ดัน “ยกเลิกนำเข้าขยะพลาสติก” ปิดช่องโหว่ธุรกิจรีไซเคิล

108 องค์กรภาคประชาสังคม สมาคมซาเล้ง ยื่นหนังสือถึง รมว.ทส. ขอให้ใช้อำนาจในมือยืนตามมติเดิม “ยกเลิกนำเข้าขยะพลาสติก” ชี้ ยังมีปัญหาก่อมลพิษ

23 ส.ค. 2564 – มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับสมาคมซาเล้ง และร้านรับซื้อของเก่า และเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมรวม 108 องค์กร ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอให้ทบทวนและยกเลิกมติของคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายเวลาให้มีการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศได้อีก 5 ปี โดยมี อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นตัวแทนรับหนังสือ ณ กรมควบคุมมลพิษ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า อยากให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นําเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ใช้อำนาจที่ตัวเองมีอยู่ขณะนี้ ในการพิจารณาและแสดงจุดยืนคัดค้านการนำเข้าเศษพลาสติกตามมติเดิม หากเลื่อนออกไปจนถึงปี 2569 จะเะป็นการเปิดช่องโหว่ให้อุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งก่อมลพิษและทิ้งปัญหาไว้ในประเทศไม่รู้จบทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ส่วนประเด็นโต้แย้งของภาคอุตสาหกรรมที่ว่าขยะพลาสติกบ้านเราไม่สะอาด ไม่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานได้ เป็นข้อเท็จจริงที่อุตสาหกรรมไม่ร่วมรับผิดชอบ

“ขยะพลาสติกบ้านเราไม่สะอาดมีข้อเท็จจริงอยู่ไม่ควรกล่าวอ้าง อุตสาหกรรมต้องช่วยรับผิดชอบหาแนวทางที่ทำให้ขยะในบ้านเราสามารถใช้ได้ ไม่ใช่การอ้างเพื่อนำเข้าขยะจากต่างประเทศ ซึ่งการนำเข้ามีช่องโหว่มากมายตั้งแต่กรมศุลากร การกำกับติดตามตรวจสอบโรงงานประเภทรีไซเคิล และพิกัดนำเข้าที่ไม่ละเอียด”

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าจากการสำรวจข้อมูล 150 โรงงานที่ระบุว่ามี 46 แห่ง ที่จำเป็นต้องใช้เศษพลาสติกไม่ใช่ขยะ มีความต้องการถึง 530,000 ตันต่อปี บางชนิดไม่มีผลิตในประเทศไทย บางชนิดที่มีก็ไม่สะอาดไม่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในโรงงานได้ 

“ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพูดคุยกันอยู่เรื่องตัวเลข 30 ส.ค.นี้ จะมีการรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ก่อนจะมีการเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาคาดว่าจะทราบมติชัดเจนภายในเดือนหน้า”

ด้านตัวแทนสมาคมซาเล้งและผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าแห่งประเทศไทย บอกว่า หากมีการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศจะกระทบกับราคาขยะพลาสติกภายในประเทศทุกครั้ง ราคาตกต่ำเกินกว่าที่กลุ่มนี้จะสามารถหาเลี้ยงปากท้องได้เหมือนเดิม ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 2-3บาท เป็นราคาที่ต่ำมากอยู่แล้วแต่ละวันต้องหาได้ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัมถึงจะได้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งยากมาก หากมีการนำเข้าขยะพลาสติกอาจจะไม่มีอาชีพนี้อีกแล้วเพราะจะเลิกเก็บขยะพลาสติกไปเลย

การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้สืบเนื่องจาก  “คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นําเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ” ซึ่งรัฐบาลแต่งตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีการประชุมเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ได้มีมติให้ยกเลิกการนําเข้าเศษพลาสติกภายใน 2 ปี (นั่นคือห้ามการนําเข้าเด็ดขาดภายในสิ้นกันยายน 2563) และกําหนดช่วงผ่อนผัน การนําเข้า 2 ปี คือระหว่างสิงหาคม 2561 ถึงสิงหาคม 2563 โดยได้กําหนดโควตาการนําเข้า ปีที่ 1 ให้นําเข้าได้ไม่เกิน 70,000 ตันในปีที่ 2 ให้นำเข้าได้ไม่เกิน 40,000ตัน และปีที่ 3 คือตั้งแต่ 30 กันยายน 2563 เป็นต้นไปใบอนุญาตให้นำเข้าเศษพลาสติกตามโควต้าเดิมจะหมดอายุลงและห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศโดยเด็ดขาด 

ในช่วงเดือนกันยายน 2563 สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม รวม 65 องค์กรและ ประชาชนกว่า 30,000 คนที่ลงชื่อผ่าน Change.org/Plastic Waste ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้ “คณะอนุกรรมการ การบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์” รักษาคํามั่นที่จะยกเลิกการนําเข้าเศษพลาสติกเด็ดขาดตาม มติคณะอนุกรรมการฯ ชุดเดิม โดยไม่ต่อโควตาการนําเข้าเศษพลาสติกอีกต่อไป แต่ต่อมา กลุ่มโรงงานได้พยายาม ผลักดันกระทรวงอุตสาหกรรมเรียกร้องให้มีการเปิดการนําเข้าเศษพลาสติก โดยอ้างเหตุผลว่า ขาดแคลนวัตถุดิบใน ประเทศ ระบุความต้องการนําเข้าเศษพลาสติกถึง 685,190 ตันต่อปี ท้ังๆ ที่ 1) ก่อนปี 2560 มีการนําเข้าเฉลี่ยไม่ เกิน 56,000 ตันต่อปี และ 2) สมาคมซาเล้งฯและวงษ์พาณิชย์ได้ออกมาระบุว่ามีวัตถุดิบในประเทศอย่างเพียงพอ

ด้วยแรงกดดันจากภาคอุตสาหกรรมและกระทรวงอุตสาหกรรม คณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์ จึงปรับเปลี่ยนนโยบายคือ ไม่ประกาศมาตรการ “ยกเลิกการนําเข้าเศษพลาสติกโดย เด็ดขาด” ตามมติคณะอนุกรรมการฯ เดิมที่มีขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 และกลับมีมติใหม่ในการประชุมเมื่อ วันที่ 25 มกราคม 2564 คือกําหนดแผนควบคุมการนําเข้าเศษพลาสติก ตั้งเป้าที่จะห้ามนําเข้าในอีก 5 ปี หรือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ระหว่างนี้ให้นําเข้าได้แต่ต้องลดสัดส่วนลงทุกปีและเพิ่มสัดส่วนเศษพลาสติก ในประเทศแทน ขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมอ้างว่าไม่ได้ให้ใบอนุญาตนําเข้าเศษพลาสติกแล้ว แต่กลับพบ การนําเข้าเศษพลาสติกอย่างต่อเนื่อง อีกประมาณ 1 แสนตันเศษต่อปี โดยเป็นการนําเข้าของโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขต ปลอดอากรและเขตประกอบการเสรี (Free zone) ซึ่งมีกฎหมายควบคุมแยกต่างหาก  ซึ่งอาจมีช่องโหว่ให้มีการลักลอบนำเข้าหากไทยยังไม่มีกฎหมายที่รัดกุมเพียงพอ จึงเห็นว่าควรยกเลิกนำเข้าเด็ดขาดและหันมาบริหารจัดการขยะพลาสติกในประเทศให้สามารถเป็นวัตถุดิบได้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส