ประกาศ “สงครามโรค” เห็นพ้อง เร่งตรวจเชื้อเมืองกรุง ลั่น ตรวจเชิงรุกให้ได้ล้านคน

ลั่นกลองรบ ‘แพทย์ชนบท’ พร้อมเข้าช่วยเมืองหลวง ขอ กทม. เตรียมระบบรอ ‘สปสช.’ – ‘เส้นด้าย’ รับช่วงต่อ ตรวจพบเชื้อ จ่ายยาทันทีกันอาการหนัก จัดรถเอกซเรย์ดูปอดอักเสบ ตั้งเป้า 1,000,000 คน! ‘สธ.’ พร้อมสนับสนุน

24 ก.ค. 2564 – “เวทีสาธารณะ” เชิญหน่วยงานรัฐ ตัวแทนวิชาชีพ อาสาสมัครด่านหน้า และภาคีเครือข่าย ถกปัญหาปรับแผนรับมือวิกฤต “ประกาศสงครามโรค” โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จ คือ การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เรื่องนี้ถูกหยิบยกมาพูดคุยเนื่องจากปรากฏการณ์ “แพทย์ชนบทบุกกรุง” พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจกว่า 5,000 คน จากทั้งหมด 30,000 คนโดยประมาณ

“เราตั้งคำถามว่ากรุงเทพฯ จะรอดได้อย่างไร เพราะถ้ากรุงเทพฯ ไม่รอด ประเทศไทยก็ไม่รอด ชมรมแพทย์ชนบท เราคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ ตรวจให้รู้ว่าใครป่วยและต้องรักษาอย่างจริงจัง เป้าหมาย 1,000,000 คน น่าจะได้ เพราะเรามาแล้ว 2 รอบ ตรวจได้ 50,000 คน ถ้าเรารวมพลังกันจริง ๆ เราทำได้… “

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา เล่าถึงการเข้ามาเสริมทัพช่วยเหลือระบบการคัดกรองผู้ป่วยในกรุงเทพมหานครว่า ภาพของคนในกรุงเทพฯ ที่ต้องไปรอคิวตรวจเชื้อ และไม่สามารถตรวจได้ ถึงแม้จะมีอาการและประวัติเสี่ยงสามารถประเมินได้แล้วว่าติดเชื้อก็ตาม แต่ยังไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ รอบแรกเข้ามาต้องเตรียมการด้วยตนเองหลายอย่าง ได้เครือข่ายภาคประชาสังคมให้ความช่วยเหลือ แต่ยังคงเป็นการดูแลตามยถากรรม ติดเชื้อก็ได้รับยาฟ้าทะลายโจรไปนอนรอที่บ้านอยู่ดี

ในรอบที่ 2 เรามีการจัดการที่ดีขึ้น และได้เครือข่ายของ สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) และสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ที่เข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วยหลังจากพบว่าติดเชื้อ การประสานงานจากทีมชุมชนที่เข้มแข็งคอยคัดแยกผู้ป่วย และมีระบบ Home Isolation ที่ติดตามดูแลจากวิชาชีพสุขภาพ อัตราการติดเชื้อเฉลี่ยร้อยละ 16 จากการตรวจทั้งหมด

หลังจากนี้ชมรมแพทย์ชนบทต้องแบ่งเวลาลงไปจัดการในปัญหาพื้นที่ภาคใต้ของตน ที่เกิดการแพร่ระบาดไม่แพ้กัน แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะกลับขึ้นมาตรวจเชิงรุกในกรุงเทพฯ แน่นอน แต่หน่วยงานในพื้นที่ต้องเตรียมการให้เรียบร้อย ทั้งจุดตรวจ อุปกรณ์ รวมถึงบุคลากรด้วย

“ผมคิดว่าต้องขยี้ประเด็นนี้ อย่าเสียเวลาไปคุยเรื่องอื่น เป้าหมายการตรวจ 1,000,000 คน เราต้องระดมคนจากทุกภาคส่วน และไม่ใช่แค่คนตรวจเท่านั้น ต้องมีคนที่พร้อมจะจ่ายยาได้ทันที และถ้าจะมา กทม. จะขานรับด้วยหรือไม่ และต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ข้อมูลของผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบด้วย…”

