“วราวุธ” เร่งจัดการขยะพลาสติก รุก กลุ่มธุรกิจร้านกาแฟ

ร่วมขับเคลื่อน “ร้านกาแฟสีเขียว” ตั้งเป้าปีหน้าเลิกใช้แก้วและหลอดพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง

วันนี้ (27 ม.ค. 2564) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ไลฟ์สด กิจกรรม “Green Coffee Shop By Top Varawut” ผ่านเฟซบุ๊ก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เผย แต่ละปี คนไทยสร้างขยะพลาสติก ประมาณ 2 ล้านตัน เป็นแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ถึง 9,750 ล้านใบ และหลอดพลาสติกอีก 5,000 ล้านหลอด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มธุรกิจร้านกาแฟและตลาดกาแฟในประเทศไทย ประกอบกับ แก้วพลาสติกและหลอดพลาสติก เป็นพลาสติกเป้าหมาย 2 ใน 4 ชนิดที่จะเลิกใช้ ภายในปีหน้า

ขณะที่ ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ภาคส่วนการผลิตและการให้บริการ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ กลุ่มแพลทฟอร์มผู้ให้บริการส่งอาหาร (Food Delivery) และอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ซึ่งกลุ่มธุรกิจร้านกาแฟเป็นอีกหนึ่งภาคีเครือข่ายสำคัญที่จะมีส่วนช่วยลดการใช้พลาสติก ลดการปลดปล่อยคาร์บอน ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการและการบริโภควิถีใหม่ ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Coffee Shop) จะเป็นการผนึกพลังร่วมกัน 3 ภาคส่วน ประกอบด้วย

ภาครัฐ นำโดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  • สร้างกระแสความตื่นตัวให้เกิดขึ้นในสังคมในเรื่องการลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในร้านกาแฟ รวมถึงการคัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลังการบริโภค เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
  • สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน ในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คัดแยกขยะและนำทรัพยากรกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
  • ส่งเสริมความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน ผู้ประกอบการภาคธุรกิจผู้ผลิต และให้บริการร้านกาแฟในการลดปริมาณขยะต้นทาง และการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค เพื่อนำเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ภาคีเครือข่ายผู้ประกอบการร้านกาแฟในประเทศไทย

  • ส่งเสริมให้มีการผลิต การบริการ และการบริโภคภายในร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastic)
  • ส่งเสริมให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของลูกค้าหรือผู้บริโภคในการลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) หรือการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ส่งเสริมให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสนับสนุนให้มีการนำทรัพยากรกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
  • จัดกิจกรรมรณรงค์ สร้างการรับรู้ให้กับลูกค้า ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความตระหนัก ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคืนประโยชน์กลับสู่สังคมโดยส่วนรวม เห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ผู้บริโภค และประชาชนทั่วไป ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภควิถีใหม่ที่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ลดปริมาณขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ด้วย “ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” เพื่อก้าวสู่การบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ตามโรดแมป (Roadmap) การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 สู่การบรรลุเป้าหมาย การเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic หรือ disposable plastic) ภายในปีหน้า ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด 100 % ภายในปี 2570 ซึ่งที่ผ่านมา ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนอย่างจริงจังและเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในการลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ควบคู่กับการส่งเสริมการผลิต การบริการ และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำทรัพยากรกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งจะมีการประกาศเจตนารมณ์แสดงพลังความร่วมมือกันอย่างจริงจังและเข้มข้น ในเดือนหน้า ตลอดจนมีแผนการดำเนินงานขยายความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) ไปยังหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ในช่วงเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2564

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน