัดสรรเจ้าหน้าที่ให้ครบทุกโรงเรียนนั้นเป็นไปได้ยากเพราะงบประมาณมีไม่พอ รวมถึงแนวทางในการปรับระบบการประเมินเงินเดือนเชื่อมกับวิทยฐานะ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ครู แต่ก็มีข้อห่วงใยว่าอาจกลายเป็นทำให้ครูไปเน้นสนใจเด็กเพียงบางกลุ่มเพื่อสร้างผลงาน

ผู้ร่วมเสวนาจากหลายภาคส่วน ทั้งครูสังกัด สพฐ. ครูสังกัดองค์กรส่วนท้องถิ่น ผู้อำนวยการโรงเรียน นักวิชาการด้านการศึกษา ตลอดจนผู้ดูแลระดับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมถกปัญหาและเห็นพ้องกันว่าภาระครูไทยนั้นหนักหนา และจำเป็นต้องลดโดยเร็ว เพื่อคืนครูให้กับนักเรียนอีกครั้ง โดยสกัดออกมาเป็น 4 แนวทางที่ทำได้เร็ว และ 5 แนวทางที่ต้องทำต่อเพื่อคืนครูกลับเข้าสู่ห้องเรียน

4 แนวทางคืนครูได้ทันที

  • ลดงานที่ไม่จำเป็น และเพิ่มคุณค่างานสอน

ก่อนจะลดภาระงานครูไทย อย่างแรกต้องชี้แจงประเภทงานออกมาให้ได้ก่อน ในวงเสวนา จำแนกงานครูให้เห็น 4 ประเภทได้แก่ 1) งานสอน 2) งานออกแบบการสอน และพัฒนาผู้เรียนรายบุคคล 3) งานพัฒนาโรงเรียน และ 4) งานสนองนโยบาย โดยงานประเภทที่ 1 และ 2 เป็นงานที่ครูต้องทำในฐานะวิชาชีพครูอยู่แล้ว แต่งานที่ 3) และ 4) นั้นกินเวลาครูค่อนข้างมาก และเป็นจุดที่ครูไทยต่างจากครูประเทศอื่น ยังไม่นับรวมถึงเวลาที่ครูต้องไปพัฒนาตัวเอง ทำให้ครูไทยไม่มีเวลาทุ่มเทเพื่องานสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังมีภาระงานอื่นนอกเหนือการสอนจำนวนมากที่ครูต้องแบกรับ เช่น การนอนเวรโรงเรียน ในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูผู้ชายน้อย อาจต้องนอนเวรหลายสิบวันต่อเดือน และไม่มีการประกันความปลอดภัยครูที่นอนเวรที่ดีพอ ภาระงานจำนวนมากขนาดนี้ ทำให้ครูขาดแรงใจในการทำงาน หลายคนมีความตั้งใจดีในการสอน แต่พอเจอระบบการศึกษาเช่นนี้ ครูก็ลาออกจากอาชีพไปมาก

เสียงสะท้อนของครูในวงเสวนาชี้ว่า ควรไปลดงานที่ครูไม่ควรต้องทำ และไปเพิ่มงานที่มีคุณค่า อย่างงานออกแบบการสอนให้ผู้เรียน ครูส่วนใหญ่รู้ดีว่ามีอยู่ในหน้าที่ครู แต่ครูทำไม่ได้ ครูต้องไปทำงานเอกสาร ธุรการ โครงการต่าง ๆ หรือถูกเบื้องบนเรียกตัว ครูก็ต้องไปทำส่วนนี้ก่อน เพื่อเอาตัวรอดหนีตาย

  • Set Zero โครงการเข้าโรงเรียน

เมื่อมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย รัฐบาลจะริเริ่มนโยบายใหม่ ๆ นำร่องเข้าสู่โรงเรียน แต่โรงเรียนกลับไม่เคยนำโครงการเหล่านั้นออกไปแม้จะเปลี่ยนรัฐบาล หรือหมดช่วงนโยบายนั้นไปแล้ว ทำให้ครูต้องแบกรับงานตอบสนองนโยบายรัฐ ที่บางตัวมีความล้าหลัง หรือไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน ดังนั้น โรงเรียนต้องรู้จักเลือกรับโครงการ ไม่ใช่รับเอานโยบายรัฐทั้งหมดมาใช้ โดยต้องดูว่าโครงการใดมีประโยชน์ เพราะบางพื้นที่ก็อาจมีความต้องการที่ต่างกัน โดยเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อลดภาระงานที่เกินจำเป็นของครู

