“ทักษะชีวิต” คำนี้ เหมือนเป็นคำแห่งความหวังของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 เมื่อความไม่แน่นอน คือ เรื่องแน่นอนที่สุดของการศึกษาในโลกยุคนี้
และถ้าให้การศึกษาได้ทำหน้าที่ “ความสำเร็จ” ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ดี แต่ความสำเร็จจากการศึกษามีมาตรวัดอย่างไรในสังคมที่เต็มไปด้วยคำถาม ความเห็นต่าง และปัญหา
เครือข่ายภาคี TSDF-การศึกษา จัดงานเสวนาโต๊ะกลมออนไลน์ Thailand Social Development Forum – Education ในประเด็น “ทักษะชีวิตและการเป็นพลเมืองที่ดี” ชวนทุกส่วนในสังคมที่ผ่านประสบการณ์ร่วมกัน มาตั้งหลักเครื่องมือ เป็นเสาเข็มขยายผลข้ามหน่วยงาน แบบไม่รอโครงสร้างหรือคำสั่งการ จากใครคนใดคนหนึ่ง
The Active ชวนรู้จักเครื่องมือ “สร้างความสำเร็จจากการศึกษา” ผ่าน 9 ประสบการณ์นักเปลี่ยนแปลงที่เข้าร่วมสนทนาในเวทีนี้
[1] ฉลาดรอบด้าน
เป็นชุดประสบการณ์จาก โยธิน ทองพะวา ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ชวนมอง “ความฉลาดรอบด้าน” เป็นทักษะชีวิตที่สำคัญของเด็กและเยาวชนยุคนี้ โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของ 10Q คือ
IQ (Intelligence Quotient) ความฉลาดด้านสติปัญญา หัวไว มีเหตุผล
EQ (Emotional Quotient) ความฉลาดด้านอารมณ์ รู้ทันความรู้สึก จัดการอารมณ์ได้
MQ (Moral Quotient) ความฉลาดด้านคุณธรรม มีจิตใจดี
SQ (Social Quotient) ความฉลาดอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
C1Q (Creativity Quotient) ความฉลาดคิดสร้างสรรค์ คิดริเริ่ม
C2Q (Communication Quotient) ความฉลาดด้านการสื่อสาร การใช้ภาษา
TQ (Technology Quotient) ความฉลาดใช้เทคโนโลยี ฉลาดเล่น
AQ (Adversity Quotient) ความฉลาดแก้ปัญหา มุ่งมั่น
HQ (Health Quotient) ความฉลาดเรื่องการดูแลสุขภาพ
FQ (Financial Quotient) ความฉลาดบริหารจัดการเงิน
“10Q เป็นสิ่งที่หลายหน่วยงาน หลายพื้นที่พูดถึง ที่ผ่านมาเราโฟกัสไปที่ IQ เยอะ จนความฉลาดด้านอื่นขาดความสมดุล เราจะทำอย่างไรให้เกิด Balance ทักษะชีวิตที่เด็กเยาวชนในศตวรรษที่ 21 นำมาปรับใช้ ปรับตัวได้กับทุกสถานการณ์ ความฉลาด 10Q สามารถสร้างพลเมืองที่ดีได้”
โยธิน มองเรื่องทักษะชีวิตกับการสร้างพลเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน โดยเสนอว่าการศึกษาไม่ควรสอนเรื่องพลเมืองในทางตัดสินคนดี คนไม่ดี แต่เริ่มที่คุณลักษณะในครอบครัวระดับบุคคล
“ผมคิดว่าการหล่อหลอมเรื่องการดูแลคนอื่น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับคนรอบข้างจะบอกเอง โดยไม่ต้องบอกว่าใครเป็นคนดีหรือไม่ดี เริ่มจากสถาบันเล็ก ๆ ครอบครัว ไปที่สถาบันการศึกษาไปสู่สังคม ยกตัวอย่าง เด็กเยาวชนในเครือข่ายภาคอีสาน มองการมีส่วนร่วม เสียงของคนในชุมชนสำคัญ เขาทำนวัตกรรมให้คนในชุมชนเก็บขวดน้ำใส่ตระกร้า เขียนความต้องการที่อยากให้เกิดขึ้นในชุมชน จนนำไปสู่การทำงานแก้ปัญหาในพื้นที่ เกิดกระบวนการแก้ปัญหาพร้อมกันถึงสองอย่าง”
[2] ความไว้วางใจ
สุนัยนา สัจจเดว นำเสนอประสบการณ์ในมุมผู้ปกครอง พบว่าการปลูกฝัง ความรับผิดชอบ ความมีระเบียบวินัย ในวัยเด็กมีผลต่อ “ทักษะชีวิต” ที่แตกต่างกันอย่างมากในตอนโต เช่น การจัดกระเป๋านักเรียน การทำการบ้าน หน้าที่ภายในบ้าน เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เห็นผลต่อความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเองในช่วงการระบาดของโควิด-19
ต่อมาคือ ความซื่อสัตย์ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น มองว่าพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยระดับครอบครัว มีผลต่อการแสดงออก ความไว้วางใจ สิ่งนี้สร้างได้ด้วยการเคารพให้เกียรติ ซึ่งการฝึกเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกสถานการณ์ทั้งในและนอกครอบครัว
“พอเป็นวัยรุ่นก็ควบคุมได้ยาก แต่ถ้าผ่านการฝึกความรับผิดชอบ คนในครอบครัวคุยกันได้ก็จะทำความเข้าใจกันด้วยเหตุผล รวมถึงการแสดงออกต่อกัน ยกตัวอย่างเรื่องการ Bully ในกลุ่มเพื่อน เราจะสอนลูกว่าถ้าเขาโดนล้อ โดน Bully จะรู้สึกอย่างไร เช่นกันเราไม่ควรทำกับผู้อื่น หรือเรื่องติดโทรศัพท์ ก็ใช้วิธีพูดคุยไม่ตำหนิ”
[3] มีพื้นที่ทดลองทำ
สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ ในฐานะของคนที่เห็นปัญหาว่ามีเด็กเยาวชนอีกมาก ไม่มีครอบครัวและโรงเรียนที่สามารถส่งเสริม หรือ สนับสนุน “ทักษะชีวิต” ได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้ามีคนที่พร้อมช่วยกันทำให้เกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง หมายความว่าเด็กและเยาวชนจะยังมีพื้นที่ฝึกฝน ยกตัวอย่างการเกิดขึ้นของ โรงเรียนวันเสาร์ หรือ Saturday school
“เราเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เห็นปัญหาการศึกษามีความสำคัญและทุกคนมีส่วนร่วมได้ เราตัดสินใจไปเป็นครูอาสาเปิดพื้นที่นอกโรงเรียนสอนเด็ก ๆ ย่านบางนา ตอนนั้นสอนคณิตศาสตร์ เราเห็นว่าเด็ก ๆ มีศักยภาพในตัวเองอยู่มาก แต่ไม่ได้ปลดปล่อย ไม่ได้พัฒนาอย่างเต็มที่ เลยคิดว่าควรมีพื้นที่บางอย่างสำหรับพัฒนาและดึงศักยภาพของเด็ก ๆ ออกมาให้ได้ จึงเกิดเป็นโรงเรียนวันเสาร์ ส่งเสริมทักษะต่าง ๆ ที่เขาสนใจ เช่น เต้น คอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ ชวนเพื่อน ๆ ที่วันธรรมดาทำงานประจำมาเป็นครูอาสาวันเสาร์ เราเห็นคนมากมายอยากเปลี่ยนแปลงสังคม นำความรู้ที่ตัวเองมีมาสอนต่อ”
ปัจจุบันโรงเรียนวันเสาร์ ขยายการเรียนรู้เป็น 11 พื้นที่ในกรุงเทพฯ และภูเก็ตจัดกระบวนการส่งเสริม “ทักษะชีวิต” ต่าง ๆ ที่ไม่มีในหลักสูตรผ่านกิจกรรมที่เด็กสนใจโดยมีเป้าหมายหลัก 4 ข้อ คือ
1. รู้จักตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร
2. แม้ทำบางอย่างล้มเหลวก็ลุกได้
3. ทำให้เด็กเชื่อว่าเขาสามารถพัฒนาได้จากความพยายามและความตั้งใจ
4. ฝึกให้เด็กมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อสังคม เห็นคนอื่นยากลำบากแล้วอยากช่วยเหลือ
“สิ่งที่พบจากทำกิจกรรม เด็กบางคนไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษตอนแรก พอได้ลองฝึกเขากลายเป็นคนกล้าพูดและมีความสุข นอกจากทำกิจกรรมเรายังมี Project-Based ให้เด็ก ๆ ฝึกกระบวนการแก้ปัญหาสังคมที่เขาสนใจ บางคนใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สร้างสายพานพาขยะออกไปนอกชุมชน เราไม่ได้อยากให้เด็กแก้ปัญหาได้เป็นอันดับแรก แต่อยากให้เขาเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาและมีส่วนร่วม ไม่เมินเฉย”
[4] พบ Passion
นรินทร์ จิตต์ปราณีชัย ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจเพื่อสังคม a-chieve ซึ่งออกแบบระบบค้นหาตัวตนในการเรียนต่อและประกอบอาชีพ ให้ความเห็นว่า ถ้าเด็กเยาวชนได้ทำอาชีพที่ใช่และมีความสุข มีความรู้สึกอยากทำ จะสามารถอยู่กับสิ่งนั้นได้ยาวนาน แต่ปัจจุบันระบบแนะแนวในโรงเรียนไม่ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร โรงเรียนควรมีครูที่จบแนะแนวโดยตรง เพราะมีความสำคัญต่อกระบวนการและเครื่องมือค้นหาตัวตนของผู้เรียน
“เราเจอว่านักเรียนส่วนใหญ่ในช่วงมัธยมศึกษา อายุ 13-18 ปี มักเลือกเส้นทางการเรียนไม่ตรงตามความต้องการของตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าตัวเองถนัดหรือไม่ถนัดอะไร และมีเงื่อนไขอื่น ๆ สองขาดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคณะเรียน ค่าใช้จ่าย และข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพ สามขาดที่ปรึกษาคอยรับฟังคอย คอยแนะนำช่วยตัดสินใจ ในอนาคตเราอยากเห็นคนรุ่นใหม่ออกแบบอนาคตของตัวเองได้ จึงสร้างเครื่องมือ 5 อย่าง คือ วิธีคิด ข้อมูล กิจกรรม ที่ปรึกษาระบบดูแลจิตใจ”
a-chieve เกิดขึ้นเพื่อโจทย์ดังกล่าว โดยเริ่มจากการทำงานตรงกับนักเรียนผ่านกระบวนการ Workshop ตอนนี้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ และการสร้างเครือข่ายครูแนะแนวทำงานในโรงเรียน
[5] คิดเองได้
กนกกาญจน์ อนุแก่นทราย ผอ.ศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม NIDA แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ทำโครงการโตไปไม่โกงในหลักสูตรอนุบาลถึง ป.6 ว่าสร้างระบบการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นภายในจิตใจจากสถานการณ์ในสังคมมีส่วนเสริม “ทักษะชีวิต” ให้เด็กคิดได้แบบไม่ต้องสั่งสอน ยกตัวอย่างคุณลักษณะดังนี้
1. ความซื่อสัตย์สุจริต ในฐานะสมาชิกครอบครัว โรงเรียน องค์กร สังคม
2. จิตสาธารณะ นึกถึงส่วนรวม เช่น การทิ้งน้ำเสียจะเกิดผลอย่างไร
3. ความเป็นธรรม คำนึงสิทธิตนเองและเคารพสิทธิผู้อื่น
4. ความรับผิดชอบ เคารพกฎเกณฑ์ กฎหมายของสังคม
5. ความพอเพียง บริหารจัดการเงิน
“เด็กแต่ละระดับชั้นมีเครื่องมือและรูปแบบการสอนที่แตกต่างกันตามพัฒนาการ เป้าหมายคือการสร้างความเป็นมนุษย์ที่มีภูมิคุ้มกัน”
[6] เสริมกลยุทธ์
ผศ.ต่อภัสสร์ ยมนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งแฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม ในฐานะนักวิจัยด้านการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาล ร่วมแลกเปลี่ยนในด้านการนำคำว่า “คุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาล“ ไปสู่การลงมือทำ
