ขยะพลาสติก | 2021 WRAP UP

แบน ไม่แบน? เศษพลาสติกนำเข้าจากต่างประเทศ

ตั้งแต่ ประเทศจีน สั่งห้ามนำเข้าขยะและเศษพลาสติกเมื่อปี 2561 เศษพลาสติกเหล่านี้ก็ถูกเปลี่ยนเส้นทางมายังไทยและประเทศอื่นในอาเซียน

3 – 4 ปีให้หลัง โรงงานรีไซเคิลในไทยก็ขยายพื้นที่อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับวัตถุดิบเหล่านี้ อีกทั้งกฎหมายและการควบคุมของไทยยังไม่เข้มแข็งมากพอ ทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาการลักลอบทิ้งสารเคมีขยายวงกว้าง

เครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามปัญหาเรื่องนี้จึงพยายามผลักดันให้ไทยมีการสั่งห้ามและยกเลิกนำเข้าขยะและเศษพลาสติกจากต่างประเทศ ต่อมา คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกมีมติยกเลิกนำเข้าภายใน 2 ปี หรือในวันที่ 30 กันยายน 2563 แต่จนถึงวันนี้คำสั่งกลับไม่ได้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ

The Active รวบรวมความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตลอดปี 2564 

ขยะพลาสติก

มกราคม

1 มกราคม ข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลเพิ่มการควบคุมการเคลื่อนย้ายขยะพลาสติกข้ามแดน มีผลบังคับใช้ เพิ่มข้อ A3210 ใน Annex VIII กำหนดประเภทขยะพลาสติกที่สันนิษฐานว่าเป็นขยะอันตราย ต้องผ่านกระบวนการแจ้งและขอความยินยอมล่วงหน้าจากประเทศนำเข้า (Prior Informed Consent: PIC) 

25 มกราคม กรมโรงงานอุตสาหกรรมรายงานข้อมูลปริมาณความต้องการนำเข้าเศษพลาสติกในโรงงานที่มีความพร้อม 46 แห่ง กำลังการผลิตรวม 530,000 ตันต่อปี ระบุปริมาณความต้องการนำเข้าเศษพลาสติก 685,190 ตันต่อปี ส่วนใหญ่เป็น PET, PE, PP และอื่น ๆ ขณะที่คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีมติให้กรมควบคุมมลพิษ นำเสนอมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา ได้แก่ กำหนดการนำเข้าเศษพลาสติกในปี 2564 ในปริมาณ 250,000 ตันต่อปี ลดปริมาณการนำเข้า เศษพลาสติก ปีละ 20% และห้ามนำเข้าเศษพลาสติก 100% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 

ด้าน กรมการค้าต่างประเทศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร และกรมควบคุมมลพิษ ได้ประชุมหารือเพื่อออกระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการอนุญาตให้นำเศษพลาสติกเข้ามา ในราชอาณาจักร พ.ศ. … ขณะที่ โรงงานพลาสติก ก็ได้พยายามขอโควตานำเข้าขยะเศษพลาสติกเพิ่มเติม

มิถุนายน

25 มิถุนายน กรมควบคุมมลพิษ จัดประชุมหารือมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก ประเด็น “การนำเข้าเศษพลาสติกของผู้ประกอบการในกรณีที่ไม่มีเศษพลาสติกในประเทศหรือมีปริมาณไม่เพียงพอ” มีความเห็นร่วมกัน ให้กรมศุลกากรควรจัดทำพิกัดย่อยของพิกัดศุลกากร 39.15 ให้มีความละเอียดมากยิ่งขึ้น

กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับสถาบันพลาสติกและกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สำรวจปริมาณความต้องการนำเข้าเศษพลาสติกของโรงงานพลาสติก และมีข้อเสนอแนะให้กรมควบคุมมลพิษประสานให้มีเวทีการพบกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ต้องการขายเศษพลาสติก เพื่อให้เกิดความสมดุลของ Demand และ Supply ในการใช้เศษพลาสติกในประเทศ

สิงหาคม

ตลอดเดือนสิงหาคม มูลนิธิบูรณะนิเวศ สมาคมซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่า และเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม 108 องค์กร ได้แถลงจุดยืนคัดค้านการนำเข้าขยะเศษพลาสติก โดยมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ พร้อมยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ยังมีการรณรงค์คู่ขนานใน change.org  มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนคัดค้านการนำเข้าขยะเศษพลาสติกมากกว่า 36,000 รายชื่อ 

กันยายน

23 กันยายน สมาคมซาเล้ง และร้านรับซื้อของเก่ายื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อคัดค้านการนำเข้าเศษพลาสติกและตรวจสอบช่องโหว่ทางกฎหมายเกี่ยวกับเขตปลอดอากร ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และในวันเดียวกันได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร ณ กรมศุลกากร เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกระทบอาชีพของคนเก็บของเก่า แต่หากจะมีการอนุญาตให้นำเข้าเศษพลาสติกก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นพลาสติกประเภทไหน มีความจำเป็นและไม่มีอยู่แล้วในประเทศ เพราะคนเก็บของเก่า จะมีการเก็บขยะพลาสติกบางชนิดได้เท่านั้น ส่วนรายละเอียดที่มีการเสนอในหนังสือมีการยื่นไปทั้งหมด 10 เรื่อง เช่น กำหนดเชื้อพลาสติกที่ห้ามนำเข้าเด็ดขาด อย่างน้อย 3 ปี คือ PET, PP, PE  เพราะเป็นวัตถุดิบพื้นฐานทั่วไปที่มีอยู่จำนวนมากในชีวิตประจำวันของคนไทย กำหนดให้มีบริษัทเอกชนตรวจสอบสินค้าที่ต้องการนำเข้ามาจากต้นทางว่าตรงกับมาตรฐานหรือไม่  รวมถึงกำชับและกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดในฐานะ “สำแดงเท็จ” และให้กรมศุลกากรเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบเปิดโอกาสให้สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดการอนุญาตนำเข้าได้สะดวกรวดเร็วทันต่อปัจจุบัน เป็นต้น 

ธันวาคม

ปัจจุบัน การพิจารณาของอนุกรรมการฯ ยังคงไม่แล้วสร็จ และมีมติเสนอแนวทาง 3 ทางเลือก คือ 1. ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกปี 2564 ตามมติ คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 (กขป.5) 2. ห้ามนำเข้าในปี 2569 ตามมติ คณะกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2564 และ 3. ห้ามนำเข้าในปี 2566 เสนอเป็นแนวทางในการพิจารณาต่อในปี 2565 ขณะที่กรมควบคุมมลพิษเร่งตรวจทุกโรงงานที่อยู่ในเขตฟรีโซนให้แล้วเสร็จ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์