“ไม่ตรวจ ไม่รู้ ไม่หยุดระบาด” ภารกิจทีมแพทย์ชนบท กระตุกต่อมผู้คุมโรคระบาดเขตเมือง

ภารกิจ 3 วัน กับการคัดกรองเชิงรุกไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน บนบ่าของนักรบชุดขาว ในนาม ทีมแพทย์ชนบท

3 วัน ทีมแพทย์ 16 ทีม กับ 40 ชุมชนแออัดและแคมป์คนงานก่อสร้าง ทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภารกิจนี้หนักหนาและไม่ง่าย

นอนวันละ 5 ชั่วโมง ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มภารกิจ 21 ก.ค. จนถึงวันสุดท้าย 23 ก.ค. 2564

รางวัลของคนทำงาน คือ ทุกคนได้รับการตรวจและเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันท่วงที

วันแรกของการตรวจในรอบนี้ ทุกทีมประจำจุดตรวจ 8 โมงเช้า เริ่มตรวจ 9 โมง

วันแรกเสร็จภารกิจ 5 ทุ่ม ตรวจได้ทั้งหมด 9,402 คน ติดเชื้อ 1,854 คน ภารกิจเหมือนเดิมทุกวัน เพิ่มเติมคือคนตรวจมากขึ้น พบคนติดเชื้อสูงขึ้น แต่ละจุดพบอัตราการติดเชื้อไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 รวม 3 วัน ตรวจได้ทั้งหมด 31,518 คน พบผู้ติดเชื้อ 5,086 คน คิดเป็นร้อยละ 16.14

ก่อนหน้านี้ ทีมแพทย์ชนบทเดินทางมาตรวจคัดกรองไปแล้ว เมื่อวันที่ 14-16 ก.ค. ที่ผ่านมา และยังไม่ทั่วถึง จึงเดินทางมาอีกรอบ ถึง 16 ทีม ได้แก่ ทีมสุโขทัย ทีมจะนะ+ยโสธร ทีมเชียงราย+ไทรงาม ทีมขอนแก่น ทีมด่านมะขามเตี้ย ทีมน่าน+บางกรวย ทีมชัยภูมิ+ลพบุรี ทีมสุรินทร์ ทีมนครศรีธรรมราช และทีมนาทวี+ปาดังเบซาร์

การทำงานตลอด 3 วันที่ผ่านมา ทีมแพทย์ต้องเร่งมือและทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้ตามแผนที่วางไว้ บางทีมต้องย้ายจุดตรวจถึง 3 จุดต่อวัน ทำงานต่อเนื่องตั้งแต่เช้าถึงค่ำ เกินเวลาเคอร์ฟิว แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนก็เดินหน้าตรวจคัดกรองโดยหวังให้ประชาชนทุกคนที่ตั้งใจมาได้รับการตรวจเชื้อ

ทัศนีย์ สิงห์ธนะ พยาบาลอาสาจากทีมแพทย์ชนบทน่าน เล่าให้ฟังว่า เธอมาเป็นอาสาร่วมตรวจคัดกรองเชิงรุกครั้งนี้ เพราะเห็นว่าที่จังหวัดน่านคนติดไม่มาก และคนที่ติดคือคนที่เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานคร การมาครั้งนี้จึงเหมือนมาช่วยควบคุมการระบาดจากต้นทางด้วย เธอยอมรับว่าไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้ คนติดเชื้อจากชุมชนแออัดจำนวนมากในแต่ละจุด เจ้าหน้าที่ทำงานไม่ได้พัก เพราะคิดว่าอยากเร่งตรวจให้ทัน แต่ที่สุดแล้วแต่ละวันก็เสร็จหน้างานสี่ทุ่มทุกวัน

“ตื่นมาเตรียมของอุปกรณ์ตั้งแต่ตี 5 ออกจากโรงแรม 6.30 น. ถึงที่พัก 5 ทุ่ม แบบนี้ทุกวัน ข้าวไม่ค่อยกิน เพราะเหนื่อย และถอดชุดลำบาก ส่วนใหญ่ดื่มน้ำหวาน กินอีกทีตอน 5 ทุ่มทีเดียว เหนื่อยนะ แต่ก็ดีใจ เพราะคนที่มาตรวจทั้งคนแก่ เด็ก เราเห็นเขาได้ตรวจ พอไม่ติดเชื้อ เขาก็มั่นใจ อุ่นใจขึ้น เราเลยรู้สึกดี”

