สงครามโรค: ถามทุกอย่างที่สงสัย ตอบทุกหนทาง นำไปสู่ยุทธวิธีที่ต้องใช้สู้กับโควิด-19

ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันแตะ 15,000 คน ต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ทุกตัวเลขที่เพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงกำลังคนและทรัพยากรเพื่อรับมือกับโควิด-19 ก็ยิ่งอ่อนล้า

ในห้วงเวลานี้ เพียงแค่ระบบรับมือโรคระบาดในหน่วยงานของรัฐไม่อาจต้านทานได้ ภาคประชาสังคมหลายกลุ่ม ต่างอาสาออกมาช่วยรับมือ ทั้งร่วมดูแลผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวในชุมชน อย่าง Home และ Community Isolation ไปจนถึงการร่วมสแกนและส่งต่อผู้ป่วยอาการหนัก – วิกฤตเข้าสู่ระบบการรักษาให้ทันท่วงที หรือแม้แต่แพทย์จากชนบท ก็ต้องเข้ามาร่วมรบถึงเมืองหลวง ตรวจคัดกรองเชิงรุก หวังหยุดการระบาดที่ศูนย์กลาง…ยิ่งตรวจ ก็ยิ่งเจอ

เวทีสาธารณะ “ประกาศสงครามโรค” ในสถานการณ์แบบนี้ เราต้องใช้ยุทธวิธีอะไรในการต่อสู้ เพื่อไม่ให้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ล้มตาย 

The Active รวบรวมบทสนทนา คำถาม ความเห็น และคำตอบ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอ “ปรับยุทธวิธี” สำรวจทรัพยากร กำลังคน จากทุกฝ่าย เพื่อร่วม “สงครามโรค” หยุดความสูญเสียให้เหลือน้อยที่สุด รักษาชีวิตคนไว้ให้ได้มากที่สุด


การทำงานของกลุ่มด่านหน้าในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ปัญหา อุปสรรค ที่เกิดขึ้น

คริส โปตระนันทน์ ผู้ก่อตั้ง กลุ่มเส้นด้าย บอกว่า มาตรการรัฐเปลี่ยนทุกวัน ผู้ป่วยมีความสับสนว่าต้องมีผลตรวจ RT-PCR ไหม มีความสับสนมาก ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศว่าผล Rapid Antigen Test  ที่ใช้ตามบ้านได้ในตอนนี้สามารถรับการรักษาที่โรงพยาบาลได้เลย ในหน้างาน ในโรงพยาบาลส่วนมาก ยังไม่รับรองสิ่งนี้ อย่างเคสที่ลงทะเบียนกับทางเส้นด้าย เส้นด้ายจะส่งไปที่ใด ถ้าจะเข้า Hospitel ก็ยังต้องการ RT-PCR เหมือนเดิม ไม่ว่ารัฐ เอกชน 

เส้นด้ายแนะนำผู้ป่วยใหม่ให้ทำ Home Isolation หรือการรักษาตัวที่บ้าน กับการโทร 1330 แล้วกด 14 ปรากฏว่าโทรเท่าไรก็ไม่ติด แต่ไม่เข้าใจว่าคอขวด 1330 กดไม่ติดคืออะไร เรียนผู้เกี่ยวข้อง ให้คนที่เกี่ยวข้องแก้ไขโดยด่วน คนต้องการเข้าระบบ เตียงเหลืองแดง Hospite เต็ม ความหวังเดียวคือเข้า Home Isolation ในกรุงเทพฯ สั่งนโยบายไปแล้ว ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยเดินไปที่หลายศูนย์ใน กทม. หลายศูนย์ก็ยังงง เพราะคำว่า Home Isolation ฉันต้องทำอย่างไรดี? ไม่ได้โทษทางผู้บริหาร แต่ต้องกำชับและสร้างแนวปฏิบัติ เป็นรูปธรรมขึ้น   

ผู้ป่วยอยู่ใน Home Isolation แล้ว กด 1330 ต่อ 14 ติดแล้ว ยังไม่มีการติดต่อกลับไป ไม่แน่ใจติดแล้วไปอยู่ตรงไหน หรือบางคน คนรับสายถามว่าอยากทำ Home Isolation หรืออยากรับเตียงรักษา แต่พอตอบ หลังจากนั้นก็หายไป

บางคนได้ยาแล้ว โทรกลับไปหา เป็นโรงพยาบาลทำเอง แล้วทำได้ดี  แต่เปอร์เซ็นคนที่ได้รับการดูแล Home Isolation แบบเต็มสูบ ได้ยา ได้ข้าว ได้ที่วัดออกซิเจน ปรอท เต็มแพคเกจ มีไม่เยอะ ระบบรัฐ ต้องมาคิดว่าต้องมีอะไรบ้างอย่างที่จะต้อง

ทำ Home Isolation สำเร็จ เมื่อผู้ป่วยเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเหลือง ไม่มีทางไป เส้นด้ายมีความจำกัดด้านงบประมาณและบุคลากร (มีเพียง 70 คน ทั่ว กรุงเทพฯ) ไม่พอที่จะทำกับการที่ผู้ป่วยติดเชื้อวันละหมื่นห้าพันคน

ชุติมา เรืองแก้วมณี ทีมปฐมพยาบาลฉุกเฉิน กลุ่มคลองเตยดีจัง เสริมว่า อันแรกคือมีคนตกค้างในชุมชน มาจากการเข้าถึงการตรวจไม่ได้ เพราะตอนแรกระบบบอกว่าเราต้องตรวจ RT-PCR เพื่อเข้าสู่ระบบรักษา เขียวเหลืองแดง พอมีการตกค้างทำให้การแพร่กระจายในชุมชนมากขึ้น พอตรวจ Rapid Antigen Test  ได้ แต่พอเข้า Home Isolation  จริง ๆ มันมีขั้นตอน กระบวนการ ที่ต้องใช้ความพยายามมาก เช่น หา คิวอาร์โค้ดเพื่อสแกนเข้าไป ต้องโทรศัพท์เข้าไป แล้วระบบมันคืออะไร สำหรับชาวบ้าน มันซับซ้อนต่อการเข้าถึง

ในมุมหนึ่งก็มีความพยายามของกลุ่มคนที่เข้ามาช่วยเหลือ มีการตรวจเชิงรุกภายในพื้นที่ แต่ตรวจเสร็จไม่มีทางไปต่อ ระบบไม่ได้มีรองรับการไปต่อ การดูแลรักษาต่อ ถึงมีนโยบาย แต่ก็ไม่มีคนหน้างานที่จะมาทำตรงนี้

แต่การระบาดแบบนี้ ไม่ได้มีแค่คลองเตย พอทำไปสักระยะ ชุมชนอื่นก็มาขอความช่วยเหลือ พอคลองเตยทำได้ ชุมชนอื่นก็อยากจะทำด้วย สิ่งที่ทำ ทำแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่เกิดขึ้นมาจากระบบที่ไม่มีคนมารองรับเรา มีนโยบายมาแต่ไม่มีคนที่มาร่วมกันทำงาน ความเป็นรัฐกับความเป็นภาคประชาชน สภานการณ์การรับบริจาค ไม่มีหน่วยงานมาดูแลว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้นในชุมชนเขาควรจะมีวิธีการจัดการอย่างไร ทั้งเรื่องปฐมพยาบาล ชีวิตความเป็นอยู่ การคัดแยก กักตัว

ตอนนี้ความคาดหวังต่อเรื่องเตียง กลายมาเป็นความคาดหวังให้คนทำ Home Isolation แทน เหลือแค่ทางนี้ทางเดียว?

คริส จากกลุ่มเส้นด้าย บอกว่า “ไม่ใช่” ประเด็นนี้เป็นความจำเป็น จริง ๆ ปีก่อนไม่แน่ใจว่านโยบายเกิดอะไรขึ้น คำว่าเตียงติดอยู่ในหัวผู้ป่วยไปแล้ว แกะไม่ออก คำว่า Home Isolation ที่เราพยายามพูดกัน คนรู้ คนพยายาม แต่ในหัวของผู้ป่วยยังไม่สามารถจะเปลี่ยน คำว่าเตียงออกไปได้  เราเสนอได้แค่ว่าเตียงสีเขียว มันไม่มีจริง ๆ ลงทะเบียน Home Isolation ไหม แล้วยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่ง ที่เรารู้ว่าทำ Home Isolation ไม่ได้ ออกซิเจน 92/88 พวกนี้ทำ Home Isolation ไม่ได้ เตียงจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องคุยกันอยู่ มี Home Isolation สีเขียว เตียง ให้กับเหลือง-แดง ยังต้องเป็นแบบนี้

เตียงก็จำเป็น ระบบ Home Isolation ที่มีระบบมารองรับก็จำเป็น แต่ก็ยังติดขัด โทร 1330 ไม่มีคนติดต่อกลับ นี่คือคอขวดที่เกิดขึ้น

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผอ.บริหาร สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ตอบประเด็นนี้ว่า เตียงเป็นสิ่งที่ฝั่งหัวคนป่วย ไม่ใช่แค่เรื่องโควิดเป็นตัวผลักให้เป็นภาระของระบบสาธารณสุข เปลี่ยนคงไม่ง่าย ต้องใช้หลายภาคส่วน เชิงระบบ ที่ทำ Home Isolation เพราะอยากปล่อยเตียง ให้เหลืองแดงไหลเข้าไปรักษา ก่อนหน้านี้เป็นสัญญาใจที่จะไม่ส่งป่วยเขียวไปโรงพยาบาล และโรงพยาบาลอย่าไปรับป่วยเขียวที่อื่น แต่ตอนนี้สัญญาใจคงไม่พอ ต้องมีหลักการณ์และทำความเข้าใจร่วมกันว่า ทำ Home Isolation เพื่ออะไร เราจะพูดถึง Home Isolation & Community Isolation ไม่ได้ ถ้าชุมชนไม่ได้พร้อม 

ช่วงแรกที่เข้ามา มีการเตรียมวัคซีนที่เหมือนจะพอ เราพยายามเตรียมคนด่านหน้า ในชุมชนให้เข้าไปถึงวัคซีน แต่เราถูกไล่ออกมา เพราะไม่ใช่คนในระดับมหาวิทยาลัยที่คุณจะสามารถได้รับวัคซีนได้

ทางฝั่งกระทรวงสาธารณสุขตอบคำถามจากกลุ่มด่านหน้าอย่างไร?

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงความคืบหน้า การปรับเปลี่ยน ทางผู้บริหาร พยายามปรับเอาอดีตมาปรับให้เกิดการเรียนรู้  บางอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป มติล่าสุด ไม่ต้อง RT-PCR ก่อนเข้าโรงพยาบาล ตรวจ Rapid Antigen Test  มีอาการเข้าโรงพยาบาล ได้เลย เป็นข้อสั่งการ ที่รัฐและเอกชนต้องปฏิบัติ แต่กว่าข้อความนี้กว่าจะไปถึงอาจต้องใช้เวลา แต่จากส่วนกลางสั่งลงไปแล้ว 100%  

 

ได้บังคับให้โรงพยาบาล ต้องรับผู้ป่วยสีเหลืองเท่านั้น เป็นนโยบายแข็งขันจากผู้บริหาร เตียงทุกโรงพยาบาลต้องรับเหลืองขึ้นเท่านั้น

เรื่อง 1330 จากปริมาณงานที่ต่อเนื่อง ถาโถม  ไม่เคยคิดมากก่อนว่าปริมาณของผู้คน การจัดการจะต้องมากมายถึงขนาดนี้ แต่ตอนนี้ เข้าใจว่าประชาชนกังวล ได้คุยกับผู้เกี่ยวข้องและจะเคลียร์ให้ได้ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อลดข้อติดขัด ให้ครบเป็นวงจรเดียว  

ในส่วนเหลือง หรือทำ Home Isolation แล้วไปโรงพยาบาล ไม่ได้นั้น ปัญหาเข้ามาในระยะเวลาใกล้ ไม่ถึง 10 วัน ระบบก็พยายามเคลียร์ มีข้อเสนอ Rapid Antigen Test  ประกอบว่าควรได้รับยาทุกคนไหม? ถ้ายาให้คนผลบวกจะลดเหลืองได้เท่าไร ผลคุ้มไหมกับค่ายา ความเจ็บป่วย โดยส่วนตัวคนผลบวกควรได้ยา ตอนนี้ รอไม่ได้แล้ว การเข้าถึงยาต้องไวมากกว่านี้  ทำทุกอย่าง ที่สะท้อนมา

เคส เหลือง-แดง ที่รอเตียง โรงพยาบาล จะประกาศอย่างไร

นพ.ยงยศ บอกว่า ถ้าโรงพยาบาล ประกาศว่าเตียงโรงพยาบาล ไม่รับเขียวเลย คนส่วนหนึ่งจะมีปัญหาทันทีเลย ว่าถูกลิดรอนสิทธิ์ แต่เราต้องให้คำมั่นสัญญากับทางโรงพยาบาล ว่า ต้องรับเหลืองให้ได้โรงพยาบาลสนามบุษราคัม 3,700 เตียง ไม่มีคนกรุงเทพฯ อยู่ในนั้น เต็ม แต่เช้าออกไป บ่ายเข้ามา ตอนนี้สู้ด้วย โรงพยาบาลไม่ได้