“คำว่าธรรมาภิบาลเป็นคำที่ใหญ่และยากมากในการสอน มีการเก็บข้อมูลพบว่ามีอย่างน้อย ๆ 31 โครงการในประเทศไทยที่มุ่งส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม การทำความดีของเยาวชน นี่เฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าไทยเราเจ๋งและมี Passion ไม่ได้แพ้ชาติใดในโลก แต่กลับมาที่ผู้นำไปสอนจริงมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน”
ผศ.ต่อภัสสร์ พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายและโครงการจากกระทรวงสั่งการไปยังโรงเรียน เนื่องจากครูมีภาระงานเยอะอยู่แล้ว การจะทำให้โครงการเหล่านั้นเกิดผลจึงเป็นโจทย์ในงานวิจัยว่าจะทำอย่างไรต่อ คำตอบคือ ส่งเสริมกลยุทธ์ให้นักเรียนมีพื้นที่ทดลองจริง ยกตัวอย่างจากโรงเรียนนำร่อง ให้เด็ก ๆ ตรวจสอบสิ่งที่มองว่าเป็นปัญหาในโรงเรียน เช่น ห้องน้ำ จำนวนคอมพิวเตอร์ โดยพวกเขาสามารถสื่อสารกับครูและผู้บริหาร ถึงที่มาของปัญหา สามารถตรวจสอบ และมีข้อเสนอได้
“สิ่งที่งานวิจัยพบคือ ที่ผ่านมาเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล เป็นการสั่งการแบบบนลงล่าง การสื่อสารทางเดียวขาดการมีส่วนร่วม เราจึงสร้างพื้นที่เตรียมพร้อมเป็นพลเมืองตื่นรู้ผ่านการลงมือทำชื่อ We The Students เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์พื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนของเด็ก ๆ และโรงเรียน เริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ ให้นักเรียนรู้สึกว่าเสียงของเขามีความหมาย มีพื้นที่แสดงออก ก่อนขยับไปโปรเจกต์ใหญ่ ๆ เช่น เสาไฟกินรี และอื่น ๆ ต่อไป”
[7] 4+6 โมเดล Challenge
นพพร สุวรรณรุจิ ผอ.สถาบันพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวพัฒน์ ที่ผ่านประสบการณ์ทำงานส่งเสริม “ทักษะชีวิต” ด้านคุณธรรมมาหลายสิบปี มองว่าทักษะที่สำคัญในโลกยุคนี้ คือ การจัดการอารมณ์และความเครียดเมื่อต้องจัดการปัญหา
“พื้นฐานสำคัญ คือการควบคุมตัวเองได้ เคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น มีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น นี่เป็นบทบาทของคุณธรรมที่มีผลต่อการสร้างทักษะชีวิตและการเป็นพลเมืองที่ดี”
นพพร นำเสนอเครื่องมือที่เรียกว่า 4+6 โมเดล คือ 4 หลักการ และกระบวนการ พัฒนาทักษะด้านคุณธรรมในสถานศึกษา ดังนี้
4 หลักการ
1. ทำทั้งโรงเรียน พัฒนาด้วยกันทั้งนักเรียน ครู ผู้บริหาร
2. ทำจากล่างขึ้นบน เริ่มจากเรื่องที่นักเรียนคิดอยากจะทำและแก้ไขด้วยตัวเอง
3. ทำอย่างมีส่วนร่วม ไม่ใช่สำเร็จแค่ตัวเอง แต่ชวนหน่วยงานภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
4. ทำต่อเนื่อง สม่ำเสมอ การเสริมสร้างทักษะไม่สามารถทำเป็นอิเวนต์หรือทำครั้งเดียว
6 กระบวนการ
1. สร้างการรับรู้และการยอมรับ
2. สร้างครูแกนนำ นักเรียนแกนนำ สนับสนุนครูและนักเรียนมีบทบาทสำคัญ
3. กำหนดเป้าหมายการเปลี่ยนแปลง ค่อย ๆ พัฒนาเป็นเรื่อง ๆ กำหนดเป้าหมายขนาดเล็กแต่ชัดเจน เช่น เทอมนี้จะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