  • ใช้เทคโนโลยีพัฒนา Platform การเรียนรู้

ในยุคปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในชั้นเรียนมากยิ่งขึ้น แต่ข้อควรระวังคือต้องไม่ใช้เทคโนโลยีจนทำให้นักเรียนเสียสมาธิ เทคโนโลยีทางการศึกษา เทคโนโลยีควรมีส่วนช่วยครูในการลดขั้นตอนการทำงานที่ใช้เวลานาน เช่น การเขียนเอกสารแผนการสอน การออกแบบสื่อการสอนดิจิทัล การจัดทำระบบติดตามผลการเรียนรู้นักเรียนรายบุคคล ซึ่งจะเป็นเสมือนผู้ช่วยให้ครูสามารถวิเคราะห์ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนได้ดีมากขึ้น

  • ปรับวิธีการประเมินการสอน

ภาระงานประเมินทำให้ครูที่ตั้งใจทำงาน ต้องรับภาระงานหนักมากขึ้น เพราะนอกจากจะสอนในชั้นเรียนแล้ว ยังต้องมีภาระเขียนเอกสารประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือน และเอกสารโครงการต่าง ๆ เพื่อยืนยันว่าครูนั้นสอนจริง ในขณะที่ครูบางส่วนก็เลือกที่จะไม่เน้นการสอน แต่เน้นทำเอกสารส่ง ซึ่งก็มีค่าเท่ากัน เพราะสุดท้ายปลายทางก็ตัดสินกันที่เอกสารไม่มีใครมาดูว่าครูสอนจริงหรือไม่ ดังนั้น วงเสวนาจึงเสนอให้มีการปรับวิธีประเมินการสอน ให้ยึดโยงกับผู้เรียนมากขึ้น เพื่อสะท้อนประสิทธิภาพการสอนที่แท้จริง มากกว่าพิจารณาเพียงแค่เอกสาร และผลงาน

5 แนวทางระยะยาว คืนครูให้คงอยู่กับห้องเรียนต่อไป

นอกจากวิธีแก้ไขปัญหาในที่สามารถเริ่มต้นได้ทันที ยังมีอีก 5 แนวทางที่วงเสวนาเห็นว่าจำเป็นต้องทำเพื่อให้การคืนครูให้ห้องเรียนมีความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้ วิธีการบางอย่างอาจต้องอาศัยแรงหนุนจากภาครัฐ งบประมาณ การร่วมมือจากชุมชน ตลอดจนการปรับแก้โครงสร้างของระบบการศึกษาให้เหมาะสมกับนโยบายคืนครูสู่ห้องเรียน

  • ปรับโครงสร้างโรงเรียนให้ทันสมัย เพิ่มตำแหน่งงานที่สำคัญ กำหนดอัตราจ้างชัดเจน

อีกหนึ่งภาพปัญหาที่ถูกสะท้อนผ่านวงเสวนา คือ สถานศึกษาที่อยู่ริมชายแดน ซึ่งมีนักเรียนชาติพันธุ์จำนวนมาก แต่กลับถูกตีกรอบด้วยข้อกำหนดอัตรากำลัง เพราะโรงเรียนยิ่งเล็ก ครูก็จะถูกกำหนดให้มีน้อยตาม แต่ภาระครูไม่ได้น้อยลง รวมถึงการนอนเวรก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะครูต้องนอนที่โรงเรียนเสมือนอาศัยอยู่บ้าน ขณะที่ตำแหน่งผู้อำนวยการเองต้องดูแลควบ 7 – 8 โรงเรียนเพราะเหตุผลด้านอัตรากำลัง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมโรงเรียนขนาดเล็กถึงมีปัญหาขาดแคลนครู

ส่วนประเด็นภาระงานครูที่นอกจากการสอน เช่น งานธุรการ งานรักษาความปลอดภัย งานพัสดุ งานโภชนาการ รวมถึงเรื่องซับซ้อนอย่างการดูแลจิตใจนักเรียน มีข้อเสนอจากวงเสวนาให้มีการกำหนดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพื่อสนับสนุนครูในงานด้านต่าง ๆ เช่น เจ้าหน้าที่ธุรการ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย นักโภชนาการ ตลอดจนนักจิตวิทยา เพราะไม่ใช่แค่ช่วยแบ่งเบาครู แต่ยังช่วยให้นักเรียนได้เข้าถึงบริการและสวัสดิการที่มีคุณภาพได้ ซึ่งวงเสวนาชี้ว่า บทบาทใหม่ของสถานศึกษายุค Post-covid จะไม่ใช่แค่สถานที่ให้ความรู้แต่ต้องเป็นสถานที่ที่มอบสวัสดิการวัยเด็กที่มีคุณภาพได้ด้วยเช่นกัน