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า  ชุมชนแออัดถือเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมการระบาดในกรุงเทพมหานคร คนกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงการตรวจ การระบาดก็ง่าย ด้วยลักษณะทางกายภาพและบุคลิกของชุมชน การตรวจพบคนติดเชื้อและแยกคนกลุ่มนี้ออกให้เร็วที่สุด พิกัดพื้นที่เสี่ยงจะช่วยการควบคุมการระบาดได้ และต้องการสื่อสารให้ภาครัฐตื่นตัว เคลื่อนไหวและโฟกัสที่การตรวจรักษา และฉีดวัคซีนให้เร็วและทำระบบให้ควบคู่รองรับกัน

“ชุมชนแออัดถือเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมการระบาดในกรุงเทพมหานคร  แต่เข้าไม่ถึง น่าสงสารมาก และไม่ต้องกลัวว่าตรวจเจอแล้วจะเป็นปัญหา ชาวบ้านเขารู้ เขากลัว เขาจะจัดการตัวเองเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แต่ถ้าไม่ตรวจ ไม่รู้ คุมระบาดไม่ได้”

นิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ภาคประชาชน) หนึ่งในเครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมผลักดันให้เกิดการตรวจคัดกรองเชิงรุกครั้งนี้ บอกว่า ภาคประชาชนมีบทบาทในการเลือกพื้นที่การตรวจคัดกรอง โดยเน้นไปที่ชุมชนแออัด เนื่องจาก ประชาชนกลุ่มนี้มักเข้าไม่ถึงการตรวจ ตรวจเองก็มีค่าใช้จ่ายที่สูง 

“เงินค่าตรวจ 3,000 บาท ไม่ใช่น้อย ๆ การระบาดในชุมชนแออัดหากไม่มีการตรวจคัดกรอง ไม่รู้ใครติดเชื้อ ก็ไม่สามารคุมการระบาดได้”

ปัญหาที่ผ่านมายังพบว่า คนที่ติดเชื้อแล้วเป็นกลุ่มสีเขียวสามารถดูแลรักษา แบบ Home Isolation และ Community Isolation ได้ ด้วยการจับคู่กับคลินิกอบอุ่นระบบของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จะมีการดูแลทั้งการประเมินอาการ อาหาร ยา และอุปกรณ์ส่งถึงบ้าน

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ เพราะคลินิกอบอุ่นไม่มีความพร้อมตามนโยบายบางแห่งไม่มีระบบรองรับ

การตรวจคัดกรองเชิงรุกของทีมแพทย์ชนบทรอบนี้ ภาคประชาชนจัดทีมอาสามาทำงานการลงทะเบียนรับผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาที่บ้านภายในจุดตรวจ ซึ่งหากคนที่ตรวจพบผลจากแอนติเจน เทสท์ คิทเป็นบวก จะได้รับการตรวจซ้ำแบบ RT-PCR อีกครั้ง สแกนคิวอาร์โค้ด 1330 เพื่อจับคู่กับคลินิกอบอุ่น และรอติดต่อกลับภายใน 48 ชั่วโมง 

“เราติดต่อขอให้คลินิกชุมชนลงพื้นที่กับเรา เพื่อรับคนติดเชื้อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาที่บ้านทันทีเมื่อตรวจพบเชื้อ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ เรามีเพียงอาสาภาคประชาชนมาทำงานตรงนี้หนักมากใน 3 วันที่ผ่านมา”

เครือข่ายฯ ยังยอมรับว่า การจับคู่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่บ้านกับระบบแพทย์ปฐมภูมิใกล้บ้านยังคงมีข้อจำกัด และแม้ว่าทุกคนที่ได้รับการลงทะเบียนแล้วครั้งนี้ ก็ไม่อาจการันตีว่าผู้ป่วยจะได้รับการติดต่อกลับและเข้าสู่ระบบการดูแลภายใน 48 ชั่วโมงจริง และอาจไปกระจุกตัวในระบบอีกหรือไม่ หากไม่มีแผนรองรับ

นี่นับเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่ทีมแพทย์ชนบทจะร่วมสมทบทำงานการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พวกเขาเชื่อว่าหากทุกคนร่วมมือ ร่วมแรง จะผ่านพ้นวิกฤตไปได้ และตลอด 2 ครั้งที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือโดยดีจากทุกฝ่าย เช่น สปสช. กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานท้องถิ่น สำนักอนามัย กทม. และอีกหลายภาคส่วน

แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับว่ายุทธศาสตร์ของ กทม. และรัฐบาล จะพุ่งเป้ามาที่การตรวจคัดกรองเชื้อให้ทั่วถึงได้มากน้อยแค่ไหน 

ตรวจแล้วทุกคนเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ทันท่วงที รวมถึงวัคซีน คือ เกราะป้องกันที่ทรงอนุภาคที่แท้จริง  

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

ฉัฐพัชร์ สุวรรณยุหะ

ช่างภาพข่าวไทยพีบีเอส (Thai PBS)

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์