4. กำหนดวิธีการบรรลุเป้าหมาย
5. ลงมือทำต่อเนื่อง
6. สร้างกลไกขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย เช่น แลกเปลี่ยนเรียนรู้และบทเรียน
“เราไม่ได้ให้โรงเรียนทำเพียงลำพัง เรามีอาสาสมัครช่วยเป็นพี่เลี้ยง มีพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนช่องทางออนไลน์ เรื่องนี้ไม่ได้มีแค่บทบาทของการศึกษาในโรงเรียน แต่เป็นการส่งเสริมบทบาทร่วมกันทั้งสังคม”
[8] แผนปฏิรูปที่รับฟัง
รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมระดับโครงสร้าง โดยแลกเปลี่ยนว่าในแผนปฏิรูปการศึกษา กำหนดเป้าหมายไว้รองรับความเปลี่ยนแปลงอย่าง คือ ผู้เรียนทุกกลุ่มต้องได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน และมีทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต คิดเป็น สามารถแก้ไขปัญหาได้ ปรับตัว สื่อสารร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิผล มีวินัยใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และเป็นพลเมืองที่รู้สิทธิและหน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ
“สภาพบ้านเมืองของเราขาดคนที่มีทักษะ คือเรารู้อย่างเดียวแต่เราทำไม่เป็น เพราะฉะนั้นเราต้องการแก้ไขปัญหานี้ด้วยกัน”
[9] ข้ามภาคส่วน
วิเชียร พงศธร คณะทำงานภาคีเครือข่ายงาน Good Society Summit 2021 ให้ความเห็นว่า มีกลุ่มคนและภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมลงมือทำงานด้านการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนากระบวนการสร้าง “ทักษะชีวิตและการเป็นพลเมืองที่ดี” อยู่มาก และตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ได้นำเสนอให้เห็น ผ่านการชวนมาพบปะกันในรูปแบบมหกรรม Good Society Summit
หากมองความสำเร็จในระดับพื้นที่ ผลที่เกิดขึ้นถือว่ามีความสำเร็จและเป็นตัวอย่างความเจ๋งได้ แต่ในระดับภาพใหญ่หากรวมความเจ๋งมาขยับขยาย ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เป็นต้นทุนทำงานข้ามภาคส่วน คำว่า “ทักษะชีวิตและการเป็นพลเมืองที่ดี” จะเกิดขึ้นอย่างมีระบบทั้งประเทศ
“การทำงานความร่วมมือกับคนที่อยู่คนละภาคส่วนกันไม่ใช่เรื่องง่าย เรายังไม่ค่อยคุ้นเคยกับการทำงานความร่วมมือข้ามภาคส่วน จะก้าวข้ามได้อย่างไร ประการแรกต้องรับรู้รับทราบว่าสิ่งเหล่านี้ตัวช่วยเหล่านี้ คนเหล่านี้ กลไกเหล่านี้ มีอยู่จริง และเป็นคนที่มีเป้าหมายร่วมกับเรา ต่อไปคือทำความรู้จักสร้างความไว้วางใจและทดลองลงมือทำด้วยกัน พิสูจน์ความสำเร็จจากการทำงานแบบล่างขึ้นบน”
ด้วยความเชื่อว่า “ทักษะชีวิตที่ดี” จะนำสู่ “การเป็นพลเมืองที่ดี” ในวันที่ 21 พฤศจิกายน นี้ มูลนิธิเพื่อคนไทย และเครือข่ายการเรียนรู้ ชวนทุกท่านที่เห็นตรงกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการศึกษา มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อขยับเขยื้อนปัญหา ผ่านเครื่องมือการมีส่วนร่วมทำให้การศึกษาไทย เกิดการเปลี่ยนแปลงตามความคาดหวัง