เคส เหลือง-แดง ที่ดูแลโดย TELEMEDICINE เป็นอย่างไร

พญ.ศิรินภา ศิริพร ณ ราชสีมา เลขาธิการสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าเปิดระบบมา 1 สัปดาห์ คนไข้กว่า 5,800 คน มีเคสเหลือง 100 กว่าคน แดง 50 คน เข้ามาทุกวัน เพราะทุกอย่างมันถูกดีเลย์ตลอด คนไข้อายุเยอะหรือมีอาการที่จำเป็นต้องเข้ารักษากลับเข้าไปไม่ได้ เพราะถูกจำกัดด้วยเงื่อนไข ด้วยข้อจำกัดที่หน่วยบริการตั้งไว้ กลายเป็นคนป่วยหนักกลับต้องรอเตียงอยู่ที่บ้าน รวมถึงช่องทางที่คนไข้เข้า 1330 ไม่ได้

ทีมงานบางส่วนต้องเปิดไลน์แยกเพื่อให้คนไข้เข้าถึงได้สะดวก เปิดคืนเดียว 2 พันคน คัดกรองไม่ทัน และคนไข้ไปทุกช่องทางที่รู้ บางครั้งอาจได้รับการรักษาพร้อมกัน 2 ที่ อยากให้รวมศูนย์ 1330 จะเป็นตัวหลัก ให้คอขวดถูกกระจายไม่ซ้ำซ้อน จะได้ไม่เปลืองแรง คนไข้หนักต้องได้รับการรักษา มีการกระจายทรัพยากรอย่างเหมาะสม

สิ่งที่ชมรมแพทย์ชนบททำ เห็นผลเรื่องการคัดกรอง ส่งต่อ รักษา  ฉายภาพให้ฟังได้อย่างไร

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เล่าประสบการณ์การนำแพทย์ชนบทจากทุกภูมิภาค มาลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกในกรุงเทพฯ ทั้งสองรอบ เขาบอกว่าบทเรียนรอบแรกจากที่เน้นเทส อยากช่วยเพราะเห็นคนกรุงเทพฯ ต่อคิวตรวจ RT-PCR พอไม่รู้ผลก็เข้าโรงพยาบาลไม่ได้ ทั้งที่ดูก็รู้ว่าเป็นโควิด-19 แน่นอน แต่ไม่มีที่ตรวจ เข้าโรงพยาบาลไม่ได้ ตรวจไป 19,000 กว่าคน เจอผลบวก 9 %  รอบแรกเน้นตรวจอย่างเดียว ถึงตรวจ Rapid Antigen Test  ผลบวก แต่โรงพยาบาลก็เรียกหา RT-PCR อยู่ดี 

จากรอบแรกที่เน้นตรวจ เจอผลบวก ให้เอาฟ้าทะลายโจรไปกินแล้วก็นอนที่บ้าน เรียกได้ว่าสภาพตามมีตามเกิด รู้ว่าเป็นโควิด-19 แต่ไม่รู้จะไปไงต่อ

รอบสอง มีทีมชุมชนช่วย ตรวจเจอผลบวก ทำ RT-PCR ซ้ำ ให้เพื่อการแอดมิตไปต่อ ทีมโควิดชุมชนมาสแกนคิวอาร์โค้ดที่ลงไปใน AMED Telehealth (ระบบการแพทย์ทางไกล) ทำให้เข้าระบบ Home Isolation ที่มีการดูแลติดตาม จากวิชาชีพสุขภาพ ถ้าอาการหนักประสานเตียง เตียงในกรุงเทพฯ เป็นของหายาก แต่อย่างไรก็ต้องเพิ่มเตียง ไม่เพิ่มเตียงอยู่ไม่ได้ 

ข้อเสนอแพทย์ชนบท กรุงเทพฯ เจออัตราการแพร่ระบาดที่สูงมาก ภายใน 1 เดือน ต้องตรวจให้ได้ 1 ล้านคน ตั้งเป้าอย่างไร

ประธานชมรมแพทย์ชนบท ตอบว่า “กรุงเทพฯ ไม่รอด ประเทศไทยไม่รอด ต่างจังหวัดลำบาก” นพ.สุภัทร ขยายความต่อว่า อัตราการติดเชื้อในชุมชนสูงมาก คำถามที่ต้องช่วยกันคิด เราจะจัดการกรุงเทพฯ อย่างไร ต้องตรวจให้รู้ว่าใครป่วย กักตัวเข้มข้น รักษากักตัว อาการน้อยกักตัวที่บ้าน ทำระบบกักตัว บ้านไหนกักตัวไม่ได้เพราะสภาพบ้านแออัดมาก ต้องเปิด Communitu Isolation มีพื้นที่กักตัว ไม่ใช่โรงพยาบาลดูแลกันเองในชุมชน มีระบบ 1 ล้าน ก็น่าพอไหว โรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยมีเยอะ ไม่น่ายาก การ Swap ไม่ใช่ทักษะที่ยาก

ขานรับตรวจ 1 ล้านคน อย่างไร?

