“ถ้าไม่เพิ่มเตียง อยู่ไม่ได้” ระดมหนทางรักษาชีวิตผู้ป่วยโควิด-19

‘อาสาสมัครด่านหน้า’ วอนหน่วยงานรัฐเพิ่มเตียงดูแลผู้ป่วย สีเหลือง-สีแดง ‘แพทย์’ เสนอออกมาตรการกันเตียงไม่รับผู้ป่วยสีเขียว ‘สธ.’ ย้ำ มีแผนสร้างโรงพยาบาลหลายแห่ง ‘สุวรรณภูมิ’ อนุมัติแปลนแล้ว คาดใช้เวลา 1 เดือนเสร็จ

24 ก.ค. 2564 – “เวทีสาธารณะ” หยิบยกประเด็นขาดแคลนเตียง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข แม้มาตรการ Home Isolation หรือการรักษาตัวที่บ้านจะออกมาเพื่อผ่องถ่ายผู้ป่วยที่ไม่มีอาการให้สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ เพื่อให้มีเตียงเพียงพอสำหรับผู้ที่มีอาการระดับสีเหลือง ไปจนถึงสีแดงก็ตาม

แต่ในสถานการณ์วิกฤตที่มีผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขยายศักยภาพรองรับ

“เตียง ยังเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องพูดคุยกัน”

คริส โปตระนันทน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย ตอบคำถามที่ว่า ณ ตอนนี้กลุ่มอาสาสมัครเน้นไปที่การดูแลผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้านมากกว่าความหวังที่จะมีเตียงอย่างเพียงพอ ในการดูแลผู้ป่วยแล้วใช่หรือไม่

ตนมองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ แต่ยังไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องทั้งหมด เพราะจากการลงพื้นที่ทำงานพบว่า ยังมีกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับการรักษาตัวที่บ้านได้ แต่จำยอมต้องอยู่ เพราะ “เตียงเต็ม” และไม่จำเป็นต้องถามถึงผู้ป่วยในระดับอาการสีเหลือง และสีแดง เพราะเตียงในกรุงเทพมหานครเต็มแทบทั้งหมดแล้ว

ก่อนหน้านี้กลุ่มเส้นด้าย จะมีการประสานกับทางโรงพยาบาลสนามบุษราคัม เพื่อนำผู้ป่วยสีเหลืองเข้ารับการรักษา ก่อนหน้านี้เพียง 1 สัปดาห์ กลุ่มเส้นด้ายได้รับอนุมัติวันละ 100 เตียง แต่ในวันนี้เราได้รับอนุมัติมาบางวัน เพียงแค่ 2 – 3 เตียงเท่านั้น อย่างมากที่สุดก็คือ 10 เตียง ในขณะที่เราได้รับการแจ้งผู้ป่วยต่อวัน มีกลุ่มสีเหลืองแล้วอย่างต่ำ 200 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก

สำหรับข้อมูลผู้ป่วยระดับอาการสีแดง ตนพยายามติดตามจากฐานข้อมูลของกรมการแพทย์ ช่วงไม่กี่วันมานี้ พบว่าผู้ป่วยระดับอาการสีแดงที่ยังรอเตียง “ตัวเลขไม่ลดลงเลย” โดยแม้กรมการแพทย์จะได้ประสานหาเตียงผู้ป่วยสีแดงทุกวิถีทางแล้ว แต่ทุกโรงพยาบาลก็ดูแลคนไข้จนล้นแล้วทุกโรงพยาบาล ตนจึงมองว่าหากอยากรักษาชีวิตผู้ป่วยให้ได้ ต้องไม่ให้รอเตียงอยู่ที่บ้าน

“อยากจะถามจริง ๆ ว่าโรงพยาบาลที่สุวรรณภูมิกำหนดเสร็จเมื่อไรกันแน่ และนอกจากนี้ทางรัฐบาลมีโครงการจะสร้างเตียงสีเหลืองและสีแดงเพิ่มหรือไม่ ถ้ายังไม่มี ผมว่ามันถึงเวลาที่ต้องทำแล้วนะครับ เพราะผมเชื่อว่าผู้ป่วยในระบบจะถึง 400,000 คน ในเวลาไม่ช้านี้”