  • สร้าง Economies of Scale (การประหยัดต่อขนาด) ด้วยการกระจายอำนาจ

อย่างไรก็ดี ตราบใดที่ประเทศไทยยังมีจำนวนโรงเรียนมากเช่นนี้ การจะเพิ่มเจ้าหน้าที่ธุรการ หรือพนักงานรักษาความปลอดภัยนั้นเป็นไปได้ยาก ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณ และโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึง การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) หรือ สัดส่วนการคุ้มทุน เช่น การที่ผู้อำนวยการต้องควบดูแลหลายโรงเรียน หากมีการควบรวมให้ทุกโรงเรียนใช้เอกสารชุดเดียวกันได้ในการดำเนินการด้านธุรการ ก็จะเป็นการลดภาระไปได้ถึง 7-8 เท่า ตลอดจนแนวคิดการควบรวมโรงเรียน ควบชั้นเรียน ก็เป็นแนวคิดที่เป็นไปได้ แต่ต้องพิจารณาตามบริบทพื้นที่อย่างรอบคอบ และให้ชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจไม่ใช่ส่วนกลาง

หนึ่งคำตอบที่เห็นพ้องกันจากวงเสวนาคือ การกระจายอำนาจทางการศึกษาให้ท้องถิ่น จะเป็นโอกาสใหม่ ที่ช่วยลด “ความห่างไกล” ระหว่างครูและส่วนกลางซึ่งเป็นอุปสรรคในการเสนอแนะและส่งต่อข้อร้องเรียนของกลุ่มครู เมื่อท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการปัญหายิบย่อยเหล่านี้ได้ ครูจะทำงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ยกตัวอย่าง กทม. ที่มีโรงเรียนในสังกัดราว 400 โรงเรียน ซึ่งสามารถลดภาระงานเอกสารครูได้จากการพูดคุยกับหน่วยงานด้านกฎหมาย (จากเอกสาร 100 หน้า ลดได้เหลือ 70 หน้า) และท้องถิ่นยังสามารถจัดหาบุคลากรสายสนับสนุนการศึกษามาช่วยแบ่งเบาครูได้โดยตรง

  • พิ่มการเชื่อมต่อกับภาครัฐ

ด้วยปัญหาของครูส่วนใหญ่มักใช้เวลานานและอาจตกหล่นกว่าจะส่งไปถึงส่วนกลางอย่างกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น ต้องทำให้ช่องทางการสื่อสารระหว่างครูและรัฐให้สะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ ควรมีการติดตามประเมินผลของกระทรวงเกี่ยวกับประสิทธิภาพการสอนของครู แต่ไม่ใช่ลักษณะตรวจเข้มจับผิด แต่เป็นการสำรวจทุกข์สุขของครู คุณภาพชีวิต ตลอดจนปัญหายิบย่อย การเก็บข้อมูลจะทำให้รัฐเห็นสภาพปัญหาชัดมากขึ้น และจะแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ซึ่งระบบการจัดเก็บข้อมูลของภาครัฐเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการต้องลงมาดูแล

  • พัฒนาหลักสูตรการศึกษา ลดวิชาที่ไม่จำเป็น

ปัญหาหนึ่งของหลักสูตรแกนกลางฯ ที่ใช้ตั้งแต่ปี 2551 คือ การที่มีเนื้อหาอื่น ๆ สอดแทรกมามากและละเอียดจนเกินจำเป็น ทำให้ครูต้องถูกผูกรัดไว้กับหลักสูตรที่ต้องสอนให้ครบ ซึ่งบางเนื้อหาก็ไม่ได้ทันต่อยุคสมัยแต่ก็ยังต้องสอนอยู่ วงเสวนาจึงแนะให้มีการทำความสะอาดหลักสูตรเสียใหม่ ให้มีความเป็น “พื้นฐาน” มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ครูนำไปประยุกต์หรือปรับปรุงให้เหมาะกับบริบทได้ ตลอดจนทำให้หลักสูตรเป็น “ฐานสมรรถนะ” เน้นการเพิ่มทักษะให้ผู้เรียนมากกว่ายัดเนื้อหา หลักสูตรที่ยืดหยุ่นนี้จะทำให้ครูสอนได้คล่องตัวมากขึ้น

  • จัดการงบประมาณอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า

ด้วยลักษณะการเบิกจ่ายครุภัณฑ์ในโรงเรียน ที่ใช้เวลาดำเนินการที่มาก ทำให้ราคาครุภัณฑ์ “เมื่อจัดซื้อ” กับ “เมื่อได้รับ” นั้นต่างกันมาก แต่ค่าส่วนต่างกลับถูกเปิดเผยว่านำไปใช้ดำเนินการอะไร จึงอาจกลายเป็นการเปิดช่องทุจริตได้  ดังนั้นหากเพิ่มความโปร่งใส ลดช่องว่างปัญหานี้ได้จะสามารถสร้างประโยชน์ให้ผู้เรียนได้อีกมาก ซึ่งรัฐควรจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม เพราะแม้ไทยจะลงทุนการศึกษามาก แต่การกระจายทรัพยากรและโอกาสยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร เห็นได้จากสถิติครูมีพอ แต่ขาดแคลน

แล้วใช้สิ่งใดวัดผล ว่านโยบาย “คืนครูให้ห้องเรียน” นั้นสำเร็จ

ในวงเสวนาได้เสนอตัวชี้วัดนโยบายทั้งในเชิงคุณภาพ และในเชิงปริมาณ​ไม่ว่าจะเป็น จำนวนภาระที่นอกเหนือการสอนที่ลดได้ต่อครูหนึ่งคน, จำนวนชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นหลังจากลดภาระนอกเหนือการสอนต่อครูหนึ่งคน, จำนวนโครงการไม่จำเป็นที่ลดได้ ต่อหนึ่งโรงเรียน, จำนวนข้อคิดเห็นเชิงลบของครูในโซเชียลมีเดีย และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือแล้วผลลัพธ์ของการคืนครูสู่ห้องเรียนนั้น นักเรียนได้รับอานิสงส์ไปด้วยหรือไม่? ครูมีเวลาได้ออกแบบการเรียนรู้ของเด็กรายบุคคลเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งเราอาจจะเห็นผลลัพธ์ดังกล่าว ได้จากการวัดผลคะแนน PISA อย่างที่เล่าไปในช่วงแรกอีกด้วย

ความสำเร็จของนโยบายลดภาระครู จะวัดผลได้จาก “เวลา” ที่เหลืออยู่ของครู ที่เขาจะสามารถนำไปออกแบบการสอนหรือพัฒนาตนเองได้ ทั้งนี้ วงเสวนายังได้ฝากทางภาครัฐว่า การริเริ่มโครงการใด ๆ ให้ระวังผลไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น นโยบายโอนภาระจัดซื้อจัดจ้างให้เขตพื้นที่การศึกษา แม้จะตั้งอยู่บนหลักการที่ดี แต่กระทรวงต้องระวังไม่ให้ทางเขตโยน “งานอื่น” กลับมาทางโรงเรียน รวมถึงเรื่องของการปรับเกณฑ์วิทยฐานะ ที่ใช้ผลการแข่งขันเป็นที่ตั้ง อาจทำให้ครูให้ความสำคัญกับการล่ารางวัลมากกว่าสอนนักเรียน ดังเช่นที่พบในการแข่งขันศิลปหัตถกรรม แนะว่า ริเริ่มนโยบายใด ๆ ควรให้ครู นักเรียน และท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมมากขึ้น

ทั้งนี้ เนื้อหาส่วนหนึ่งมาจากงาน Policy Forum ครั้งที่ 6 : คืนครูให้ห้องเรียน ซึ่งเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน สะท้อนปัญหา และสถานการณ์ที่เชื่อมโยงกับ “ภาระงานครู” ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก  โดยมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนทั้ง

  • ดารารัตน์  ผิวผัน ผู้อำนวยการโรงเรียนเขตพื้นที่การศึกษาอำเภอขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน
  • ร่มเกล้า ช้างน้อย ครูชำนาญการ โรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์ จ.นครสวรรค์
  • รัตนชาติ  สาระโป ครูโรงเรียนบ้านแม่งอนขี้เหล็ก จ.เชียงใหม่
  • ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและการเรียนรู้
  • ศุภณัฏฐ์   ศศิวุฒิวัฒน์  กรรมการและที่ปรึกษา 101 PUB
  • สิริพงศ์  อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ

เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น ร่วมกันหาคำตอบร่วมกันในการคืนคุณภาพชีวิตครูและคุณภาพการเรียนรู้ที่ดีกลับคืนสู่ห้องเรียน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active