คริส โปตระนันทน์ บอกว่า อาสาเส้นด้ายขานรับ พร้อมช่วยแพทย์ชนบทตรวจ 1 ล้านคน เอารถเอกซเรย์ไปทำต่อ เป็นโฟลว์

ตรวจ แอนติเจน เทสต์ คิท รอ 30 นาที ผลบวก รับยา ใครผลบวก ขึ้นรถเอกซ์เรย์ ที่รัฐประกาศ Home Isolation ขาดไป 1 อย่างคือการเอกซ์เรย์ รถเอกซ์เรย์ถูกมาก เช่า 1 วัน 6 พันบาท

ด้าน พญ.สุธี สฤษฎิ์ศิริ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) ผอ.ศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา ระบุว่า คลัสเตอร์ชุมชน ในบ้านเป็นทุกคน เวลาตรวจอยากให้ตรวจทั้งบ้าน ชี้เป้า สกรีน สแกน คุมจุดนั้นไม่ให้กระจาย มองว่าหากไดเอ็กซ์เรย์ ได้ยา กักตัว จะดี

ตรวจ 1 ล้านคน ทำได้ไหม ?  การแจกยา ณ จุดตรวจ ทำได้ไหม?

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตอบว่า เป้าหมายไม่ได้ใหญ่มาก ถ้าขุนพลบ้านนอกมาจุดประกาย ทาง กทม. เอง สาธารณสุขเอง ต้องออกแบบจัดทัพหลักเข้าไปในชุมชน ร่วมกับอาสา

กระทรวงสาธารณสุขขอขอบคุณทางแพทย์ชนบท การจัดทัพครั้งนี้ จะทำให้ครบ สมบูรณ์มากขึ้น 

ในส่วนศูนย์บริการสาธารณสุขพยายามหาคนภายนอกมาช่วย คงต้องตั้งใจร่วมมือกันทั้งภาคประชาสังคม กทม. กระทรวงสาธารณสุข ถ้าได้ผนึกกำลัง ลงมือทำ เป้าหมาย ความเป็นไปได้ โอกาสสำเร็จ หยุดโควิด-19 ต้องมีวิธี และนี้เป็นวิธีเดียวที่มองเห็นอยู่

การประสานงานหลายฝ่าย บูรณาการงานอาสาสมัครที่เกิดขึ้น ระบบนี้แพทยสภา รับเป็นโจทย์ด้วยได้ไหม?

พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา บอกว่า ในการทำงาน ความสำเร็จอยู่ที่ความเร็ว ต้องเป็น One stop Service  จะให้ ประชาชนวิ่งไปมาหลายฝ่ายไม่ได้ ในโหมดของแพทยสภา ส่วนสำคัญคือการดูแลประชาชน ถ้าจะปิดจ็อบให้ได้ ทุกอย่างต้องไหว ความเร็วสำคัญ เพราะต้องแข่งกับเวลา นับ 1 เมื่อติดเชื้อไม่นานนัก ยิ่งช้ายิ่งลงปอดเร็ว

ต้องทำอย่างไรให้ตรวจไว ซึ่งการตรวจตอนนี้มี แอนติเจน เทสต์ คิท ใหม่เข้ามา ทำให้รอสั้นลง ตรวจไว รู้ผลไว ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 1) ตรวจไว 2) รู้ผลไว 3) นำไปสู่การรักษา ซึ่งอันนี้เราพูดถึงคอลเซนเตอร์ไปแล้ว 4) ถ้าคอลเซนเตอร์สามารถดึงคนเข้าสู่ระบบได้ไว จะนำไปสู่การรักษาที่ไวขึ้น และ 5) ก็จะหายไว เข้าสู่ยาฟาวิพิราเวียร์ เข้าสู่เตียง พอหายกลับบ้านได้ยังไม่จบ วัคซีนก็ต้องไวเพื่อคุ้มครองคนที่ยังไม่เป็น ทั้ง 5 ไว ความเร็ว Ones top Service  ดึงคนออกมาได้ ต้องจบตัวที่ 6) คือเข้าใจข้อเท็จจริงได้ไว 