คริส โปตระนันทน์

เช่นเดียวกับ พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผอ.บริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ในฐานะที่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรับการติดต่อจากผู้ป่วยประเด็นในเรื่องเตียงรักษานั้นสำคัญมาก เพราะวิธีคิดของคนไทย เมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา มักคาดหวังการบริการจากสาธารณสุขอยู่เสมอ แม้จะมีอาการเจ็บป่วยไม่มากก็ตาม แต่ในวิกฤตโรคระบาดที่รุนแรงเช่นนี้ การจะบอกให้ผู้ป่วยที่อาการไม่มาก ทำการรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เป็นสิ่งที่ยากมาก เราต้องช่วยกันเปลี่ยนความคิดให้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสีเขียวเข้ารับการรักษาในระบบ Home Isolation เพื่อลดอัตราการครองเตียงที่มีอย่างจำกัดในปัจจุบัน

อีกหนึ่งข้อเสนอสำคัญของ พญ.นิตยา คือ ต้องการให้กระทรวงสาธารณสุข มีมาตรการที่ชัดเจนและปฏิบัติร่วมกับโรงพยาบาลที่มีระบบการรักษาผู้ป่วยทุกแห่งว่า “ต้องรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงเป็นอันดับแรก” เพราะก่อนหน้านี้ใช้ลักษณะ “สัญญาใจ” กับทางโรงพยาบาลว่าทีมที่รับข้อมูลนี้ จะไม่ส่งผู้ป่วยสีเขียวให้กับโรงพยาบาล แต่ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลก็ต้องไม่ไปรับผู้ป่วยสีเขียวจากที่อื่นด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วผู้ที่ต้องการเตียงจะต้องอยู่ที่บ้านอย่างไม่มีทางเลือก

“ณ ขณะนี้ คนที่เข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation แต่มีอาการสีเหลืองและสีแดง กลับมาอยู่ในการดูแลของเรา ซึ่งทำการดูแลแบบ Tele Medecine กลายเป็นว่านอกโรงพยาบาลเราต้องมาดูสีเหลืองกับสีแดง ซึ่งเป็นภาพที่เกิดขึ้นจริง”

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์

ส่วนเสียงสะท้อนจากผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยทางไกล หรือ Tele Medecine นั้นตอกย้ำว่ายังมีผู้ป่วยที่ต้องได้รับเตียงจำนวนมาก พญ.ศิรินภา ศิริพร ณ ราชสีมา เลขาธิการสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากที่มีระบบการดูแลผู้ป่วยทางไกล จากผู้ที่เข้ารับการรักษาที่บ้านหรือ Home Isolation นั้น ผ่านมา 7 วัน มีผู้ป่วยเข้าสู่ระบบประมาณ 5,800 คน มีระดับอาการสีเหลืองมากกว่า 100 คน และระดับสีแดง ประมาณ 50 คน และจะเข้ามาแบบนี้ทุกวัน เนื่องจากทุกอย่างล่าช้ามาโดยตลอด เมื่อเข้าไปติดต่อคนไข้ ก็เริ่มมีอาการที่รุนแรงแล้ว

“ทำอย่างไร จะให้เกิดการกระจายทรัพยากรอย่างเหมาะสม”

พญ.ศิรินภา กล่าวว่า ยังมีปัญหาหน่วยบริการที่มีเตียงในรูปแบบ Hospitel หรือ เตียงสนาม ที่ยังมีหลักเกณฑ์ว่าต้องรับผู้ป่วยสีเขียวเท่านั้น ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการรุนแรง หรืออาจจะดูแลตัวเองไม่ได้ ก็ไม่ได้รับการรักษาในระบบอย่างถูกต้อง จึงต้องอยู่ที่บ้าน เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดการปฏิบัติในทิศทางเดียวกันด้วย

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยตรงได้เข้ามาตอบคำถามในหลายประเด็น

