ครึ่งปี รับคืนขยะพลาสติกได้แล้ว 2 ตัน เตรียมเดินหน้าต่อ

จากเช็กพอยท์จุดรับคืนพลาสติก “เปลี่ยนขยะเป็นบุญ” กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเครือข่ายฯ เตรียมขยายโครงการฯ เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2564 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) : FEED Thailand และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงความคืบหน้าโครงการ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ” เมื่อคุณหมุนเวียน พร้อมเดินหน้า เพิ่มจุดรับคืนพลาสติก (Drop Point) กระจายทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ

สุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการเปิดตัวโครงการ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) โครงการ มือวิเศษ X วน เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ที่เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 เพื่อบูรณาการสนับสนุนให้เกิดการจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร โดยให้มีการส่งคืนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) พบว่ามีผู้นำพลาสติกมาร่วมโครงการจำนวนมาก

ปัจจุบันได้ขยายจุดรับคืนพลาสติก (Drop Point) ไปแล้วถึง 446 จุด กระจายไปยังหน่วยงานภาครัฐ  20 จุด เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัด ทส. 15 จุด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการคลัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง แห่งละ 1 จุด และกระทรวงมหาดไทย 2 จุด ณ ศาลากลาง จ.นนทบุรี และศาลากลาง จ.ปทุมธานี สถาบันการศึกษา 5 จุด คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน คือห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าฯ อีก 421 จุด

ทั้งนี้ ตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการ จนถึงเดือน ธ.ค. 2563 สามารถเก็บรวบรวมขยะพลาสติก จากจุดรับคืน 13 แห่งของหน่วยงานภายใต้ ทส. ได้เกือบ 2 ตัน หรือประมาณ 1,768 กิโลกรัม แบ่งเป็นพลาสติกยืด เช่น ถุงหูหิ้ว พลาสติกกันกระแทก ฟิล์มห่อสินค้า 425.06 กิโลกรัม และพลาสติกแข็ง เช่น กล่องพลาสติกบรรจุอาหาร ชุดช้อนส้อมพลาสติก ขวดพลาสติก แก้วและหลอดพลาสติก 1,342.93 กิโลกรัม ขณะที่ โครงการมือวิเศษ x วน และโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน สามารถเก็บรวบรวมขยะพลาสติกยืด ได้ถึง 29,969.93 กิโลกรัม (มิ.ย. – พ.ย. 2563) โดยพลาสติกยืด (ประเภท PE) จะถูกนำไปรีไซเคิลเป็นถุงพลาสติกใบใหม่ (Reusable plastic) ภายใต้โครงการ “ถุงวน” ตลอดจน พลาสติกทุก 1 กิโลกรัม โครงการวน จะแปลงเป็นเงิน 5 บาท เพื่อบริจาคให้กับมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ส่วนพลาสติกแข็ง จะนำไปรีไซเคิลเป็นจีวร ร่วมกับวัดจากแดง จ.สมุทรปราการ รายได้นำมาใช้ในการพัฒนาชุมชนและสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ตลอดจนนำไปรีไซเคิลเป็นชุดป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคลทางการแพทย์ หรือ ชุด PPE  ซึ่งเป็นความร่วมมือ ระหว่าง โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” และ “Less Plastic Thailand”

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากการใช้บริการรับส่งอาหาร หรือ Food Delivery รวมทั้ง การซื้อของออนไลน์ ตลอดจนขยะจากเศษอาหารและขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วยังคงเกิดขึ้น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) องค์กรธุรกิจเอกชน จัดตั้งจุดรับคืนพลาสติก เพิ่มอีก 15 จุด โดยวันนี้ ได้ส่งมอบถังเติมบุญ ให้กับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต นำไปติดตั้ง จำนวน 10 จุด และส่งมอบให้กับมูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาฯ  นำไปติดตั้ง 5 จุด ณ ที่ทำการมูลนิธิฯ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบกบางปู และ ศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมโตโยต้าเมืองสีเขียว อยุธยา เพื่อขยายพื้นที่ แนวร่วมในการเพิ่มมูลค่าให้ขยะพลาสติกไม่ถูกทิ้งสูญเปล่าและกลายเป็นภาระต่อโลก

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้