เห็นภาพว่าถ้าจะทำได้ต้องส่งไม้ผลัดกัน คนแรกหน้างาน เส้นด้ายเจอ ไปตรวจ ต้องตรวจได้เร็ว ตรวจเสร็จต้องส่งคนเข้าระบบ ต้องเอกซ์เรย์ไว ต้องไปเคาะระเบียบต่อ เรื่องการจัดการ เรื่องการเข้าสู่การรักษาได้เร็วช้า หาเตียงได้หรือไม่ แล้วจะเข้าสู่การรับยาได้เร็วหรือช้า ตอนนี้มีปัญหาอยู่ว่า คุณหมออยากให้ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ต้องกรอกเอกสารปึกใหญ่ ต้องมีรายงาน วันนี้จะทำอย่างไรให้มันลดขั้นตอน สั้นและเร็ว จะช่วยคุณหมอ และระบบให้ไวขึ้นน การได้ยาไวทำให้หายเร็ว 

เป็นที่มาของอาสาไม้ผลัด และไปคุยกับกาชาด ว่ากาชาดช่วยเป็นต้นแบบได้ไหม ได้มีการคุยเรื่องปัญหาคอขวด ตอนนี้มีการกำหนดนโยบายเริ่มมีการขับเคลื่อน กาชาดคุยกับ สปสช. ในเรื่องแม่บทที่จะเป็นที่จะเชื่อมโยง ส่งไม้ผลัดต่อกัน ที่สำคัญคือต้องเร็วที่สุด

ถ้าดีเดย์ 1 สัปดาห์ เตรียมความพร้อม กทม. รับอาสาสมัครมาทำตามกระบวนการ ต้องการใคร มีใครวิ่งไม้ผลัด ผลัดไหนบ้าง  เป็นไปได้หรือไม่ ระดมคน ตรวจ 1 ล้าน 

เลขาธิการแพทยสภา คิดว่าเป็นโจทย์ที่น่าสนใจ แต่ว่าต้องคุยก่อน เพราะตัวหลักคือเรื่อง กฎ ระเบียบ และกระทรวงสาธารณสุข ว่าขั้นตอนต่าง ๆ นั้น ตัวเลขที่เห็นในแต่ละวัน เรามีการตรวจ 7 หมื่นคน คำถามคือ Rapid Antigen Test  จะเข้ามาที่ไหนอย่างไร ต้องมีการจับมือและคุยกันก่อนล่วงหน้า ผู้มีบทบาทมากสุดใน กทม. คือ สำนักอนามัย

ทำได้หรือไม่ต้องมาคุยกันก่อน อยากให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ แล้วทีมอาสาจะได้ไปปลั๊กกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องยา เรื่องสิทธิ สปสช. ถ้าถามว่าเป็นไปได้ไหม น่าจะเป็นไปได้ ถ้าเชื่อมกันได้เป็นไปได้แน่นอน

คาดว่า ปิดจ็อบได้ในกี่วัน

นพ.ยงยศ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าขึ้นอยู่กับตัวปริมาณ แต่ระยะเวลาไม่ควรเกิด 1-2 สัปดาห์ ต้องปิดให้ได้ ถ้าปล่อยยืดเยื้อโรคก็จะต่อยาว เราจะต้องหยุดวงจรนี้

ความเข้มแข็งในการจัดการของชุมชน ถ้ามีระบบรองรับ ในชุมชนควรจะเป็นอย่างไร

นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผอ.สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งคำถามว่าเรากำลังประกาศสงครามกับอะไร  การประกาศสงครามหมายความว่าเราอยู่ในสภาวะพิเศษ สิ่งที่ทุกคนจะต้องข้ามพ้นข้อจำกัดตัวเอง มาร่วมกันทลายข้อจำกัด คือ สงคราม ความกลัว ผู้คนกลัว แนวคิดที่เราจะทำคือ เราจะสร้างโรงพยาบาลล้านเตียง โจทย์นี้คือการรักษา จะควบคุมโรคได้ เมื่อตรวจเจอแล้ว เขาควรมีที่รักษาโรงพยาบาลล้านเตียง เตียงที่ดีที่สุดอาจเป็นเตียงที่บ้านตัวเอง ต้องทำให้ทุกคนรู้สึกว่าอยู่รวมกับคนไข้โควิดได้ในบ้านตัวเอง ยุทธศาสตร์หลักคือการต่อสู้กับความกลัว ให้ทุกคนมั่นใจ 