นโยบายสำหรับเตียงในโรงพยาบาลว่าต้องรับผู้ป่วยระดับสีเหลืองและสีแดงเท่านั้น ตอบว่า ณ ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มอบแนวนโยบายที่ชัดเจนไปแล้วว่าต้องให้ความสำคัญกับผู้ป่วยในระดับสีเหลืองและสีแดงก่อน แต่หากจะออกกฎระเบียบห้ามรับสีเขียว จะเกิดปัญหา “การรอนสิทธิ” ผู้ป่วยทันที แต่ยืนยันจะมีการกำชับแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนขึ้น

เรื่องการขยายเตียงและสร้างโรงพยาบาลนั้น อยู่ในแผนของกระทรวงสาธารณสุขแน่นอน โดยกรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จัดตั้งโรงพยาบาลที่สโมสรทหารบก รวมถึงโรงพยาบาลที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งขณะนี้ในที่ประชุมกระทรวงฯ ได้อนุมัติแบบการก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงจะพร้อมใช้งาน และรองรับผู้ป่วยได้ถึง 5,000 เตียง

The Active ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมการแพทย์ เพื่อสอบถามถึงรายละเอียดการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม สโมสรทหารบก ซึ่งจะเปิดเป็นศูนย์พักคอยผู้ป่วย โดยรับผู้ป่วยในระดับสีเขียว จำนวน 400 เตียง เบื้องต้นในวันที่ 30 ก.ค. 2564 จะเปิดรองรับผู้ป่วยจำนวน 300 เตียง และจะรองรับเพิ่ม อีก 100 เตียง โดยเร็วที่สุดต่อไป

และสำหรับโรงพยาบาลสนามบินสุวรรณภูมินั้น เรียกว่า โรงพยาบาลสนาม ระดับสูง (สนามบินสุวรรณภูมิ) จะรองรับผู้ป่วย 4,500 เตียง โดยชั้นที่ 2 ของอาคาร SAT1 จะเป็นที่ทำการแพทย์และเตียงผู้ป่วย ICU รวม 940 เตียง ส่วนชั้นที่ 3 และ 4 เป็นเตียงผู้ป่วยอาการน้อยหรือไม่มีอาการ หรือผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีเขียว 3,560 เตียง ซึ่งเมื่อกรมสนับสนุนบริการสุขภาพดำเนินการจัดตั้งแล้ว จะมีสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแลดำเนินการ โดย นพ.ยงยศ ให้ข้อมูลว่า เมื่อมีการจัดตั้งที่สุวรรณภูมิแล้วเสร็จ โรงพยาบาลสนามบุษราคัม ก็จำเป็นต้องปิดไป เพื่อให้บุคลากรที่มีความชำนาญตรงนั้น ไปดูแลผู้ป่วยที่สุวรรณภูมินั่นเอง

บุคลากรจะเพียงพอหรือไม่ ? เป็นคำถามที่เกิดขึ้น ควบคู่กันมากับการเพิ่มเตียงหรือโรงพยาบาลสนาม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่าจะใช้โมเดลจากโรงพยาบาลสนามบุษราคัม ระดมกำลังบุคลากรทางการแพทย์จากทุกภาคส่วนในต่างจังหวัด เข้ามาดูแลผู้ป่วยในกรุงเทพมหานคร เพราะการทำหน้าที่ในโรงพยาบาลสนามบุษราคัมนั้น ไม่ใช้บุคลากรในกรุงเทพฯ เลย เนื่องจากทุกคนก็งานล้นมืออยู่แล้ว ซึ่งเชื่อว่าบุคลากรทุกคนพร้อมทำหน้าที่

จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นจำนวนมากในทุก ๆ วัน เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ต้องขยายศักยภาพของเตียงเพื่อทำการรักษาผู้ป่วย แม้มาตการรักษาผู้ป่วยที่บ้านจะเกิดขึ้น ก็จำเป็นต้องดำเนินการอย่างชัดเจนในทุกขั้นตอน

อาหาร 3 มื้อ ยารักษาโรค การติดตามอาการ ต้องเกิดขึ้นจริง ขณะเดียวกันเมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ต้องมีเตียงเพื่อทำการรักษาและรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ให้มากที่สุด


อ่านเพิ่ม

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้