นิมิตร์ เทียนอุดม

นิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน เห็นด้วยกับประเด็นการตรวจหาเชื้อ โดยเฉพาะในชุมชนแออัด สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการตรวจเชื้อพร้อมจ่ายยาทันที เพราะหน้างานจากการลงพื้นที่ พบผู้ป่วยที่มีอาการเป็นสีเหลืองตั้งแต่เดินเข้ามาตรวจจำนวนมาก หากรอให้มีการติดต่อกลับและนำยาไปให้อีก มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะอาการหนัก และผู้ป่วยสีเขียวต้องมีเจ้าหน้าที่รับข้อมูลและให้การรักษาแบบ Home Isolation ได้ทันที

นอกจากนั้น กทม. ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเตรียมการ จัดจุดตรวจให้ครอบคลุม ศูนย์สาธารณสุขที่กระจายอยู่ทุกเขตต้องนำบุคลากรมาร่วมด้วยช่วยกัน และต้องมีทีมชุมชนที่เข้มแข็ง วางแผนว่าหลังหลังจากชุดตรวจออกไปแล้วจะดูแลผู้ป่วยต่ออย่างไร จำเป็นต้องคิดให้เป็นระบบซึ่งจะสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีและลดอัตราการแพร่ระบาดได้

‘เส้นด้าย’ พร้อมรับช่วงต่อ จัดรถเอกซเรย์ดูอาการปอดอักเสบ

“ถ้าจะประกาศสงครามกัน แล้วตรวจให้ได้ 1,000,000 คน พวกผม กลุ่มอาสาเส้นด้ายพร้อมที่จะเอารถเอกซเรย์ไปทำต่อได้เลย ใครพบว่าติดเชื้อ แล้วรับยารักษา หลังจากนั้นขึ้นรถเอกซเรย์เลย จะได้ทราบอาการว่าปอดอักเสบหรือไม่ “

คริส โปตระนันท์

คริส โปตระนันท์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย ในฐานะอาสาด่านหน้าพร้อมเข้ามาช่วยหลือในกระบวนการดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มของตนมีทรัพยากรและบุคลากร สามารถทำการเอกซเรย์ปอดแบบเคลื่อนที่ได้ทันที เพราะหากเราสามารถทราบได้ว่าผู้ป่วยปอดอักเสบหรือไม่ การบริหารจัดการเตียงจะสะดวกมากขึ้น และที่สำคัญวิธีการนี้ ต้นทุนต่ำมาก ค่าใช้จ่ายในการเช่ารถเอกซเรย์ วันละ 6,000 บาท ถ้าเราทำ 300 คน คิดเป็น คนละ 20 บาทเท่านั้น และมีความคุ้มค่าต่อการรักษาชีวิตผู้ป่วย

ด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ พร้อมสนับสนุนเต็มที่ เนื่องจากการทำงานของชมรมแพทย์ชนบท ถือ ว่ามีความหมายและช่วยเหลือระบบการคัดกรองได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งหนทางของการยุติการแพร่ระบาดในกรุงเทพมหานคร ตนมองว่าการปูพรมตรวจหาเชื้อ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หลังจากนี้จะต้องมีการพูดคุยกับสำนักอนามัย กทม. ที่เดินหน้าทำเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ต้องเตรียมการให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น

“เป้าหมาย ถือว่ามีความเป็นไปได้ เพราะตัวเนื้องานหลังจากนี้ ต้องมีการจัดทัพหลักเข้าไปในชุมชนร่วมกับอาสาสมัครด่านหน้า และหน่วยงานของ กทม. เพราะเราประกาศชัดเจนแล้วว่าไม่มีพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไม่มีพื้นที่ต่างจังหวัด แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ผมมองว่าเป็นไปได้… “

ยงยศ ธรรมวุฒิ

จากการพูดคุยดังกล่าว จึงกลายเป็นข้อสรุปและเป้าหมายสำคัญร่วมกัน ซึ่งการตรวจหาเชื้อ 1,000,000 คน ภายใน 1 เดือน จะสำเร็จได้หรือไม่ ต้องเกิดจากการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ให้ได้รับการตรวจได้ไว และรักษาได้ทันที รวมถึงการเข้าไปตรวจเชื้อให้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเดินทางมาตรวจได้เอง และยังรอการรักษาอยู่ที่บ้าน วิกฤตในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะคลี่คลายหรือไม่ จึงต้องพิสูจน์จากความร่วมมือหลังจากนี้


Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้