กรณี เขตทวีวัฒนา ทีมหมอ สาธารณสุข สามารถตรวจเชื้อเร็ว ดูแลได้ดีเป็นอย่างไร

พญ.สุธี บอกว่า มีคนไข้ 1,400 คน ที่เรียนรู้ คือไม่ได้รอระบบรายงาน เอายอดจากการรายงานยอดได้ต่ำกว่าความเป็นจริง รู้ 1 คนเร็ว ทำแอคทีฟ เคส ไฟดิ้ง ประกอบกับสร้างแกนนำในชุมชน CCA เราเน้นมาตรการป้องกันตัวเอง ทำ Swap ตรวจภูมิซ้ำ มีกระบวนการเก็บวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงได้ ถ้ารู้เร็วอย่างไรก็คุมคลัสเตอร์อยู่

ถ้าเคส เป็นสีเหลืองแดง ตอนนี้ใครเป็นเจ้าของคนไข้ เขาติดต่อใครได้

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าคนที่รับผิดขอบ Home Isolation เข้าใจว่าโดยรูปธรรม ทางโรงพยาบาลหลัก กทม. ได้รับคำสั่งจากนายกฯ ให้ไปหาทางจัดการเตียงส้ม-แดง ความคืบหน้าพร่องเตียงยังทำได้ไม่ดี ถ้ายังไม่ได้เตียงต้องได้ยาฟาวิพิราเวียร์ หากมีอาการก็ต้องเป็นโรงพยาบาล มีโรงพยาบาลสนามบุษราคัม รองรับ พยายามรับเคส แม้ไม่ว่างตอนนี้ โรงพยาบาลสนามบุษราคัมไม่ได้ตั้งไว้เพื่อรองรับแดง แต่ตอนนี้ผู้ป่วยแดง 30 คน ในส่วนแดงถ้าจะตอบว่าใครเป็นเจ้าของ ตอบลำบากมาก แต่ช่องทางก็พยายามทุกอย่าง ทั้ง 1668 หรือกรมการแพทย์ พยายามหมุนหาเตียง 

คริส โปตระนันทน์ เสริมว่า หน้างานเคสสีเหลือง-แดง  สีเหลืองได้รับความอนุเคราะห์จากบุษราคัม 100 เตียง/วัน ซึ่งนี่เป็นสถานการณ์เมื่อ 7 วันที่แล้ว ตอนนี้เหลือวันละ 3 เตียง แต่ผู้ป่วยเหลือง วันละ 200 คน จากผู้ป่วยทั้งหมดที่รับเคสมาวันละ 1,000 คน สิ่งที่ทำคือคุยกับอธิบดีกรมการแพทย์ ใส่ไว้ในระบบท่านเมื่อเจอสีแดง เป็ดไทยสู้ภัย ได้ทำระบบคีย์เพื่อดูว่าสีแดงขยับไหม แต่สีแดงไม่ขยับ ทางกรมการแพทย์ก็ทำเต็มที่ เหลือง-แดงเมื่อไม่ขยับ เส้นด้ายมีถังออกซิเจน 40 ถัง เหลือง-แดง

ถ้าตอบก็คืออยู่ที่บ้าน และอยากถามว่าโรงพยาบาลสุวรรณภูมิ จะเสร็จเมื่อไร และฝ่ายรัฐบาลมีโปรเจคที่จะสร้างโรงพยาบาลผู้ป่วยสีเหลือง-แดง เพิ่มไหม ผู้ป่วยในระบบน่าจะถึง 4 แสนคนในไม่ช้านี้

แผนการเพิ่มเตียง และโรงพยาบาลที่สุวรรณภูมิ เสร็จเมื่อไร?

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า โรงพยาบาลสนามบุษราคัม ขยาย ทั้งแดง-เหลือง เหลืองมากกว่า 700 เตียง ส่วนแดง ทำไอซียู 20 เตียง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จะมาดู โรงพยาบาลตรงสโมสรกองทัพบก รับเหลืองขึ้นไป หลักหลายร้อย

“สุวรรณภูมิ ตัวแปลนเสร็จแล้ว ระบบไปลงถึง 5 พันเตียง โรงพยาบาลสนามบุษราคัมอาจต้องยุบเมื่อสุวรรณภูมิเสร็จ เคลื่อนไปตรงนั้น อาจจะใช้เวลา สัก 1 เดือน  แต่บุคลากรเท่าเดิม แต่ขอตอบว่า เรื่องบุคลากรไหวไม่ไหว เราแบกเรื่องนี้ไว้ด้วยผู้คนทั้งประเทศ ณ วันนี้ โรงพยาบาลสนามบุษราคัม ต่างจังหวัดส่งพยาบาลมาวันละ 3 คน/สัปดาห์  หมอจากเขตสุขภาพ 3 คนต่อ 2 สัปดาห์ ผลัดเปลี่ยน ฝึกฝนเพื่อรองรับสุวรรณภูมิ ไม่ได้บอกว่าไหวไม่ไหวเพราะไม่มีทางเลือก

วางแผน แต่ละเชิงพื้นที่ ท้องถิ่น ต่างจังหวัด แต่เมื่อกลับมามองภาพใหญ่กรุงเทพฯ การเตรียมตรวจปิดจ็อบให้ได้ภายใน 14 วัน เริ่มนับ 1 กันอย่างไรดี

คริส จากกลุ่มเส้นด้าย อยากช่วยนับ 1 ที่อยากจะลงไปตรวจเชิงรุกต้องคิดก่อนว่าแอนติเจน เทสต์ คิท 1 ล้านชุดมีหรือเปล่า เราจะเบิกที่ไหน ใครสต็อกอยู่ เราเบิกได้เลยไหม ถ้าตั้งต้นได้จะไปต่อได้

นพ.วิรุฬ บอกว่าถ้าเราประกาศชัดเจน ว่าเราจะทำให้ทุกคนมีการตรวจและเข้าถึงได้อย่างเร็วที่สุด แล้วช่วยกันโฟกัสดูแลคนที่ป่วยให้ได้รับการรักษา เตียงว่าง คนป่วยหนักจะได้เข้าโรงพยาบาล น่าจะเป็นทิศทางที่คนเริ่มตระหนัก และป้องกันตัวเองได้ เมื่อรู้ว่าจะอยู่ร่วมกับโควิดอย่างไร

ขณะที่ พญ.ศิรินภา ระบุ ต้องบอกมาเลย Home Isolation แต่ละที่มีเตียงเท่าไร ให้เห็นภาพรวมหมด จะได้รู้ว่ามีกำลังเท่าไร แผนจะได้อยู่ภายใต้ความเป็นจริง ถ้าไม่รู้ จะได้แผนที่ไม่อยู่ในพื้นฐาน ในเรื่องการแชร์ไอเดีย การแชร์ทรัพยากร ชุดตรวจมีอยู่เท่าไร ยามีอยู่เท่าไร กำลังมีอยู่เท่าไร เตียงจริงเท่าไร อนาคตจะมีเตียงอยู่กี่สัปดาห์ จะมีเพิ่มขึ้นไหม มีแผน 2 แผน 3 ไหม แชร์ทรัพยากร วางแผนจริงตามหน้างาน ทำให้การทำงานทันเหตุการณ์มากขึ้น

แอนติเจน เทสต์ คิท 1  ล้านชุด อยู่ไหน? 

นพ.ยงยศ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า 1 ล้านชุด ต้องมี สปสช. ได้จัดการไว้พอสมควร ถ้าต้องใช้ มีเท่าไรก็ต้องทุ่ม มีเท่าไรเอามาใช้ก่อน แอนติเจน เทสต์ คิท ไม่ใช่อุปสรรค การลงมือทำจะเอาอย่างไรมากกว่า ทางเดินก็มี ตรวจ แยก กัก แล้วก็ฉีดวัคซีน จัดให้เกิดขึ้นจริง

สรุปใคร ควรเป็นแม่ทัพ

พล.อ.ต. นพ.อิทธพร ทิ้งท้ายว่า ต้องดูทรัพยากร และกำลังก่อน ส่วนใครจะเป็นแม่ทัพ น่าจะต้องรวมส่วน ตั้งแต่ กระทรวงสาธา มหาวิทยาลัย ตำรวจ ทหาร จนถึง กทม. และภาคเอกชนรวมด้วย แม่ทัพต้องสนธิกำลัง แต่ว่าในกรุงเทพฯ 50 เขต 69 ศูนย์อนามัย แต่ละเขตเข้ามามีบทบาท พยายามแอคทีฟตัวระบบ มีการตั้งศูนย์ แต่ปัญหาคือควรรวมกัน และบอกว่ามีอะไรอยู่เท่าไร อย่างไร แล้วมาเดินด้วยกัน สรุปต้องรวมกัน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์